อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
ครั้งแรกที่เราได้เห็นผลงานของ อินสนธิ์ วงศ์สาม ชิ้นจริงๆ กับตานั้นเป็นสถานการณ์อันแปลกประหลาดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีก่อน ตอนนั้นนึกครึ้มอกครึ้มใจอะไรก็ไม่รู้อยู่ดีๆ ก็เดินดุ่มๆ เข้าไปที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนตรงเชิงสะพานหัวช้างเพียงเพราะได้ยินมาว่าที่นี่มีผลงานศิลปะชิ้นเด็ดๆ เก็บเอาไว้ และก็เป็นจริงอย่างที่คาด ที่นั่นเราได้เห็นภาพวาดมารผจญของ ปัญญา วิจินธนสาร แขวนอยู่ในห้องประชุม ภาพหมู่บ้านชาวประมงของ ดำรง วงศ์อุปราช ติดอยู่ในห้องผู้อำนวยการ แต่ที่พีคสุดๆ เห็นจะเป็นผลงานศิลปะในตึกโรงอาหารด้านในซึ่งทั้งกำแพงขนาดใหญ่ด้านหนึ่งของโถงโรงอาหารถูกปกคลุมไปด้วยภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งมีสีร่อนหลุดเป็นแถบๆ ตามกาลเวลา
และบนกำแพงโถงบันไดทางขึ้นอาคารเดียวกันนั้น เราก็เหลือบไปเห็นแผ่นไม้ขนาดยาวประมาณ 2 เมตรกว่าๆ สีดำขมุกขมัวตอกตะปูติดอยู่แผ่นหนึ่งซึ่งมีฝุ่นจับหนาจนดูไม่ออกว่าเป็นอะไร แต่เมื่อเดินไปพิจารณาดูใกล้ๆ ถึงรู้ว่าไม้แผ่นนี้ถูกแกะเป็นภาพผู้หญิง และเด็กหลายๆ คน ถือตะกร้ายืนกันเป็นกลุ่มๆ อยู่หน้าซุ้มประตู รั้ว และตึก ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่ารูปอะไร เป็นผลงานใคร จนภายหลังกลับมาค้นรูปจากหนังสือเก่าๆ ถึงได้รู้ว่าไม้แกะชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘ท่าพระ’ สร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ. 2505 โดย อินสนธิ์ วงศ์สาม แถมผลงานชิ้นนี้ยังเคยถูกนำไปร่วมงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในปีเดียวกันนั้น และได้รางวัลมาด้วยอีกต่างหาก
ผลงานท่าพระในสภาพดำปิ๊ดปี๋ยับเยินนี้ไม่ได้แค่เต็มไปด้วยฝุ่น แต่ยังหักครึ่งแยกออกเป็นสองส่วน พอเราไปถามผู้ดูแลอาคารถึงได้รู้ว่าที่แตกแบบนี้เพราะมีเด็กชอบมาเตะลูกบอลอัดใส่ โดยใช้ไม้กระดานแผ่นนี้เป็นเป้า
เห็นอย่างงี้เราเลยคิดในใจว่าจะต้องทำอะไรซักอย่าง หลังจากวันนั้นเราเลยทำจดหมายติดต่อสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนอย่างเป็นทางการ เสนอซ่อมผลงานถวัลย์ กับอินสนธิ์ที่เสียหายให้ ด้วยการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสที่เก่งที่สุด และออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด การบูรณะใช้เวลาอยู่หลายเดือนจนในที่สุดผลงานศิลปะอันล้ำค่าทั้ง 2 ชิ้นก็ถูกอนุรักษ์จนสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี
เมื่อได้เห็นผลงานในสภาพสมบูรณ์ ได้รู้สึกถึงจิตวิญญาณ อารมณ์ แรงปะทะ ของงานประวัติศาสตร์ระดับชาติอย่างท่าพระชิ้นนี้ ก็เกิดความประทับใจ หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงเริ่มศึกษาเรื่องราว และผลงานของ อินสนธิ์ วงศ์สาม จนเกิดความศรัทธา คละเคล้ากับความอึ้ง ทึ่ง จนนึกอยากนิยาม ชื่ออาจารย์อินสนธิ์ ภาษาอังกฤษ ที่สะกด INSON ด้วยคำจำกัดความ ดังนี้
