ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์

ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………….

ลองจินตนาการว่าถ้าเราเป็นประติมากรในยุคสัก 70 ปีที่แล้ว สมัยที่การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเพิ่งจะริเริ่มจัดกัน หากอยากชนะรางวัลจากงานประชันระดับประเทศนี้ คงต้องเดาใจเหล่ากรรมการเก็งแนวทางการตัดสินกันหน่อย หากไล่เรียงดูผลงานที่ได้รับเหรียญ แทบทั้งหมดเป็นรูปคน ส่วนจะชนะหรือแพ้กรรมการเขามักดูกันที่เนื้อหา อารมณ์ และสัดส่วนอนาโตมี ยิ่งสร้างสรรค์ สมจริงมีชีวิตชีวาเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสลุ้นรางวัลมากขึ้นเท่านั้น รู้งี้แล้วถ้าจะเพลย์เซฟก็ควรจะตั้งใจปั้นคนให้เด็ดสะระตี่ที่สุดแล้วส่งเข้าประกวดสวดมนต์ภาวนาหวังว่าจะเข้าตากรรมการ

“กวาง” พ.ศ. 2496 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะคิดแบบนี้ ในขณะที่ใครๆ เขาก็ส่งรูปปั้นคนไปร่วมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติกัน ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ประติมากรชื่อก้อง กลับมุ่งส่งแต่รูปปั้นสิงห์สาราสัตว์ไปแจมในงาน ดังที่เคยกล่าวไว้เวลามีใครไปถามว่า

“ปั้นรูปคนเหมือนผมก็ชอบ แต่ที่นี่รูปคนน่ะมันลำบาก สมมติว่าเราได้ดูจากตัวแบบจริงๆ มันก็สนุก แล้วแบบเขาว่างไหมล่ะ บางทีเรามีใจแหมอยากจะทำ แบบเขาไม่ว่างเสียแล้ววันนี้ เราก็ปล่อยไปเลย เลิก หมดกำลังไปแล้ว แต่ถ้าทำรูปสัตว์มันจะมาบอกว่านี่วันนี้ฉันไม่ว่างไม่มีหรอก เราไปเมื่อไรเราก็ทำได้ อันนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ชอบปั้นรูปสัตว์”

“ลูกไก่” (ภาพจากหนังสือ นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ)

เดิมทีไอเดียปั้นรูปสัตว์ของไพฑูรย์นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 นู่น หลายปีก่อนจะมีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหนแรกซะอีก โดยขณะที่ล่องเรือขนกระดาษกับสีน้ำไปกับ สวัสดิ์ ตันติสุข เพื่อหามุมวาดภาพวิวท้องไร่ท้องนาแถวย่านบางแค ไพฑูรย์เหลือบไปเห็นลูกไก่ที่ขนยังไม่ขึ้นตัวหนึ่งเข้าก็เกิดถูกชะตา เจรจาขอยืมจากเจ้าของมาเป็นแบบปั้นที่โรงหล่อศิลปากร ไพฑูรย์ปั้นรูปไก่ตัวเล็กๆ ขนาดเท่าจริงตัวนี้อยู่ถึง 3 สัปดาห์ ปั้นไปด้วยหลบลูกระเบิดไปด้วยเพราะช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่จบ เมื่อสำเร็จไพฑูรย์ส่งต้นแบบให้ คงสุข อยู่มั่น ช่างหล่อระดับเซียนช่วยถอดพิมพ์และหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ให้เพราะขาแข้งของไก่มันช่างบอบบางเล็กจิ๋ว ถ้าไม่เก๋าจริงมีหวังพังหมด หลังจากนั้นเมื่อหล่อเสร็จออกมาสมบูรณ์เป๊ะทุกกระเบียดก็เหมือนจะจบสวย แต่กลับดวงซวยเพราะขณะที่ไพฑูรย์กำลังจะจบงานด้วยการตกแต่งรายละเอียดปูนเกิดมีแมลงมาตอมหน้า พอป้องปัดมือเจ้ากรรมดันไปกวาดโดนรูปปั้นไก่จนร่วงตกกระแทกพื้น คอแหลกเป็นผุยผง หัวบิดเบี้ยวผิดรูป ลำบากไพฑูรย์ต้องมานั่งซ่อมจนเป็นไก่เวอร์ชันใหม่

“ลูกแพะ” (ภาพจากหนังสือ นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ)

