หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ

หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

รูปถ่ายเก่ากึ้กขนาดคืบกว่าๆ ผนึกอยู่บนกระดาษสีดำที่เกรอะกรังไม่แพ้กัน พร้อมตัวอักษรสีขาวที่บรรจงเขียนด้วยลายมือสุดประณีตใจความว่า ‘งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2493 (หมายเลข 28-29)’ ใบ้มาซะขนาดนี้ถ้าไม่สืบค้นต่อคงนอนไม่หลับ ด้วยความรู้ที่เริ่มจะค่อยๆ งอกยาวกว่าหางอึ่งหลังจากที่ได้คลุกคลีตีโมงในสายอาร์ตมาสักระยะทำให้เราพอจะบอกได้ทันทีว่ารูปปั้นในภาพคือหนึ่งในบุคคลสำคัญในวงการศิลปะไทย หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่จะสืบสานพระโอวาทของพระบิดาที่ว่า

‘เกิดมาเป็นพระราชวงศ์ต้องทำราชการรับใช้พระเจ้าแผ่นดินและชาติบ้านเมือง อันมีบุญคุณแก่พ่อมาก พ่อแก่แล้วทำราชการไม่ไหว ขอให้รับราชการแทนตัวพ่อ ถึงจะยากลำบากก็ขอให้อดทนรับราชการสืบทอดต่อไป ได้เงินเดือนเท่าไรก็ใช้ให้พอ อย่าบ่น อย่าว่า และอย่าลาออก’

เมื่อหม่อมเจ้ายาใจทรงสำเร็จปริญญาด้านการออกแบบจากปารีส จึงทรงกลับมารับราชการอยู่ในกรมศิลปากรจนเกษียณ ในชีวิตการทำงานท่านทรงกำกับโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศชาติมากมาย เช่น การบูรณะวัดพระแก้ว ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ทรงเป็นประธานกรรมการตัดสินงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และยังเคยทรงดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย

“ประติมากรรม หม่อมเจ้า ยาใจ จิตรพงศ์” พ.ศ. 2493 เทคนิค ภาพถ่าย ขนาด 21 x 14.5 เซนติเมตร

ตั้งแต่เห็นรูปถ่ายใบนี้แวบแรกก็รู้เพียงว่าเป็นรูปปั้นใคร ส่วนใครเป็นคนปั้นนั้นบอกได้เลยว่าโนไอเดีย โชคยังดีที่มีเบาะแสเพิ่มเติมคือชื่อ ‘งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ’ พร้อมระบุปีที่จัดเขียนกำกับเอาไว้ใต้ภาพตัวเบ้อเร่อ งานแสดงศิลปกรรมที่ว่าซึ่ง อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ริเริ่มนั้นมีการจัดต่อเนื่องกันมาตลอดเป็นเวลากว่า 70 ปีแล้ว แต่ถึงงานนี้จะจัดกันมาเนิ่นนานแต่ก็ไม่ใช่งานแสดงศิลปะสมัยใหม่งานแรกในบ้านเรา เพราะตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 มีงานอีเวนต์อีกงานที่จัดขึ้นประมาณวันที่ 8-14 ธันวาคมของทุกปี เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘งานฉลองรัฐธรรมนูญ’ งานนี้ถ้าไปถามปู่ย่าตาทวดรับประกันว่าทุกท่านจะต้องรู้จัก เพราะเป็นงานมหกรรมใหญ่ยักษ์ระดับชาติที่ใครๆ เขาก็ไปเที่ยวกัน ในกรุงเทพฯ มีการจัดสลับกันไปสลับกันมาที่วังสราญรมย์ สวนลุมพินี สวนอัมพร และเขาดิน ส่วนในต่างจังหวัดก็มีจัดล้อกันในสเกลที่เล็กกว่าตามสถานที่ที่เหมาะเจาะ

ภายในงานมีร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ขายของกิน ของใช้เบ็ดเตล็ดทุกอย่าง มีการแสดง ลิเก โขน งิ้ว ตลก มายากล ละครเวที โชว์สัตว์แปลก มีฉายหนัง จุดดอกไม้ไฟ มีแข่งชกมวย มีประกวดนางสาวสยาม เอาเป็นว่าอยากซื้อหาหรืออยากดูอะไรก็มีครบจบในงานเดียว ในส่วนของทางราชการก็มีการออกบูธของกระทรวง ทบวง กรม โชว์ผลงานกันใหญ่โต และหนึ่งในนั้นคือบูธของกรมศิลปากร เนื่องจากคอนเซ็ปต์ของงานฉลองรัฐธรรมนูญนี้มุ่งเน้นถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันประกอบไปด้วยเอกราชของประเทศ การรักษาความสงบ การบำรุงเศรษฐกิจ ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ความมีเสรีภาพ และการบำรุงการศึกษา เป็นหลักสมัยใหม่ที่พยายามจะฉีกตัวออกจากความโบร่ำโบราณและกฎเกณฑ์ในยุคก่อน

ด้วยเหตุฉะนี้ถ้ากรมศิลปากรจะมาออกร้านโชว์เทวรูปสมัยขอม หรือไหสมัยอยุธยา ก็จะดูคร่ำครึ ในงานจึงมีการจัดประกวดประณีตศิลปกรรม กระตุ้นให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ มาร่วมประชันฝีมือกันในธีมของคณะราษฎร สร้างสรรค์ผลงานด้วยรูปแบบที่ทันสมัยไม่ยึดติดอยู่กับแนวไทยประเพณีแบบดั้งเดิม

