ยันต์กันเก๊

ยันต์กันเก๊

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เหตุผลที่เราชอบเก็บรูปถ่ายจิปาถะที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะทั้งที่อยู่ตามหนังสือ นิตยสาร สูจิบัตร หรือแบบที่อัดออกมาเป็นแผ่นๆ เพราะรูปเก่าๆ เหล่านี้ไม่ได้แค่ดูสวยดี แต่ยังเป็นเหมือนยันต์กันเก๊ กันโดนสวด มีประโยชน์เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการอ้างอิง ยิ่งชิ้นเก่าๆ ที่ศิลปินเจ้าของผลงานลาโลกไปนานแล้ว การที่เราจะฟันธงได้ว่าใครเป็นคนสร้าง ชิ้นไหนแท้ ชิ้นไหนเทียม จะจุดธูปพนมมือถามก็ไม่น่าจะได้ความ คงจะต้องพึ่งประสบการณ์ ตำรับตำรา ความเห็นจากบรรดาผู้รู้ และรูปถ่ายเหล่านี้นี่แหละ

“ผลงานของสุเชาว์ ศิษย์คเณศ” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร

เวลานักสะสมจะเสียตังค์ซื้องานศิลปะทั้งที ผลงานชิ้นที่มีหลักฐานยืนยันให้เห็นแบบจะๆ อย่างครบครันนั้นย่อมมีภาษีดีกว่าชิ้นที่ไม่มีอะไรเลย ยกตัวอย่างภาพวาดของ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ จิตรกรที่หลายคนยกให้เป็นแวนโก๊ะเมืองไทยด้วยสไตล์การปาดสีที่สุดมันส์ แถมยังมีชีวิตที่แร้นแค้นคล้ายๆ กัน สมัยยังมีชีวิตอยู่สุเชาว์หาเลี้ยงชีพโดยการวาดภาพขายตามแกลเลอรีในราคาภาพละหลักร้อย อย่างเก่งหน่อยก็ภาพละหลักพัน พอขายได้บ้างก็มีคนเลียนแบบวาดมาขายแข่งตั้งแต่สมัยที่สุเชาว์ยังมีชีวิตอยู่ สุเชาว์เองก็ไม่ได้ว่าอะไรก้มหน้าก้มตาสร้างสรรค์ผลงานต่อไปเรื่อยๆจนบ๊ายบายไปสวรรค์ คราวนี้พอศิลปินไม่อยู่แล้วงานก๊อบปี้เลยยิ่งมีออกมาอีกบานตะไท ใครริจะสะสมผลงานของสุเชาว์เลยมีหนาวๆ ร้อนๆ ระแวงว่าตัวเองจะโดนต้ม เพื่อความสบายใจทุกวันนี้ภาพวาดที่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนอย่างชิ้นที่มีรูปโชว์หราอยู่ในสูจิบัตรเก่าๆ จากงานแสดงที่ไม่ได้แหกตาคนดู จึงน่าสะสมกว่าชิ้นที่ไม่มีหลักฐานอยู่มากโข พาให้มีราคาแพงกว่าเป็นหลายสิบเท่า จากหลักร้อยกลายเป็นหลักหลายๆ ล้าน จนภาพวาดชิ้นกระจ้อยสนนราคาพอๆ กับบ้านเป็นหลังๆ

“ผลงานของ ประหยัด พงษ์ดำ” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร

ถ้าถามว่ามีโอกาสได้เงินเยอะซะขนาดนี้ แล้วนักปลอมภาพมือฉมังเขาจะสามารถปลอมภาพขึ้นมาใหม่จากรูปถ่ายเก่าๆ แล้วเอารูปถ่ายเหล่านั้นมาเป็นหลักฐานยืนยันจะได้ไหม? คำตอบคือได้ แต่ยากส์ ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรก รูปวาดที่มีฝีแปรงซับซ้อนมีสียุบยับทับไปทับมา การจะวาดใหม่ให้เหมือนเป๊ะทุกฝีแปรงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่ผ่านมาเคยเห็นคนพยายามวาดภาพปลอมจากรูปถ่าย แล้วส่งมาเสนอขายอยู่บ่อยๆ ถึงดูเผินๆ จะใกล้เคียงแค่ไหนพอมานั่งเทียบกับรูปถ่ายออริจินัลแบบซูมๆก็หาจุดแตกต่างเจอได้ทุกที ว่าไปแล้วก็เพลินดีได้อารมณ์เดียวกับเล่นเกมส์จับผิดภาพสมัยเด็กๆ และเดี๋ยวนี้บางทีก็มีเทคนิคแบบล้ำๆ ใช้วิธีพิมพ์ภาพจริงลงบนผ้าใบมันซะเลย ยังไงรายละเอียดก็เหมือนเด๊ะ แล้วค่อยเติมความหนาของฝีแปรงทับลงไปให้เหมือนกับภาพที่วาดด้วยมือ คนซื้อก็เลยต้องดูให้ดีด้วยว่าภาพที่อยู่ข้างหน้านั้นเป็นภาพวาดจริงๆ ไม่ได้พรินต์ออกมา