ไพฑูรย์เอารูปปั้น ‘ลูกไก่’ ที่แก้ไขแล้วไปให้ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ดู อาจารย์ศิลป์เห็นปุ๊บก็ชอบอกชอบใจมาก ชื่นชมว่าไพฑูรย์สามารถสร้างสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นให้เกิดเป็นความงาม เพราะไก่ที่สวยใครๆ ก็ต้องนึกถึงแต่ตัวที่มีขนสีสันเรืองรอง มีหางยาวดูพลิ้วไสว คงไม่มีใครนึกถึงไก่ตัวเกลี้ยงๆ มีแต่หนังหุ้มกระดูกแบบนี้ แต่ไพฑูรย์สามารถเนรมิตรูปปั้นไก่ไร้ขนให้ดูสวยงามกระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ โดยใช้เพียงลักษณะท่าทางและมัดกล้ามเนื้อ ไม่ได้พึ่งขนเลยซักกะนิด แถมไปๆ มาๆ ยังดูน่าสนใจ ชวนมองกว่าไก่ที่มีขนเต็มซะอีก หลังจากนั้นอาจารย์ศิลป์ก็เลยนำผลงานชิ้นนี้ไปจัดแสดงที่ประเทศอังกฤษพร้อมๆ กับผลงานชิ้นเด็ดชิ้นอื่นๆ เป็นการเผยแพร่ให้ชาวโลกรู้ว่าศิลปินไทยสมัยใหม่ฝีมือไม่ธรรมดา

“ลูกม้า” (ภาพจากหนังสือ นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ)

เสร็จจากงานที่อังกฤษ เมื่อลูกไก่ของไพฑูรย์ถูกส่งกลับมาถึงเมืองไทย อาจารย์ศิลป์ยังขอออกตังค์เองเพื่อหล่อเก็บไว้เป็นสำริด ซึ่งไก่ตัวที่ว่าก็ยังคงตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานในห้องของอาจารย์ศิลป์ตราบจนถึงทุกวันนี้

ปั้นไก่แล้วเหมือนจะเวิร์ก มีคนชื่นชมมากมายแถมยังได้ไปโชว์เมืองนอก ถัดจากนั้นเพียงปีเดียวในปี พ.ศ. 2488 ไพฑูรย์ก็เลยสร้างผลงานรูปสัตว์ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอีกชิ้น ครั้งนี้แรงบันดาลใจเกิดขึ้นตอนที่พเนจรไปแถวผ่านฟ้าเพื่อหาซื้อนมแพะของโปรดมาดื่มให้อิ่มหนำ ย่านนั้นมีห้องแถวที่เลี้ยงแพะเอาไว้รีดนม ไพฑูรย์ไปด้อมๆ มองๆ สังเกตอากัปกิริยาของลูกแพะและปั้นเป็นต้นแบบชิ้นเล็กๆ หลายๆ ชิ้นหลายๆ ท่าเก็บเอาไว้ พอกลับมาที่โรงปั้นไพฑูรย์ถูกใจชิ้นหนึ่งที่สุดเป็นรูปลูกแพะเอี้ยวตัวเอาปากทำความสะอาดบั้นท้าย ดูเหมือนตัวอะไรไม่รู้เป็นก้อนกลมๆ เลยเอาต้นแบบชิ้นนั้นมาขยายเป็นประติมากรรม ‘ลูกแพะ’ สูงประมาณฟุตกว่าๆ

รูปปั้นลูกแพะถูกเก็บเอาไว้ 4 ปี จึงได้มีโอกาสแสดงในงานใหญ่ซะทีเมื่อมีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2492 ครั้งนั้นลูกแพะของไพฑูรย์ซิวเหรียญเงินไปได้อย่างน่าชื่นชม

ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 ในปีถัดมา ไพฑูรย์ตัดสินใจส่งรูปสัตว์เข้าร่วมงานอีก ครั้งนี้เป็นรูป ‘ลูกม้า’ ที่ไปเห็นในคอกหลังโรงเรียนอำนวยศิลป์ ไพฑูรย์เลือกปั้นลูกสัตว์เอี้ยวตัวทำความสะอาดขนเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้ใส่รายละเอียดขนเขินเข้าไปเพิ่มขึ้น แล้วยังเลือกท่ายากคือทั้งนอนไปด้วยเอี้ยวตัวไปด้วย ดูเก้ๆ กังๆ เหมือนจะหงายหลังแหล่ไม่หงายแหล่แต่เข้ากันดีกับความไม่ประสีประสาต่อโลกของลูกม้า ด้วยความลงตัวผลงานชิ้นนี้เลยคว้ารางวัลเหรียญทองไปครองแบบสบายๆ

“ลูกวัว” พ.ศ. 2494 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 11 x 9 เซนติเมตร

