เจอจ่าง ที่ข้างทาง

เจอจ่าง ที่ข้างทาง

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

พ.ศ. 2511 จ่าง แซ่ตั้ง ไปวงเวียนใหญ่ เห็นคนเยอะแยะที่ป้ายรถเมล์ เลยเขียนบทกวีโดยใช้คำซ้ำๆ ในแบบฉบับที่คิดขึ้นมาเองว่า

 

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน 

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน 

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน 

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน 

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน 

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน 

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน 

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน 

คอยรถเมล์โดยสารประจำทาง……………ที่กรุงเทพฯ

 

พ.ศ. 2563 เราไปตลาด อ.ต.ก. เห็นรูปถ่ายเก่าเยอะแยะเอามาขายเลหลังแบบแบกะดินแถวๆ ป้ายรถเมล์ เราเลยนั่งยองๆ

 

ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น 

ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น 

ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น 

ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น ค้น 

กองรูปถ่ายตรงป้ายรถเมล์โดยสารประจำทาง……………ที่กรุงเทพฯ

 

ในบรรดารูปถ่ายเก่าอายุมากกว่าเรากองเบ้อเร่อนี้มีเนื้อหาที่ดูกระจัดกระจายอีเหละเขะขะมากเพราะคงเหมามาจากคนละทิศคนละทาง มีทั้งภาพชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา ภาพงานบุญ งานบวช งานศพ ที่จัดที่ไหนเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ รูปถ่ายนับพันรูปที่ทับสุมๆ กันอยู่ไม่มีภาพในหลวง พระราชินี เหล่าเจ้านาย คนดัง ดารา หรือใครต่อใครที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาเลยแม้แต่คนเดียว เหมือนกับว่าเคยมีพ่อค้า และบรรดาเซียนมาคัดๆ ดูสักร้อยรอบแล้วเลือกรูปที่มีคนเล่น มีราคา ออกไปหมดเรียบร้อย เหลือไว้แต่รูปอะไรก็ไม่รู้ที่นึกไม่ออกว่าจะมีใครหน้าไหนซื้อหาไปทำอะไร

“จ่าง แซ่ตั้ง” เทคนิคภาพถ่ายขนาด 20 x 13.5 เซนติเมตร

คุ้ยไปคุ้ยมาจนตาชักจะเริ่มลาย จู่ๆ อยู่ดีๆ ก็ดันไปจ๊ะเอ๋เข้าให้กับรูปถ่ายอาตี๋หุ่นนายแบบหน้าตาหล่อเหลาเกลี้ยงเกลา หวีผมเรียบแปล้ ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้น กับกางเกงสีขาวสะอาดสะอ้าน ดูเรียบร้อยราวหนุ่มออฟฟิศ ฉากหลังเป็นภาพผลงานของเขาซึ่งเป็นภาพวาดวิวภูเขา แม่น้ำ ลำธาร ที่วาดขึ้นมาตามสไตล์จีนแบบเดียวกับที่เรามักเห็นแขวนประดับอยู่ตามภัตตาคาร

พอเห็นรูปถ่ายนี้แล้วเราก็เอะใจ ว่าทำไมอาตี๋คนนี้ถึงดูคุ้นจังเลย และก็บังเอิ๊ญบังเอิญอีกที่ช่วงนั้นพึ่งเขียนบทความเรื่อง จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ’ เสร็จไปพอดี พอต้องเขียนก็เลยต้องค้นทุกตำรับตำราเท่าที่พอมีปัญญาจะหาได้ ภาพต่างๆ ที่เห็นผ่านตาจากหนังสือจึงยังคงวนเวียนอยู่ในหัว เพราะเหตุนี้ถึงสามารถฟันธงได้ด้วยความมั่นใจสุดๆ ว่ารูปถ่ายชายปริศนาที่เรานั่งยองๆ ถืออยู่ในมือคือรูปถ่ายจ่าง แซ่ตั้งในวัยกระเตาะ ซึ่งมีหน้าตา การแต่งกาย และสไตล์การวาดภาพที่แตกต่างจากจ่าง แซ่ตั้ง ในสมัยออกสื่อราวกับเป็นคนละคน เพราะเหตุนี้ล่ะมั้งจึงทำให้รูปถ่ายรูปนี้เล็ดรอดสายตาใครต่อใครที่เคยมาคุ้ยดูก่อนหน้าเราไปได้

