เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ “ทอฟฟีแอปเปิ้ล”

เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ “ทอฟฟีแอปเปิ้ล”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

ธันวาคมปีนั้นวิลเลียมเดินทางถึงลอนดอนเพื่อสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพของเครือจักรภพ นายพลไรอัน บรูค ลุงของเขาเป็นผู้เขียนใบรับรองให้ด้วยความเต็มใจและภูมิใจ บ่อยครั้งที่นายพลไรอันจะปรารภกับเพื่อนทหารระดับเดียวกันว่า คนตระกูลบรูคทุกคนล้วนมีเกียรติแห่งนักรบของจักรวรรดิบริติช

วิลเลียมถูกส่งเข้าอยู่ในหน่วยทหารม้าปืนใหญ่ เป็นพลทหารฝึกปืนใหญ่ได้ราว ๕ เดือน พฤษภาคมปีถัดมาก็ได้ติดยศร้อยตรีในหน่วยทหารปืนใหญ่สนาม ท่ามกลางเสียงซุบซิบลับหลังพอให้นายพลไรอันผู้เป็นลุงได้ยินเข้าหูบ้างหากก็ไม่ยี่หระ หลังจากที่นายพลไรอันได้จัดตั้งกองพลที่ ๓๗ และให้วิลเลียมและอีวานประจำอยู่ในหน่วยปืนครกสนามเพลาะ X 37th TMB

นายพลไรอันไม่ฟังเสียงซุบซิบว่าตั้งกองพลนี้มาเพื่อหลานชาย ทั้งไม่อธิบายและไม่แก้ตัว

“หน่วยนี้มีกำลังพล ๒๕ นาย” ผู้ก่อตั้งแจกแจงรายละเอียด “ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตร ๒ นาย จ่าทหาร ๑ นาย นายสิบ ๔ นาย พลทหาร ๑๖ นาย และที่ขาดไม่ได้ก็คือ…พลเรือนคนรับใช้นายทหารอีก ๒ คน”

“มีกันเท่านี้จะพอหรือครับ” พลเรือนคนหนึ่งถามขึ้นมา

นายพลไรอันเบือนหน้าไปมองนิ่งก่อนสาธยายต่อไป

“แม้คนจะน้อย แต่จะกังวลไปไยในเมื่อเรามี ‘ทอฟฟีแอปเปิ้ล’”

วิลเลียมพอจะเข้าใจว่า ‘ทอฟฟีแอปเปิ้ล’ นั้นคือลูกกระสุนปืนครกของหน่วยที่เขาประจำอยู่ แต่ก็ยังไม่รู้ที่มาของการเรียกชื่อนี้ อาวุธหลักของหน่วยนี้คือปืนครกขนาดกระบอกปืนปานกลาง ๒ นิ้ว จำนวน ๔ กระบอก ลูกปืนเป็นโลหะกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๙ นิ้ว มีก้านยาวราว ๒๐ นิ้ว

“เวลาสู้กับพวกเยอรมันเราก็ต้องเสิร์ฟให้ครบคอร์สสิครับ ทางนั้นจะได้อิ่ม” เด็กหนุ่มคนหนึ่งเล่าด้วยน้ำเสียงสนุก ดูเหมือนเขาจะอายุน้อยที่สุดในหน่วยนี้ หากเรื่องเล่าคล้ายจะเป็นผู้เจนจัดในสนามรบมาหลายศึก “เรายิงสไนเปอร์เรียกน้ำย่อยก่อน เป็นสตาร์ทเตอร์ จากนั้นก็เสิร์ฟกระสุนปืนใหญ่เป็นเมนคอร์ส แล้วจบท้ายด้วยของหวานรสอร่อย ‘ทอฟฟีแอปเปิ้ล’ ซัดห่าเข้าไปให้จุกเลย พอมันอิ่มและอ่วมได้ที่เราก็…บุก”

คำท้ายเน้นหนักอย่างห้าวหาญ

“เช่นนั้นเราก็ต้องฝึกบรรจุกระสุนให้เร็วและยิงได้ต่อเนื่อง เพื่อพวกมันจะได้อ่วมจนน่วมไปเลย จริงไหม” วิลเลียมถามอย่างแกล้งเย้าเพื่อลองภูมินายทหารหนุ่มน้อย

“ใช่ แต่ผมไม่รู้ว่าเราต้องยิงเท่าไหร่ รู้แต่ว่าตอนยิงทอฟฟีแอปเปิ้ลออกไปแล้ว…สะใจชะมัด” เขาว่า

วิลเลียมลูบคางพลางคิดคำนวณแล้วเอ่ยออกมาให้ได้ยินทั่วกันว่า

“ทอฟฟีแอปเปิ้ลลูกหนึ่งหนักประมาณ ๔๑ ปอนด์ ถ้าเราต้องยิงต่อเนื่องหนึ่งชั่วโมง ภายใต้อัตราการยิงสองครั้งต่อนาที” นั่นคืออัตราปกติของปืนครกชนิดนี้ “เราต้องขนกระสุนมาเตรียมไว้ถึง ๒ ตัน และฝึกการลำเลียงลูกกระสุนจากแนวหลังไปถึงแนวหน้าให้ทันกับอัตราการยิง”

