สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่

สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

มีผลงานประติมากรรมรูปนู้ดอยู่ 2 ชิ้นที่โด่งดังระดับตำนานในยุคแรกเริ่มของการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ชิ้นแรกเป็นรูปปั้นหญิงสาวหุ่นบะละฮึ่มที่พึ่งจะอาบน้ำเสร็จกำลังเอี้ยวตัวบรรจงเช็ดสรีระอันงดงามด้วยผ้าผืนน้อย ผลงานชิ้นนี้มีชื่อเพราะพริ้งว่า ‘เสร็จสรง’ หรือ ‘Bathing’ สร้างความรัญจวนชวนฝันให้คณะกรรมการจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 มาครองได้

“เสร็จสรง” (ภาพจากหนังสือการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติย้อนหลัง ในวาระเปิดหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ปีถัดมา ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 ประติมากรรมรูปนู้ดอีกชิ้นก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทองมาได้อีก ครั้งนี้เป็นรูปปั้นหญิงสาวนอนหลับตาพริ้มพราย สยายแขนตะแคงบั้นเอวด้วยท่วงท่าสุดสยิวกิ้วท่ามกลางผาหินและสายน้ำที่ไหลระรินผ่านผิวกายที่เปลือยเปล่า ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘ธารทอง’ หรือ ‘Sleeping Beauty’

“ธารทอง” (ภาพจากหนังสือ 5 ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ 2492-2541)

ทั้ง เสร็จสรง และ ธารทอง มีความเหมือนกันหลายอย่าง ประการแรกอย่างที่เกริ่นไปแล้วคือทั้ง 2 ชิ้นชนะเลิศเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ งานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของวงการศิลปะสมัยใหม่ไทยในยุคตั้งไข่ ประการที่ 2 ปัจจุบันผลงานทั้ง 2 ชิ้นที่ปั้นและหล่อด้วยปูนปาสเตอร์ขนาดเท่าคนจริงนี้ ว่ากันว่าได้อันตรธานหายสาบสูญหรือไม่ก็แตกหักพังพินาศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือไว้แต่รูปถ่ายเก่าๆ ไม่กี่รูปไว้ดูต่างหน้า ประการที่ 3 เสร็จสรง และ ธารทอง เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมของประติมากรไทยชั้นยอดที่มีนามว่า แสวง สงฆ์มั่งมี

ก่อนจะกลับมาสาธยายเรื่องสาวแก้ผ้าต่อ จะขอเล่าแบ็คกราวด์เกี่ยวกับ แสวง สงฆ์มั่งมี ซักหน่อยว่าท่านเก่งกาจจนต้องเป็นที่จดจำเพราะเหตุใด แสวงเกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 ก่อนวันวาเลนไทน์แค่วันเดียวที่บ้านแถวถนนราชดำเนิน ท่านกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก แต่ยังดีมีป้าคอยเลี้ยงดู แสวงเลยใช้นามสกุล ‘สงฆ์มั่งมี’ ซึ่งเป็นนามสกุลของป้า ในวัยสะรุ่นแสวงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ก่อนจะมาเรียนต่อที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม เป็นนักเรียนรุ่นที่ 3 ของสถาบันแห่งนี้ที่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี พึ่งจะตั้งขึ้นใหม่ในเวลานั้น

ด้วยความสามารถในการปั้นขั้นเทพ เมื่อเรียนจบแสวงจึงไม่ต้องไปเดินโต๋เต๋เสาะแสวงหางานที่ไหน ท่านได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการกรมศิลปากรต่อไปเลย โดยรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์รุ่นน้องๆ ในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม กับรับปั้นผลงานประติมากรรมตามที่ราชการจะมอบหมาย เพราะเหตุนี้แสวงจึงได้มีโอกาสช่วยงานอาจารย์ศิลป์ในการสร้างอนุสาวรีย์ที่สำคัญๆ เช่น อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เฉพาะส่วนรูปปั้นทหารเรือกับทหารอากาศ

“แรกแย้ม” (ภาพจากหนังสือการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติย้อนหลัง ในวาระเปิดหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

นอกจากทำงานตามออร์เดอร์อย่างการสร้างอนุสาวรีย์ แสวงยังรักในการสร้างผลงานสร้างสรรค์ประเภทตามใจคนปั้น ประจวบเหมาะกับที่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ริเริ่มจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 ศิษย์รักอย่างแสวงจะไม่ร่วมแสดงแผลงสกิลได้อย่างไร ในปีนั้นแสวงจึงส่งผลงานประติมากรรมไปโชว์ เป็นรูปหญิงเปลือยในวัยละอ่อน มือกำดอกบัวที่กำลังอูมเป่งเต็มที่ใกล้จะบาน เป็นการแสดงเชิญสัญลักษณ์เชิงเมตาฟอร์ว่าเธอกำลังจะย่างเข้าสู่วัยสาว แล้วตั้งชื่อว่า ‘แรกแย้ม’ หรือ ‘Bloom’ ผลปรากฎว่าแค่ส่งครั้งแรกก็รู้ใจกรรมการได้เหรียญเงินจากงานนี้ไปครอง

