แช่ม เขามีชื่อ

แช่ม เขามีชื่อ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

‘แช่ม ขาวมีชื่อ’ เขาเป็นใคร เขามีชื่อเรื่องอะไร คงงงๆ สงสัย เพราะน้อยคนนักที่จะเคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน แต่รู้หรือไม่ว่าแช่มคนนี้นี่แหละ ครั้งหนึ่งเขาคือศิษย์เอกที่มีฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี คนที่อาจารย์ศิลป์ไว้วางใจให้เป็นดั่งมือขวา หมายมั่นปั้นมือว่าจะให้เป็นผู้สืบสานอุดมการณ์ และถ่ายทอดวิทยาการด้านศิลปะสมัยใหม่ที่อาจารย์ศิลป์ตั้งอกตั้งใจวางรากฐานเอาไว้ให้ศิษย์รุ่นหลังๆ สืบต่อไป

“แผลงศร” จัดแสดงหน้าอาคารของกรมศิลปากร ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ บริเวณวังสราญรมย์ (ภาพจากหนังสือ “รากเหง้า” มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ย้อนไปในอดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ความรู้แขนงไหนอะไรที่ล้ำๆ ประเทศไทยยังต้องคอยพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศอยู่ตลอด ทางราชการมองการไกลเห็นว่าขืนต้องคอยมาเสียเงินเยอะแยะจ้างชาวต่างชาติอยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่น่าจะเหมาะ จึงมีการส่งนักศึกษาชาวไทยไปเรียนเมืองนอก และเมื่อบุคคลเหล่านี้สำเร็จการศึกษากลับมาก็ให้เข้าสังกัดกระทรวงทบวงกรมเพื่อจะได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาพัฒนาประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมสากล วิชาที่นักศึกษาไทยถูกส่งไปเรียนมีทั้งวิศวกรรม สถาปัตยกรรม วรรณคดี กฎหมาย แต่ไม่ยักจะมีใครไปเรียนด้านจิตรกรรมและประติมากรรม ทั้งๆ ที่บ้านเราขาดแคลนบุคลากรด้านนี้มากถึงกับต้องจ้างฝรั่งให้เข้ามาช่วยราชการ ทั้งปั้น ทั้งวาด เพื่อใช้ประดับปราสาทราชวัง อาคารสถานที่มากมาย ฝรั่งเหล่านี้เมื่อเสร็จภารกิจในเมืองไทยแล้วก็กลับไป ไม่มีใครคิดจะสอนให้คนไทยรู้เคล็ดวิชาเหล่านี้อย่างจริงๆ จังๆ ให้ไปสร้างผลงานกันเองได้

อาจารย์ศิลป์ พีระศรีและลูกศิษย์ ถ่ายภาพหน้า “แผลงศร” บริเวณหน้าตึกกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร (ภาพจากหนังสือ “รากเหง้า” มหาวิทยาลัยศิลปากร)

จนมีฝรั่งชาวอิตาลีคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เล็งเห็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานนี้ จึงริเริ่มจัดชั้นเรียนแบบบ้านๆ สอนคนไทยให้เข้าใจ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบสมัยใหม่ได้ จากห้องเรียนห้องเดียวที่สอนแบบกันเอง ค่อยๆ พัฒนาไปเป็นการร่วมก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม สถาบันการศึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราวกับพระสาโรชรัตนนิมมานก์ โรงเรียนแห่งใหม่นี้อาจารย์ศิลป์เป็นผู้วางหลักสูตรให้มีมาตรฐานเดียวกับสถาบันศิลปะในยุโรป โดยมีวิชาที่สอนมากมายประกอบไปด้วยภาคทฤษฎีอย่าง Projection, Light sand Shade, Perspective, Landscape, Anatomy, History of Art, Composition and Design, Critic Art, Aesthetic, Ornament, Style of Art, Theory of Colour, Thai Architecture, และภาคปฏิบัติอย่างการปั้นแบบนูนต่ำ นูนสูง ลอยตัว, การวาดด้วย ดินสอ ถ่าน สีน้ำ สีฝุ่น สีน้ำมัน ทั้งหมดนี้นักเรียนต้องใช้เวลาเรียน 4 ปีจบ เอาเป็นว่ากว่าจะได้รับปริญญาต้องมีหืดขึ้นคอ

เหล่าบรรดาอาจารย์ที่มาสอนก็ระดับดรีมทีมทั้งนั้น เลือกเฟ้นเอาที่เก่งที่สุดในประเทศในแต่ละสาขาเท่าที่จะหาได้มาถ่ายทอดเคล็ดวิชา รายนามผู้สอน อาทิ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี, พระสาโรชรัตนนิมมานก์, หลวงวิจิตรวาทการ, พระพรหมพิจิตร, พระเทวาภินิมมิต, พระสรลักษณ์ลิขิต ซูเปอร์สตาร์มากันตรึม