“แต่ในสนามเพลาะทั้งแคบและแออัด” น้าอีวานรำพึงขึ้นมา ทำให้เด็กหนุ่มรีบสวนออกไป

“มันก็ต้องฝึกกันสิ หน่วยเรามีกันแค่ ๒๕ คนเท่านี้เอง ฝึกให้เข้าขากันได้ไม่ยากหรอก”

“ฉันชักถูกชะตากับเธอแล้วสิ เธอชื่ออะไร พ่อหนุ่มน้อย” วิลเลียมถามอย่างผู้ใหญ่เอ็นดูเด็กหนุ่มที่แววตาเจิดจ้าเป็นประกาย

“โอลิเวอร์” เขาตอบก่อนที่จะทำให้วิลเลียมชะงักไปเมื่อแนะนำอย่างเต็มยศว่า “โอลิเวอร์ บลูมเมอร์”

บลูมเมอร์…นามสกุลของเด็กหนุ่มก้องกลับไปมาในหัวของวิลเลียม ขณะที่เขามองดวงหน้านั้นอย่างพินิจพิจารณาราวจะค้นหาส่วนเสี้ยวที่เหมือนกับลีรอย บางทีเด็กหนุ่มผู้นี้อาจทำให้เขาได้คำตอบไปบอกเพื่อนรักของเขาว่า เทือกเถาเหล่ากอหรือตระกูลบลูมเมอร์นั้นคือใคร

 

ดอกป๊อปปี้สีแดงสดบานสะพรั่งอยู่เต็มท้องทุ่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน อากาศเย็นสบาย ท้องฟ้าสีครามแจ่มใส เป็นบรรยากาศที่เหมาะแก่การพักผ่อนตากอากาศให้เพลินใจมากกว่าการเฝ้าระวังอยู่ทุกขณะจิตว่าจะต้องเผชิญหน้ากับศัตรู เพราะห่างไปไม่กี่ร้อยเมตรก็เป็นแนวสนามเพลาะของฝ่ายเยอรมัน ทั้งฝ่ายจักรภพและเยอรมันต่างขุดสนามเพลาะเป็นแนวยาวตั้งแต่ชายฝั่งทะเลเหนือของเบลเยียม พาดผ่านตอนเหนือของฝรั่งเศสไปจนจรดเขตของสวิตเซอร์แลนด์ บริเวณแนวหน้ามีป้อมค่ายปืนกลและปืนใหญ่ตั้งประจำในจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ตลอดแนวรบ โดยมีทหารชั้นผู้น้อยประจำอยู่ในสนามเพลาะ

กองพลที่ ๓๗ เดินทางเลยหมู่บ้านกอมกูต์ เข้าประจำแนวสนามเพลาะที่อยู่เลยหมู่บ้านขึ้นไปทางเหนือ ห่างจากแนวสนามเพลาะของเยอรมันที่อยู่ทางตะวันออกราวครึ่งไมล์  สนามเพลาะนั้นเป็นคูดินขุดลึกท่วมหัว เสริมด้วยถุงทรายเรียงเป็นแนวยาวขนานซ้อนกันหลายชั้น คูดินที่ขุดไว้มีหลายแถว แถวหน้าหรือแนวหน้าสุดเป็นที่อยู่ของทหารที่สับเปลี่ยนกำลังอยู่ประจำเพื่อพร้อมประจันหน้ากับศัตรูตลอดเวลา ส่วนแนวหลังขุดไว้เพื่อให้ทหารกำลังเสริมหรือหน่วยที่เตรียมสับเปลี่ยนกับแนวหน้าคอย และยังมีคูที่ขุดตั้งฉากกับแนวสนามเพลาะเพื่อใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร ลำเลียงพล อาวุธ และเสบียง

น้ำเสียงของนายพลไรอันปลุกความฮึกเหิมในตอนแรก โดยเฉพาะเมื่อเขาบอกว่า

“จากที่ตรงนี้ สนามเพลาะของฝ่ายศัตรูอยู่ห่างเราไปไม่ถึงครึ่งไมล์”

แววตาของโอลิเวอร์เป็นประกาย คิดในใจว่าคราวนี้แหละ เขาจะป้อนทอฟฟีแอปเปิ้ลใส่อีกฝ่ายไม่ยั้ง แต่แล้วใจที่พองคับอกก็เหี่ยวแฟบลงไปเมื่อนายพลไรอันชี้แจงต่อ

“ปฏิบัติการครั้งนี้เรามิได้ทำตามลำพัง แต่จะเป็นปฏิบัติการร่วมกันกับกองพลที่ ๔๖ และ ๕๖”

นายพลไรอันกำชับสมาชิกในกองพล ๓๗ ให้ดูแลความเรียบร้อยของสนามเพลาะให้ดี ส่วนตัวเขาแยกไปพักใน ‘ชาโต’ หรือปราสาทที่หรูหราและสะดวกสบายอยู่ถัดไปจากแนวหลังของสนามเพลาะ ถือเป็นทั้งที่พักและศูนย์บัญชาการรบของนายทหารระดับผู้บัญชาการ

