โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ

โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ภาพวาดสีน้ำมันในโทนสีน้ำเงินทึมๆ รูปเด็กผู้หญิงผมเปียหน้าตาดูหลอนๆ ยืนอยู่หน้าบ้านที่ทั้งหน้าต่างและประตูดูมืดมิดไม่มีชีวิตอยู่ภายใน ทั้งเนื้อหาทั้งโครงสีแฝงไว้ด้วยอารมณ์ที่อัดอั้นตันใจ ยิ่งถ้าคนดูรู้เรื่องราวชีวิตของ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ศิลปินผู้รังสรรค์ภาพนี้รับรองว่าจะยิ่งอินเข้าไปใหญ่ เด็กผมเปียในภาพนั้นสื่อถึงพี่สาวแท้ๆ ของสุเชาว์ที่ต้องทำงานหนักงกๆ เงิ่นๆ ตั้งแต่ยังเล็กเพื่อหาสตางค์เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเอง กับสุเชาว์ผู้เป็นน้องชาย หลังจากที่พ่อแม่ของทั้งสองหายลับกลับไปเมืองจีนโดยไม่ได้ส่งข่าว ส่วนภาพบ้านนั้นคือความใฝ่ฝันว่าสักวันสุเชาว์จะต้องก้าวพ้นความลำบากยากไร้จนสามารถมีบ้าน และครอบครัวอันอบอุ่นเหมือนคนอื่นๆ เขา แต่อนิจจา ในที่สุดแล้วทุกสิ่งอย่างก็เป็นเพียงมโนคติ สุเชาว์จบชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวและแร้นแค้น ไม่มีครอบครัว ไม่มีบ้าน มีเพียงสมบัติพัสถานอันน้อยนิดที่ทิ้งไว้ในห้องเช่าขนาดกระจิริดเพียงเท่านั้น

โปสการ์ดภาพ ‘โหยหา’ พร้อมลายเซ็น พีระ ดิษฐบรรจง

ภาพนี้วาดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2513 และถูกตั้งชื่อไว้อย่างโดนใจว่า ‘โหยหา’ ที่อยู่ดีๆ ก็เลือกเอามาเล่าเพราะเราไปเจอโปสต์การ์ดประหลาดอยู่ใบหนึ่งที่ใช้รูปผลงานชิ้นนี้มาตีพิมพ์ ที่ว่าประหลาดเพราะบนโปสต์การ์ดมีลายเซ็นจริงๆ เซ็นไว้อย่างชัดเจนด้วยปากกา แต่ดันไม่ใช่ลายเซ็นศิลปิน ไม่ใช่ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ แต่เป็น ‘พีระ ดิษฐบรรจง’ ฮั่นแน่! คงสงสัยกันแล้วล่ะสิว่าพีระนี่เป็นใครถึงช่างกล้าลงชื่อกำกับไว้ใต้รูปได้ ซึ่งโดยปกติแล้วมีแต่ศิลปินผู้สร้างผลงานเท่านั้นที่เขาจะทำกันแบบนี้

‘พีระ ดิษฐบรรจง’(ภาพจากนิตยสาร Life & Decor)

ก็แล้วทำไมจะเซ็นไม่ได้ล่ะ ก็พีระนี่แหละที่เป็นเจ้าของภาพวาดชิ้นนี้ รวมถึงผลงานศิลปะฝีมือสุเชาว์อีกนับไม่ถ้วนจนเป็นที่รู้กันในวงการว่าถ้าเรื่องสุเชาว์ พีระคือตัวพ่อ พีระไม่ใช่มหาเศรษฐีที่ไหน เขาแค่อินกับเรื่องอาร์ต เงินเดือนไม่มากที่ได้จึงมักหมดไปกับภาพวาดฝีมือศิลปินต่างๆ ที่เขาตระเวนซื้อหาตามแกลเลอรีซึ่งก็มีไม่กี่แห่งราวๆ ปี พ.ศ. 2520 ช่วงที่เขาเริ่มสะสมงานศิลปะ

