นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ

นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ

โดย : ตัวแน่น

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

วงการศิลปะในบางโอกาสก็ไม่ต่างจากวงการอื่นๆ คือมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีทั้งนิยายอุปโลกน์และทรูสตอรี่ สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็น หรือสิ่งที่ได้ยินอาจจะจริงหรือหลอกบางทีก็บอกยาก เรื่องราวของการประกวดแบบร่างอนุสาวรีย์นักโทษการเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก (Monument to the Unknown Political Prisoner) โครงการระดับนานาชาติซึ่งมีศิลปินไทยได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมแสดง ก็เป็นหนึ่งในสตอรี่ที่มีประเด็นให้เมาท์มอยตีความกันไปต่างๆ นานา

เริ่มจากเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 มีจดหมายจากอังกฤษเขียนโดย แอนโธนี เจ. ที. โคลแมน (Anthony J. T. Kloman) ผู้อำนวยการโครงการฯ ส่งถึงหลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากร ขอความช่วยเหลือในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ศิลปินไทยร่วมส่งผลงานเข้าประกวดโดยมีเนื้อหาว่า

ท่านอธิบดีที่นับถือ

ข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำจากพระสุวพันธ์แห่งสถานทูตไทยในกรุงลอนดอน ว่าท่านอาจจะให้ความช่วยเหลือได้บ้าง ในกรณีย์ดังต่อไปนี้ คือ

สถาบรรณศิลป์ร่วมสมัย ณ กรุงลอนดอน กำลังวางโครงการงานประกวดภาพปั้นระหว่างชาติ ซึ่งจะต้องประกาศให้ทราบทั่วโลกในเดือนมกราคม ๒๔๙๕ และสิ้นสุดก่อนสิ้นปี หวังว่าการประกวดครั้งนี้ พร้อมด้วยเงินรางวัลกว่าหมื่นปอนด์ อาจจะเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนและบันดาลใจประติมากรทั่วโลกให้ส่งงานเขาเข้าแข่งขัน

ดังนั้นจึงขอความช่วยเหลือจากท่านในการที่จะได้นามและตำบลที่อยู่ขององค์การประติมากรรม, สมาคม, โรงเรียน รวมทั้งนามและตำบลที่อยู่ของประติมากร เป็นรายบุคคลในประเทศของท่าน เท่าที่ท่านสามารถจะช่วยได้ เพื่ออาจจะได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้นต่อไป และมั่นใจว่า ประติมากรทุกท่านจะส่งใบสมัครเข้าสู่การประกวดครั้งนี้โดยทั่วกัน

การประกวดจะเปิดขึ้นแก่ประติมากรทุกคน และงานของเขาจะได้รับการตัดสินอย่างยุติธรรม ไม่จำกัดแบบว่าจะเป็นแบบคิดฝันตามอุดมคติ, ความหมาย, หรือแบบจริงตามธรรมชาติ (Abstract, Symbolic, or Realistic) ก็ตามศิลปินมีสิทธิที่จะเลือกทำได้ตามใจชอบ

ขอได้รับความร่วมมือจากท่านพร้อมด้วยความขอบคุณ

 

ขอแสดงความนับถือ
(ลงชื่อ) เอ. เจ. ที. โคลแมน
ผู้อำนวยการโครงการงาน

เมื่ออธิบดีได้รับเรื่องแล้ว ก็แทงเรื่องต่อให้ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึง อาจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ประสานงานต่อกับ อาร์. เจ. ฮิลตัน (R. J. Hilton) จากบริติช เคาน์ซิล ตัวแทนโครงการฯ ในประเทศไทย ในครั้งนั้นมีประติมากร 5 ท่านส่งแบบเข้าประกวด ซึ่งประกอบด้วย เขียน ยิ้มศิริ, สิทธิเดช แสงหิรัญ, แสวง สงฆ์มั่งมี, ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ และ อำนาจ พ่วงสำเนียง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น พ่วงเสรี) แต่มีผลงานของเขียนเพียงชิ้นเดียวที่เข้ารอบถูกส่งไปร่วมจัดแสดงกับผลงานของศิลปินจากชาติอื่นๆ ที่เทท แกลเลอรี (Tate Gallery) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม-30 เมษายน พ.ศ. 2496

