ไขความหมาย ลูกนิมิต 9 ลูกคืออะไร

ไขความหมาย ลูกนิมิต 9 ลูกคืออะไร

โดย : Hoot-Hoot

Loading

เรื่องราวรอบตัวน่ารู้น่าอ่านกับหลากหลายสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ในคอลัมน์ Lifestyle โดย Hoot-Hoot ที่อ่านออนไลน์แล้วรับรองมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเรื่องราวดีๆ ที่รายล้อมรอบตัว #มีให้อ่านที่อ่านเอา

 

สงสัยกันไหมว่า ลูกนิมิตคืออะไร ? ทำไมวัดกับลูกนิมิตคือของคู่กัน? แล้วทำไมคนเฒ่าคนแก่ชอบบอกกับเด็กๆ ว่า จะทำบุญอะไรก็ตาม อย่างน้อยๆ ต้องทำบุญปิดทองฝังลูกนิมิตให้ได้ในชีวิตนี้

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า “นิมิต” เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตว่า นิมิตฺต (อ่านว่า นิ-มิด-ตะ) มีความหมายว่า เครื่องหมาย ลาง เหตุ เค้ามูล. คำว่า นิมิต นี้ แต่เดิมใช้หมายถึงสิ่งหรือปรากฏการณ์ที่เชื่อว่าจะบอกเหตุดีหรือเหตุร้ายก็ได้

ในเรื่องขุนช้างขุนแผน มีใช้คำ นิมิต อยู่หลายแห่งทั้งที่บอกเหตุดีและเหตุร้าย เช่น ตอนพระท้ายน้ำฝันว่าจะมีผู้มาช่วย ใช้คำ นิมิต บอกเหตุดีว่า “จงตรองคำทำนายทายให้ดี นิมิตนี้ล้ำเลิศประเสริฐครัน” และตอนเพชรกล้า แม่ทัพพระเจ้าเชียงใหม่เสี่ยงน้ำก่อนจะไปต่อสู้กับทัพขุนแผน ใช้คำ นิมิต ที่บอกเหตุร้ายว่า “ถ้าจะไปมีชัยแก่ข้าศึก น้ำเลื่อมดังผลึกวิเชียรฉาย ครั้งนั้นขาดชันษาชะตาตาย นิมิตสายชลธีเป็นสีแดง”

ปัจจุบันคำ นิมิต มีความหมายที่แสดงเหตุดี เช่น ขณะที่พราหมณ์ทำพิธีบวงสรวง เกิดพระอาทิตย์ทรงกลด เป็นนิมิตที่ทุกคนในพิธีได้เห็น (อ้างอิง : http://legacy.orst.go.th/)

ส่วนลูกนิมิตนั้น หมายถึง ลูกกลมๆ ใช้ฝังลงไปใต้ดินเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกอาณาเขตของอุโบสถ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทำสังฆกรรม มักทำด้วยหินขนาดประมาณเท่าบาตรของพระสงฆ์ โดยในสมัยก่อน ถ้าจะสร้างอุโบสถขึ้นมาหรือแค่ซ่อมแซมอุโบสถเก่าไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้ระยะเวลานานมาก จึงเชื่อกันว่า หากใครได้มีโอกาสทำบุญฝังลูกนิมิตหรือได้ร่วมสร้างอุโบสถไว้ในพระพุทธศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ก็เท่ากับว่าได้เป็นผู้ที่บูชาคุณของพระพุทธเจ้า และผู้ที่มาส่วนในการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้พระได้ใช้ทำสังฆกรรม

การฝังลูกนิมิต จะฝังทั้งหมด 9 ลูก แต่ละลูกอยู่ประจำทิศต่างๆ เว้นลูกแรกที่ถือว่าเป็นลูกประธานจะอยู่ในโบสถ์หรืออุโบสถ

  • ลูกนิมิตลูกแรก ถือเป็นนิมิตเอกนั้นจะตั้งอยู่กลางอุโบสถเพื่อถวายการบูชาพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาเอกของพระพุทธศาสนาผู้เป็นพระประมุขแห่งสงฆ์ โดยลูกนิมิตลูกเอกนี้ เป็นประธานของลูกนิมิตทั้งหมด
  • ลูกที่ 2 อยู่ทิศตะวันออก หรือเข้าใจง่ายๆ คือ อยู่ด้านหน้าของอุโบสถ ถือเป็นลูกบริวารที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เปรียบเหมือนปฐมสาวก หรือ พระสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอัครสาวกผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้รู้ราตรีกาลนาน
  • ลูกที่ 3 อยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือด้านหน้าฝั่งขวาของอุโบสถ การฝังลูกนิมิตไว้ทางทิศเพื่อบูชา พระมหากัสสปะเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้ทรงธุดงค์คุณ
  • ลูกที่ 4 อยู่ทิศใต้ อยู่ด้านขวาของอุโบสถ เป็นการบูชาพระสารีบุตร พระอัครสาวกฝ่ายขวา พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางปัญญา
  • ลูกที่ 5 อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ด้านหลังฝั่งขวาของอุโบสถ การฝังลูกนิมิตทางด้านทิศนี้เพื่อบูชาพระอุบาลีเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางวินัย
  • ลูกที่ 6 อยู่ทิศตะวันตก ฝังอยู่ด้านหลังของตัวอุโบสถ เป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของเงา ซึ่งเปรียบได้กับพระเถระที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก คอยเฝ้าติดตามดูแลปรนนิบัติรับใช้พระพุทธองค์เหมือนเงาตามตัว ดังนั้น การฝังลูกนิมิตทางทิศนี้ เพื่อเป็นการบูชา พระอานนท์เถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางพหูสูตและเป็นมหาพุทธอุปัฎฐากแด่พระพุทธเจ้า
  • ลูกที่ 7 อยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ฝังอยู่ด้านหลังฝั่งซ้ายของอุโบสถทางด้านทิศนี้ เป็นการบูชา พระควัมปติเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางลาภสักการะและรูปงาม
  • ลูกที่ 8 อยู่ทิศเหนือ ฝังทางด้านทิศนี้ถือเป็นลูกที่มีความสำคัญอีกลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ด้านซ้ายของตัวอุโบสถ เพื่อเป็นการบูชา พระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวกฝ่ายซ้ายของพระพุทธเจ้า ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางแสดงฤทธิ์
  • ลูกที่ 9 อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ฝังอยู่ด้านหน้าฝั่งซ้ายของอุโบสถทางทิศเหนือนี้ เป็นสัญญลักษณ์แห่งความผูกพัน มีผลทางด้านจิตใจ ถือเป็นทิศสุดท้าย เพื่อเป็นการบูชาพระราหุลเถระ ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางการศึกษา

ได้รู้จัก “ลูกนิมิต” และเข้าใจความหมายของการฝังลูกนิมิตแต่ละลูกกันแล้ว หากมีโอกาสได้ไปทำบุญที่วัด และมีการฝังลูกนิมิต อย่าลืมร่วมบุญปิดทองฝังลูกนิมิตกันนะคะ

 

ข้อมูล : วัดวีระโชติธรรมาราม, https://www.pidthong.com

 

Don`t copy text!