ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์

ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เฟื้อ หริพิทักษ์ ในวงการศิลปะของประเทศไทย ท่านเปรียบเสมือนครูใหญ่ ที่อบรมบ่มเพาะลูกศิษย์ลูกหานับหน้าไม่ถ้วน ท่านเป็นศิลปินไทยคนแรกๆ มีความสามารถเป็นเลิศในการสร้างสรรค์จิตรกรรมแนวอิมเพรสชันนิสม์ งานประกวดระดับชาติครั้งไหน ถ้าเฟื้อร่วมส่งผลงานเข้าประกวดคราใด รับประกันว่ายังไงก็คว้ารางวัลมาครองได้แหงๆ เก่งซะขนาดนี้ถ้าจะเอาดีทางวาดรูปขายก็น่าจะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ มีชีวิตที่สุขสบายได้ไม่ยาก

แต่ด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงศิลปะ ท่านกลับเลือกที่จะเอาเวลาแทบทั้งหมดในชีวิตไปคัดลอก และบูรณะผลงานจิตรกรรมโบราณเพราะเกรงว่าถ้าไม่รีบดำเนินการ ภาพวาดฝีมือบูรพศิลปินเหล่านี้จะเสื่อมสลายหลุดล่อนหายไปไม่เหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานชาวไทยได้ภูมิใจในรากเหง้าทางศิลปะของเราเอง ชีวิตของเฟื้อถ้าว่างเว้นจากการสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงตะลอนไปทุกทิศทั่วไทย ลำบากลำบนปีนป่าย ก้มๆ เงยๆ อยู่ตามวัดวาอารามในต่างจังหวัด พึ่งพิงเงินเดือนข้าราชการซึ่งก็ไม่ได้มากมายอะไร กินอยู่อย่างสมถะตรงกันข้ามกับสถานะศิลปินอันดับต้นๆ ของประเทศ บากบั่นทำงานเพื่อส่วนรวมจนลืมเรื่องส่วนตัว จนในวัยชราแทบไม่มีสมบัติพัสถานเพียงพอจะรักษาตัว เฟื้อที่ล้มป่วยด้วยอาการเข้าขั้นวิกฤตต้องพึ่งเงินช่วยเหลือจากมูลนิธิสเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มาช่วยรับภาระค่าพยาบาล

เพราะเฟื้อมีชีวิตที่น่าศรัทธา ผลงานศิลปะของท่านที่หลงเหลืออยู่จึงไม่ใช่แค่วัตถุที่ให้ความงามทางสุนทรียภาพ แต่ยังเป็นเสมือนเศษเสี้ยวหนึ่งของปูชนียบุคคลผู้สร้างคุณูปการให้กับชาติบ้านเมืองมากเกินคณานับ ผลงานของเฟื้อจึงมีคุณค่ามากในสายตาของผู้ที่รักศิลปะ

เหตุที่เฟื้อใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง และสเกตช์รายละเอียดของโบสถ์ เจดีย์ สถูป และสถาปัตยกรรมโบราณอื่นๆ ผลงานแนวอนุรักษ์แบบนี้จึงมีหลงเหลือให้เห็นเป็นจำนวนมากที่สุด รวมๆ แล้วน่าจะเป็นหมื่นๆ ชิ้น ในขณะที่ผลงานจิตรกรรมแนวสร้างสรรค์ เช่น ภาพวิว ภาพคน ในสไตล์อิมเพรสชันนิสม์ที่เฟื้อชำนาญนั้นมีจำนวนน้อยกว่าหลายเท่าตัว

ไหนๆ ก็ว่ากันถึงเรื่องจำนวนกันแล้ว ผลงานศิลปะของเฟื้อประเภทที่มีให้เห็นอยู่น้อยนิดที่สุดคงน่าจะเป็นผลงานประเภทประติมากรรม เพราะเท่าที่รู้มีเหลือให้ดูอยู่แค่ 2 ชิ้นเท่านั้นเอง