จนวันหนึ่งพีระไปจ๊ะเอ๋เข้ากับภาพสีน้ำมันผลงานของสุเชาว์วางขายอยู่ในแกลเลอรีแห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 20 คนที่แกลเลอรีเขาเล่าให้พีระฟังว่าสุเชาว์เป็นคนน่ารัก นิสัยดี งานที่สร้างก็เพียวๆ ดูง่ายๆ ถ่ายทอดมาจากความรู้สึกล้วนๆ แกลเลอรีเลยช่วยซื้อมาวางขายทั้งๆ ที่รู้ว่าผลงานที่บางภาพก็ดูเหมือนเด็กวาด หรือบางภาพก็มีเนื้อหาที่ยิ่งดูยิ่งเครียดพรรค์นี้คงจะขายไม่ได้ง่ายๆ แน่ๆ ซึ่งก็จริงดังคาด ถึงจะตั้งราคาแค่หลักพันแต่ลูกค้าที่ถูกใจงานสุเชาว์จนยอมควักตังค์ซื้อนั้นมีน้อยจนแทบจะนับหัวได้ และส่วนใหญ่ก็มักเป็นฝรั่ง คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เก็ต

แต่พีระดันเก็ต เลยสอยภาพ โหยหา กลับมาห้อยที่บ้าน กลายเป็นผลงานสุเชาว์ภาพแรกที่เขาสะสม ภาพวาดที่เต็มไปด้วยอารมณ์ภาพนี้ถึงจะมีเนื้อหาน่าหดหู่ แต่ก็มีมนต์เสน่ห์ในสไตล์ของสุเชาว์ด้วยการผสมสีหนาๆ ป้ายเป็นปื้นๆ เกิดเป็นประกายยุบยับในเฉดมืดๆ ที่ลึกลับ ดึงดูดให้พีระยิ่งดูยิ่งอิน จนเกิดอาการฮึดจัดตามไปซื้อหาภาพวาดฝีมือสุเชาว์เพิ่มเติมตามแกลเลอรีต่างๆ มาอีกเป็นตั้ง

ผลงานของ “สุเชาว์ ศิษย์คเณศ” ที่พีระสะสมไว้

พีระสะสมผลงานของสุเชาว์โดยไม่เคยเจอสุเชาว์อยู่พักใหญ่ จนวันดีคืนดีได้ข่าวว่าสุเชาว์ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง ไม่สามารถสร้างผลงานออกมาได้มากมายเหมือนช่วงก่อนๆ พีระจึงขอคอนแท็กจากแกลเลอรีเพื่อโทรศัพท์ไปแนะนำตัวและขออนุญาตนัดพบ พอได้เจอพีระยิ่งประทับใจกับความเป็นคนง่ายๆ มีอัธยาศัยดีของสุเชาว์ นิสัยอย่างหนึ่งของสุเชาว์คือการไม่เก็บสะสมอะไร อย่างเช่นหนังสือที่ท่านชอบหามาอ่าน เมื่ออ่านเสร็จก็จะบริจาคให้ห้องสมุด ส่วนผลงานศิลปะถ้าวาดเสร็จก็ขายไปหมด บ้างก็แจก ไม่เคยมีเหลือไว้มากมายให้สามารถจัดงานแสดงที่ไหนได้ วันดีคืนดีพอสุเชาว์ได้มาเห็นผลงานของตัวเองเยอะแยะในคอลเลกชันที่บ้านของพีระก็ตื่นเต้นประทับใจ นานๆ ไปทั้งคู่เลยสนิทสนม ไปเที่ยวดูนู่นดูนี่ด้วยกัน เวลาสุเชาว์มีผลงานออกมา พีระก็คอยช่วยซื้อเท่าที่พอไหว