ชาโตที่นายพลไรอัน บรูค ใช้เป็นศูนย์บัญชาการนี้คือ ชาโต เดอ แกวง

วิลเลียม บรูค อีวาน บรูค และโอลิเวอร์ บลูมเมอร์ ช่วยกันขึงรั้วลวดหนามตามแนวของสนามเพลาะแนวหน้าแถวแรกเพื่อป้องกันศัตรูบุกรุกเข้ามา ยึดแนวรั้วลวดหนามด้วยท่อนไม้และเหล็กเส้นขนาดเท่านิ้วก้อยที่ขดเป็นเกลียวปลายแหลม

น้าอีวานชี้ไปเบื้องหน้าเลยแนวรั้วลวดหนามที่ยามนี้ดอกป๊อปปี้บานอวดกลีบสีแดงเฉิดฉัน “พื้นที่ตรงนั้นคือ ‘เขตปลอดคน’ หรือ No Man’s Land อยู่ตรงกลางระหว่างสนามเพลาะของทั้งสองฝ่าย เป็นพื้นที่ที่มิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร”

ในยามนั้นตะวันจางแสงสนธยาแล้ว โอลิเวอร์จึงดีดตัวจากคูในสนามเพลาะขึ้นไปอยู่บนพื้นซึ่งถือว่าเป็นเขตปลอดคน ค่อย ๆ หมุนปักเหล็กยึดแนวรั้วลวดหนามกับพื้นดินด้วยความเงียบเชียบ ฉับพลันทันทีเขาก็รู้สึกเหมือนมีร่างหนึ่งเข้าปะทะกระแทกอย่างแรงจนล้มลงไปกับพื้น แล้วยังกดหัวเขาให้แนบสนิทกับพื้นดิน

วินาทีเดียวกับที่โอลิเวอร์ล้มลงนั้น เด็กหนุ่มสัมผัสถึงลมร้อนที่พุ่งผ่านข้างตัวเขาไปด้วยความเร็ว

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเสี้ยววินาที เมื่อฝ่ายที่ผลักเขาล้มลงมั่นใจว่าปลอดภัยแล้ว ก็ดันตัวเด็กหนุ่มให้กลิ้งลงไปในคูดิน วิลเลียมกับน้าอีวานคอยรับอยู่ จากนั้น นายทหารผู้นั้นก็กลิ้งตามลงมาในคูโดยไม่ยืดตัวยืนขึ้น

“ไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นเป้านิ่งให้พวกมันนะสิ” เขาว่าแล้วหันไปตำหนิโอลิเวอร์ที่เพิ่งรู้ตัวว่ารอดตายมาได้หวุดหวิดจากการซุ่มยิงของอีกฝ่าย

“ฉันเป็นทหารนำสาร มาจากกองพลที่ ๔๖” สนามเพลาะที่ประจำของกองพลนี้อยู่แถวหมู่บ้านฟงก์วิลแลร์ “ก่อนถึงวันเผด็จศึก เราต้องวางแผนร่วมกันให้ดีเสียก่อน”

“กำหนดวันโจมตีเมื่อไหร่” ร้อยตรีวิลเลียม บรูค ถามแทนทุกคน คอยคำตอบด้วยใจระทึก

“วันที่ ๑ กรกฎาคม”

คำตอบของนายทหารจากกองพลที่ ๔๖ บอกให้รู้ว่า พวกเขาเหลือเวลาเตรียมการเพียงแค่ ๑ สัปดาห์

 

ค่ำนั้นหลังมื้ออาหารในคูดินของสนามเพลาะ นายทหารนำสารจากกองพลที่ ๔๖ จึงได้เล่าถึงชีวิตของพวกเขาในสนามเพลาะใกล้หมู่บ้านฟงก์วิลแลทั้งยามว่างและยามรบ พลางสำรวจสนามเพลาะที่กองพล ๓๗ ขุดเพิ่มเติม ภายในคูดินที่ขุดลึกท่วมหัวมีการขุดโพรงข้างผนังไว้เป็นที่หลบภัย เล็กบ้างใหญ่บ้าง ค้ำยันด้วยไม้ กระสอบทราบ และสังกะสี

“บังเกอร์ของพวกเยอรมันสร้างถาวรและดีกว่าของเรา” นายทหารนำสารเล่า “พวกมันขุดอุโมงค์จากสนามเพลาะเชื่อมไปสู่บังเกอร์ใต้ดิน บางจุดลึกลงไปถึง ๑๒ เมตร ทำให้ป้องกันกระสุนปืนใหญ่ได้ชะงัดนัก ซ้ำร้ายในบังเกอร์ใต้ดินยังสะดวกสบายไม่ผิดกับเมืองหนึ่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกพรักพร้อมทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา แล้วยังมีเครือข่ายสายโทรศัพท์ฝังไว้ใต้ดินลึกสองเมตร ป้องกันสายขาดจากกระสุนปืนใหญ่ การสื่อสารของพวกเยอรมันจึงดีกว่าทางเรามาก” นายทหารนำสารหยุดครู่หนึ่งแล้วว่า เราต้องวางแผนให้ดี

