อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี

อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

เมื่ออาทิตย์ก่อนมีเพื่อนรุ่นน้องที่สนิทกันเป็นนักสะสมพระพุทธรูป และเฟอร์นิเจอร์โบราณสไตล์ไทยๆ ที่เก่งและมีความรู้ จู่ๆ ก็โทร.มาปรึกษาเรื่องการซื้องานศิลปะ เขาเล่าว่ามีเซียนพระจะเอาภาพวาดฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี มาขายในราคาที่เร้าใจ เลยอยากจะให้เราช่วยไปดูหน่อย

ขอออกตัวก่อนว่าเราไม่ได้ตั้งตัวเป็นเซียนงานศิลปะอะไรหรอกนะ แค่เห็นมาเยอะมากมายมหาศาลทั้งที่ดีทั้งที่เก๊จนพอจะบอกได้ประมาณนึงว่าอะไรใช่อะไรไม่ใช่ แถมโชคดียังมีเพื่อนฝูงนักสะสม ศิลปิน คิวเรเตอร์อาจารย์มหาวิทยาลัย ให้ความกรุณายินดีจะคอยช่วยดูได้อีกเป็นร้อยๆ ตา เรื่องของเก๊นี่หลังๆ เลยไม่ค่อยพลาด จับโป๊ะได้ก่อนโอนตังค์เสมอๆ

‘ถวัลย์ ดัชนี ในวัยหนุ่มขณะบรรยายศิลปะให้กับชาวต่างชาติ’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 20 x 26 เซนติเมตร

ด้วยความเป็นคนละเอียด อยากรู้อยากเห็น จนบางครั้งอาจโดนหาว่าชอบเผือก เราจึงถามไถ่น้องเขาไปว่าจู่ๆ อยู่ดีๆ ทำไมถึงสนใจภาพวาดทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เห็นจะอิน ได้ความว่าเขากำลังแต่งบ้านอยู่เห็นกำแพงมันว่างๆ ก็อยากมีผลงานศิลปะที่เข้าท่าเข้าทางมาแขวน แถมของที่เสนอมาก็เป็นงานของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินชื่อดังขนาดคนนอกวงการศิลปะอย่างเขาก็ยังเคยได้ยินชื่อ มิหนำซ้ำราคายังฟังดูตื่นเต้นเหมือนว่าจะได้ของดีราคาถูก ‘ไอ้ที่ถูกนี่ถูกแค่ไหน?’ เราก็ถามด้วยความสงสัยน้องเขาเลยเล่าว่ามีนายหน้าเสนอมา 6 ภาพในราคาภาพละราว 4 แสน ฟังดูก็ไม่แพง ยิ่งสำหรับคนนอกวงการศิลปะที่มักมองว่าภาพถวัลย์นั้นเป็นของสะสมกันในหมู่ผู้มีอันจะกิน ได้ยินว่ามีซื้อขายกันเป็นล้านถึงหลายๆ ล้าน ราคา 4 แสนนี่เลยดูเป็นขนมไปเลย

ผลงานภาพวาดยุคแรกของถวัลย์ ดัชนี ของจริง (ภาพจาก
https://www.christies.com)
ผลงานภาพวาดยุคแรกของถวัลย์ ดัชนี ของปลอม (ภาพจากมิจฉาชีพ)