ซื้อไปซื้อมากลายเป็นว่าพีระมีผลงานสุเชาว์มากมาย ทั้งที่เป็นสีน้ำมันหนาๆ รูปเด็ก รูปบ้าน รูปแมว รูปปลา ที่เป็นสเกตช์บนกระดาษก่อนจะลงมือระบายสีจริง และแบบที่เป็นงานประยุกต์ภาพไทยที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น พีระก็มีหมดแทบจะครบทุกรูปแบบ ถึงบ้านช่องห้องหอของพีระจะไม่ได้ใหญ่โตแต่เก็บภาพวาดไว้ได้เยอะแยะเพราะผลงานของสุเชาว์ส่วนใหญ่มักมีขนาดไม่กว้างยาวไปกว่า 2 ฟุต x 2 ฟุต เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะห้องเช่าของสุเชาว์มีขนาดเล็กนิดเดียว ไม่มีที่พอจะวางเฟรมผ้าใบใหญ่ๆ ได้ แถมวิธีการสร้างงานของสุเชาว์ก็มีแบบฉบับเฉพาะตัว คือเมื่อเกิดแรงบันดาลใจอย่างเช่นไปเห็นคนจีนนั่งเท้าศอกดื่มเหล้าที่เยาวราชแล้วชอบบุคลิก หรือเดินผ่านสวนเห็นปลาหมอดิ้นกระแด่วๆ อยู่บนพื้นคลุกฝุ่นเกรอะกรังตะกายจะไปหาน้ำ สะท้อนถึงชีวิตตนเองที่ต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด ก็จะจำภาพนั้นเอาไว้ พร้อมทั้งวางโครงสร้างภาพ และสีไว้ในหัวเสร็จสรรพ พอจะวาดก็วาดไปเลยปรื๊ดเดียวจนจบไม่กลับมาวาดเพิ่มใหม่ทีหลัง นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่เฟรมจะต้องไม่ใหญ่มากเดี๋ยวจะอารมณ์หมดวาดทีเดียวจบไม่ได้

สุเชาว์ไม่เคยมีงานแสดงเดี่ยวเลยซักกะครั้งเพราะไม่มีตังค์ และเป็นคนขี้เกรงใจชาวบ้านเลยไม่เคยเอ่ยปากขอให้ใครมาช่วยเหลือทั้งๆ ที่คนรอบข้างก็รักและเต็มใจ จนประมาณปี พ.ศ. 2527 มีฝรั่งชาวอเมริกันจากนิวยอร์กมารับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ที่ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ( Neilson Hays Library ) บนถนนสุรวงศ์ เห็นผลงานของสุเชาว์ที่บ้านพีระเข้าก็ถูกอกถูกใจ และเป็นตัวตั้งตัวตีให้มีการจัดงานแสดงเดี่ยวให้สุเชาว์เป็นครั้งแรกในห้องสมุดแห่งนี้

หลังงานแสดงชีวิตของสุเชาว์เริ่มจะดีขึ้นด้วยการสนับสนุนจากพีระและมิตรสหาย เสร็จจากงานแสดงเดี่ยวครั้งแรกสุเชาว์ก็คึกจัด สั่งเฟรมผ้าใบเปล่าๆ มาเตรียมไว้ เพื่อจะสร้างผลงานอีกชุดใหญ่เอาไว้โชว์ในงานแสดงครั้งต่อๆ ไป แต่ความสุขในชีวิตของสุเชาว์ช่างสั้นนัก สุเชาว์สร้างผลงานเพิ่มได้อีกเพียงสิบกว่าชิ้นก็เริ่มป่วยหนัก พีระก็เอาใจใส่คอยไปเยี่ยมและอาสาพาไปหาหมออยู่เนืองๆ แต่อาการก็ไม่ยักจะดีขึ้นจนในที่สุดสุเชาว์ก็เป็นอัมพาตขยับเนื้อขยับตัวไม่ได้ต้องแอดมิตอยู่ในโรงพยาบาล

ผลงานของ “สุเชาว์ ศิษย์คเณศ” ที่พีระสะสมไว้

งานแสดงเดี่ยวของสุเชาว์ในครั้งถัดมาที่จัดขึ้น ณ หอศิลป์ พีระศรี ในซอยอรรถการประสิทธิ์ จึงถูกจัดขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจของเหล่าคนที่รักสุเชาว์ ทั้งเพื่อนศิลปิน และนักสะสม เพื่อโปรโมตผลงานของสุเชาว์ มีผลงานย้อนหลังตั้งแต่ชุดแรกๆ จนถึงชุดที่พึ่งสร้างสรรค์เสร็จก่อนล้มป่วยเอามาโชว์อย่างครบครันสร้างสีสันดึงดูดให้มีผู้สนใจอยากจะสะสมผลงานของสุเชาว์อีกเป็นเบือ งานที่จัดขึ้นในครั้งนี้ยังเป็นการหารายได้เพื่อนำมาจ่ายค่ายาค่าหมอให้สุเชาว์ และสุเชาว์เองก็ยังอุตส่าห์มีโอกาสได้มาร่วมงานทั้งๆ ที่ตกอยู่ในสภาพที่นอนหายใจรวยรินพูดจาไม่ได้อยู่บนเตียงเข็น เมื่อได้เห็นอีเวนต์ที่จัดขึ้นมาได้อย่างงดงามยิ่งใหญ่ และพบปะเพื่อนสนิทมิตรสหายที่อยู่คอยต้อนรับกันอย่างพร้อมหน้า สุเชาว์ก็ยิ่งอิ่มเอมใจ แต่แสดงออกได้เพียงด้วยหยดน้ำตาที่ไหลเอ่อออกมา