ศึกนี้นับเป็นศึกแรกของร้อยตรีวิลเลียม บรูค แห่งกองพลที่ ๓๗

‘ศึกแห่งแม่น้ำซอมม์’ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๙ (1) ซึ่งมีศึกย่อยอีกหลายครั้งในช่วงเวลานี้ ศึกย่อยที่อุบัติขึ้นในวันเดียวกันก็คือ ‘ศึกแห่งสามเหลี่ยมกอมกูต์’ มีเป้าหมายโจมตีหมู่บ้านกอมกูต์ (2) โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างกองพลที่ ๓๗ พลที่ ๔๖ และ ๕๖

ทหารฝ่ายเครือจักรภพอังกฤษและฝรั่งเศสเตรียมบุกโจมตีฝ่ายเยอรมันตามแนวสนามเพลาะพร้อมกันหลายบริเวณ ไล่ตั้งแต่หมู่บ้านกอมกูต์ทางตอนเหนือของแม่น้ำอ๊องค์ ลงไปถึงหมู่บ้านโชนซึ่งห่างจากแม่น้ำซอมม์ลงไปทางใต้ราว ๘ ไมล์

หมู่บ้านกอมกูต์จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในศึกครั้งนี้

แผนปฏิบัติการตกลงเรียบร้อยแล้วโดยเหล่านายพลจาก ‘ชาโต’ นายพลไรอัน บรูค สรุปหน้าที่ของแต่ละหน่วยว่า

“เราต้องเบนความสนใจพวกเยอรมัน ให้หันปากกระบอกปืนมาทางหมู่บ้านกอมกูต์”

“เป้าหมายที่เราจะเข้ายึดคือหมู่บ้านแซร์และหมู่บ้านโบมองฮาเมลไม่ใช่หรือครับ” ร้อยตรีวิลเลียม บรูค ถามเพราะรู้ว่าหมู่บ้านทั้งสองนี้เป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องการยึดครอง อยู่ห่างจากหมู่บ้านกอมกูต์ลงไปทางใต้ราว ๒ ไมล์ครึ่ง

นายพลไรอันพยักหน้า แถลงต่อไปว่า

“เพราะอย่างนี้ไงละ เราถึงต้องเบนความสนใจฝ่ายศัตรูให้พุ่งไปที่หมู่บ้านกอมกูต์เพียงจุดเดียว”

“กองทัพเยอรมันจะได้ไม่พากำลังเสริมจากทางเหนือไปสมทบที่หมู่บ้านแซร์และโบมองฮาเมลด้วยใช่ไหมครับ” ร้อยตรีวิลเลียมถาม นายพลไรอันพยักหน้าให้หลานชายอย่างพอใจที่เข้าใจแผนการได้รวดเร็ว

“เราจะ ‘ปฏิบัติการลวง’ สักสี่ห้าวัน” นายพลไรอันบอก “กองพลที่ ๓๗ มีหน้าที่ลวงข้าศึก ส่วนกองพลที่ ๔๖ และ ๕๖ จะเป็นหน่วยโจมตี” กองพลทั้งสองของกองทัพเครือจักรภพขุดสนามเพลาะอยู่ชิดด้านใต้และตะวันตกของหมู่บ้านกอมกูต์ “หากทั้งสองกองพลโจมตีสำเร็จ กองพลที่ ๓๗ จึงจะเข้าไปเสริมและทดแทนกำลัง”

ร้อยตรีวิลเลียมหันมาทางโอลิเวอร์ก็พบว่าเด็กหนุ่มเม้มปากแน่นอย่างขัดเคืองใจด้วยมิใช่สิ่งที่อยากทำ แม้จะยังไม่รู้รายละเอียดว่า ‘ปฏิบัติการลวง’ นี้ต้องทำอย่างไรบ้าง แต่โอลิเวอร์คงคาดหวังว่าจะได้จับปืนยิงทอฟฟีแอปเปิ้ลแจกศัตรูจากแนวหน้ามากกว่า

วิลเลียมเป็นฝ่ายให้กำลังใจโอลิเวอร์

“ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน จงทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แผนการนี้ไม่ได้กำหนดให้ปฏิบัติเพียงกองเดียว แต่ร่วมกันทั้งสามกองพล ขาดใครไปคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลย ฉะนั้น เราจึงสำคัญเท่าเทียมกันในการโจมตีครั้งนี้”

“เราจะใช้ฉากควันพรางตาศัตรู” นายพลไรอันอธิบายต่อไป “กองพลที่ ๓๗ ต้องขึ้นไปที่เขตปลอดคน ปล่อยฉากควันและก๊าซพิษเป็นระยะ ๆ พร้อมกับขุดแนวสนามเพลาะเพิ่มให้เข้าใกล้แนวสนามเพลาะของฝ่ายนั้นให้มากที่สุด”

คราวนี้โอลิเวอร์หุบยิ้มไม่อยู่อย่างสมใจ ลิงโลดกว่าใครเพื่อน ตาเป็นประกายที่จะได้ถือก๊าซพิษและระเบิดควันขึ้นไปบนเขตปลอดคน