พระแม่ธรณี (ภาพจากหนังสือ 5 ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ 2492-2541)

ต่อมาในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2494 แสวงก็ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองอีก 2 ครั้ง จาก เสร็จสรง และ ธารทอง จนในที่สุดเมื่อมีการจัดแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2496 แสวงเจ้าประจำก็ได้รับรางวัลเหรียญเงินไปอีกรางวัลจากผลงานรูปพระแม่ธรณีที่ดูเซ็กซี่กว่าที่เราๆ คุ้นตา ทำให้ แสวง สงฆ์มั่งมี มีคุณสมบัติครบครันตามเกณฑ์ที่จะได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติ ซึ่งมีข้อกำหนดไว้ว่า ศิลปินที่จะได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้จะต้องเคยชนะรางวัล 3 เหรียญทอง หรือไม่ก็ 2 เหรียญทอง บวกกับ 2 เหรียญเงิน จากผลงานประเภทเดียวกันในเวทีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ในปีนั้นแสวงจึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติด้านประติมากรรมเป็นกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์ไทยพร้อมๆ กับสุดยอดประติมากรระดับพระกาฬอีก 3 ท่านอันประกอบด้วย เขียน ยิ้มศิริ, สิทธิเดช แสงหิรัญ, และ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์

ออกจากเรื่องอาร์ตสักประเดี๋ยว มาเล่าถึงชีวิตส่วนตัว แสวงมีภรรยาชื่อพนอ และมีลูกๆด้วยกัน 2 คน ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ชีวิตก็เหมือนจะปกติดีมีครอบครัวที่สมบูรณ์ มีการมีงานที่มั่นคง แถมยังมีชื่อเสียงได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติอีก แต่จู่ๆ ไม่รู้เกิดปัญหาคอขาดบาดตายอีท่าไหน ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2500 แสวงในวัย 40 ตัดสินใจใช้ปืนไรเฟิลยิงตัวเองเสียชีวิตที่บ้านย่านฝั่งธนซะอย่างนั้น โดยมีเรื่องเล่าในหมู่เพื่อนๆ ว่าก่อนเหตุการณ์นี้ไม่นาน แสวงไปร่วมทริปล่าสัตว์ที่กาญจนบุรี เกิดจับพลัดจับผลูไปล่าสัตว์บนเนินศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเขานับถือเข้า คืนสุดท้ายขณะที่พักแรมอยู่ในป่าแสวงมีอาการลุกลี้ลุกลนผิดปกติไม่ยอมหลับยอมนอนคว้าปืนเดินพรวดเข้าไปในป่าจนชาวคณะอีก 2 คนต๊กกะใจต้องวิ่งตามไปด้วย คืนนั้นท่ามกลางความมืดมิดแสวงกับเพื่อนๆ ดันไปเจอชายตัวเบ้อเริ่มเทิ่มถือปืนโบราณยืนนิ่งๆ ไม่พูดไม่จาอยู่ในป่าไม่รู้เป็นคนหรือเป็นผี ไปๆ มาๆ เลยมีสายมูบางคนเชื่อว่าเรื่องนี้อาจจะก่อให้เกิดอาถรรพ์อะไรบ้างอย่างดลใจให้แสวงคิดสั้นฆ่าตัวตาย

แสวง สงฆ์มั่งมี ขณะกำลังปั้นเสร็จสรงจากแบบจริง (ภาพจากหนังสือการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติย้อนหลัง ในวาระเปิดหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

กลับมาว่ากันต่อเรื่องรูปปั้นนารีไม่มีผ้าในตำนาน ที่ประเดี๋ยวประด๋าวเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะส่วนตัวเราชอบรูปปั้น เสร็จสรง กับ ธารทอง ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นภาพในหนังสือเก่าๆ และก็รู้อยู่แก่ใจว่าคงไม่มีทางได้เห็นของจริงเพราะทุกวันนี้หายไปไหนแล้วไม่มีใครทราบ พอรู้อย่างนี้แล้วสิ่งสะสมอันน่าถวิลหาที่พอจะมีความขลัง และศักดิ์ศรีใกล้เคียงกับผลงานออริจินัลมากที่สุดก็น่าจะเป็นรูปถ่ายสวยๆ รูปใหญ่ๆที่เก่าถึงยุคของสองประติมากรรมที่ว่านี้ เหมือนเป็นโปรเจ็กต์งมเข็มในมหาสมุทรแต่ก็ไม่ย่อท้อเพราะของอย่างอื่นที่เคยหาๆ มาก็อารมณ์นี้ทั้งนั้น จนเมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสไปเสวนากับนักสะสมอาวุโสที่มากประสบการณ์เรื่องงานศิลปะ คุยไปคุยมาไม่รู้อะไรดลใจให้เราถามถึงรูปถ่ายที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะเผื่อเขาจะมีและเมตตาแบ่งให้ได้บ้าง นิ่งไปซักพักผู้ใหญ่ท่านนี้เลยนึกขึ้นมาได้ว่ามีรูปถ่ายเก่ารูปใหญ่อยู่รูปหนึ่งหมกๆ ไว้จนเกือบจะลืมไปแล้ว จำได้ว่าเป็นภาพ เสร็จสรง เดี๋ยวว่างๆจะไปค้นหามาให้