 

ประการที่สอง ผลงานที่นักเก๊นิยมปลอมกันนักกันหนามักเป็นผลงานของศิลปินที่ตายไปนานแล้ว เผื่อมีใครสงสัยจะได้ไปถามศิลปินไม่ได้ ปลอดภัยไว้ก่อน ป้องกันการโป๊ะแตก แต่สิ่งนี้ก็เป็นดาบสองคมเพราะผลงานศิลปะพวกนี้เป็นงานเก่าที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน วัสดุต่างๆ ทั้งสี ทั้งผ้าใบ กรอบเกริบ ย่อมต้องเสื่อมสภาพลง วันนี้พอมาวาดเลียนแบบใหม่ถึงภาพจะดูเหมือนยังไง รายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ที่โชว์อายุอานามยังไงก็ไม่มี หรือถึงพยายามให้มีก็ไม่เหมือน เห็นแวบเดียวก็รู้ว่าไม่ใช่

ประการที่สาม วงการนักสะสมศิลปะในเมืองไทย โดยเฉพาะที่นิยมผลงานรุ่นเก่าๆ เก๋าๆ หรือแนว ‘โอลด์มาสเตอร์’ นั้นค่อนข้างจะแคบ ทุกคนแทบจะรู้จักกันหมด ผลงานชิ้นไหนเก็บอยู่ที่ใครก็พอจะบอกได้ เพราะฉะนั้นเวลามีภาพปลอมที่ดูคุ้นตาเสนอมาก็พอจะจับพิรุธได้ทันที ก็ของจริงยังแขวนอยู่บ้านเจ้าของแถมหวงยังกะไข่ในหิน ดูแลดียิ่งกว่าลูกเมีย แล้วจะมีมาเร่ขายถูกๆ ได้ยังไงกันล่ะ

“ผลงานของ ดำรง วงศ์อุปราช” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร

แต่สาเหตุที่ของเก๊ยังไม่หมดไปซักกะทีก็เพราะวงการศิลปะในบ้านเราที่ผ่านมา เวลามีของปลอมออกมาเร่ขาย ถึงมีใครรู้ทันตกลงคืนของคืนเงินกันได้ คนขายก็ไม่ได้ละอายใจหายไปไหน ยังวนเวียนเอาผลงานชิ้นเดิมๆ ที่มีปัญหามาเสนอใหม่อยู่ในตลาด และก็มักจะหาคนซื้อสำเร็จได้ในที่สุด ที่เป็นซะอย่างนี้เพราะยังมีนักสะสมศิลปะในบ้านเราที่นิยมซื้อขายกันแบบลับๆ ไม่ค่อยปรึกษาหารือกัน ด้วยความมั่นใจในสายตา และการตัดสินใจของตัวเอง อีกทั้งยังกลัวคนอื่นจะมาแย่งซื้อของที่มโนไปเองว่าเป็นของดีมีราคาถูก พอซื้อมาแล้วมีผู้รู้มาเห็นเข้าก็เกรงใจไม่กล้าติให้เจ็บช้ำน้ำใจ เลยทำให้เจ้าของใหม่ยิ่งมั่นใจว่าแท้แน่ๆ หลงผิดกันไปใหญ่เลยทีนี้

จะว่าไปแล้วทุกวันนี้นักวาดภาพก๊อบปี้และคนที่เอามาขาย ไม่เห็นมีอะไรให้ต้องเกรงกลัว เพราะพอคนซื้อจับได้ก็แค่คืนตังค์ขอโทษขอโพยกัน อ้างว่าไม่รู้ที่มา ไม่ได้มีเจตนา หมดเรื่องหมดราวกันไปเหมือนเล่นขายขนม ไม่มีใครคิดจะไปสืบสาวเอาความให้ถึงต้นตอ จับเข้าคุกเข้าตะรางเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นแบบอย่าง อย่างเราเป็นแค่คนนอกถึงจะเห็นพฤติกรรมกันอยู่ คันไม้คันมืออยากจะช่วยแก้ไขให้วงการไฉไล แต่ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปเผือกเพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย ทำได้แค่เพียงเล่าสู่กันฟังให้ระวังกันไว้ คงต้องฝากผู้ที่ตกเป็นเเหยื่อ และทายาทศิลปินผู้ถือครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายช่วยกันเป็นธุระจัดการให้ราบคาบ เลิกหยวนๆ จับกันไปเยอะๆ ผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์จะได้สวยสะพรั่งดั่งผลงานโอลด์มาสเตอร์

Don`t copy text!