I = Innovative
ความคิดสร้างสรรค์อันหลุดจากกรอบของความเป็นไปได้ทั้งปวงนั้นคือจุดเด่นที่สุดของศิลปินอย่างอินสนธิ์ เช่นในปีที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ครูที่รักของอินสนธิ์จากโลกนี้ไป อินสนธิ์เกิดไอเดียจะไปเยือนบ้านเกิดอาจารย์ศิลป์ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ถ้าเป็นเราๆ ท่านๆ ก็คงจะหาจองตั๋วโดยสารเครื่องบิน หรือพาหนะอะไรซักอย่างที่สะดวกเพื่อจะเดินทางไป คงไม่มีทางเลยที่จะคิดอุตริขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามโลกไปคนเดียวอย่างแน่แท้ แต่อินสนธิ์กลับคิดทำเช่นนั้น และไม่ใช่แค่คิดท่านยังลงมือทำ จนทำได้จริง
เริ่มจากไปขอสปอนเซอร์จากตัวแทนจำหน่ายมอเตอร์ไซค์สัญชาติอิตาลีอย่าง แลมเบรตต้า (Lambretta) แล้วเขาก็บ้าจี้เห็นดีเห็นงามด้วยเพราะเห็นว่าจะไปอิตาลีบ้านเกิดของแบรนด์ แถมยังได้โชว์ศักยภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตมั่นใจว่าอึด ถึก ทน จนสามารถขี่ปร๋อจากเมืองไทยไปถึงอิตาลีได้ อินสนธิ์เลยได้มอเตอร์ไซค์มาคันนึงเพื่อใช้เดินทางไกล รอนแรมผ่านอินเดีย ตะวันออกกลาง เข้าสู่ยุโรป และอิตาลีกินเวลาหลายเดือน พบกับความยากลำบากเกินคณานับ แต่ก็คุ้มค่าเพราะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ มากมาย และยังกลายเป็นตำนาน หรือนับเป็นมาร์เก็ตติ้งแคมเปญก็ได้ ที่ถูกเล่าขานมาต่อๆ กันมาอย่างชื่นชมจวบจนปัจจุบัน แม้เวลาจะล่วงเลยไปกว่า 60 ปีแล้ว วิน วิน กันทั้งอินสนธิ์ ทั้งแลมเบรตต้า ยอมรับว่าทั้งคู่สุดยอดจริงๆ
N = Not Attached
อินสนธิ์ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ที่เคยประสบ ในสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และช่วงที่เพิ่งจบใหม่ๆ ผลงานของอินสนธิ์ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงในงานศิลปกรรมแห่งชาติอยู่เสมอๆ ได้รับรางวัลระดับชาติอยู่เป็นประจำ และมีลูกค้ามากหน้าหลายตาอุดหนุนผลงานไปเก็บสะสม งานศิลปะที่เป็นที่นิยมในยุคนั้นหรือเมื่อราว พ.ศ. 2500 มักเป็นภาพที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นไทยแบบชาวบ้าน เช่นภาพตลาดน้ำ หมู่บ้านชาวประมง ชาวนาชาวไร่ในท้องทุ่ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะลูกค้าแทบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ พอมาเมืองไทยเขาก็อยากได้อะไรที่ดูไทยๆ ไปเก็บไว้ ผลงานของอินสนธิ์ในยุคแรกๆ ก็เลยเป็นแนวพื้นบ้านไทยเช่นเดียวกัน
แต่พอเริ่มเดินทางไปอิตาลีด้วยรถมอเตอร์ไซค์ อินสนธิ์ต้องหารายได้เพื่อใช้ในการเดินทางโดยสร้างสรรค์งานศิลปะขายระหว่างทาง งานรูปชาวบ้าน ร้านตลาด บ้านช่อง วัดวาอาราม แบบไทยๆ ที่อินสนธิ์เคยสร้าง เมื่อเปลี่ยนที่เปลี่ยนทาง ไปแสดงให้ผู้คนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเมืองไทย ไม่รู้จัก ไม่เคยมา ไม่ได้จะไป ไม่อิน ไม่อะไรซักอย่าง จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่เขาจะซื้อภาพที่มีเหล่านี้ไปแขวนบ้าน หากฝืนทำงานในรูปแบบเดิมๆที่อินสนธิ์ประสบความสำเร็จแม้จะถึงระดับชาติแล้วก็คงขายไม่ออกอยู่ดี มีหวังอดตายไม่ได้เดินทางต่อ