จ่าง แซ่ตั้ง ที่สาธารณชนคุ้นตาคือชายร่างท้วม ไว้ผม และหนวดเครายาวรุงรังเหมือนฤๅษี ไปไหนมาไหนด้วยชุดเซอร์ๆ คล้ายม่อฮ่อมสีดำ หรือถ้าอยู่บ้านก็ถอดเสื้อถอดผ้านุ่งแต่ผ้าเตี่ยวผืนเดียวรับลม ผลงานศิลปะที่สร้างก็เป็นแนวนามธรรมจ๋า ปาดสีฉุบฉับไปมาจนมีคนหาว่าเหมือนหมาขี้แล้วเอาหางละเลง ซึ่งว่ากันตามตรงแล้วการที่จ่างค้นพบแนวทางของตนเองแบบนี้แหละถึงทำให้โลกต้องจดจำ เพราะถ้าขืนยังยึดแนวหนุ่มเนี้ยบ วาดภาพสวยๆ ตามความต้องการของคนที่มาว่าจ้าง  จ่างก็คงจะไม่ได้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงเหมือนอย่างที่ควรจะเป็น

จ่าง แซ่ตั้ง กับจิตรกรรมนามธรรมยุคแรก (ภาพจากหนังสือจ่าง แซ่ตั้ง จิตรกรรมนามธรรม บทกวีรูปธรรม)

รูปถ่ายนี้จึงเป็นรูปสำคัญที่บันทึกประวัติศาสตร์ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ จากยุคที่จ่างเปิดร้านให้บริการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยสีผงถ่าน และรับวาดภาพวิว ภาพพระโพธิสัตว์ ภาพเซียนแนวจีนๆ ให้กับศาลเจ้า จนมีฝีมือช่ำชองเป็นที่พอใจจะวาดใคร วาดอะไรก็ออกมาได้เหมือนทุกกระเบียด ก้าวผ่านไปสู่ยุคที่จ่างตรัสรู้ยูเรก้า อิ่มตัวกับการต้องคอยวาดอะไรตามใจคนอื่น เลิกรับจ้างแล้วหันไปสร้างผลงานตามแบบที่หัวใจตัวเองต้องการ ไม่ต้องไปแคร์ว่าจะมีใครชอบหรือด่า เพราะตั้งปณิธานว่าชาตินี้จะไม่ขายงานศิลปะ ยอมทนลำบากยากจนข้นแค้นยันชีวิตจะหาไม่เพื่อบรรลุเป้าหมายที่สูงกว่าทางด้านจิตวิญญาณ

จ่าง แซ่ตั้ง ในรูปลักษณ์และผลงานสาธารณชนคุ้นตา (ภาพจากนิตยสาร FINE ART ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549)

แล้วจ่างก็ทำได้จริงๆ วิธีการวาดภาพในรูปแบบนามธรรมของจ่างนั้นถูกคิดขึ้นมาเองเพราะไม่เคยได้เล่าเรียนศิลปะจากสถาบันใดมา โดยเริ่มจากการเจริญสมาธิไปสู่จุดที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า เอกัคคตภาวะ หรือสภาวะอันสงบนิ่งที่สุด ปราศจากความรู้สึกใดๆ ทั้งปวง ก่อนจะปลดปล่อยพละกำลังทั้งหมดที่มี ปาด สาด ขีด ขูด เขียนสีลงไปบนผืนผ้าใบด้วยจิตวิญญาณอันเป็นอิสระ ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะที่เร้าอารมณ์คนดูแบบสุดๆ แหวกแนวซะขนาดนี้ วิธีการและผลงานของจ่างในไสตล์ที่ว่าจึงได้รับการยอมรับจากวงการศิลปะระดับอินเตอร์ให้เป็นหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนวแอบสแตรกต์เอ็กเพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) ครั้งแรกๆ ที่มีอัตลักษณ์ และรากเหง้าแบบตะวันออกเพียวๆ ไม่ได้ก๊อบปี้จากของตะวันตกมา ทำให้จ่างเป็นหนึ่งในศิลปินไทยเพียงไม่กี่ท่านที่มีชื่อชั้นพอจะติดทำเนียบรายชื่อบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะของโลกได้

แล้วไงล่ะทีนี้ เราจะปล่อยให้รูปถ่ายเก่าจากยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของศิลปินคนสำคัญวางแบกะดินตากแดดตากลมอยู่อย่างนี้ก็ไม่น่าจะใช่เรื่อง เราเลยถามคนขายไปว่าพี่ครับรูปนี้ราคาเท่าไหร่ ดูอาการแล้วพี่เขาคงไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นรูปใคร เลยบอกมาว่า 40 บาท ได้ยินดังนั้นทำเอาเราถึงกับเข้าสู่จุดเอกัคคตภาวะโดยฉับพลันทันด่วน ไม่รู้สึกรู้สาใดๆ ก่อนจะปลดปล่อยเรี่ยวแรงทั้งหมดที่มีควักแบงค์ยี่สิบสองใบออกมาภายในพริบตา แล้วจัดแจงจ่ายเสร็จสรรพไปโดยอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้ต่อราคาเลยซักกะบาท

Don`t copy text!