แช่ม ขาวมีชื่อ (ภาพจากหนังสือ “รากเหง้า” มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ในปี พ.ศ. 2476 ว่ากันว่าลูกศิษย์รุ่นแรกของโรงเรียน มีด้วยกัน 7 คนบ้าง 10 คนบ้าง แล้วแต่ตำรา มี แช่ม แดงชมภู, พิมาน มูลประมุข, อนุจิตติ์ แสงเดือน, จงกล กำจัดโรค, พวงทอง ไกรหงษ์, สิทธิเดช แสงหิรัญ, สวัสดิ์ ชื่นมานา, ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร, เฟื้อ หริพิทักษ์ และ แช่ม ขาวมีชื่อ ว่ากันว่าอาจารย์ศิลป์ไว้วางใจในความสามารถของ แช่ม ขาวมีชื่อ มากเป็นพิเศษถึงขนาดว่าช่วงที่อาจารย์กลับไปอิตาลีในปี พ.ศ. 2481 ได้เจาะจงมอบหมายให้แช่มซึ่งพึ่งเรียนจบรับผิดชอบงานในแผนกโรงเรียน และช่วยสอนวิชาต่างๆ แถมอาจารย์ศิลป์ยังกำชับอีกว่า งานปั้นหล่อประติมากรรม ซึ่งสมัยนั้นทางราชการใช้งานอาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์เป็นหลัก ให้แช่มดูแลในส่วนที่เป็นงานด้านศิลปะ ประมาณว่าให้เป็นคนคอยดูว่าผลงานที่สร้างออกมาระหว่างที่อาจารย์ศิลป์ไม่อยู่นั้นสวยงามลงตัวหรือไม่ ถูกต้องตามหลักกายวิภาคหรือเปล่า

 

แช่มนั้นแน่นทั้งทฤษฎี และเก่งทั้งปฏิบัติ พรสวรรค์ที่ฉายแววเจิดจรัสที่สุดคือฝีมือในการปั้น แช่มจึงได้รับโอกาสในการร่วมสร้างประติมากรรมประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงผลงานจะออกมาดีเยี่ยม แต่แช่มก็ไม่ค่อยจะอินกับงานปั้นอนุสาวรีย์สักเท่าไหร่เพราะงานประเภทนี้ต้องคอยถูกกำหนดและแก้ไขแบบโดยผู้มีอำนาจทางราชการซึ่งไม่มีพื้นฐานทางด้านศิลปะ หลายๆ ครั้งการปั้นอนุสาวรีย์เลยไม่ใช่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบเพียวๆ ด้วยจิตอิสระ

“หญิงสาว” และ “แผลงศร” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13.5 x 8.5 เซนติเมตร

ผลงานชิ้นโบว์แดงที่โชว์ความเก่งกาจของแช่มได้อย่างชัดเจนจึงไม่ใช่อนุสาวรีย์ แต่คือประติมากรรมรูปชายหนุ่มหุ่นกำยำชิ้นที่ตั้งอยู่หน้าอาคารหอประติมากรรมต้นแบบ เยื้องๆ กับพิพิธภัณฑ์ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ในรั้วกรมศิลปากร เมื่อไหร่ที่ได้แวะเวียนไปแถวนั้น เราก็มักอดใจไม่ได้ที่จะแวะชื่นชมประติมากรรมขนาดเท่าคนจริงชิ้นนี้อยู่เสมอๆ ครั้งแรกที่เห็นเราไม่รู้หรอกว่าใครปั้น ไม่รู้แม้กระทั่งว่าผู้ชายคนนี้กำลังทำอะไร คิดว่าคงกำลังเหยียดแข้งเหยียดขาแอ็กท่าโชว์หุ่นเหมือนตามเวทีประกวดนักกล้าม ไม่รู้ประสีประสาไม่รู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับรูปปั้นนี้ซักกะอย่าง รู้แต่เพียงอย่างเดียวว่าประทับใจมากกับกริยา สีหน้า และกล้ามเนื้อ อันดูทรงพลังกว่าประติมากรรมชิ้นไหนๆ ในเมืองไทยที่เราเคยประสบพบเจอมา

ภายหลังพอเริ่มค้นคว้าจากตำรับตำรา ถึงได้รู้ว่าประติมากรรมชิ้นที่ว่าสร้างสรรค์ขึ้นโดยประติมากรนามว่า แช่ม ขาวมีชื่อ และจริงๆ แล้วผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘แผลงศร’ เป็นรูปผู้ชายกำลังโก่งคันธนู ผลงานชิ้นดังซึ่งเคยถูกเอาไปโชว์ไว้หน้าอาคารของกรมศิลปากรที่ใช้จัดแสดงผลงานศิลปะในงานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งริเริ่มจัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 ภายหลังพอประติมากรรมชิ้นนี้ซึ่งหล่อด้วยปูนถูกย้ายไปย้ายมา ตระเวนโชว์ที่นู่นบ้างที่นี่บ้าง คันธนูเลยหักหายไป หรือไม่ก็มีใครถอดไปเก็บรักษาเอาไว้ที่ไหนก็ไม่รู้ เหลือแต่มือเปล่าๆ ดูเหมือนคนกำลังเก๊กท่า

คำถามคือ มีฝีมือดีซะขนาดนี้แล้วทำไม แช่ม ขาวมีชื่อ ถึงไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางเหมือนอย่างเพื่อนๆ แถมผลงานของแช่มที่หลงเหลืออยู่ก็แทบจะนับชิ้นด้วยมือเดียวได้ ไม่ได้มีมากมายให้เห็นเหมือนของคนอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะแช่มอายุสั้น โชคร้ายหัวใจวายตายไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 ในวัยแค่ 28 น่าเสียดายถ้าแช่มอายุยืนกว่านี้บ้านเราคงจะได้มีผลงานศิลปะชิ้นสวยๆ งามๆ ประดับชาติไว้ให้ลูกหลานภาคภูมิใจอีกมากมาย ชายโก่งคันธนูคงต้องอยู่อย่างมือเปล่าตลอดไป เพราะชายคนที่เคยสร้างคันธนูให้ เขาจากไปเมื่อนานมาแล้ว

Don`t copy text!