ร้อยตรีวิลเลียม บรูค และอีวาน บรูคหันมองกันโดยมิได้นัดหมาย คิดตรงกันว่าจะต้องคอยระวังความมุทะลุห้าวหาญจนอาจถึงขั้นบ้าบิ่นของโอลิเวอร์ตอนที่ขึ้นไปบนเขตปลอดคน หาไม่แล้ว เด็กหนุ่มอาจต้องฝากชีวิตไว้กับทุ่งดอกป็อปปี้ และกองทัพของเครือจักรภพอาจเพลี่ยงพล้ำให้กับกองทัพของเยอรมันผู้เป็นศัตรู

 

วิลเลียม อีวาน โอลิเวอร์ และคนอื่น ๆ ในกองสำรวจความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกายสีน้ำตาลให้รัดกุมทะมัดทะแมงสำหรับการขึ้นไปบน ‘เขตปลอดคน’ อุปกรณ์สำคัญคือเป้สะพายหลังที่บรรจุระเบิดควันและก๊าซพิษ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ เพราะหาไม่แล้ว ฝ่ายที่จะต้องล้มตามด้วยสูดไอพิษเข้าไปก็คือฝ่ายเครือจักรภพเอง

ทหารในกองพลที่ ๓๗ แบ่งเป็น ๒ กองสำหรับปฏิบัติการลวง

กลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ปล่อยฉากควันและก๊าซพิษ

อีกกลุ่มหนึ่งลอบขุดสนามเพลาะในเขตปลอดคนให้ขยายออกไป เพราะแนวรบด้านนี้ค่อนข้างกว้างกว่าแนวรบทางใต้ที่แคบ พร้อมกันนั้นก็สร้างสถานการณ์คล้ายกับว่าเตรียมการบุกเข้าโจมตี โดยยิงปืนครกเข้าไปตัดรั้วลวดหนามหน้าสนามเพลาะของฝ่ายเยอรมัน เสียงปืนใหญ่ ปืนกล และทอฟฟีแอปเปิ้ลที่ระดมยิงออกไปอย่างรุนแรงจึงดังต่อเนื่องตลอดเวลา

ร้อยตรีวิลเลียมและเพื่อนพ้องในกองพลที่ ๓๗ ค่อย ๆ ขุดอุโมงค์เข้าใกล้สนามเพลาะของอีกฝ่ายให้มากที่สุดเพื่อวางระเบิดทำลายป้อมปืนของเยอรมันให้ย่อยยับ แต่การณ์กลับเป็นว่าฝ่ายเยอรมันระแคะระคายว่าอาจมีการบุกโจมตี จากที่เกิดฉากควันช่วงสี่ห้าวันที่ผ่านมา

ครั้นแล้วยามรุ่งอรุณของวันที่ ๑ กรกฎาคม แทนที่เยอรมันจะเป็นฝ่ายตั้งรับ กลับสาดกระสุนปืนใหญ่เข้ามาในสนามเพลาะของกองพลที่ ๔๖ ยังผลให้ทหารแนวหน้าที่อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด ทั้งยังไม่ทันระวังตัวจะเป็นฝ่ายถูกโจมตีเสียเอง บาดเจ็บล้มตายระเนนระนาด

“พวกมันรู้ตัวแล้วว่าเราจะบุก เลยชิงลงมือก่อน” ร้อยตรีวิลเลียมพูดกับเพื่อนท่ามกลางเสียงปืนที่ยิงโต้ตอบกันไปมา พร้อมกับเร่งจุดระเบิดควันโยนเข้าไปบนเขตปลอดคนเพื่อพรางทัศนวิสัยและคืบคลานเข้าไปใกล้แนวของอีกฝ่ายให้มากที่สุด

“ผมจะบุกเข้าไปเอง” โอลิเวอร์ร้องอย่างบ้าระห่ำ ฟังจากน้ำเสียงก็รู้ว่าโอลิเวอร์มีโทสะมากกว่าสติ แต่ยังไม่ทันวิลเลียมจะทักท้วงหรือตักเตือน โอลิเวอร์ก็วิ่งฝ่าฉากควันพุ่งตรงไปยังสนามเพลาะฝ่ายเยอรมัน

“ไอ้หนูระวัง” วิลเลียมร้องเตือนและวิ่งตามไป น้าอีวานเห็นท่าไม่ดีจึงตามไปสำทับด้วยอีกคน

จริงดังคาด โอลิเวอร์ไม่แม่นพิกัดแผนที่ เมื่อกระโจนเข้าไปในฉากควัน แทนที่จะพุ่งไปยังเป้าหมาย เด็กหนุ่มกลับยืนคว้างอยู่กลางเขตปลอดคน สับสนทิศทางว่าควรหันไปทางใด ซ้ำร้ายจุดที่เขายืนอยู่ก็เฉอะแฉะไปด้วยโคลนหนา แต่ละก้าวยุบลงไปเกือบครึ่งแข้ง กลายเป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายศัตรูเล็งยิงได้ง่าย ๆ

เสียงปืนกลระรัวต่อเนื่องราวเสียงข้าวตอกแตก โอลิเวอร์อ้าปากค้างหวาดผวา เพราะขาทั้งสองข้างติดอยู่ในหลุมโคลน ข้างบนหัวก็มีเสียงกระสุนปืนกลแหวกอากาศอยู่ไปมา