เราขอให้น้องเขาช่วยส่งรูปถ่ายมาให้ดูทางไลน์จะได้ดูให้เลยแบบด่วนๆ แต่เขาแจ้งว่าเจ้าของไม่ยอมส่งรูป จะขอนัดให้มาดูของจริงเอง เย็นวันรุ่งขึ้นเราทั้งคู่เลยต้องถ่อสังขารไปเจอเซียนพระที่เป็นนายหน้าในสถานที่นัดพบ ซึ่งก็คือลานจอดรถโลตัส พระรามสี่ ถือว่าเป็นสถานที่ที่พิลึกและลับๆ ล่อๆ มากสำหรับการจะขายงานศิลปะราคารวมๆ ทะลุ 2 ล้าน เมื่อถึงเวลานัด คนขายมาพบพวกเราพร้อมกับภาพวาดที่บอกว่าเป็นฝีมืออาจารย์ถวัลย์ 6 ภาพมาเป็นม้วนๆ ไม่ได้ใส่กรอบกองสุมๆ อยู่ในท้ายรถเบนซ์สีดำ ตรงท้ายรถนั้นเองเราค่อยๆคลี่ดูภาพทีละภาพอย่างระมัดระวังเพราะกลัวทำของเขาพัง ทุกภาพเป็นภาพนกวาดด้วยฝีแปรงปาดสีดำลงบนกระดาษขาวแบบฉุบฉับเทคนิคที่ถวัลย์ถนัด ถวัลย์ชอบวาดรูปสัตว์ที่ดูน่ายำเกรงมีพละกำลัง ถ้าเป็นนกถวัลย์ก็มักวาดเหยี่ยว หรืออินทรี แต่ไหงฝูงนก 6 ตัวที่อยู่ท้ายรถนี้ถึงดูหงอยๆ เบี้ยวๆ เหมือนอีกาขาดสารอาหาร เราถามถึงที่มาของภาพคนขายได้แต่บอกว่ารับมาอีกทีจากนักสะสมที่ได้มาจากถวัลย์ ข้อมูลก็มีแค่นั้นเป็นเรื่องเล่าลอยๆ ไม่มีชื่อเจ้าของ ไม่มีรูปถ่าย หรือหลักฐานประกอบอะไร สไตล์รูปก็ง่อย สตอรี่ก็หลักลอย

ประเดี๋ยวนั้นพอของชักขึ้นเราจึงโพล่งบอกทั้งรุ่นน้อง และคนขายแบบไม่เกรงใจไปว่าถ้าเป็นอีหรอบนี้ก็น่าจะเก๊ทั้งยวงนะครับท่าน เซียนพระที่ออกตัวว่าเป็นนายหน้าก็เลยขอลาบอกจะเอาภาพไปคืนเจ้าของที่ยังเป็นปริศนาอยู่ว่าคือใคร ส่วนเราและรุ่นน้องก็แยกย้ายกลับบ้าน จบกันง่ายๆ แค่นี้พอไม่มีใครเสียรู้ ก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ประมาณว่าอุ๊ย! ปลอมเหรอ งั้นขอบ๊ายบายเลยละกัน เรารับประกันด้วยเกียรติของลูกเสือได้เลยว่าภาพอีกาก้นปอดชุดนี้เดี๋ยวก็จะถูกวนเวียนไปเสนอเหยื่อรายอื่นๆ ต่อไปอีก จนในที่สุดก็คงจะมีมนุษย์ดวงซวย ‘โดน’ เข้าซักคน เป็นอันเสร็จกิจ โจรได้เงินไปใช้ให้อิ่มหนำสำราญแล้วค่อยเข้าทรงสวมวิญญาณถวัลย์วาดภาพขึ้นมาใหม่อีกซักโหลสองโหล

‘ถวัลย์ ดัชนี และบ้านดำ’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 24.5 x 19 เซนติเมตร

เหมือนของที่มีราคาทุกอย่างในโลก พอมีดีมานด์ก็มีมิจฉาชีพพยายามจะหากินแบบง่ายๆ ด้วยการปลอมของสิ่งนั้นขึ้นมาแล้วเอาไปหลอกขายว่าเป็นของจริง ภาพวาดเก๊หลังๆ เริ่มจะเห็นถี่ขึ้นโดยเฉพาะผลงานของศิลปินที่ล่วงลับไปแล้วที่คนก๊อปเห็นว่าโดนจับไต๋ได้ยากกว่าเพราะคนซื้อไปถามศิลปินไม่ได้ อย่างผลงานก๊อบปี้ของ ถวัลย์ ดัชนี นั้นมีหลายเวอร์ชัน ที่ผ่านตาอยู่บ่อยๆ มักเป็นแนวสะบัดแปรงเร็วๆ แบบในท้ายรถเบนซ์นี้แหละ เหมือนทำง่ายแค่จุ่มสีสะบัดมือไม่กี่ที แถมต้นทุนยังต่ำมีแค่สีกระป๋องสีดำสีเดียว แปรง และกระดาษ แค่นี้ก็ออกอาละวาดได้ ถ้าปาดสีพลาดก็ขยำทิ้ง ส่วนชิ้นไหนดูเข้าท่าหน่อยก็เอาไปหลอกขาย กลายเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จักจบจักสิ้น พอโดนจับผิดได้ก็ร้อง อุ๊ยไม่รู้ เผอิญรับมาอีกทีไม่ใช่ของฉัน ถ้าจ่ายตังค์ไปแล้วก็คืนเงินกันจบๆ ไป ไม่เคยมีการเอาเรื่องต่อจนจับคนก๊อบปี้มาติดคุกได้ซักกะที