“รูปปั้นคุณยายทับทิม” เทคนิคภาพถ่าย (จากอัลบั้มส่วนตัวของเฟื้อ หริพิทักษ์) ขนาด 12 x 9 เซนติเมตร

ชิ้นแรกคือรูปปั้นยายทับทิม คุณยายแท้ๆ ของเฟื้อ ที่ปั้นไว้เมื่อ พ.ศ. 2481 ยายทับทิมเป็นหลานของหลวงบริบาลผู้ดูแลเขาวัง บ้านยายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี พอโตเป็นสาวก็ปิ๊งกับคุณตาของเฟื้อ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านตำบลท่าช่อง มีลูกด้วยกัน 7 คนแต่ตายไป 4 เหลืออยู่แค่ลูกสาว 3 คน คนโตชื่อ เก็บ ซึ่งเป็นแม่ของเฟื้อ คนน้องอีก 2 คนชื่อยิ้มและแย้ม ยายกับตามีชีวิตที่สุขสบายดีจนกระทั่งตาป่วยตายด้วยโรคฝี ครอบครัวก็เริ่มลำบากเพราะขาดเสาหลัก แถมก่อนตาจะตายยังเตือนยายด้วยความเป็นห่วงลูกๆ ที่กำลังโตเป็นสาวว่าในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่มีพวกชอบเล่นคุณไสยผสมน้ำมันพรายมาทำเสน่ห์ให้สาวๆ หลง พอตาไม่อยู่ยายเลยให้น้องดูแลบ้านแทน และซื้อเรือขนน้ำตาลล่องขึ้นมาค้าขายที่กรุงเทพฯ หรือไม่ก็ล่องเลยขึ้นไปถึงพิษณุโลก

เพราะพากันล่องเรือมากรุงเทพฯ ทั้งครอบครัว แม่เก็บเลยได้เจอกับพ่อของเฟื้อ ลูกชาวสวนที่อาศัยอยู่แถวๆ ปากคลองวัดราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นย่านที่พ่อค้าแม่ขายมักใช้จอดเรือพักก่อนจะล่องขึ้นไปทางเหนือ พ่อของเฟื้อชื่อ เปล่ง เป็นลูกศิษย์พระยาอนุศาสน์จิตรกร มีความสามารถด้านศิลปะรับหน้าที่ในตำแหน่งมหาดเล็กกรมช่างในสมัยรัชกาลที่ 6 เฟื้อไม่เคยมีโอกาสได้พบหน้าพ่อตัวเองเพราะพ่อประสบอุบัติเหตุตกม้าขณะตามเสด็จฯ ไปเมืองเหนือเสียชีวิตในวัยแค่ 30 และอีกเพียง 6 เดือนหลังจากนั้นในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2453 เฟื้อก็เกิด

หลังจากมีหลาน ยาย กับแม่ ก็ย้ายมาเช่าห้องอยู่หลังวัดสุทัศนเทพวราราม แม่ของเฟื้อผู้ซึ่งมีความสามารถด้านการเย็บปักถักร้อยจากวิชาที่ได้ซึมซับมาสมัยที่ตามสามีเข้าวัง ได้งานทำที่ห้างบีกริมแอนด์โก ระหว่างนั้นน้องๆ ของแม่อีก 2 คนที่ต่างแต่งงานออกเรือนกันไปก่อนหน้านี้ก็ทยอยกลับมาอยู่ด้วยแต่ไม่นานก็ตายหมด เหลือแต่แม่ของเฟื้อคนเดียว จนเฟื้ออายุได้  7 ขวบ แม่ก็ล้มป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบและเสียชีวิตไปอีกคน เด็กชายเฟื้อจึงเหลือแต่ยายเป็นที่พึ่ง