อ๊า! เสียงร้องดังขึ้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากระสุนปืนได้ปลิดชีวิตทหารนายหนึ่งให้ร่วงลงไป

โอวิเวอร์ตัวสั่นสติหลุดหายไม่อยู่กับเนื้อตัว รู้เพียงว่ามีแรงผลักกดให้เขานอนราบลงกับพื้นทั้งที่ขายังจมอยู่ในบ่อโคลน ครั้นได้ยินเสียงเบา ๆ ที่ข้างหู นายทหารหนุ่มก็อุ่นใจ

“ใจเย็นไว้ ไอ้หนู เธอยังไม่ตาย” วิลเลียมเตือนสติ “แต่เธอจะบ้าระห่ำไม่ฟังใครอย่างนี้ไม่ได้”

“ขอบคุณครับ คุณบรูค” โอลิเวอร์ละล่ำละลักตอบเสียงสั่น รู้สึกอุ่นใจมากขึ้นเมื่อคนอยู่ข้างเขามิใช่คนเดียว แต่มีถึงสองประกบซ้ายขวา

“ตอนนี้ฉากควันยังหนาแน่น ใช้จังหวะนี้ถอนตัวเองขึ้นมาจากบ่อโคลนให้ได้ก่อน”

น้าอีวานก็จุดระเบิดควันอีกลูกเพื่ออำพราง แล้วจึงช่วยกันดึงขาโอลิเวอร์ให้พ้นจากบ่อโคลน กว่าจะหลุดได้ก็รู้สึกว่าเวลาผ่านไปนานชั่วกัปกัลป์ คงเพราะเสียงปืนและระเบิดที่ยิ่งถล่มกันสนั่นนั่นเองที่ทำให้คิดว่า วินาทีแห่งความตายจะเยี่ยมกรายมาได้ทุกเมื่อ

“เราต้องกลับไปตั้งหลักกันก่อน” ร้อยตรีวิลเลียมบอก

ฉากควันยังหนาแน่น เข็มทิศที่ติดตัวน้าอีวานตกหายไป ที่วิลเลียมมีอยู่ก็ใช้การไม่ได้เพราะถูกกระแทกจนแตกตอนที่ล้ม ทหารทั้งสามนายจึงตกลงกันว่าจะเกาะกลุ่มคืบคลานกลับไปที่สนามเพลาะด้วยสัญชาตญาณ ร่างนายทหารที่ถูกกระสุนปืนล้มอยู่ใกล้ ๆ อยู่ในเครื่องแบบสีเทาของทหารเยอรมัน วิลเลียมจึงเดาว่า

“ถ้าทหารนายนี้มาจากทางนั้น ทิศที่เขาจะมุ่งหน้าไปก็คือแนวสนามเพลาะของอังกฤษ”

เห็นพ้องกันดังนั้น นายทหารเครือจักรภพทั้งสามก็หมอบคลานกับพื้นไปยังทิศทางตรงข้ามที่นายทหารเยอรมันล้มลง จนเห็นแนวรั้วลวดหนามอยู่รำไรก็ร้องดีใจว่าถึงเขตปลอดภัยของตนแล้ว

อารามดีใจ โอลิเวอร์จึงรีบคลานไปแล้วกระโจนข้ามรั้วลวดหนาม มั่นใจว่ากะถูกต้องเพราะเขาเป็นคนวางแนวลวดหนามเอง รู้ว่าต้องกระโดดสูงเท่าใดจึงจะพ้น นายทหารหนุ่มกระโจนข้ามไปกะระยะผิดพลาด รั้วลวดหนามจึงเกี่ยวขาเป็นแผลเลือดไหล

จังหวะเดียวกับที่ร้อยตรีวิลเลียม บรูคร้องออกไป

“อย่าไป! โอลิเวอร์ เรามาผิดฝั่ง”

ไม่ทันเสียแล้ว ร่างของโอลิเวอร์ข้ามไปอยู่ในสนามเพลาะฝั่งเยอรมัน พลันสติเขาก็กระเจิงยิ่งกว่าตอนที่ได้ยินเสียงปืนปลิดชีวิตนายทหารผู้นั้นเสียอีก เนื่องด้วยเมื่อเขากระโจนลงไปในสนามเพลาะ แทนที่เท้าสองข้างจะยืนอยู่บนพื้นหรือกระสอบทราย กลับเป็นร่างของทหารหลายนาย ไม่รู้ใครเป็นใครอยู่ฝ่ายไหน นอนทับกองก่ายแออัดกันอยู่เหมือนปลาซาร์ดีนในกระป๋องเบียดกันอยู่ในสนามเพลาะ บางคนตายแล้วแต่ตายังเหลือกลาน บางคนร้องทรมานด้วยความเจ็บปวดบาดแผล ทั้งแขนขาดขาขาด ดูแล้วให้อเนจอนาถชวนสังเวชใจพร้อมกับกระตุ้นให้ปั่นป่วนในท้อง ร่ำ ๆ จะอาเจียนโพรกออกมาให้ได้

“วิลเลียม เรากลับไปตั้งหลักก่อน อย่าบุกเข้าไปเลย” น้าอีวานร้องเตือน

“โอลิเวอร์อยู่ในนั้น ถ้าเราไม่ช่วยเขาออกมา เขาอาจจะถูกสังหารหรือไม่ก็กลายเป็นเชลยไป”

