หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย…

หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย…

โดย : Hoot-Hoot

Loading

เรื่องราวรอบตัวน่ารู้น่าอ่านกับหลากหลายสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ในคอลัมน์ Lifestyle โดย Hoot-Hoot ที่อ่านออนไลน์แล้วรับรองมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเรื่องราวดีๆ ที่รายล้อมรอบตัว #มีให้อ่านที่อ่านเอา

…………………………………………..

แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ที่เฝ้าหวง ห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล

แม่เราเฝ้าโอ้ละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเห ไปจนไกล

แต่เล็กจนโตโอ้แม่ถนอม แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดจากรักลูกปักดวงใจ

เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่ นี่แหละหนาอะไร มิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม

ครวญคิดพินิจให้ดี ค่าน้ำนมแม่นี้ จะมีอะไรเหมาะสม

โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนม…เลือดในอกผสม กลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน

ภาพ : https://www.naewna.com/

เคยไหมคะ ที่ร้องเพลงตามๆ กันมา ไม่รู้ที่มาที่ไป โดยเฉพาะเพลงนี้ ที่เมื่อตอนเป็นเด็กๆ คุณครูที่โรงเรียนก็สอนให้ร้อง เราเป็นเด็กก็ร้องตาม แต่จะมีกี่คน ที่เกิดสงสัยว่า เพลง “ค่าน้ำนม” นี้ใครแต่ง และที่มาที่ไปของเพลงนี้เป็นมายังไง Hoot-Hoot เลยรวมข้อมูลมาสรุปให้รู้ค่ะ

  1. ค่าน้ำนม แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน เรียบเรียงเสียงประสานโดย สง่า อารัมภีร และ ประกิจ วาทยกร (บุตรชายของพระเจนดุริยางค์) ขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ชาญ เย็นแข เมื่อ พ.ศ. 2492
  2. ค่าน้ำนม ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่ง ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อปีพ.ศ. 2532
  3. ค่าน้ำนม คือ 1 ในไม่กี่เพลงที่ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้กับมารดา คือ นางพร้อม ประณีต
  4. เนื้อเพลงค่าน้ำนม เกิดขึ้นจากความรู้สึกของครูไพบูลย์ที่เจ็บป่วยในระยะที่โรคเรื้อนคุกคามอย่างหนัก ในเวลานั้นคนรอบตัวต่างรังเกียจ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ด้วยกลัวว่าจะติดโรคร้าย มีเพียงแม่พร้อมของครูไพบูลย์เพียงคนเดียวที่คอยดูแลครูไพบูลย์อย่างใกล้ชิดมาตลอด โดยไม่เคยคิดนึกรังเกียจแม้แต่น้อย ซึ่งแม่พร้อมดูแลครูไพบูลย์กระทั่งจากไปตอนอายุ 70 ปี
  5. ลาวัลย์ โชตามระ นักหนังสือพิมพ์หญิงเขียนสารคดีชื่อ “ไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลง ‘ประวัติการณ์‘” ได้เขียนในบทความช่วงหนึ่งว่า “แม้ในขณะที่โรคร้ายคุกคามเขาอย่างรุนแรง แม่ก็เฝ้าปรนนิบัติพยาบาลโดยไม่มีความรังเกียจเกลียดกลัวเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่โรคที่เขาเป็นนั้น เป็นโรคร้ายที่ติดต่อกันได้ง่าย”
  6. แม้เพลงค่าน้ำนมจะไม่ได้แต่งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อร้องในงานวันแม่แห่งชาติ แต่เพลงนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการดนตรีไทย เพราะเป็นการสะท้อนให้แนวคิดศิลปะเพื่อชีวิต ซึ่งต่างจากเพลงมากมายที่แต่งกันในช่วงเวลานั้นที่ขับร้องกัน โดยมุ่งเน้นการแสดงอารมณ์รักใคร่ในเชิงชู้สาวเป็นหลัก (อ้างอิง : บทสัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง และผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดี)
  7. ประโยคที่ว่า “เลือดในอกผสม กลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน” นั้น มีคำอธิบายในช่วงเวลาหลัง โดยอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ว่า หลังคลอดระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลกติน จากต่อมพิตุอิตารีไปกระตุ้นต่อมน้ำนมให้หลั่งน้ำนมซึ่งมีส่วนประกอบที่ได้จากเลือดของมารดา
  8. ขณะเดียวกัน ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ได้อธิบายการเกิดน้ำนมแม่ ใน “อรรถกถามหาตัณหาสังขยาสูตร” ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของพระพุทธโฆษาจารย์ รจนาในราว พ.ศ. 1000 ว่า มารดายังทารกผู้เป็นนั้นให้ดื่มกินน้ำนมในกาลใด กาลนั้นโลหิตในดวงหทัยของมารดาก็แล่นมาถึงบุตรแล้วก็บังเกิดเป็นน้ำนม เพราะความรักในบุตรจึงทำให้เลือดสีขาวเป็นน้ำนม เนื้อความดังกล่าวยังไปปรากฏอยู่ในคัมภีร์สารัตถสังคหะ ฉบับที่รจนาในลังกาทวีปของพระสิตธัตถะและฉบับที่รจนาล้านนาของพระนันทาจารย์ ซึ่งคัมภีร์สารัตถสังคหะทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นหนังสือที่พระในอดีตนิยมตัดเอาข้อความไปใช้เทศนา (อ้างอิง : https://www.matichon.co.th/)
  9. นับจากวันแรกที่เพลงค่าน้ำนมได้เผยเพร่และวางจำหน่ายในปี เมื่อ พ.ศ. 2492 จนถึงตอนนี้ เพลงนี้มีอายุได้ 72 ปีแล้ว

แม้ตอนนี้โลกจะหมุนไปอย่างไร เพลง “ค่าน้ำนม” อาจจะไม่ค่อยได้ร้องกันแล้ว และหลายคนที่เคยเป็นลูก คงกลายมาเป็นแม่ในวันนี้…แต่เชื่อเถอะค่ะว่า ไม่ว่าคุณจะโตเป็นสาวเป็นหนุ่มกันแค่ไหน หรือจะอายุมาขึ้นในทุกปี ผมหงอกจะเพิ่มขึ้นกี่เส้น สำหรับแม่…คุณก็ยังเป็นลูกตัวเล็กๆ ของท่านเสมอนะคะ

Don`t copy text!