ยายทับทิมซึ่งก็แก่แล้ว ไม่เหลือลูกให้มาคอยส่งเสียเลี้ยงดูเลยสักคน ต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองกับหลานตัวน้อยด้วยการรับจ้างเย็บสบง เย็บมุ้ง เอาไปส่งให้ร้านค้าแถวเสาชิงช้า ถึงจะอยู่กันแบบหาเช้ากินค่ำ แต่ด้วยความรักยายก็พยายามทำงานหนักส่งเสียหลานให้ได้มีการศึกษาสูงที่สุด เฟื้อได้เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดสุทัศน์ และต่อมัธยมที่วัดราชบพิธ เฟื้อเป็นเด็กฉลาดสอบได้ที่หนึ่งให้ยายได้ชื่นใจอยู่เสมอ

พอจบมัธยม เฟื้อตัดสินใจเบนเข็มเข้าเรียนต่อสายอาชีพ เพื่อที่จะได้รีบจบไปมีการมีงานทำแบ่งเบาภาระของยาย ในปี พ.ศ. 2472 เฟื้อจึงตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง และเรื่องราวชีวิตของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ในวงการศิลปะไทยต่อจากนั้นก็ได้กลายประวัติศาสตร์ที่ถูกกล่าวขานจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงทุกวันนี้

ประติมากรรมอีกชิ้นที่เฟื้อสร้างขึ้นมาในปีเดียวกับรูปปั้นคุณยาย คือรูปปั้น หม่อมราชวงศ์ ถนอมศักดิ์ กฤดากร ภรรยาคนแรกของเฟื้อ ต้นกำเนิดตำนานรักของคนเดินดินธรรมดาที่หมายจะเอื้อมเด็ดดอกฟ้า ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ เป็นพระธิดาของ ม.จ. จรูญศักดิ์ กฤดากร ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของในหลวงรัชกาลที่ 4 นั่นก็หมายความว่า ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์เป็นเหลนของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อครั้ง ม.จ. จรูญศักดิ์ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ได้พาครอบครัวไปอยู่ด้วย ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์จึงได้รับการเลี้ยงดู และเติบโตขึ้นมาตามแบบฉบับหญิงผู้สูงศักดิ์ในยุโรป แต่เมื่อ ม.จ. จรูญศักดิ์สิ้นพระชนม์ สมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่ก็ตัดสินใจย้ายกลับมาเมืองไทย และ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอี

สมัยนั้นเฟื้อและเพื่อนๆ นักศึกษาโรงเรียนเพาะช่าง ชอบไปขอคำปรึกษาเรื่องศิลปะกับ ม.จ. อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้ซึ่งมีความรู้กว้างไกลเพราะจบปริญญาด้านสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส และเข้ารับราชการในกรมศิลปากร ปรึกษาไปปรึกษามาเลยได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งความรัก เพราะอยู่มาวันหนึ่งเฟื้อก็บังเอิญพบกับ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ที่บ้านของ ม.จ. อิทธิเทพสรรค์ ซึ่งเป็นอาของเธอ

“รูปปั้น ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร” เทคนิคภาพถ่าย (จากอัลบั้มส่วนตัวของเฟื้อ หริพิทักษ์) ขนาด 12 x 9 เซนติเมตร

และแล้วต้นรักก็เริ่มแย้มใบ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ซึ่งชอบศิลปะเป็นทุนเดิมมาเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างกับเฟื้อด้วย ต่อมาเมื่อ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม อันเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งเฟื้อ และ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ก็ย้ายมาเรียนพร้อมๆ กัน กลายเป็นนักศึกษารุ่นแรกของโรงเรียนแห่งนี้ทั้งคู่ อาจารย์ศิลป์วางหลักสูตรแบบจัดหนัก นักศึกษาต้องเรียนทุกวิชาตามแบบอคาเดมีในฟลอเรนซ์เหมือนที่ท่านเคยเรียนมาไม่ผิดเพี้ยน ทุกคนต้องผ่านวิชาภาคปฏิบัติจนมีความสามารถทั้งปั้น ทั้งวาด รวมถึงใช้เทคนิคอื่นๆ ได้อย่างช่ำชอง ส่วนภาคทฤษฎีก็ต้องรู้หมดทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ สุนทรียศาสตร์ อภิปรัชญา และอะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปด นี่จึงเป็นสาเหตุที่ลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์นั้นแทบจะคล้ายๆ ยอดมนุษย์เพราะรู้และทำอะไรเป็นหมดแทบทุกอย่าง เรียนจบไปไม่ต้องกลัวอดตายถึงแม้สมัยนั้นศิลปะบริสุทธิ์ยังไม่มีตลาดรองรับอย่างจริงๆ จังๆ ศิลปินยังไม่สามารถหาเลี้ยงชีพด้วยการสร้างงานศิลปะในรูปแบบอิสระอย่างเดียวได้