ผลงานอีกเวอร์ชันที่นิยมปลอมกัน คือแบบที่ถวัลย์ค่อยๆ เอาสีมากลึงให้เกิดเป็นเงาที่มีน้ำหนักอ่อนแก่ ผลงานประเภทนี้ใช้เวลาผลิตนานกว่าแบบสะบัดสี แต่ก็ขายได้ในราคาที่สูงกว่าเช่นกัน จึงคุ้มค่าให้นักก๊อปพยายามฝึกฝนทำตาม เราเคยเห็นงานแบบนี้หลุดไปอยู่ตามบ้านนักสะสมที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หลายชิ้น เช่นงานชุดใบหน้าแผ่นดิน ชุดที่ถวัลย์เอาตัวสัตว์ต่างๆ มาประกอบให้ดูเป็นใบหน้าขนาดใหญ่บนพื้นผ้าใบสีแดง ของจริงถวัลย์จะวาดเต็มเฟรมแบบล้นๆ ส่วนของปลอมที่เราเคยเห็น นายถวัลย์ ดัดจริต คนวาดได้เหลือเนื้อที่ผ้าใบเปล่ารอบๆ ใบหน้าเอาไว้ให้หมาวิ่งเล่น ภาพวาดพวกนี้บางทีนักสะสมเกิดครึ้มอกครึ้มใจคิดว่าตัวเองมีของเด็ดอยู่ก็เอาไปโม้เมาท์ แถมบางทีสื่อก็เห็นดีเห็นงามถ่ายรูปเอาไปโปรโมตลงนิตยสาร โชว์หราในเว็บไซต์ เผยแพร่ให้คนดูทั่วฟ้าทั่วเมืองพอผู้รู้เห็นเข้าก็ได้แต่ซุบซิบนินทาไม่กล้าไปบอกเจ้าตัวกลัวลมจะจับหัวใจวายตายไปหากได้รู้ความจริงว่าผลงานศิลปะในบ้านที่ลงทุนไปหลายล้าน กลายเป็นงานเสิ่นเจิ้น

หรือเมื่อหลายปีก่อนมีงานวาดกลึงๆ แบบนี้ออกมาอีกชุดนึง เป็นผลงานบนกระดาษภาพม้าภาพเสือ ภาพเสือกัดม้า และเนื้อหาอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ผลงานชุดนี้นับว่าคนวาดมีฝีมือดีมากเพราะนักสะสมที่มีประสบการณ์สูงต่างซื้อเก็บไว้ถ้วนหน้าคนละชิ้นสองชิ้นโดยไม่มีข้อสงสัยอะไรเพราะดูเหมือนของจริงยังกับแกะ แต่ความมาแตกเข้าตอนที่มีคนเอาภาพเหล่านี้ไปเทียบกับผลงานชุดที่แขวนโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ MOCA แล้วพบว่าเหมือนกันเกือบเป๊ะ นักสะสมถึงได้รู้ว่ามีคนพยายามวาดตามโดยใช้ภาพใน MOCA เป็นตัวอย่าง แถมไอ้คนนั้นมันดันเก่งก๊อปออกมาได้เหมือนจนขนาดผู้เชี่ยวชาญยังเสียรู้ นี่ถ้าพี่แกวาดด้วยฝีมือขนาดนี้แต่เปลี่ยนท่าเปลี่ยนทางเสือสางม้าเม้อในภาพสักหน่อยเอาให้แตกต่างกับต้นฉบับ งานชุดนี้อาจจะยังถูกมองเป็นงานจริงที่สร้างสรรค์โดยถวัลย์อยู่ก็ได้