พอเครื่องเริ่มติด คนมันฮอต อะไรก็ฉุดไว้ไม่อยู่ ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2494 ไพฑูรย์ก็ได้รางวัลเหรียญทองมาประดับหิ้งอีกจากผลงาน ‘ลูกวัว’ ในท่าคันหู ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ไปเห็นฝูงวัวในคอกของกรมการสัตว์ย่านพญาไท แถมตามมาติดๆ ด้วยการชนะเหรียญทองเหรียญที่ 3 ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 พ.ศ. 2496 ด้วยรูปปั้น ‘กวาง’ ผลงานชิ้นนี้แหวกแนวไปจากชิ้นก่อนๆ ที่ไพฑูรย์มักเลือกปั้นลูกสัตว์ที่แสดงความไร้เดียงสา แต่ครั้งนี้ไพฑูรย์ปั้นกวางตัวผู้ขนาดโตเต็มวัยที่ไปเห็นในเขาดิน (ซึ่งจริงๆ แล้วไอ้ตัวนั้นมันคือละมั่ง) กวางตัวนี้มีเขาแหลมขึ้นเต็ม แต่แทนที่จะดูดุดันน่าเกรงขามกลับดูเฟรนด์ลี อ่อนช้อยชม้อยชม้าย เสมือนกำลังกรีดกรายไปในป่าด้วยอารมณ์ชิลๆ บนกวางตัวนี้ไพฑูรย์ทิ้งทีหยาบๆ ไว้แทนปอยขน เพื่อจะสื่อถึงความดิบๆ ป่าๆ เป็นธรรมชาติ ที่ไม่ควรจะเนี้ยบเรียบแปล้ดูประดิดประดอย

และจากการที่ไพฑูรย์ได้รับเหรียญทองติดๆ กันเป็นพรวนจนครบ 3 เหรียญ ก็เลยควอลิฟายที่จะได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติไปเลยแบบสบายใจเฉิบ

“แพะ” พ.ศ. 2494 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 8 x 5 เซนติเมตร

ผลงานในยุคต่อๆ มาถึงจะได้รับมอบหมายจากทางราชการและราชสำนักให้ปั้นอนุสาวรีย์ รูปเหมือนบุคคล และออกแบบเหรียญตราเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นงานสร้างสรรค์ส่วนตัวไพฑูรย์ก็ยังคงอินกับการปั้นรูปสัตว์ต่างๆ อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย แต่ละชิ้นกว่าจะสำเร็จไม่ใช่ง่ายๆ ไพฑูรย์ต้องเข้าไปคลุกคลีกับสัตว์เหล่านั้นเพื่อสังเกตรายละเอียดและจดจำพฤติกรรม พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์สุดระทึกที่คาดเดาไม่ได้มากมาย เคยโดนแม้กระทั่งยีราฟวิ่งไล่กวดจนต้องไปแอบอยู่ใต้ต้นไม้ หรือโดนจ่าฝูงลิงกระโจนใส่จนล้มกลิ้งหกคะเมนตีลังกาช้ำเลือดช้ำหนองสะบักสะบอม ยอมเสี่ยงชีวิตเข้าไปใกล้ชิดบรรดาสัตว์ขนาดนี้เพื่อจะให้ผลงานออกมาดีที่สุดไม่ต่างอะไรกับ สตีฟ เออร์วิน

ด้วยความตั้งใจทุ่มเทบวกกับฝีมือและพรสวรรค์ประติมากรรมรูปสัตว์ของไพฑูรย์ที่เสร็จสมบูรณ์จึงไม่ใช่แค่เหมือน แต่ละตัวต่างดูมีชีวิตมีจิตวิญญาณ ทุกท่วงท่ามีความลื่นไหลไม่ยืนทื่อซังกะตายแบบจ่าเฉย ลูกสัตว์ก็ดูน่ารักน่าทนุถนอม สัตว์ที่โตเต็มวัยก็ดูสวยสง่าน่าชื่นชม ผลพลอยได้ที่ตามมาจึงไม่ได้เกิดแค่ความสุนทรีย์ แต่ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้คนที่ได้มาสัมผัสรูปปั้นอันเป็นเสมือนดั่งสแนปชอตบันทึกความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์ เกิดความรักความเมตตาคิดจะอนุรักษ์เหล่าสิงห์สาราสัตว์นานาพันธุ์ที่นับวันจะล้มหายตายจากด้วยน้ำมือของพวกเราเอง จนวันหนึ่งอาจจะเหลือเพียงซากและรูปปั้นไว้ให้ลูกหลานเราดู

ผลงานศิลปะที่ดูดีนั้นเจ๋ง ส่วนผลงานศิลปะที่ดูดีด้วยและส่งข้อความอะไรบางอย่างที่จรรโลงใจพาให้โลกดีขึ้นได้ด้วยนั้นโคตรเจ๋ง เราว่าผลงานรูปปั้นสัตว์ที่ดูเหมือนจะซิมเปิ้ลแต่ลึกล้ำของไพฑูรย์นั้นเป็นแบบที่สอง

Don`t copy text!