นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ

นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………….

เป็นเวลานานมาแล้ว ฉากจำที่ชาวต่างชาติประทับใจเมื่อได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในบ้านเรา นอกจากวัดวาอาราม รายล้อมด้วยเจดีย์สีทองอร่ามมลังเมลืองแล้ว ตลาดน้ำที่คลาคล่ำไปด้วยพ่อค้าแม่ขายพายเรือไม้ขนของสดของแห้งมานำเสนอลูกค้าที่อยู่บนตลิ่งก็เป็นสิ่งที่เป็นเสน่ห์แปลกตาน่าจดจำเช่นเดียวกัน พอพวกเขาจะกลับบ้านเกิดเมืองนอน หนึ่งในของที่ระลึกที่ชาวต่างชาติผู้ชอบศิลปะนิยมซื้อหาติดตัวไปเพื่อให้ระลึกถึงวันชื่นคืนสุขในเมืองไทยจึงเป็นภาพที่มีเนื้อหาประมาณนี้นี่แหละ

“ผลงานของ นิโร โยโกตา” เทคนิคภาพถ่ายขนาด 16.5 x 11.5 เซนติเมตร

หากจะว่ากันถึงภาพตลาดน้ำ พอมีดีมานด์ต่างคนต่างก็เลยผลิตผลงานออกมายกใหญ่ในเทคนิค และสไตล์แบบของใครของมัน ในอดีตศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายท่านก็กระโดดมาร่วมวงกับเขาด้วยเช่น เฉลิม นาคีรักษ์, คิด โกศัลวัฒน์, สวัสดิ์ ตันติสุข แต่ก็ร่วมวงแบบมาๆ ไปๆ ไม่ได้ฮาร์ดคอร์ มุ่งวาดตลาดน้ำจนผลงานเป็นที่จดจำของสาธารณชนเหมือนศิลปินท่านหนึ่งซึ่งย้ายสัมโนครัวมาอยู่เมืองไทยอยู่กว่าครึ่งค่อนชีวิตนามว่า นิโร โยโกตา (Niro Yokota)

“ผลงานของ นิโร โยโกตา” เทคนิคภาพถ่ายขนาด 13.5 x 8.5 เซนติเมตร

นิโร โยโกตา ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเชื้อสายอาทิตย์อุทัยล้านเปอร์เซ็นต์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 ณ จังหวัดโทะจิงิ บนเกาะฮอนชู โยโกตาศึกษาศิลปะจนมีฝีมือช่ำชองทั้งด้านการวาดภาพ การพับกระดาษ และหัตถกรรมที่ทำจากไม้ไผ่แบบญี่ปุ่น และแล้วชีวิตก็เปลี่ยนผันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อรัฐบาลไทยไปเป็นพันธมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่น กระทรวงศึกษาธิการของไทย ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่ากระทรวงธรรมการอยากได้ครูศิลปะที่มีความสามารถมาช่วยเผยแพร่ความรู้ให้กับนักเรียนไทย รัฐบาลญี่ปุ่นเลยทำการเลือกเฟ้น และตัดสินใจให้โยโกตาเดินทางมาประเทศไทย

“ผลงานของ นิโร โยโกตา” เทคนิคภาพถ่ายขนาด 13.5 x 8.5 เซนติเมตร

ในเมืองไทย โยโกตาเป็นอาจารย์สอนวาดภาพอยู่ ณ โรงเรียนเพาะช่างตั้งแต่ พ.ศ. 2483 ถึง พ.ศ. 2505 เป็นที่รักของลูกศิษย์นับพันนับหมื่นที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ และถึงแม้หมดภารกิจจากการงาน โยโกตาก็ใช้ชีวิตวัยเกษียณอยู่บ้านเราจวบจนวาระสุดท้ายในวัย 89 ปี

