ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร

ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

อะไรที่เป็นรุ่นหนึ่งหรือรุ่นแรกนั้นมักให้ความรู้สึกออริจินัล มีเสน่ห์แบบที่รุ่นไหนๆ ก็ไม่สามารถแทนที่ได้ ยิ่งถ้าเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่ได้รับความนิยมมาเป็นเวลายาวนานตราบจนปัจจุบันจะถือว่าบ่มได้ที่จนมีดีกรีขั้นเทพต้องเอาขึ้นหิ้งไว้กราบกราน ดูอย่างพระเครื่องระดับเกจิ หรือหนังดังที่มีภาคต่อสิ รุ่นหนึ่งนั้นเจ๋งเป้งยังไงคงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยสายศิลปะชั้นนำของประเทศไทยอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เปิดสอนมาแล้วจวนจะร่วมศตวรรษจนถึงวันนี้ก็ยังยืนหนึ่ง อีกทั้งมีเหล่าศิษย์เก่ามากมายที่ยังคงสร้างสรรค์ผลงานสุดล้ำจนกลายเป็นศิลปินระดับท็อปของประเทศ นี่ขนาดย้อนขึ้นไปไม่กี่รุ่นยังมีตัวแรงเยอะขนาดนี้ แล้วรุ่นแรกสุดนี่จะเก๋ากันขนาดไหน

ที่ชี้ชวนให้ระลึกนึกถึงศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากรเพราะเผอิญไปพบรูปถ่ายสีซีดๆ ใบหนึ่ง ซึ่งมีสภาพยับเยินเหมือนเคยโดนมอดกินกระดาษแหว่งหายไปเป็นหย่อมๆ แต่ออร่าของบุคคลในรูปนั้นช่างเฉิดฉายทะลุทะลวงความขมุกขมัวออกมากระทบสายตาซะเหลือเกิน ก็บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน คือเหล่าคณาจารย์และนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากรนั่นเอง

ก่อนจะเกิดรูปถ่ายประวัติศาสตร์รูปนี้ขึ้นมา ต้องย้อนความกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์ สยามมีการว่าจ้างศิลปินชาวยุโรปให้เข้ามาช่วยออกแบบก่อสร้างปราสาทราชวัง รวมถึงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อมาตกแต่งสถานที่ต่างๆ เหล่านี้มากมาย ในยุคนั้นยังมีการริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูวีรบุรุษแบบชาติตะวันตก ซึ่งการออกแบบก็ทำโดยฝรั่ง การปั้นหล่อก็ต้องสั่งทำในต่างประเทศและนำเข้า ยังไม่มีการฝึกสอนศิลปินไทยให้สามารถสร้างผลงานศิลปะสมัยใหม่แบบสากลได้เอง

จนเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รัฐบาลไทยได้ว่าจ้างชาวอิตาเลียนนามว่า คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ศิลป์ พีระศรี มารับราชการเพื่อช่วยสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแบบตะวันตก การเข้ามารับราชการของเฟโรชีนั้นเป็นการเข้ามาทำงานประจำแบบรับเงินเดือน ไม่ได้มาทำงานเป็นโปรเจ็กต์สั้นๆ แบบผู้รับเหมาเหมือนศิลปินฝรั่งรุ่นพี่หลายๆ ท่านซึ่งเข้ามาก่อน

โดยงานที่เฟโรชีได้รับมอบหมายในสยามหลายคราเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ เช่น สร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม หรือสร้างผลงานประดับตกแต่งอาคารของทางราชการ หากโซโล่ทำคนเดียวนั้นไม่มีทางเลยที่จะสำเร็จ เฟโรชีจึงเริ่มฝึกลูกมือชาวไทยให้มีความรู้ มีฝีมือสามารถช่วยงานต่างๆ เหล่านี้ได้ ลูกมือซึ่งกลายเป็นลูกศิษย์กลุ่มแรกๆ มาฝากตัวเรียนเพื่อช่วยงาน และเอาความรู้ล้วนๆ ไม่ได้หวังปริญญงปริญญาอะไรทั้งนั้นเพราะเฟโรชีเองก็ไม่มีให้ ถ้าจะให้เปรียบก็น่าจะอารมณ์เดียวกับหนังจีนกำลังภายในที่ศิษย์ดั้นด้นไปฝากเนื้อฝากตัวกับปรมาจารย์ยอดวิทยายุทธ

จากห้องเรียนแบบบ้านๆ ของเฟโรชีที่สอนกันเองแบบตามมีตามเกิด ในปี พ.ศ. 2476 หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาหมาดๆ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ก็เกิดขึ้นด้วยการสนับสนุนของ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม โดยมีเฟโรชีกำกับการสอนดังเดิม จนอีก 2 ปีถัดมาก็เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนศิลปากร (แผนกช่าง)

จวบจนปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีโอกาสชมผลงานของนักเรียนโรงเรียนศิลปากรในโอกาสต่างๆ แล้วเกิดความประทับใจ อีกทั้งยังได้รู้จักมักจี่กับเฟโรชี จึงช่วยผลักดันให้โรงเรียนได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร คอร์ราโด เฟโรชี หรือ ศิลป์ พีระศรี ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม

นี่แหละคือที่มาของรูปถ่ายประวัติศาสตร์รูปนี้ ซึ่งถ่ายในวันรับอนุปริญญาครั้งแรกของนักศึกษาคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่น 1 ปีการศึกษา 2486 โดยรูปนี้น่าจะถ่ายในปี พ.ศ. 2489 เพราะการจะสำเร็จอนุปริญญาได้นั้นต้องใช้เวลา 3 ปี ส่วนใครจะมีสิทธิ์เรียนต่อปี 4 และ 5 เพื่อสำเร็จปริญญาตรีจะต้องได้คะแนนในปี 3 อย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ในทุกวิชา รูปถ่ายในปีหลังจากนี้จึงจะมีบางคนที่ขาดหายไป

โดยบุคคลในรูปแถวนั่งจากซ้ายไปขวามี

  1. สถาพร (เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลนักศึกษา) 2. ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี 3. พระยาอนุมานราชธน 4. กฤษณ์ อินทรโกศัย 5. พระเทวาภินิมมิต

และแถวยืนจากซ้ายไปขวาประกอบไปด้วย

  1. สิทธิเดช แสงหิรัญ 2. ไพฑูรย์ โอศิริ 3. ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ 4. บรรจบ พลาวงศ์ 5. สนิท ดิษฐพันธุ์ 6. พูน เกษจำรัษ 7. เขียน ยิ้มศิริ 8. จิตติ จูฑะพล 9. แสวง สงฆ์มั่งมี 10. สมถวิล คงคาใส 11. พิมาน มูลประมุข 12. กฤษณา คชเสนีย์ 13. สุข อยู่มั่น 14. มานะ บัวขาว 15. ประสงค์ ปัทมานุช 16. จำรัส เกียรติก้อง 17. สวัสดิ์ ตันติสุข

วันคืนผ่านไปใกล้จะครบศตวรรษ ทุกๆ ท่านในรูปต่างก็ล่วงลับไปแล้วตามสัจธรรมของธรรมชาติ แต่ที่เหนือธรรมชาติคือเขาเหล่านี้จะไม่มีวันถูกลืมเลือนไป เพราะต่างได้กลายเป็นตำนานที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะของชาติไทยเราเรียบร้อยแล้ว

 

Don`t copy text!