รู้จักกันไหม “ขนมกง” ขนมโบราณในงานมงคล

รู้จักกันไหม “ขนมกง” ขนมโบราณในงานมงคล

โดย : Hoot-Hoot

Loading

เรื่องราวรอบตัวน่ารู้น่าอ่านกับหลากหลายสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ในคอลัมน์ Lifestyle โดย Hoot-Hoot ที่อ่านออนไลน์แล้วรับรองมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเรื่องราวดีๆ ที่รายล้อมรอบตัว #มีให้อ่านที่อ่านเอา

…………………………………………..

หากเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยก่อน อาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เมื่อไรจะได้กินขนมกงเสียที” แต่สำหรับสมัยนี้ ได้ยินประโยคนี้อาจดูงงๆ วันนี้ Hoot-Hoot จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘ขนมกง’ กันค่ะ

ขนมกง หรือ ขนมกงเกวียนนั้น แค่ได้ยินชื่อก็คงพอจินตนาการออกว่าหน้าตามันน่าจะเหมือนล้อเกวียนใช่ไหมคะ ถูกต้องค่ะ เพราะขนมกงคือขนมที่มีหน้าตาอย่างว่าจริงๆ แต่ในสมัยก่อนขนมชนิดนี้ไม่ได้ฉายเดี่ยวนะคะ แต่มักจะมาพร้อมนมชะมดและขนมสามเกลอ แต่ด้วยกาลเวลาเปลี่ยนไป ขนมสองชนิดนี้ค่อยๆ เลือนหายไป แต่สำหรับขนมกงยังคงปรากฏให้เห็นและหากินได้อยู่ไม่ยากค่ะ

‘ขนมกง’ เป็นขนมที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนล้อเกวียนที่คนไทยคุ้นเคย คือมีลักษณะเป็นวงกลมและมีเส้นไขว้พาดกันตรงกลาง เป็นที่รู้จักมากในจังหวัดภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ฯลฯ

ในสมัยก่อน ขนมกงถือเป็นหนึ่งในขนมมงคลหลายชนิดที่นิยมใช้ในพิธีแต่งงานในฐานะขนมขันหมาก โดยจะอยู่คู่กับขนมสามเกลอเสมอ แต่ในสภาวะปกติก็มีการทำขนมกงกินกันด้วย เพียงแต่ขนาดจะเล็กกว่า หากใช้ในงานแต่งงานจะทำเป็นวงใหญ่ และอาจมีการตกแต่งจัดวางให้สวยงามสมกับอยู่ในงานพิธีมงคล

ในส่วนของความหมายแฝงของขนมกงนั้น สามารถตีความได้เป็น 2 อย่าง ขึ้นอยู่กับวาระโอกาสที่ใช้ นั่นคือ หากใช้ในประเพณีสารทเดือนสิบจะสื่อความหมายถึงกงเกวียนที่หมุนไปข้างหน้าเช่นเดียวกับพระธรรมจักร

แต่หากเมื่อใช้ในงานพิธีแต่งงานจะสื่อถึงการอวยพรให้บ่าวสาวครองรักกันไปนานๆ ให้มีความหนักแน่นซึ่งกันและกัน และด้วยความที่ขนมนี้ไม่มีรอยต่อ จึงเปรียบได้กับว่าความรักของบ่าวสาวจะยืนยาวต่อไปไม่มีสะดุด เหมือนกงล้อของเกวียนที่หมุนไปเรื่อยๆ โดยขนมกงเป็นขนมโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และต่อมาเป็นขนมที่แพร่หลายในภาคกลางในฐานะขนมมงคลในงานแต่ง

โดยในพิธีแต่งงานจะนำขนมกงใส่สาแหรกหาบไปในพิธีแห่ขันหมากจนเป็นที่คุ้นตา และกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์กลายๆ ในการใช้เป็นสำนวนในการถามว่า “เมื่อไหร่จะได้กินขนมกงเสียที” ซึ่งหมายถึง เมื่อไหร่จะแต่งงานเสียทีนั่นเอง

ทั้งนี้ ขนมกงของโบราณขนานแท้ ไส้ต้องโปร่ง และแป้งที่เคลือบก็ต้องมีเม็ดพองๆ ที่เรียกว่า ‘หัวแก้วหัวแหวน’ ขึ้นตามวงขนม ซึ่งถ้าหัวแก้วหัวแหวนขึ้นเยอะยิ่งดี เพราะเชื่อว่าบ่าวสาวจะได้ลูกชาย แต่ถ้าตัวแป้งเตียนเลี่ยนไม่โป่งพอง เชื่อกันว่าจะได้ลูกสาว และยังเชื่อกันว่าตอนที่หยิบไส้ขนมมาปั้น หยิบมาเท่าไรก็ต้องปั้นเท่านั้น ห้ามหยิบเข้าหยิบออก โบราณเขาจะถือว่า เดี๋ยวอยู่กันไม่ยืด

 

ที่มา : หนังสือ เส้นทางขนมไทย และ www.praewwedding.com

Don`t copy text!