ตลอดช่วงชีวิตของโยโกตาได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมาอย่างสม่ำเสมอ และผลงานที่ถือว่าเป็นซิกเนเจอร์ของท่านเลยคือผลงานจิตรกรรมสีน้ำบนกระดาษ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นตลาดน้ำในมุมต่างๆ มีเรือไม้พายโดยชายและหญิงที่สวมงอบอยู่ขวักไขว่ในลำคลองท่ามกลางฉากหลังเป็นวัดวาอารามและบ้านเรือนริมน้ำ โยโกตาเลือกวาดเนื้อหาที่เราอาจจะชินตาจนไม่ใส่ใจ แต่สำหรับศิลปินที่มีพื้นเพมาจากต่างแดน สิ่งที่เห็นตรงหน้าคือวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ให้อารมณ์น่ารักมีเสน่ห์ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทยๆ

“ผลงานของ นิโร โยโกตา” เทคนิคภาพถ่ายขนาด 14.5 x 11.5 เซนติเมตร

เทคนิคการวาดภาพของโยโกตาที่ไม่เหมือนใคร เห็นปุ๊บรู้ปั๊บว่านี่คือผลงานของท่าน คือเทคนิคการวาดสีน้ำแบบแห้งบนกระดาษแห้ง ซึ่งโดยปกติศิลปินสีน้ำท่านอื่นๆ มักระบายพู่กันที่ชุ่มสีลงบนกระดาษที่เปียกเพื่อให้สีกระจายผสมปนเปไปในทิศทางต่างๆ แต่สำหรับโยโกตาจะใช้เทคนิคผสมสีลงบนจานสีจนเป็นที่ถูกใจ ก่อนจะจุ่มพู่กันเอาแค่พอหมาดๆ ปาดป้ายลงไปบนกระดาษที่แห้งๆ อย่างแม่นยำ และเพื่อเพิ่มความลื่นไหลมีชีวิตชีวาให้กับภาพ โยโกตายังใช้สีดำ ตวัดเป็นลายเส้นคลอไปกับทีแปรงในภาพด้วย ซึ่งผลก็ออกมาดูเนียนตาไม่เหมือนกับว่ามีการตัดเส้นอะไร

“ผลงานของ นิโร โยโกตา” เทคนิคภาพถ่ายขนาด 16.5 x 12 เซนติเมตร

เพราะผลงานมีคุณภาพและโยโกตามีคอนเนกชันกว้างไกล ภาพวาดที่เสร็จสมบูรณ์ของท่านได้ถูกจัดแสดงทั้งในและต่างประเทศ ทั่วเอเชียและยุโรปอยู่เนืองๆ ทำให้มีนักสะสมจากทั่วสารทิศซื้อหาไปเก็บสะสมไว้

“นิโร โยโกตา และผลงานจิตรกรรม” เทคนิคภาพถ่ายขนาด 15 x 14.5 เซนติเมตร

นึกๆ ดูแล้วสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงใหม่ๆ เมืองไทยเพิ่งจะเริ่มโปรโมตประเทศเปิดรับชาวต่างชาติให้มาเยี่ยมเยือน ผลงานจิตรกรรมวิถีชีวิตไทยในฉากอันแปลกตาของโยโกตาที่ได้ไปทัวร์ทั่วโลก และมีแขวนอยู่บนผนังบ้านนักสะสมหลากชาติหลายภาษา นอกจากจะทรงคุณค่าในแง่ศิลปะแล้ว ภาพเหล่านี้ยังเปรียบเสมือนป้ายพีอาร์ ททท. พอใครเห็นเข้าก็นึกถึงประเทศเรา สะกิดใจแบบไม่ฮาร์ดเซลให้อยากมาสัมผัสวัฒนธรรม และบรรยากาศอันงดงามนี้ด้วยตนเองซักที มาแล้วดีไม่ดีจะตรึงตาตรึงใจจนไม่อยากจากเมืองไทยไป เหมือน นิโร โยโกตา ก็ได้

 

Don`t copy text!