เทศกาลซอลรันคนเกาหลีต้องกิน “ต็อกกุก”

เทศกาลซอลรันคนเกาหลีต้องกิน “ต็อกกุก”

โดย : Hoot-Hoot

Loading

เรื่องราวรอบตัวน่ารู้น่าอ่านกับหลากหลายสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ในคอลัมน์ Lifestyle โดย Hoot-Hoot ที่อ่านออนไลน์แล้วรับรองมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเรื่องราวดีๆ ที่รายล้อมรอบตัว #มีให้อ่านที่อ่านเอา

…………………………………………..

Hoot-Hoot เคยเล่าเรื่องเกี๊ยว เมนูมงคลต้อนรับปีใหม่ของชาวจีนไปแล้ว แต่อยู่ๆ ก็คิดถึงเกาหลีใต้ขึ้นมา เพราะวัฒนธรรมบางอย่างก็คาบเกี่ยวกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องเมนูอาหารในวันปีใหม่นั่นล่ะค่ะ เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้กินเกี๊ยว แต่เขากิน ‘ต๊อก’ กันค่ะ

ปีใหม่ของเกาหลีเรียกว่า วันซอลรัน’ ค่ะ ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งคนเกาหลีก็เหมือนชาติอื่นที่เมื่อเข้าสู่ช่วงนี้ทีไร คนก็จะแห่กันกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว และแน่นอนว่างานเลี้ยงงานสังสรรค์ต้องมี และเมื่อเข้าสู่วันแรกของปี ก็จะมีการ กิน ‘ต๊อกกุก’ ค่ะ

‘ต๊อกกุก’ เป็นแป้งต๊อกในน้ำซุปกระดูกวัว โดยต๊อกกุกจะเคี่ยวนานถึง 6 ชั่วโมง ยังไม่นับรวมตอนทำน้ำซุปนะคะ ว่ากันว่าเคี่ยวไปเรื่อยๆ ทั้งวันก็มี การหั่นต๊อกในเมนูนี้ จะหั่นเป็นชิ้นบางๆ รูปร่างวงกลม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระอาทิตย์ อันเป็นตัวแทนของการเริ่มต้นปีใหม่ และยังสื่อถึงความสดใสและความสุข รูปทรงที่ว่ายังเหมือนเหรียญที่เป็นทรงกลมๆ จึงมีความหมายแทนความร่ำรวย มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สินเงินทอง นอกจากนี้ว่ากันว่า กินต๊อกกุกหนึ่งถ้วยอายุเพิ่มขึ้นหนึ่งปีและจะโชคดีทั้งปีด้วยนะคะ

ทีนี้ถ้ามาย้อนดูกันไปถึงสมัยโบราณนานมา คนเกาหลีจะทำการเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่เพราะบ้านเมืองเขาเป็นเมืองหนาว จะปลูกข้าวก็ยากลำบาก ข้าวสารก็เลยกลายเป็นของที่มีราคาแพง โอกาสที่ชาวนาชาวไร่จะได้กินข้าวสารก็ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะกินก็ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ฉะนั้น จึงให้ความสำคัญกับข้าวสารมากๆ ก็จะเก็บไว้กินกันในโอกาสสำคัญๆ อย่างวันปีใหม่ไม่ก็วันไหว้บรรพบุรุษ พอบ้านเมืองเจริญขึ้น ต๊อกที่นิยมกินในวันสำคัญจะเริ่มเติมเนื้อสัตว์ลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ เนื้อวัว ซึ่งก็แล้วแต่บ้านไหนมีเงินพอจะซื้อเนื้ออะไรมาใส่นั่นเองค่ะ

ขอปิดท้ายนิดนึงเผื่อหลายคนสงสัยว่า วันปีใหม่และวันตรุษจีนของคนเกาหลีเหมือนกันไหม Hoot-Hoot หาข้อมูลมาได้ว่า วันขึ้นปีใหม่ของชาวเกาหลีเป็นวันเดียวกันกับวันตรุษจีน, วันขึ้นปีใหม่ของมองโกเลีย, วันขึ้นปีใหม่ของทิเบต และตรุษญวน โดยทั่วไปมักใช้ชื่อตามฝั่งตะวันตก เพื่ออธิบายถึงเทศกาลนี้แบบครอบคลุม แม้ว่าจะไม่ถูกต้องตามหลักของวิทยาศาสตร์ว่าเป็นปีใหม่แบบจันทรคติอยู่ก็ตามค่ะ

 

ข้อมูล : Wikipedia และ https://koreanfoodsguide.blogspot.com

Don`t copy text!