5. ผลงานภาพวาดของถวัลย์ ดัชนี ของจริง (ภาพจาก
https://www.christies.com)

เวลานักก๊อปจะปลอมงานกันเขาก็มักจะปลอมภาพรุ่นพิมพ์นิยมที่คุ้นตาประชาชี ประเภทเวอร์ชันแปลกๆ ที่ต้องคอยอธิบายคนซื้อที่ไม่ค่อยจะรู้อีโหน่อีเหน่นั้นมักไม่นิยมจะปลอมกัน สำหรับนักสะสมผลงานถวัลย์ ดัชนี สายฮาร์ดคอร์ สุดยอดปราถนาเพื่อจะเอามาเป็นเพชรยอดมงกุฎในคอลเลกชันคือผลงานจากทศวรรษ 1960 ยุคทองของถวัลย์สมัยเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ห้วงเวลาที่ยังเป็นชายหนุ่มผู้มีพละกำลังมหาศาล สร้างสรรค์ผลงานที่มีสีสันฉูดฉาด สมัยก่อนผลงานคัลเลอร์ฟูลจากยุคนี้ไม่มีใครเขาปลอมกัน

ผลงานภาพวาดของถวัลย์ ดัชนี ของปลอม (ภาพจากมิจฉาชีพ)

สาเหตุเพราะสาธารณชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าถวัลย์ก็เคยวาดภาพหน้าตาแบบนี้ด้วย คนที่เก็บงานสไตล์นี้ก็มีแต่นักสะสมแนวลึกๆ เซียนๆ จะหลอกคนพวกนี้ก็ยากอยู่ แต่ตอนหลังด้วยโลกอินเทอร์เน็ตที่จะเสิร์ชหาข้อมูลหรือรูปภาพอะไรก็ง่าย โดยเฉพาะราคาการประมูลของผลงานยุคเก่า เหล่ามิจฉาชีพจึงรู้แล้วว่าภาพวาดที่มีราคาสูงเป็นพิเศษก็คือพวกที่มีสีๆ เยอะๆ อายุมากๆ นี่แหละ เลยจัดแจงวาดลอกเลียนจากภาพที่หาเจอในกูเกิลมันซะเลย เผื่อลูกค้างงๆ ไปเสิร์ชหาก็จะพบว่ารูปหน้าตาแปลกๆ แบบนี้ก็มีอยู่ในสารบบ ภาพปลอมเซตนี้คือถ้าดูเผินๆ ก็เหมือนดี แต่ถ้าเอาภาพผลงานของจริงมาเทียบจะเห็นว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันหลายจุด ถ้าคนละเอียดยังไงก็ดูออกว่ามันเพี้ยนๆ แต่ถ้าไม่รอบคอบก็มีสิทธิ์เสียรู้เอาง่ายๆ

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จงอย่าวู่วาม หากมีอะไรไม่ชอบมาพากลให้สงสัยไว้ก่อน ถ้าไม่แน่ใจให้ถามผู้รู้เยอะๆ และช่วยกันดูหลายๆ ตา เวลาจะซื้อก็เลือกคนขายที่มีหัวนอนปลายเท้า อย่างนักสะสมแกลเลอรี หรือบริษัทประมูลที่มีชื่อเสียง เวลามีปัญหาอะไรเขาจะได้แก้ไขรับผิดชอบให้ได้ ไม่ใช่ไปนัดดูกันตามท้ายรถ หรือสถานที่ลับๆ ล่อๆ ยังกะจะซื้อยาบ้า จริงอยู่นักสู้ที่ไม่มีแผลคือผู้ที่ไม่เคยลงสนาม หรือโดนหลอกก็คิดซะว่าคือค่าเล่าเรียน แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถขอคำปรึกษาจากนักสู้ที่มีแผล และผู้ที่เสียค่าเล่าเรียนไปแล้ว โดยไม่ต้องเจ็บตัวหรือจ่ายเอง 

 

Don`t copy text!