ในขณะที่เล่าเรียนอยู่กับอาจารย์ศิลป์ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับอาจารย์ศิลป์ได้มากโดยการแปลภาษาอังกฤษเป็นไทย เพราะเธอช่ำชองภาษาต่างประเทศมากที่สุดในชั้น นอกจากนั้น ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ยังช่วยเป็นแบบให้เฟื้อวาดรูปขึ้นมามากมาย แต่น่าเสียดายที่คนรุ่นหลังอย่างเราคงไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะภายหลังผลงานเหล่านี้ถูกระเบิดพังพินาศไปหมดในช่วงสงคราม ในระหว่างที่เรียน เฟื้อและ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์สนิทสนมกันมากขึ้น ต้นรักเติบโตออกดอกสะพรั่ง ทั้งคู่ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด วันไหนไม่เจอหน้าจะลงแดงตายให้ได้ ห้องเช่าห้องเล็กๆของเฟื้ออยู่ในซอยโรงเลี้ยงเด็ก ส่วนคฤหาสน์ของครอบครัว ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ อยู่ตรงยศเส เดินไปมาหาสู่กันง่ายนิดเดียว

ในที่สุดเรื่องราวความรักต่างชั้นต่างวรรณะก็ไปเข้าหูแม่ของ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์เข้าจนได้ เรื่องนี้แม่ไม่ปลื้มเป็นอย่างมากถึงกับบุกไปโวยอาจารย์ศิลป์ที่ปล่อยให้เด็กคบกัน และกักบริเวณลูกสาว สั่งบ่าวไพร่ภายในบ้านเปลี่ยนเวรยามเฝ้าเอาไว้ไม่ให้ออกไปไหน แต่เพราะหัวใจมันเรียกร้อง ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์เลยถึงกับฉีกผ้าปูที่นอนเอามามัดต่อกันให้ยาวๆ เหมือนเชือกเพื่อใช้โรยตัวปีนลงมาทางหน้าต่างแบบเจ้าหญิงในนิทาน ผลปรากฎว่าหล่นตุ้บลงมากระดูกข้อเท้าแตก ถูกหามส่งโรงพยาบาลศิริราช ขณะที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลเฟื้อก็ไปเฝ้า แต่ไม่กล้าเข้าไปในห้องคนไข้เพราะแม่อยู่ แถมแม่ยังพาชายหนุ่มที่มีชาติตระกูลใกล้เคียงกันหมายมั่นปั้นมือว่าจะให้ดองกันให้มาหาลูกสาวที่โรงพยาบาลอีก ทั้งเฟื้อและ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ ต้องรอจังหวะปลอดคนถึงจะแอบมุดไปหากันได้ พอสถานการณ์ไม่เอื้อแบบนี้เฟื้อเองก็พยายามตัดใจ บอก ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ว่าให้ทิ้งเฟื้อไปเป็นฝั่งเป็นฝากับชายหนุ่มที่เหมาะสมเถอะ

ถ้าเรื่องมันจบง่ายๆ ก็คงไม่กลายเป็นตำนาน หลังจากนั้นไม่นาน ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ก็หอบผ้าหอบผ่อนหนีออกจากบ้านมาอยู่กับเฟื้อและยายทับทิมที่ซอยโรงเลี้ยงเด็กซะเลยให้รู้แล้วรู้รอด แม่ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์มาตามกลับบ้านก็ไม่เป็นผล เฟื้อ และ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ได้ย้ายไปอยู่ด้วยกันในบ้านเช่าแถวป่ากล้วยใกล้ๆ ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 1 คน ตั้งชื่อว่าทำนุ ถึงจะอยู่อย่างลำบาก แต่สำหรับเฟื้อช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิต

“รูปปั้นคุณยายทับทิม” (ภาพจากหนังสือ เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน)

ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน 5 ปีจน พ.ศ. 2484 เฟื้อตัดสินใจเดินทางไกลไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ด้วยทุนภรรยา มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งโดยท่านรพินทรนาถฐากุร นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และเป็นชาวเอเซียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

แรกๆ ตอนที่ไปถึงอินเดียทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังดูเรียบร้อยดี แต่อีก 3 เดือนถัดมา เฟื้อได้รับโทรเลขจากเมืองไทย 2 ฉบับแจ้งข่าวว่ายายทับทิมถึงแก่กรรม ส่วน ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ ป่วยเป็นโรคประสาท ข่าวร้ายมาทีเป็นพรวนแบบไม่ได้ตั้งเนื้อตั้งตัวพาเอาเฟื้อร้องไห้ร้องห่มทั้งวี่ทั้งวันไม่เป็นอันกินอันนอน จนวันหนึ่งทนไม่ไหวถึงกับออกเดินโซซัดโซเซหมดอาลัยตายอยากผ่านหมู่บ้าน ผ่านป่า เดินไปเรื่อยๆ ด้วยสายตาล่องลอยแบบไม่มีจุดหมาย ฝนห่าใหญ่ก็ตกฟู่ลงมาพอดิบพอดีราวกับฉากขยี้อารมณ์ในหนังดราม่า

รูปปั้น ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร (ภาพจากหนังสือ เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน)

เพราะตัวอยู่อินเดีย จังหวะนั้นเฟื้อจึงนึกถึงเทพเจ้าของพราหมณ์ ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองให้มีชีวิตผ่านพ้นเหตุการณ์เศร้าสลดอย่างหนักหน่วงนี้ไปได้ ทันใดนั้นจู่ๆ อยู่ดีๆ ก็มีปาฏิหาริย์ เมฆฝนที่ดำทะมึนมืดมิดก็กระจายหายไปเปิดให้เห็นฟ้าใหม่ที่สดใส เฟื้อจึงเกิดศรัทธาหันมาบูชาเทพยดา และศึกษาปรัชญาโบราณของอินเดียจนแตกฉาน แม้หลังจากนั้นไม่กี่เดือนเฟื้อจะซวยซ้ำซวยซ้อนโดนจับไปเป็นเชลยศึกอยู่ในค่ายกักกันต่ออีก 5 ปี เฟื้อก็ยังมีสติดำรงตนจนอยู่รอดมาได้ ไม่กลายเป็นบ้าฆ่าตัวตายไปเสียก่อนเพราะยังมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

ภาพวากคุณยาบทับทิม กับอีสี (แมว) ฝีมือเฟื้อ หริพิทักษ์ (ภาพจากหนังสือ เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน)

รูปปั้นยายทับทิมและ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์นั้นถูกสร้างขึ้นมาจากความรัก ความผูกพัน ผลงานที่ออกมาจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยไปอีกหลายสิบปี เฟื้อก็ยังมีอัลบั้มภาพถ่ายผลงานทั้ง 2 ชิ้นนี้ เป็นเล่มๆถ่ายแบบซ้ำๆ จนครบทุกมุมเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี ดูเหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้เฟื้อได้ย้อนระลึกถึงห้วงเวลาที่อบอุ่น และมีความสุขที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต ช่วงเวลาที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และจะไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีก

ไปกัน ไปกอดคนที่เรารัก ให้แน่น ให้นาน ดื่มด่ำและจดจำช่วงเวลาดีๆ ที่พวกเขายังอยู่ข้างกายเราให้ได้มากที่สุด ห้วงเวลา ณ ขณะนี้อาจจะเป็นห้วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตเราอยู่แล้วก็ได้ ใครจะไปรู้

Don`t copy text!