“แต่ถ้าเราเข้าไป ก็คงต้องตายทั้งสามคน” น้าอีวานย้ำอีกครั้ง “ตรงนั้นเป็นเขตของเยอรมัน”

“ผมทิ้งเขาไม่ได้” วิลเลียมยืนยัน น้าอีวานคิดว่าเป็นการแสดงออกอย่างชายชาติทหารที่ไม่ยอมทิ้งเพื่อนฝูงและรักษาเกียรติแห่งกองทัพเครือจักรภพ หากอีกเหตุผลหนึ่งที่น้าอีวานไม่รู้ก็คือ วิลเลียมคิดว่าเด็กหนุ่มคนนี้ต้องมีความเกี่ยวข้องกับลีรอยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อย่างน้อย นามสกุลบลูมเมอร์ที่เหมือนกันก็คงช่วยให้สืบหาที่มาของลีรอยได้ไม่ยาก

“น้าอีวานกลับไปที่เขตเราก่อน แจ้งข่าวให้ทางนั้นทราบ ส่วนผมจะเข้าไปช่วยโอลิเวอร์เอง”

อีวาน บรูคส่ายหน้าอย่างไม่เห็นด้วย แต่วิลเลียมก็ยังยืนยันว่าทางนี้ดีที่สุด จึงยอมตามใจ

วิลเลียมบุกเข้าไปถึงสนามเพลาะ พบโอลิเวอร์ยืนสติแตกอยู่บนกองศพทหารและคนที่ร้องครวญครางจมกองเลือด เสียงปืนกลยังดังต่อเนื่อง กลบเสียงแตรที่ฝ่ายเครือจักรภพเป่าเป็นสัญญาณให้ยุติการโจมตี

“ไปที่โพรงหลบภัยกันก่อน” วิลเลียมตบหน้าโอลิเวอร์อย่างแรงเพื่อเรียกสติเด็กหนุ่มกลับคืนมา แล้วลากกึ่งจูงไปที่โพรงหลบภัยที่ขุดไว้ข้างสนามเพลาะ ไม่ว่าจะเป็นสนามเพลาะของฝ่ายไหนก็ต้องขุดโพรงหลบภัยเตรียมไว้ทั้งนั้น

“คุณบรูค ผมทำผิดอีกแล้ว” คราวนี้โอลิเวอร์น้ำตาร่วงอย่างสำนึกผิดจริง ๆ

วิลเลียมโอบเด็กหนุ่มมากอดปลอบโยน นึกถึงหน้าลูก ๆ ของเขาว่าอีกไม่กี่ปี ลูกชายของเขาก็จะเจริญวัยเท่ากับเด็กหนุ่มคนนี้ และตัวเขาเองในวัยหนุ่มเขาก็เคยมุทะลุไม่ฟังใครเช่นนี้มิใช่หรือ

“เลือดหนุ่มร้อนแรงเสมอ เธอต้องรู้จักควบคุมมัน”

นานในความรู้สึกทั้งที่เวลาจริงผ่านไปไม่กี่นาที โอลิเวอร์ก็ตั้งข้อสังเกต

“เสียงปืนเงียบลงแล้ว”

“คงจะหยุดยิงกันแล้วละ” วิลเลียมว่าและคาดเดาต่อไป “ที่ตรงนี้ไม่ปลอดภัยอีกแล้ว เพราะอีกไม่นานทหารเยอรมันจะต้องกลับมาตรวจตราความเรียบร้อยของสนามเพลาะ และกองทัพของเราก็คงไม่ส่งกำลังเสริมมาช่วยแน่ เราต้องรีบหนีออกไปจากโพรงนี้ให้เร็วที่สุด”

โอลิเวอร์พยักหน้า คราวนี้เขาเชื่อฟังทุกอย่างไม่มีอิดออด แต่ครั้นยืดตัวยืนจึงได้เห็นว่าที่ขานั้นมีแผลเป็นทางยาว เพิ่งรู้สึกเจ็บเดี๋ยวนี้เอง

“เลือดเธอไหลออกมาก เดินไหวหรือเปล่า”

“ไหวครับ” โอลิเวอร์กัดฟันพูด เขาไม่อยากเป็นภาระของใครอีกแล้ว “คุณบรูคครับ ทิ้งผมไว้ที่นี่เถอะ คุณรีบกลับไปฝั่งโน้นเถอะครับ”

“ฉันจะทิ้งเธอได้ยังไง ปล่อยเธอไว้ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกยิงตายก็กลายเป็นเชลย เธอจะปล่อยให้พวกเยอรมันย่ำยีศักดิ์ศรีของพวกเราอย่างนั้นหรือ”

“แต่ผมไม่อยากเป็นภาระของคุณและกองพล ผมรู้ว่าเพื่อน ๆ ไม่มีใครชอบผมสักเท่าไหร่”