พอรู้ดังนั้นอินสนธิ์จึงเริ่มคลี่คลายผลงานจากที่สะท้อนสิ่งต่างๆที่ตาเห็นออกมาเป็นรูป คน สัตว์ ต้นไม้ สิ่งของ สถานที่ ก็มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วกลายเป็นภาพแนวนามธรรมที่เปล่งความรู้สึกนึกคิดจากภายในออกมา ไม่ยึดโยงกับเชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนาใด ปล่อยให้ผู้ชมตีความไปได้อย่างอิสระเสรี ผลงานแนวนี้จึงเข้ากับใครๆ หรือแขวนที่ไหนก็ได้ในโลกโดยไม่แปลกแยก หรือเคอะเขิน ทำให้อินสนธิ์ประสบความสำเร็จสามารถสร้างรายได้ในระหว่างการเดินทาง และเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ตราบเรื่อยมาจนปัจจุบันที่อินสนธิ์ยังคงพัฒนารูปแบบผลงานนามธรรมต่อ และไม่เหลียวหลังหันกลับมาสร้างสรรค์ผลงานในแบบรูปธรรมอีกเลย
S = Survive
อินสนธิ์สามารถเอาตัวรอดได้แม้ในสถานการณ์ที่ลำบากที่สุด อีกทั้งยังกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาโดยไม่เกรงกลัวต่อความความทุกข์ยาก นอกจากจะเดินทางตามความฝันด้วยมอร์เตอร์ไซค์เพียงลำพังไปยังอิตาลี เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแทนที่จะกลับบ้านเกิด อินสนธิ์ตัดสินใจใช้ชีวิตในฐานะศิลปินต่อในปารีส และนิวยอร์ก สองเมืองศูนย์กลางแห่งศิลปะสมัยใหม่ของโลก ที่ที่ศิลปินนับล้านจากทั่วสารทิศไปตามล่าหาฝัน การแข่งขันจึงดุเดือดและท้าทายมาก
เริ่มจากการระหกระเหินเร่ร่อนนอนอยู่ใต้สะพานในกรุงปารีสร่วมกับคนไร้บ้าน จากนั้นจึงเริ่มมีรายได้จากการเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารในร้าน ได้เงินมาก็สมัครเข้าเรียนศิลปะต่อ ควบคู่กับการสร้างสรรค์งานศิลปะ จัดแสดง และจำหน่าย ก่อนจะย้ายไปเป็นศิลปินอาชีพแบบฟูลไทม์ที่นิวยอร์ก พิสูจน์ให้เห็นว่าท่านสามารถดำรงตนอยู่ในอาชีพนี้ได้แม้ในเมืองศิลปะที่ตัวจริงเท่านั้นถึงจะดำรงตนอยู่ได้ในฐานะศิลปิน
O = Obligatory
ผลงานศิลปะของอินสนธิ์ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงสร้างสรรค์ความงามในด้านสุนทรียศาสตร์ แต่อินสนธิ์นั้นยังมีพันธกิจอันยิ่งใหญ่ในฐานะศิลปินที่จะเผยแพร่แนวคิดที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ออกไปยังสาธารณชนเพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ดั่งเช่นผลงานยุคนิวยอร์กที่อินสนธิ์ให้ความสนใจเรื่องมลพิษในอากาศ และทะเล อินสนธิ์จึงออกแบบประติมากรรมจำลองสำหรับติดตั้งไว้บนอวกาศเพื่อกรองอากาศให้โลก และประติมากรรมสำหรับทะเลเพื่อเป็นที่หลบซ่อนของเหล่าสัตว์น้ำ ทั้งๆ ที่รู้ว่าในความเป็นจริงคงสร้างขึ้นมาไม่ได้ แต่การที่ผู้ชมได้มาเห็นนิทรรศการศิลปะแล้วคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ และหวังว่าจะมีบางคนนำไปปฏิบัติอะไรบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของศิลปินที่ได้ส่งสารออกไป
