โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล

โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ประวัติศาสตร์ศิลปะในยุโรปยุคหนึ่งซึ่งเรียกว่ายุคจินตนิยม หรือยุคโรแมนติก ซึ่งเกิดขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เป็นยุคที่ศิลปินเหินห่างจากความถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าหลักเหตุผล ปลดปล่อยจินตนาการ สร้างมโนภาพกันได้อย่างเต็มที่ แต่ถึงจะฟรีสไตล์เป็นตัวของตัวเองอย่างไรศิลปินน้อยใหญ่ในยุคนั้นก็ยังคงไม่ละทิ้งความประณีตบรรจงแบบเก่าก่อนในการสร้างสรรค์ ผลงานศิลปะในยุคจินตนิยมทั้งหลายจึงยังคงความงดงามแบบดูง่าย เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา สตรีมีครรภ์สัมผัสได้ ใครๆ เห็นก็สวยเลยไม่ต้องคิดเยอะ ไม่มีแนวสักแต่ว่าละเลง หรือสาดสีลงไปจนภาพดูไม่รู้เรื่อง หรือคอนเซ็ปชวลจ๋าจนต้องปีนกระไดดูแล้วถอดสูตรสมการต่ออีกสามตลบถึงจะเข้าใจ

โดยหนึ่งในบรรดาศิลปินฝรั่งแนวจินตนิยมที่โด่งดังจากการวาดเพียงภาพทิวทัศน์นั้นมีชื่อว่าจอห์น คอนสตาเบิล (John Constable) ศิลปินที่เกิดมาในครอบครัวที่มีอันจะกินผู้นี้กระหน่ำวาดภาพวิวแถวๆเดแดมเวล ซึ่งเป็นเขตชนบทที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเอสเซ็กซ์ กับซัฟโฟล์ก ในอังกฤษขึ้นมาหลายเวอร์ชัน จนภายหลังบริเวณแห่งนี้ถึงกับถูกชาวบ้านเรียกให้เป็นเกียรติว่า ‘คอนสตาเบิลคันทรี’ ภาพวิวสีน้ำมันฝีมือคอนสตาเบิลนั้นเต็มไปด้วยองค์ประกอบยุบๆ ยิบๆ บรรจงใส่ลงไปหมดทั้งคน สัตว์ ต้นไม้ บ้านเรือน ทั้งหมดอยู่ในบรรยากาศแบบอุดมคติกึ่งฝันหน่อยๆ แบบที่ศิลปินอยากจะให้เป็น ผลงานที่มีเนื้อหาตรงไปตรงมาอันแสนจะซิมเปิ้ลของคอนสตาเบิลนั้นมีผู้เห็นค่ามากมาย เห็นค่าแค่ไหนเอาเป็นว่าทุกวันนี้มีเอามาประมูลกันจนราคาขึ้นไปแตะภาพละหลักพันล้านบาทแล้ว

หันกลับมามองบ้านเราบ้าง หากจะกล่าวถึงศิลปินไทยในสมัยหนึ่งที่สร้างสรรค์แต่ภาพทิวทัศน์ในสไตล์จินตนิยมจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับชาติมีแฟนคลับมากมายคอยติดตาม แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคอนสตาเบิลเมืองไทย งานนี้คงต้องยกให้ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ศิลปินโรแมนติกผู้ซึ่งมีฝีไม้ลายมือและประวัติความเป็นมาแสนจะไม่ธรรมดา

“หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 25 x 20 เซนติเมตร

หม่อมหลวงปุ่ม เกิดเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2453 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง กับท่านผู้หญิงนงเยาว์ มาลากุล ณ อยุธยา ในวัยเด็กหม่อมหลวงปุ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนอ้สสัมชัญแผนกภาษาฝรั่งเศส และได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปเรียนต่อสายสถาปัตย์ ที่ Ecole de Beaux Arts เมืองน็องซี ประเทศฝรั่งเศส อยู่ที่นั่นเป็นเวลา 5 ปี ระหว่างนั้นได้รับรางวัลด้านการออกแบบ ก่อนจะกลับเมืองไทยเพื่อรับราชการในตำแหน่งสถาปนิกสังกัดกรมโยธาธิการ

ผลงานดีไซน์สถาปัตยกรรมของหม่อมหลวงปุ่มถ้าไล่เรียงมารับรองว่าทุกคนต้องร้องอ๋อ ศิลปินผู้นี้ได้รับเลือกให้ออกแบบสถานที่สำคัญๆ มากมาย เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยรวมทั้งอาคารโดยรอบ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วังสวนจิตรลดา ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ศาลพระพรหมโรงแรมเอราวัณ โรงแรมโรยัล ร้านอาหารคาร์ลตัน ฯลฯ นอกจากนี้แล้วท่านยังเป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ SEATO องค์กรเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแสตมป์สำหรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