‘เขียน ยิ้มศิริ’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13.5 x 9 เซนติเมตร

เรื่องนี้ก็มีประเด็นที่ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือหลอกถูกเล่าต่อๆ กันมาโดยเฉพาะจากฝั่งที่ผิดหวังจากการคัดเลือก ว่ากันว่าที่ผลงานของศิลปินอีก 4 ท่านไม่ถูกส่งไปร่วมแข่งขันไม่ใช่เพราะไม่เจ๋ง แต่เพราะต่างได้รับข้อมูลวันเวลานัดแนะให้ส่งงานไม่ถูกต้อง เลยพลาดพลั้งส่งงานล่าช้าพาให้ตกรอบไปแบบงงๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันจะได้ขึ้นเวที พอเป็นอีหรอบนี้ อำนาจเลยรมณ์บ่จอย ทุบทำลายรูปเหมือน เขียน ยิ้มศิริ ที่ตัวเองปั้นเอาไว้ และเป็นชิ้นเคยได้รับรางวัลเหรียญทองการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2494 ด้วย ทำให้ผลงานชิ้นนี้สาบสูญไปเหลือไว้แต่รูปถ่าย

อย่างไรก็ตาม การที่ผลงานได้ถูกคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายไปแสดงที่เทท แกลเลอรี ต้องนับว่ายากเย็นเหลือคณายังกะด่านหิน เพราะทั่วโลกมีศิลปินส่งผลงานเข้าร่วมประกวดแข่งขันถึง 3,500 คนจาก 57 ชาติ รวมถึงศิลปินตัวท็อปของโลกอย่างเช่น อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ (Alexander Calder), เดวิด สมิธ (David Smith), บาบารา เฮพเวิร์ธ (Barbara Hepworth), ฌอง อาร์พ (Jean Arp), ลูซิโอ ฟอนตานา (Lucio Fontana), มาริโน มารินี (Marino Marini) และที่ชื่อคุ้นๆ อีกมากมายก็มาร่วมแจมด้วย และพอคัดไปคัดมากรรมการเขาเลือกแค่ 146 ชิ้นไปจัดแสดง ซึ่งผลงานของ เขียน ยิ้มศิริ ก็เป็นหนึ่งในชิ้นที่ได้สิทธิ์นั้น ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

โจทย์ในการประกวดผลงานอนุสาวรีย์นักโทษการเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก (Monument to the Unknown Political Prisoner) ในครั้งนั้น คือเพื่อระลึกถึงเหล่าผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ในการคงไว้ซึ่งเสรีภาพทางความคิด และการกระทำ แต่ถูกจำกัดหรือกำจัดด้วยอิทธิพลทางการเมือง ทำให้เขาเหล่านั้นถูกจองจำทั้งทางร่างกาย และจิตใจ และหลายๆ คนยังต้องสูญเสียชีวิตไปโดยไม่มีใครรู้จักและถูกลืมเลือน เมื่อได้ผลงานที่ชนะเลิศแล้วทางโครงการยังมีแผนการจะขยายแบบร่างให้มีขนาดใหญ่ และนำไปติดตั้งในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงเรื่องราวเหล่านี้สืบต่อไป

‘แบบร่างอนุสาวรีย์นักโทษการเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก โดย เขียน ยิ้มศิริ’ พ.ศ. 2495 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 16.5 x 11.5 เซนติเมตร

