ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่

ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

จะหาว่าขี่ช้างจับตั๊กแตนก็คงไม่เถียง มีที่ไหนเหมาอัลบั้มทั้งเล่มพร้อมรูปถ่าย 500 รูปเพียงเพราะอยากจะได้รูปถ่ายแค่ 2 รูปที่แปะอยู่ในนั้น อ๊ะ อ๊ะ ก่อนจะทัวร์ลงรุมประณาม ขออนุญาตแก้ตัวสักประเดี๋ยวก่อน

อัลบั้มอายุร้อยกว่าปีนี้จริงๆ มีค่าไม่ใช่ไก่กา แต่ที่เดิมทีต้องมองข้ามไปเพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับธีมประวัติศาสตร์ศิลปะไทยที่เราพยายามจะโฟกัสอยู่เลยแม้แต่น้อย ก็แหงสิ แล้วมันจะไปเกี่ยวกันได้ยังไงเพราะอัลบั้มที่ว่านี้ถูกผลิตขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2443 โดย Félix Potin ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในประเทศฝรั่งเศส เพื่อแจกจ่ายทำโปรโมชันภายในบรรจุรูปถ่ายเซเลบ 500 คน 500 รูป อันประกอบไปด้วยกษัตริย์และราชวงศ์ นักการเมือง ดารา กวี จิตรกร ประติมากร นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา ฯลฯ ซึ่งเป็นคนดังในบ้านเขา ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับบ้านเรา รูปคนส่วนใหญ่ในอัลบั้มเราจึงไม่คุ้นหน้า และไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน

อัลบัม “500 Celerites Contemporaines” ที่ผลิตโดย Felix Potin เมื่อ พ.ศ.2443

เห็นครั้งแรกก็แค่จะพลิกดูเล่นเพลินๆ ไม่ได้คิดอะไร ปรากฏว่าท่ามกลางรูปถ่ายฝรั่งทั้ง 500 คนที่ติดเรียงรายอยู่ในอัลบั้มนั้น ดั๊นมีคนไทยหลุดเข้าไปติดทำเนียบเซเลบริตี้ในบ้านเขาอยู่ท่านหนึ่งทำเอาเราอึ้งอยู่ครู่ใหญ่ ท่านผู้นี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในหลวง รัชกาลที่ 5 ของเรานั่นเอง แค่มีรูปติดอยู่ในอัลบั้มคนดังของฝรั่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เอาเข้าจริงสิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่มหาศาล เพราะในยุคที่ฝรั่งกำลังบ้าล่าอาณานิคม ทยอยรวบรวมเอาประเทศแถบๆ บ้านเราไปเป็นเมืองขึ้น ประเทศไหนที่ถูกฝรั่งมองว่าด้อยพัฒนาล้าหลังไม่เหมือนพวกเขา มักถูกตราหน้าว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนทั้งๆ ที่เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วก็โดนฝรั่งอ้างความชอบธรรมในการฮุบไปทีละประเทศสองประเทศ ในหลวง รัชกาลที่ 5 ท่านคงทรงหนาวๆ ร้อนๆ ถ้าอยู่เฉยๆ มีหวังประเทศสยามต้องเพลี่ยงพล้ำเสียเอกราชเป็นแน่แท้ รู้อย่างนี้แล้วท่านจึงนำความเจริญจากตะวันตกเข้ามายกเครื่องประเทศเป็นการใหญ่ ส่งโอรสธิดาไปศึกษาต่อในต่างแดนเพื่อให้ช่วยกันกลับมาพัฒนา และทรงเสด็จประพาสยุโรปด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ไปแสดงให้โลกรู้ว่าประเทศเราก็ยิ่งใหญ่ล้ำสมัยไม่ใช่บ้านๆ การเสด็จไปในครั้งนั้นในหลวง รัชกาลที่ 5 ยังได้ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเหล่าผู้นำในยุโรปที่มีอำนาจคับโลก รวมถึงเสด็จไปพบ และฉายพระรูปร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่รู้จักคุ้นเคยกันดีตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังดำรงพระอิสริยศแกรนด์ดุกซารวิตซ์ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย และได้เสด็จมาเยือนประเทศสยามอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2434