หม่อมเจ้า ยาใจ จิตรพงศ์ (กลาง) ภาพจากนิตยสารข่าวสารช่างศิลป์ มิถุนายน 2551

งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้ค่อยๆ เริ่มซาๆ หลัง พ.ศ. 2490 หลังจากการรัฐประหารเปลี่ยนขั้วอำนาจจากคณะราษฎรมาเป็นกลุ่มใหม่ที่มีแนวความคิดแบบอนุรักษ์นิยม มีการออกกฎระเบียบออกมาควบคุมงานฉลองรัฐธรรมนูญจัดระเบียบห้ามไม่ให้มีหาบเร่แผงลอยดูระเกะระกะ ห้ามไม่ให้มีการพนัน ห้ามใช้เสียงดัง ห้ามแสดงโชว์แบบชาวบ้านที่บางทีก็มีคำหยาบ จากที่เคยดูเป็นงานวัดสนุกสนานเลยชักจะกร่อยกลายเป็นทางการจ๋าแบบงานราชการ จนในที่สุดงานฉลองรัฐธรรมนูญก็เลิกจัดไปในปี พ.ศ. 2501 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม

โชคยังดีสำหรับวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย ที่ถึงแม้งานฉลองรัฐธรรมนูญที่มีการประกวดประณีตศิลปกรรมจะจบเห่ไป แต่งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็เริ่มตั้งตัวได้และเป็นที่เฟื่องฟู จากงานแสดงศิลปะเล็กๆกลับกลายเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับประเทศ งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 ในครั้งนั้นถือเป็นเวทีแจ้งเกิดของประติมากรในตำนานนามว่า เขียน ยิ้มศิริ ซึ่งนำผลงานชื่อ ‘ขลุ่ยทิพย์’ มาร่วมแสดงและคว้ารางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองสาขาประติมากรรมไปแบบสบายๆ ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 ในปีถัดมาหรือ พ.ศ. 2493 ปีเดียวกับที่ระบุไว้ใต้รูปถ่ายรูปปั้นหม่อมเจ้ายาใจที่เป็นประเด็น เขียน ยิ้มศิริ เจ้าเก่าก็ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองสาขาประติมากรรมอีกครั้งจากผลงานที่มีชื่อว่า ‘ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม’

ขลุ่ยทิพย์ (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ เขียน ยิ้มศิริ พ.ศ. 2514)

ความเจ๋งของทั้ง ‘ขลุ่ยทิพย์’ และ ‘ดินแดงแห่งความยิ้มแย้ม’ คือการที่ศิลปินสามารถผสมผสานความเป็นไทยให้เข้ากับศิลปะสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกได้อย่างลงตัว ในขณะที่ลดทอนรายละเอียดกระจุกกระจิก ศิลปินก็หันไปเน้นเส้นสายที่อ่อนช้อยงดงาม ไม่สนใจเรื่องความสมจริงตามธรรมชาติ ผลงานทั้งสองชิ้นนี้จึงดูเป็นคนละเรื่อง ไม่ใกล้เคียงกับประติมากรรมรูปเหมือนของใครคนใดทั้งสิ้นแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ถ้าให้เราเดาว่าใครเป็นคนปั้นรูปเหมือนหม่อมเจ้ายาใจที่ออกมาสมจริงเต็มไปด้วยอารมณ์ราวกับมีชีวิต เราคงนึกถึง เขียน ยิ้มศิริ เป็นคนสุดท้าย

ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ เขียน ยิ้มศิริ พ.ศ. 2514)

ถ้าโอน้อยออกก็คงแพ้ ถ้าแทงหวยก็คงโดนกิน เพราะพอไปไล่เรียงรายชื่อผลงานศิลปะที่ถูกส่งเข้าแสดงในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2493 ก็เจอผลงานประติมากรรมชื่อ ‘รูปเหมือนหม่อมเจ้ายาใจ’ ตามคาด แต่ที่ไม่ตามคาดคือปั้นโดย เขียน ยิ้มศิริ คนที่ไม่คิดว่าจะใช่ แถมค้นไปค้นมายังเจอภาพประกอบในสูจิบัตรเก่าอีกเป็นรูปปั้นหม่อมเจ้ายาใจชิ้นเดียวกันนี้ไม่มีผิดเพี้ยน แต่ถ่ายจากคนละมุม

หม่อมเจ้า ยาใจ จิตรพงศ์ (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ เขียน ยิ้มศิริ พ.ศ. 2514)

สรุปว่ารูปถ่ายที่เมื่อกี้ยังมีข้อสงสัยเลยกลายเป็นรูปถ่ายผลงานของประติมากรมือหนึ่งของประเทศในอดีต ถ่ายผลงานชิ้นที่อาจจะหายสาบสูญไปแล้ว ในมุมที่ไม่มีใครได้เห็น มา 70 ปี รู้งี้ถึงรูปจะเกรอะกรังก็ดูมีออร่าขึ้นมาทันที เสร็จภารกิจสืบค้นเป็นอันว่าเข้านอนได้ คืนนี้ท่าจะฝันดีไม่มีอะไรให้คาใจ

 

Don`t copy text!