เมื่ออินสนธิ์ตัดสินใจกลับมาพำนัก ณ บ้านเกิดในจังหวัดลำพูน ไอเดียในการรักษาสิ่งแวดล้อมยังถูกสานต่อโดยการที่อินสนธิ์เลือกที่จะนำตอไม้เหลือทิ้งจากการถูกตัดทำลายในละแวกบ้านมาสร้างสรรค์ผลงานนามธรรม เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และการใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญขาดการระมัดระวังซึ่งในที่สุดจะส่งผลร้ายไปยังลูกหลานในอนาคต
N = Novelty
ความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำใครอยู่เสมอคือลักษณะเฉพาะของผลงานอินสนธิ์ หากใครก็แล้วแต่ได้เห็นผลงานของท่านที่สร้างสรรค์ขึ้นในปัจจุบัน ด้วยรูปทรง คู่สี และสไตล์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยคงคิดว่าทั้งหมดนี้คือผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรง ไม่มีทางจิตนาการได้เลยว่านี่คือผลงานของศิลปินแห่งชาติในวัยราว 90
อินสนธิ์หมั่นตามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ อยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนท่านเดินทางไปทั่วเมืองไทย และหลังเรียนจบก็ออกเดินทางไปทั่วโลก และไม่ได้แค่ไปท่องเที่ยวดูประเดี๋ยวประด๋าว แต่ไปอาศัยแต่ละแห่งเป็นเวลานาวนานเพื่อให้เข้าใจขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ต่างถิ่นจนถ่องแท้ และก็เหมือนคนที่ได้ไปอยู่เมืองนอกนานๆเวลามองกลับมาเมืองไทยเขาเหล่านั้นมักจะเห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัวที่ในอดีตเคยมองข้าม ทำให้หวนคิดถึง กลับมารัก หลงใหล ใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อจรรโลงสิ่งที่ดีงามเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน
ดังที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยเขียนถึงอินสนธิ์ไว้ในสูจิบัตรงานแสดงศิลปะในปี พ.ศ. 2504 ว่า
‘…อินสนธิ์ วงศ์สาม แสดงให้เราเห็นความเป็นผู้มีนิสัยไม่ชอบอยู่นิ่งเฉย ซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องเดินทางอยู่เสมอ แต่เราก็หวังว่าในไม่ช้านี้ ผลจากการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวางนั้น คงจะทำให้เขาต้องหยุดพักเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีคุณค่ายิ่งๆ ขึ้นไปอีก ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใด ซึ่งอาจจะเป็นกรุงเทพฯ หรือลำพูนบ้านเกิดของเขาก็ได้…’
ทายแม่นยิ่งกว่าหมอดู จวบจนวันนี้อินสนธิ์ได้เลือกแล้วที่จะละทิ้งความตื่นตาตื่นใจของโลกตะวันตก เพื่อกลับมายังชนบทอันห่างไกลในลำพูน บ้านเกิดที่ท่านรัก และคิดคำนึงถึงเสมอมา ไม่ว่าเวลาใดถึงแม้ตัวจะห่างไปไกลแค่ไหนก็ตาม
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