ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว

ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว

โดย : ตัวแน่น

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อนุสาวรีย์แทบทั้งหมดบนแผ่นดินสยามนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และในสมัยรัชกาลที่ 6 นายคอร์ราโด เฟโรจี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาลี ก็ถูกเชื้อเชิญมาเมืองไทยโดยราชสำนักเพื่อให้รังสรรค์ผลงานในธีมเจ้าๆ นี้ออกมาเช่นกัน จนหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 อนุสาวรีย์สดุดีสามัญชนจึงเริ่มมีดำริให้จัดสร้างขึ้น และอนุสาวรีย์คนธรรมดาอนุสาวรีย์แรกที่สร้างหลังจากประเทศสยามเปลี่ยนมาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยก็คืออนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือที่เรียกกันติดปากกันว่าอนุสาวรีย์ย่าโมนั่นเอง

‘อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี’ ก่อน พ.ศ.2510 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9 เซนติเมตร

ว่ากันว่า ย่าโม หรือคุณหญิงโม เป็นวีรสตรีที่มีส่วนในการสู้รบกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์จากเวียงจันทน์ เพื่อกอบกู้แขวงเมืองนครราชสีมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ด้วยวีรกรรมที่กล้าหาญในหลวงรัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯสถาปนาคุณหญิงโม เป็นท้าวสุรนารี ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุ 57 ปีแล้ว นั่นหมายความว่าย่าโมของเราไปแกว่งดาบวิ่งไล่ฟันทหารฝ่ายตรงข้ามตอนอายุ 56

‘การย้ายฐานบรรจุอัฐิท้าวสุรนารี’ ก่อน พ.ศ.2510 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 8.5×6.5 เซนติเมตร
‘การย้ายฐานบรรจุอัฐิท้าวสุรนารี’ ก่อน พ.ศ.2510 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 8.5×6.5 เซนติเมตร

เมื่อย่าโมถึงแก่กรรมในวัย 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสามี ได้บรรจุอัฐิของย่าโมไว้ในเจดีย์ ณ วัดศาลาลอย ภายหลังเมื่อเจดีย์ทรุดโทรมตามกาลเวลา อัฐิของท่านจึงถูกย้ายไปบรรจุไว้ในกู่ขนาดย่อมๆ ที่สร้างขึ้นใหม่ในวัดพระนารายณ์มหาราช พอนานเข้ากู่ที่เก็บอัฐิก็เริ่มผุพังลงอีก เมื่อปี พ.ศ. 2476 พระยากำธรพายัพทิศ ผู้ว่าจังหวัดนครราชสีมา กับนายพันเอกระเริงรุกปัจจามิตร ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 และประชาชนชาวโคราช เลยมีไอเดียในการสร้างที่เก็บอัฐิขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่โตสมเกียรติ รัฐบาลซึ่งนำโดยคณะราษฎรก็เห็นดีเห็นงามด้วยเพราะเข้ากับกุศโลบายในการเชิดชูคนธรรมดา โปรโมตความเท่าเทียมกันของทุกเพศ กระตุ้นต่อมรักชาติ และป้องปรามกบฏ อย่างเช่นเหตุการณ์กบฏบวรเดชซึ่งเพิ่งจบลงไปแหม็บๆ แถมฝ่ายกบฏยังใช้โคราชเป็นฐานกำลังแห่งสำคัญ ครั้งนั้นรัฐบาลมอบหมายให้กรมศิลปากรทำการออกแบบจัดสร้างในรูปแบบอนุสาวรีย์เพื่อนำไปตั้งไว้หน้าประตูชัยใจกลางเมืองโคราชให้คนเห็นกันทั่วบ้านทั่วเมืองโดยมีศิลปินฝีมือระดับพระกาฬถูกไหว้วานให้มาร่วมงานถึง 2 ท่าน คือพระเทวาภินิมมิตร จิตรกรชาวโคราช กับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวฟลอเรนซ์

‘ขบวนแห่ท้าวสุรนารี’ พ.ศ.2510 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9 เซนติเมตร
‘ขบวนแห่ท้าวสุรนารี’ พ.ศ.2510 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9 เซนติเมตร
‘ขบวนแห่ท้าวสุรนารี’ พ.ศ.2510 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9 เซนติเมตร
‘ขบวนแห่ท้าวสุรนารี’ พ.ศ.2510 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9 เซนติเมตร

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยระหว่างการออกแบบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีบันทึกไว้ในตอนหนึ่งของ สาส์นสมเด็จ เป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใจความว่า