หลังจากนั้นพีระก็มีเหตุให้ต้องเดินทางไปอาศัยที่ออสเตรเลียกับแอนนาเบล ผู้เป็นภรรยา ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับที่สุเชาว์เสียชีวิตลง ถัดจากนั้นอีกหลายปีพีระก็เสียชีวิตเช่นกัน เป็นอันว่าทั้งคู่เลยได้ไปติดตามผลงานกันต่อในสรวงสวรรค์

ที่นิยามไปแล้วก่อนหน้าว่าถ้าพูดถึงสุเชาว์ พีระนี่ล่ะตัวพ่อ เหตุเพราะคอลเลกชันผลงานสุเชาว์ของพีระนี้นับว่าเป็นหนึ่งในชุดที่เลอเลิศและสมบูรณ์ที่สุด สมัยที่พีระซื้อหามามีราคาไม่เท่าไหร่ แต่พอเวลาผ่านไปผลงานชุดนี้กลับมีค่ามหาศาลด้วยการคัดสรรที่ดี พูดง่ายๆ คือตาถึง และข้อมูลผลงานที่มีการบันทึกอย่างมีสารบบ มีจดไว้หมดว่ามาจากไหน ได้มาเมื่อไหร่ เคยไปแสดงที่ใด ผลงานของสุเชาว์ถ้ามาจากคอลเลกชันของพีระรับประกันว่าไม่มีใครกล้าสวดว่าเก๊ มีแต่นักสะสมจะยอมจ่ายพรีเมียมมากกว่าผลงานที่แค่เป็นของแท้แต่ไม่รู้ที่มาด้วยซ้ำ ในวงการศิลปะชื่อพีระเลยกลายเป็นโคแบรนด์คู่กับชื่อสุเชาว์ไปเลย เหมือนกับรถเบนซ์ที่ถ้ามีโลโก้เอเอ็มจีแปะอยู่ด้วยจะมีราคาค่างวดมากกว่ารถเบนซ์เฉยๆ เป็นทวีคูณ

ผลงานของ “สุเชาว์ ศิษย์คเณศ” ที่พีระสะสมไว้

เรื่องนี้เลยสอนให้รู้ว่าถ้าอยากจะสะสมศิลปะให้คอลเลกชันเป็นตำนาน ไม่จำเป็นต้องเป็นมีเงินเป็นกองพะเนินเทินทึก แต่ต้องมีความขยันหมั่นซอกแซก รู้จักมักจี่กับแกลเลอรี และศิลปินที่ชื่นชอบ เช้าถึงเย็นถึง แสดงความตั้งใจให้เห็นว่าเป็นแฟนคลับสายฮาร์ดคอร์ขนานแท้ รักใคร่ชอบพอกันไว้ยังไงก็มีโอกาสได้เลือกงานดีๆ ในราคาโดนๆ ก่อนมหาเศรษฐีที่ส่วนใหญ่ที่มักจะมีแต่เวลาหาตังค์ ไม่มีเวลามานั่งคุยกับศิลปิน และถ้าโชคดีได้ผลงานที่ถูกใจมาสมใจก็อย่าหมกๆ เอาไว้ดูคนเดียว มีโอกาสก็ช่วยศิลปินเขาเผยแพร่ เป็นมันทั้งฝ่ายพีอาร์ และสื่อสารการตลาดให้เสร็จสรรพ พอศิลปินยิ่งดัง งานในคอลเลกชันของนักสะสมคู่บุญก็ยิ่งเด่น กลายเป็นคู่จิ้นสุดฟินอย่างไบรท์-วินกันไปเลย

Don`t copy text!