เพราะมีงานชุกขนาดนี้ หม่อมหลวงปุ่มในสมัยที่รับราชการเลยไม่ค่อยมีเวลาสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมที่ตัวเองชอบมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกสักเท่าไหร่ พอมีเวลาว่างนิดๆ หน่อยๆ ก็มักวาดภาพลายเส้น หรือภาพสีน้ำที่ใช้เวลาไม่มากเพื่อเก็บไว้ดูเองไม่ได้เน้นขาย ส่วนผลงานสีน้ำมันที่สาธารณชนคุ้นตานั้นเพิ่งจะมาเริ่มวาดแบบจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ท่านชอบวาดภาพวิวทิวทัศน์ชนบทของไทยที่เรียบง่ายดูสงบนิ่ง ห่างไกลความวุ่นวาย เอกลักษณ์ของผลงานคือภาพมุมกว้างแบบพาโนรามาที่มีท้องฟ้ากว้างสดใส ประดับประดาด้วยปุยเมฆเบาๆ พาใจให้ล่องลอย องค์ประกอบในภาพลงตัวไม่น้อยไม่มากประดับประดาด้วย ท้องทะเล คูคลอง พรรณไม้ บ้านเรือน บางภาพก็มีคนตัวเล็กๆ ที่แต้มสีไว้แบบไม่ลงรายละเอียดเอาแค่พองามเพื่อกระตุ้นจินตนาการ

“หมู่บ้านชาวประมง” เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 49 x 69 เซนติเมตร ศิลปิน หม่อมหลวง ปุ่ม มาลากุล

กลับกลายเป็นว่าภาพวิวในอุดมคติสไตล์ประมาณนี้ช่างถูกจริตนักสะสมศิลปะชาวไทยในยุคนั้นมาก เพราะสวยงาม ดูง่าย และยังมีหน้าตาเหมาะเจาะที่จะนำไปใส่กรอบประดับบ้านได้อย่างมีรสนิยม ส่วนชาวต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งอเมริกันที่ใช้กรุงเทพฯ เป็นที่พำนักช่วงสงครามเวียดนามก็พากันนิยมชมชอบหาซื้อผลงานของหม่อมหลวงปุ่มที่ดูโอเรียนทัลเอ็กโซติกกลับประเทศไปเป็นที่ระลึกด้วย เพราะฮิตติดลมบนผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันฝีมือหม่อมหลวงปุ่มจึงมีจำหน่ายตามแกลเลอรี และห้างใหญ่ๆ หลายแห่ง เช่น ราชาแกลเลอรี ตั้งขายกันในราคาภาพละสามถึงสี่พันบาท ซึ่งไม่ใช่เงินน้อยๆ เมื่อสมัย 60 ปีก่อน

หากใครไม่ได้ติดตามเทรนด์ อาจคิดว่ามูลค่าผลงานของหม่อมหลวงปุ่มคงจะดูนิ่งๆ ไม่หวือหวาตามหน้าตา แต่รู้หรือไม่ว่าจากราคาไม่กี่พัน ก็ค่อยๆ ขยับขึ้นไปแตะหลักหมื่น หลักแสน ยิ่งในสมัยราว พ.ศ. 2541 ยุคที่ ปรส. หรือองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน นำเอาคอลเลกชันงานศิลปะของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มาประมูลขายทอดตลาด ผลงานภาพวาดสีน้ำมันของหม่อมหลวงปุ่มมีผู้มาประมูลแข่งขันกันดุเดือดจนราคาไปจบที่หลักแสนปลายๆใกล้จะแตะหลักล้านอยู่มะรอมมะร่อ แต่น่าเสียดายที่หม่อมหลวงปุ่มท่านถึงแก่กรรมไปก่อนตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เลยไม่ได้เห็นเทรนด์ราคา และความคลั่งไคล้ใจถึงของเหล่าบรรดาแฟนคลับเหล่านี้

ปัจจุบันถึงภาพวาดแนวจินตนิยมอาจจะไม่ได้ฮอตฮิตติดลมบนเท่าผลงานบางสไตล์ แต่เราว่าวงการศิลปะก็ไม่ต่างอะไรกับวงการแฟชั่นที่เหล่าศิลปินต้องหาเทรนด์ใหม่ๆ มาสนองรสนิยมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และถึงอย่างไรจู่ๆ วันดีคืนดีพอถึงวงรอบของมัน สไตล์ย้อนยุคก็มักจะวนกลับมาอีกเสมอๆ วันนี้ผลงานศิลปะชิ้นดีๆ ลึกๆ ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติถ้าหาซื้อได้ควรซื้อเก็บเลย เพราะเมื่อวงรอบความนิยมหวนกลับมาเมื่อไหร่ผลักดันราคาให้พุ่งทะยานไปไกล จะมาบ่นว่ารู้งี้ไม่ได้นะ

Don`t copy text!