“อนุสาวรีย์รายนี้เดิมทีพระเทวภินิมิต เขียนมาปรึกษาเกล้ากระหม่อม ก่อนเป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง มีเครื่องยศพานหมากกระโถนตั้งข้างๆ เกล้ากระหม่อมถามว่าใครจะทำ เขาว่าเป็นผู้แทนราษฎร นครราชสีมา เกล้ากระหม่อมถามว่า แกเคยเห็นท่านผู้หญิงโมหรือ หน้าตาอย่างนี้หรือ ได้แต่หัวเราะไม่ได้คำตอบ”

“ต่อมาเกล้ากระหม่อมไปที่ศิลปากรสถาน เห็นนายเฟโรจี (อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี) ปั้นดินเป็นรูปผู้หญิง ยืนถือดาบอยู่ตัวเล็ก ๆ หลายตัว ท่าต่างกัน ถามว่าทำอะไร แกบอกว่าทำผู้หญิงโคราช ใครก็ไม่รู้ที่รบกับผู้ชายนั้น เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจ แล้วได้แนะนำว่าเราไม่รู้จักตัว หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory (สัญลักษณ์แฝงความหมาย) เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า แกเห็นด้วย ต่อมาอีกสองสามวันเกล้ากระหม่อมไปอีก เห็นแกปั้นไว้หน้าเอ็นดูดี เป็นผู้หญิงสาวผมยาวประบ่า ใส่มาลาถือพวกดอกไม้สด นุ่งจีบ ห่มสไบสะพักสองบ่า ยืนถือดาบ เกล้ากระหม่อมเห็นแล้วก็รับรองว่าอย่างนี้ดี” 

ปรับกันไปปรับกันมาจนคณะกรรมการไปถูกใจกับแบบที่ดูเหมือนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ วีรชนแบบที่ใครๆก็เป็นได้ ถึงหน้าตาจะไม่เหมือนย่าโมจริงๆ ก็ไม่เป็นไร กรรมการหัวสมัยใหม่ไม่เอารูปเทวดานางฟ้า รูปปั้นย่าโมเลยออกมาในรูปหญิงไทย ในชุดนุ่งจีบ ห่มผ้า มีสไบเฉียง ตัดผมปีกแบบโบราณ ยืนท้าวสะเอว ในขณะที่อีกมือก็กุมด้ามดาบชี้ปลายจรดพื้นไว้อย่างทะมัดทะแมง ท่าทางและสีหน้าดูผ่อนคลาย แต่อารมณ์จากแววตานั้นเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ในที่สุดรูปปั้นนี้จึงถูกถอดแบบและหล่อขึ้นมาด้วยทองแดงรมดำ เมื่อแล้วเสร็จมีความสูง 1.85 เมตร และหนัก 325 กิโลกรัม ประติมากรรมชิ้นนี้ถูกนำขึ้นไปประดิษฐานบนฐานที่บรรจุอัฐิของย่าโมเอาไว้โดยตั้งให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศสยามที่ท่านเคยปกป้องพร้อมสรรพสำหรับพิธีเปิดอนุสาวรีย์ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477

‘อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี’ หลัง พ.ศ.2510 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9 เซนติเมตร

อีกกว่า 30 ปีให้หลังเมื่อปี พ.ศ. 2510 ฐานของอนุสาวรีย์ย่าโมเริ่มพังเสียหาย สวัสดิวงศ์ ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น พร้อมทั้งข้าราชการและประชาชนชาวโคราชจึงร่วมกันจัดสร้างฐานอนุสาวรีย์ที่ใช้บรรจุอัฐิขึ้นมาใหม่ โดยมีการปรับแบบนิดหน่อย แต่ยังตั้งอยู่ที่เดิมบริเวณหน้าประตูชุมพล นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมบางทีเวลานั่งดูรูปเก่าๆ ของอนุสาวรีย์ย่าโม บางรูปถึงดูไม่เหมือนอีกรูป

นี่แหละความเป็นมาของอนุสาวรีย์ย่าโม ผลงานของศิลปินเบอร์หนึ่งด้านศิลปะไทย กับศิลปินเบอร์หนึ่งด้านศิลปะสากลของบ้านเราในสมัยนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้นอกจากจะเป็นศูนย์รวมดวงใจของชาวโคราชจึงยังทรงคุณค่าในแง่สุนทรียศาสตร์ด้วยอย่างครบครัน

รู้งี้แล้วคราวหน้าคราวหลังเวลาแวะไปไหว้ย่าโม ก็อย่าลืมแหงนหน้าชมมนต์เสน่ห์ผลงานคอลแลปส์ชิ้นเอกของสองศิลปินชั้นครูที่หาดูไม่ได้ที่ไหนแล้วด้วยล่ะ

Don`t copy text!