เกี่ยวกับงานนี้ เขียน ยิ้มศิริ ได้เคยเล่าเอาไว้ทำนองว่า ตอนคิดแบบนั้นถึงกับมึนตึ้บเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ตรง ไม่เคยเป็นนักโทษการเมือง ไม่เคยถูกจับยัดเข้าซังเต หรือคุกมืดที่ไหน เลยต้องพยายามมโนเพ้อฝัน ถามคนนั้นคนนี้เพื่อขอข้อมูลทำความเข้าใจอารมณ์อยู่นานสองนาน จนเวลาผ่านไป 3 สัปดาห์ถึงเริ่มสเกตช์เป็นภาพเขียนหลายแบบ แต่สุดท้ายถูกใจแค่ 2 แบบจึงลงมือปั้นจาก 2 ชิ้นที่สร้างขึ้นมาชิ้นที่ถูกเลือกไปโชว์ที่ลอนดอนมีรูปร่างเป็นสิ่งมีชีวิต ที่ไม่มีเพศ ไม่มีวัย มีร่างติดกันกำลังเอื้อมเหยียดแขนไปยังเบื้องหน้า หวังว่าจะได้พบแสงสว่างแห่งอิสรภาพ อารมณ์ที่สื่อออกมานั้นเต็มไปด้วยความสะเทือนใจ โอดครวญ ทุรนทุราย ผลงานชิ้นนี้เขียนลดทอนรายละเอียดจนเกือบจะดูเป็นสไตล์นามธรรมไม่ลงรายละเอียดที่สื่อถึงผู้หนึ่งผู้ใด จึงเหมาะเจาะที่จะใช้เป็นตัวแทนของนักโทษการเมืองผู้ทุกข์ทรมานทุกผู้ทุกวัยในทุกมุมโลกได้

จากประติมากรรมหลายพันชิ้นที่ร่วมส่งประกวดแบบร่างอนุสาวรีย์นักโทษการเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นศิลปินชาวอังกฤษนามว่า เรก บัตเลอร์ (Reg Butler) ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้บัตเลอร์ในครั้งนี้เป็นประติมากรรมเหล็กดัดรูปร่างเหมือนหอคอยตั้งตระหง่านอยู่บนโขดหิน ขาโหย่งๆ ของแกนหลัก และเสาแหลมๆ ที่ชี้ขึ้นฟ้าดูสูงชะลูดน่าสะพรึง แต่ก็แฝงไว้ด้วยความโดดเดี่ยววังเวง บริเวณโดยรอบหอคอยมีแผ่นโลหะรูปร่างที่คล้ายคนอยู่กระจัดกระจาย ซึ่งต่างก็ไม่มีหน้ามีตาไม่ระบุว่าเป็นผู้ใด

หากเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ ผลงานแบบร่างที่ชนะเลิศจะถูกขยายให้มีขนาดใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มแล้วนำไปติดตั้งเป็นอนุสาวรีย์ในเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญแต่ยังไม่ระบุว่าเป็นสถานที่ใดในเมืองอะไร จนในที่สุดคณะกรรมการก็เห็นพ้องกันที่จะสร้างอนุสาวรีย์กันที่ยอดเนินในกรุงเบอร์ลินฝั่งตะวันตก (West Berlin) ที่ฝักใฝ่อเมริกา ให้มีความสูงและเห็นเด่นเป็นสง่าแม้จะมองมาจากฝั่งเบอร์ลินตะวันออก (East Berlin) ที่อยู่ฝ่ายโซเวียต

‘เขียน ยิ้มศิริ’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13.5 x 9 เซนติเมตร

เอาล่ะสิ มีสถานที่เป็นแสนเป็นล้านแห่งทำไมต้องเฉพาะเจาะจงจะต้องไปสร้างกลางกรุงเบอร์ลินทั้งๆ ที่เมืองนั้นเขากำลังมีปัญหาฮึ่มๆ กันอยู่ จนท้ายที่สุดถึงกับสร้างกำแพงเบอร์ลินแบ่งเมืองกันให้รู้แล้วรู้รอด เรื่องนี้ตีความได้ไม่ยากหากรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของการจัดงาน

เริ่มด้วยตัวผู้อำนวยการโครงการประกวด แอนโธนี เจ. ที. โคลแมน (Anthony J. T. Kloman) นั้นเป็นชาวอเมริกันที่เคยได้รับการฝึกจากหน่วยราชการลับ และประจำการอยู่ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงสตอกโฮล์ม เมื่อสงครามสงบลงแล้วโคลแมนใช้ชีวิตในฐานะนักการธนาคารเดินทางไปมาระหว่างนิวยอร์กกับลอนดอน และว่ากันว่าโคลแมนยังถูกว่าจ้างอย่างลับๆ โดยรัฐบาลอเมริกันอีกด้วย

เรื่องงบประมาณมหาศาลในการจัดประกวดศิลปะสเกลระดับโลกนี้ก็เป็นเรื่องให้โจษจันอีกโดยผู้ที่ออกหน้าแสดงตนว่าเป็นสปอนเซอร์หลักของงานเป็นมหาเศรษฐีชาวอเมริกันนามว่า จอห์น วิทนีย์ (John Whitney) แต่หลังม่านหากสืบไปสืบมาจะรู้ว่างบประมาณนั้นถูกโยกย้ายถ่ายโอนมาแบบเนียนๆ จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

ผลงานที่ชนะเลิศการประกวดแบบร่างอนุสาวรีย์นักโทษการเมืองที่ไม่มีใครรู้จักโดย เรก บัตเลอร์ (ภาพจาก https://www.moma.org/collection/works/81449)

สรุปง่ายๆ คืองานนี้ศิลปะนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองในช่วงสงครามเย็น ศิลปินที่ได้รับโจทย์ในการแข่งขันมา รวมถึงผู้ชมงานศิลปะและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้นถูกคาดหมายให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับธีมความทุกข์ระทมของผู้คนที่กลายเป็นนักโทษทางการเมืองในฝั่งใครที่ไหนล่ะ ก็ฝั่งตรงข้ามก็คือโซเวียตน่ะสิ

แล้วลองสังเกตดูสิ ผลงานที่เข้ารอบแทบทั้งหมดรวมถึงชิ้นที่ชนะเลิศ นั้นดูลดทอน มินิมอล หรือบางชิ้นก็ดูคิดฝันเป็นนามธรรมจนดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร สื่อถึงความเปลี่ยนแปลงจากทัศนคติดั้งเดิม เปิดฟรีเรื่องเสรีภาพทางความคิด เหมือนคล้ายๆ ตั้งใจจะให้แตกต่าง และดูทันสมัยล้ำโลกกว่าศิลปะแบบสังคมนิยมที่เน้นความสมจริงของสัดส่วนมนุษย์ โชว์สรีระอันบึกบึนทรงพลัง และยังมีความยึดโยงติดตรึงอยู่กับศิลปะแบบโบราณ

‘สมัยใหม่ เสรี = อเมริกา’ ‘โบราณ ปิดกั้น = โซเวียต’ ศิลปะสื่อข้อความเหล่านี้ได้อย่างดีมีชั้นเชิงไม่โจ๋งครึ่ม ศิลปะจึงเป็นอาวุธอันทรงพลัง แต่ก็เป็นดั่งดาบสองคม ถ้าใช้ในทางที่ดีก็สามารถสร้างสรรค์จรรโลงโลกได้มาก แต่ถ้าใช้ผิดทางก็สามารถกลายเป็นอาวุธทำลายล้างสร้างความเกลียดชัง แตกแยก ชิบหายวายป่วง ได้เช่นเดียวกัน เหล่าศิลปินทั้งหลายจึงพึงสังวรณ์ไว้ว่า ‘With great power comes great responsibility’ ดังที่สไปเดอร์แมนเคยบอกไว้

อ๋อ ลืมบอกไป สรุปว่าโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์กลางกรุงเบอร์ลินนั้นล่มนะ ในที่สุดไม่ได้มีการก่อสร้างอะไรขึ้นทั้งนั้นจ้ะ

 

Don`t copy text!