แค่นี้เราก็ดีใจ ในที่สุดก็จะได้เจอเธอซะที มโนไปเองเรียบร้อยว่ารูปถ่ายนี้คงจะเป็นหนึ่งในรูปที่เคยเห็นในหนังสือ ถ้าไม่ใช่รูปเสร็จสรงชุดที่ถ่ายให้เห็นเดี่ยวๆ เด่นๆ ในงานแสดง ก็น่าจะเป็นอีกชุดที่ด้านหน้ามีนางแบบยืนเอี้ยวตัวเบนหน้าหนีกล้อง ด้านหลังมีรูปปั้นเสร็จสรงที่กำลังถูกปั้นจวนเจียนจะเสร็จ และ แสวง สงฆ์มั่งมี ในชุดเสื้อกล้ามกำลังขมักเขม้นในการเก็บรายละเอียด ผ่านไปอาทิตย์กว่าได้รับข่าวว่าหารูปถ่ายเจอแล้ว เราเลยกลับไปหานักสะสมรุ่นใหญ่ท่านเดิมอีกหน

“เสร็จสรง และ นางแบบ” พ.ศ. 2493 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 29×23 เซนติเมตร

พอได้เห็นของจริงรูปถ่ายที่อยู่เบื้องหน้าเราไม่ได้ใกล้เคียงกับที่คิดไว้เลยแม้แต่น้อย บอกตามตรงว่าวินาทีนั้นตื่นเต้นมากเพราะเราไม่ได้เจอแค่ เสร็จสรง แต่ในรูปเดียวกันเรายังได้จ้องตากับหญิงสาวที่ดูเหมือนนางแบบผู้เป็นต้นกำเนิดของผลงานในตำนานชิ้นนี้ขณะที่เธอยืนยิ้มปรี่อยู่ข้างๆ รูปประติมากรรม หลายท่านอาจจะงงๆสงสัยว่าแล้วเราจะเส้นตื้นตื่นเต้นไปทำไมกับอีแค่รูปที่มีคนถ่ายคู่กับรูปปั้นดูแสนจะซิมเปิ้ล ขอแถลงไขเลยว่าไอ้ที่ตื่นเต้นน่ะไม่ใช่เพราะชอบดูคนแก้ผ้า แต่เป็นเพราะรู้ว่ารูปนางแบบ เสร็จสรง แบบที่เห็นหน้ากันจะๆ ตรงๆ เต็มๆ นั้นรับประกันว่าไม่เคยมีที่ไหนในสารบบ รูปทุกรูปที่เคยถูกเผยแพร่ในสูจิบัตร และหนังสือ ถ้านางแบบไม่หันหนี ก็ก้มหน้า ดูยังไงก็ไม่ถนัด มองไม่ออกว่าโครงหน้าเธอสวยมีเสน่ห์เหมือนกับรูปปั้นไหม รูปถ่ายรูปนี้จึงเป็นรูปถ่ายแบบอันซีนที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะสำหรับคออาร์ตอย่างเราและอีกหลายๆ ท่านที่อุตส่าห์เจียดเวลามาอ่านบทความนี้จนเกือบจะจบ

ลองมานั่งพินิจกันให้ดี ท่านๆ ทั้งหลายอาจจะคิดเหมือนกันกับเราหรือเปล่าว่า ทั้งหน้าตา ทรงผม ทรวดทรงองค์เอวของนางแบบ เสร็จสรง และ ธารทอง ดูแสนจะละม้ายคล้ายคลึงกันเหลือเกิน หรือว่าเธอผู้นี้นี่แหละคือนางฟ้าผู้ที่พา แสวง สงฆ์มั่งมี กวาดรางวัลเหรียญทองไปครองทั้งสองหน? สืบเพลินจนลืมนึกไปเลยว่าวันเวลาผ่านไปแล้ว 70 ปี จะเหลือใครให้ถามคลายข้อสงสัยได้บ้างล่ะทีนี้?

Don`t copy text!