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” พ.ศ. 2443 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 7.5 x 4.5 เซนติเมตร

ในช่วงเวลานั้น พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 5 ที่ฉายร่วมเฟรมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์อื่นๆ ขณะที่เสด็จประพาสได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ทั่วยุโรป ทำให้ในหลวง รัชกาลที่ 5 โด่งดังเป็นที่รู้จักในระดับอินเตอร์ในเวลาอันรวดเร็ว ก็ขนาดห้างยังเอาพระบรมฉายาลักษณ์ไปใส่ในอัลบั้ม เหตุการณ์นี้ยังส่งผลทางการเมืองทำให้ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ที่ฮึ่มๆ อยากได้สยามไปเป็นเมืองขึ้นหลังจากที่รวบประเทศรอบๆ บ้านเราอย่างพม่า เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ไปได้หมดแล้ว ถึงกับแหยงๆ พอรู้ว่าเราสนิทสนมกับรัสเซียซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่มากในสมัยนั้น นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ยังคงครองเอกราชได้เรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน

“ชาร์ลส เอมีล ออกุสต์ คาโรลุส-ดูรอง” พ.ศ. 2443 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 7.5 x 4.5 เซนติเมตร

พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 5 ที่เก่าถึงยุคใครๆ ก็หมายปองอยากได้ไปบูชา คงไม่ต้องสาธยายให้ยืดเยื้อว่าทำไม ส่วนรูปถ่ายอีกรูปที่น่าสนใจก็เกิดบังเอิญพลิกไปเจอในอัลบั้มนี้ด้วย รูปที่ว่าคือรูปชาร์ลส์ เอมีล ออกุสต์ คาโรลุส-ดูรอง (Charles Emile Auguste Carolus-Duran) จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในการวาดภาพเหมือนบุคคลให้สมจริงมีชีวิตชีวาด้วยฝีแปรงที่แม่นยำฉับไวอันเป็นเอกลักษณ์ ผลงานของคาโรลุส-ดูรองนั้นจึงเป็นที่หมายปองของบรรดากษัตริย์ ขุนนาง ไฮโซ ไฮซ้อ ในยุโรป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับเป็นแบบให้คาโรลุส-ดูรอง วาดพระบรมาทิสลักษณ์ (ภาพจากหนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

เรื่องความสามารถของจิตรกรท่านนี้คงมาเข้าพระเนตรพระกรรณของในหลวง รัชกาลที่ 5 จนทำให้ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ว่าจ้างคาโรลุส-ดูรอง มาวาดพระบรมสาทิสลักษณ์จากพระองค์จริงในขณะที่ประทับอยู่ที่เมืองซานเรโม (San Remo) ประเทศอิตาลี

คาโรลุส-ดูรอง จึงเดินทางจากสตูดิโอของตัวเองในกรุงปารีสมายังซานเรโม และเมื่อมาถึงก็รีบจัดแจงสำรวจสถานที่ประทับ ปรากฏว่ามีแสงไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจไปเช่าสตูดิโอของจิตรกรชาวอิตาเลียนชื่อว่า ฟรานเชสโก มาร์กอตตี (Francesco Margotti) เพื่อใช้เป็นที่ทำงาน ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2450 ในหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จฯไปประทับเป็นแบบในสตูดิโอแห่งนี้อยู่หลายวัน ที่รู้รายละเอียดซะถี่ยิบอย่างกับตามเสด็จฯ ไปด้วย เพราะมีบันทึกไว้เป็นพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานมายังเจ้าฟ้านิภานพดล เล่าเรื่องกิจวัตรประจำวัน และสิ่งที่พบเจอขณะที่ประทับอยู่ในต่างแดน ซึ่งภายหลังได้ถูกรวบรวมมาตีพิมพ์เป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ ‘ไกลบ้าน’ ในพระราชนิพนธ์นี้มีข้อความตอนหนึ่งที่พระองค์ทรงเล่าไว้อย่างชื่นชมว่า

พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วาดโดยคาโรลุส-ดูรอง (ภาพจากหนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

…มองสิเออดุรังนี้มีคุณสมบัติเป็นช่างเขียนแท้ คือเลือกดูหยิบที่ไหนงามว่องไวนัก มือซ้ายกำพุกันสดในกระดานน้ำยาทั้งใหญ่ทั้งเล็กหมดด้วยกันอยู่ใน 12 เล่ม พอใช้พุกันหมดก็พอแล้วทุกคราว ดูสนุกในเชิงเขียน เขียนๆ แล้วถอยหลังออกไปสามเก้ามองดู แล้วกลับเข้ามาเขียนใหม่ ถ้าเห็นอะไรงามที่ชอบใจจะเขียนก็ยกมือขึ้นเพียงหู ฤๅลืมเรื่องอะไรก็เกาศีศะ ถ้าจะไปหยิบอะไรที่โต๊ะก็วิ่งไปหยิบ ดูเหมือนหนึ่งว่าถ้าจะไปช้าๆแล้วกลับมาจะลืมความคิดที่เห็นงามนั้นเสีย…

ภาพพิมพ์พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจากหนังสือคอลเล็คชั่น แอนด์ เฮ้าส์ ฉบับพิเศษ 2534)

เท่าที่รู้ในครานั้นคาโรลุส-ดูรองได้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ที่ดูคล้ายกันขึ้นมา 3 ภาพ เป็นภาพครึ่งพระองค์ 1 ภาพ ภาพเต็มพระองค์ภาพเล็ก 1 ภาพ และภาพเต็มพระองค์ภาพใหญ่ขนาดใกล้เคียงพระองค์จริงอีก 1 ภาพ ภาพใหญ่เบิ้มภาพสุดท้ายพร้อมรายละเอียดที่จัดเต็มกว่าภาพอื่นนี้ คาโรลุส-ดูรองต้องเอากลับไปวาดที่ปารีสอีกเป็นเดือนกว่าจะแล้วเสร็จ และก่อนส่งมอบยังได้นำไปจัดแสดงในกรุงปารีสด้วย พระบรมสาทิสลักษณ์ชุดนี้วาดออกมาได้ดี ใครเห็นต่างก็ชื่นชม ทำให้กลายเป็นชุดดัง มีแม้กระทั่งการถ่ายรูปพระบรมสาทิสลักษณ์แล้วเอาไปทำเป็นโปสต์การ์ด รวมถึงการจัดสร้างเป็นภาพพิมพ์เพื่อพระราชทานให้กับบุคคลต่างๆให้เอาไปเก็บไว้เป็นที่ระลึก

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วาดโดย พระสรลักษณ์ลิขิต (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรม และประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

ในปี พ.ศ. 2458 ภาพชุดนี้ยังถูกใช้เป็นต้นแบบให้พระสรลักษณ์ลิขิต จิตรกรวาดภาพเหมือนในราชสำนักคนแรกๆ ของเมืองไทยนำไปใช้ศึกษาเทคนิค และเป็นแบบในการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ขึ้นมาอีกชิ้น ผลงานของคาโรลุส-ดูรองนี้จึงเป็นทั้งครู และแรงบันดาลใจให้ศิลปินไทยในยุคต่อๆ มาได้ฝึกฝนเทคนิคและใช้เป็นแบบอย่าง

ข้อแก้ตัวฟังขึ้นไหมล่ะที่ยอมขี่ช้างจับตั๊กแตนเอามาทั้งอัลบั้มน่ะ มีสติสัมปชัญญะครบไม่ได้เลอะเทอะนะ

Don`t copy text!