“เธอคงเจ็บแผลจนเพ้อเจ้อไปหมดแล้ว พ่อหนุ่มน้อย” วิลเลียมปลอบเสียงเรียบ แล้วเขาก็ย่อตัวลงแบกโอลิเวอร์ขึ้นหลังออกมาจากโพรงหลบภัย เหยียบไปบนร่างนายทหารที่ล้มตายทับซ้อนกันจนออกมาจากสนามเพลาะของฝ่ายเยอรมันได้ทันเวลาที่ทหารฝ่ายนั้นจะมาถึงจุดที่เขาอยู่

ฝนตกลงมาชะล้างฉากควันให้จางหาย สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาคือทหารของทั้งสองฝั่งตายเกลื่อนเขตปลอดคนที่เป็นดังทุ่งสังหาร ดอกป็อปปี้ที่บานวันนี้ดูจะมีสีแดงเจิดจ้ายิ่งกว่าคืนวันที่ผันผ่าน

น้าอีวานพาทหารอีกสองนายมารอที่อุโมงค์ซึ่งกองพลที่ ๓๗ ขุดไว้ล่าสุด เป็นจุดที่อยู่ใกล้สนามเพลาะของฝ่ายเยอรมัน วิลเลียมแบกร่างโอลิเวอร์ไปถึงตรงนั้น เห็นหน้าน้าอีกวานและเพื่อนในหน่วยก็รู้ว่าปลอดภัยแล้ว ส่งร่างโอลิเวอร์ให้ช่วยกันแก้ไขปฐมพยาบาล ส่วนน้าอีวานโผเข้ากอดหลานชาย

“น้าอยากเตือนหลานไว้ว่า เราอาจไม่โชคดีอย่างนี้ทุกครั้ง”

 

ปฏิบัติการครั้งนี้ล้มเหลว

กองพลที่ ๕๖ เข้าโจมตีหมู่บ้านกอมกูต์ทางด้านใต้ในระยะแรกดูจะได้เปรียบ เพราะสามารถยึดสนามเพลาะสองแถวแรกของเยอรมันได้ แต่กลับไม่สามารถรุกคืบต่อไปเพราะถูกระดมยิงจากปืนกลที่ส่องดูความเคลื่อนไหว ฝ่ายเยอรมันโต้กลับด้วยการยิงปืนใหญ่เข้าไปในเขตปลอดคน ทำให้พื้นที่ถูกตัดขาด ฝ่ายเครือจักรภพไม่สามารถส่งกองทหารเข้าไปเสริมกองพลที่ ๕๖ ได้ ในขณะที่ฝ่ายเยอรมันเสริมกำลังกลับมา ทหารในกองพลที่ ๕๖ จึงถูกสังหารและกุมตัวไปเป็นเชลยจำนวนมาก

นายพลไรอัน บรูค ดูรายงานด้วยท่าทีนิ่งสงบ แต่หากพิจารณาถ้วนถี่จะเห็นว่าดวงตาแห้งเจ็บร้าว มือสั่นน้อย ๆ ราวกระดาษนั้นหนักดุจแผ่นศิลา

รายงานผลปฏิบัติการสรุปว่า เครือจักรภพอังกฤษสูญเสียกำลังทหารไปราว ๔,๓๐๐ คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้วกว่า ๑,๓๐๐ นาย

หมู่บ้านแซร์และโบมองฮาเมลยังอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมันเช่นเดิม

นายพลในชาโตยอมรับว่าครั้งนี้วางแผนไม่รัดกุมมากพอ แต่ถ้าจะประเมินว่ากองทัพของเครือจักรภพด้วยกว่าฝ่ายเยอรมันนั้นดูจะยอมรับไม่ได้ นายทหารทั้งหลายประจำกองพลต่าง ๆ จึงถูกฝึกฝนมากขึ้นเพื่อการศึกครั้งต่อไปที่มีเป้าหมายกอบกู้เกียรติศักดิ์ของอังกฤษและกองทัพเครือจักรภพ

ร้อยตรีวิลเลียม บรูค จึงต้องปฏิบัติภารกิจอีกครั้งใน ‘ศึกแห่งแม่น้ำอ๊องค์’

 

เชิงอรรถ :

(1) การเขียนปีที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องนี้ ผู้เขียนเลือกใช้ปี พ.ศ. เพื่อให้ผู้อ่านพอนึกได้ว่าเป็นช่วงเวลาไหนในสยาม (ประเทศไทย) แม้ในการบันทึกเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ของโลกจะบันทึกเป็น ค.ศ. หากผู้อ่านต้องการทราบปี ค.ศ. ให้ใช้ 543 ลบปี พ.ศ.

(2) ชื่อสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเรื่องนี้มีหลายภาษา ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ผู้เขียนจึงใช้วิธีการถอดคำทับศัพท์ตามหลักการภาษาอังกฤษเป็นหลักโดยเทียบเคียงตามการออกเสียงของคำศัพท์ต้นทาง เช่น Gommecourt – หมู่บ้านกอมกูต์ Battle of the Somme – ศึกแห่งแม่น้ำซอมม์ Foncquevillers-หมู่บ้านฟงก์วิลแลร์ Serre-หมู่บ้านแซร์ Beaumont Hamel-หมู่บ้านโบมองฮาเมล Battle of the Ancre-ศึกแห่งแม่น้ำอ๊องค์

 



Don`t copy text!