การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง

การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ทุกสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้นมีจุดเริ่มต้นจากบางสิ่งที่เล็กๆ ดั่งเช่นการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ งานแสดงศิลปะที่สำคัญและมีการจัดต่อเนื่องกันมายาวนานที่สุดจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 70 ปี นั้นก็มีจุดกำเนิดมาจากอะไรที่แสนจะซิมเปิ้ล

แรกเริ่มเดิมทีก็ไม่มีอะไรมาก เกิดจากการที่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เห็นว่าในเหล่าประเทศที่เจริญแล้วที่ท่านได้ไปประสบพบเจอมามีการจัดงานแสดงศิลปะกันแบบถี่ๆ บางเมืองถ้าใหญ่หน่อยก็จัดพร้อมๆ กันทีละหลายๆ งานก็มี ส่วนชาวบ้านชาวเมืองเขาก็แห่แหนกันไปดูด้วยความสนอกสนใจกลายเป็นวัฒนธรรมอันปกติธรรมดาของศิวิไลซ์ชน อีกทั้งยังกระตุ้นกระแสความนิยมก่อเกิดการซื้อขายสนับสนุนผลงานศิลปะ มีแรงอัดฉีดไปถึงศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน เขาเหล่านั้นเลยยิ่งคึกคักขยันกันคิดขยันกันทำเข้าไปใหญ่ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ในบ้านเราที่วงการศิลปะยังอยู่ในสภาวะตั้งไข่ งานแสดงศิลปะยังมีไม่บ่อย ไม่มีเจ้าไหนประสบความสำเร็จสามารถจัดต่อเนื่องได้ นักสะสมก็แทบจะไม่มี ศิลปินจะมีกินได้ต้องหาลำไพ่จากงานอื่น เช่นเป็นอาจารย์สอนศิลปะหรือไม่ก็รับจ้างวาดภาพตามสั่ง วาดภาพประกอบ ถ้าเล่นตัวเลือกแต่จะสร้างงานศิลปะแบบเพียวๆ ตามใจฉัน รับประกันว่าได้ไส้แห้งชัวร์ไม่ต้องลุ้น

เพราะแรงผลักดันจากอาจารย์ศิลป์และผู้ร่วมอุดมการณ์ ในที่สุดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกก็คลอดออกมาจนได้ โดยงบประมาณในการจัดสถานที่ ติดตั้งผลงาน พิมพ์สูจิบัตร นั้นมาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมศิลปากรที่สมัยนั้นมหาลัยฯ ยังสังกัดอยู่ รวมถึงจากภาคเอกชน เช่น มีเซียม ยิบอินซอย ภรรยาของนักธุรกิจใหญ่, วิจิตร วังส์ไพจิตร หรือ ว. เต๊กหมิ่น เจ้าของห้องภาพวิจิตรจำลอง, โรงพิมพ์ไทยเกษม, บริษัทวิทยาคม ผู้นำเข้าอุปกรณ์การพิมพ์, บริษัทยูไนเต็ดแอดเวอร์ไทเซอร์ เอเจนซีรับงานโฆษณา, บางกอกแกลเลอรี ร้านซื้อขายวัตถุโบราณรวมถึงผลงานศิลปะร่วมสมัย และในบรรดาสปอนเซอร์ที่สนับสนุนนั้นยังมีเจ้าที่แหวกแนวไม่ค่อยเกี่ยวกับการแสดงศิลปะอย่างเช่นสบู่หอมใช้ถูตัวก็มาแจมกับเขาด้วย

ถึงจะมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนพอสมควร แต่เงินในการจัดก็ยังคงมีอย่างจำกัดจำเขี่ย เรื่องไหนประหยัดได้ก็ต้องทำ สถานที่ที่ใช้จัดงานเลยไม่ได้ไปเช่าศูนย์นิทรรศการหรือโรงแรมหรูที่ไหน จัดกันแบบบ้านๆ ในอาคารเรียนไม้หลังเก่าของมหาวิทยาลัยเองนี่แหละ ถึงกำแพงจะไม่เนี้ยบ ถึงแสงธรรมชาติที่ลอดเข้ามาจนควบคุมไม่ได้ ก็ต้องยอม แรงงานในการจัดก็เกณฑ์กันมาจากญาติโกโหติกา ลูกศิษย์ลูกหา ขนาด มาลินี พีระศรี ภรรยาอาจารย์ศิลป์ ยังต้องมารับหน้าที่เย็บผ้าคลุมฐานที่ใช้วางโชว์รูปปั้น

เพื่อให้ดูเป็นทางการสมฐานะการแสดงระดับชาติ งานในครั้งนี้คณะผู้จัดเลยไปกราบกรานผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้มาช่วยซัพพอร์ต ลิสต์รายนามกรรมการเลยดูเข้มขลังเพราะมีทั้งเจ้านายอย่างเช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคล, หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล, หม่อมเจ้ายาใจจิตรพงศ์ และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศิลปะ เช่น พระยาอนุมานราชธน, ศิลป์ พีระศรี, มูเน ซาโตมิ มาผสมผสานกันอย่างถ้วนทั่วลงตัว

‘การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1’ พ.ศ. 2492 เทคนิค ภาพถ่าย ขนาด 9 x 7 เซนติเมตร

การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกกำหนดจัดขึ้นเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์จนถึง 10 มีนาคม พ.ศ. 2492 ในงานมีการนำผลงานศิลปะมาแสดง 55 ชิ้น ซึ่งแบ่งเป็นงานจิตรกรรมประติมากรรม รวมถึงงานศิลปะเพื่อการตกแต่ง และพาณิชย์ เช่นภาพโปสเตอร์โฆษณาการบินไทย มีผลงานที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทอง 3 ชิ้น เหรียญเงิน 8 ชิ้น และเหรียญทองแดง 4 ชิ้น ผู้ชนะรางวัลทุกท่านในครั้งนั้นได้รับเฉพาะประกาศนียบัตร ไม่ได้รับเงินรางวัลเพราะงบน้อย

ศิลปินส่วนใหญ่ที่ส่งผลงานมาร่วมด้วยช่วยกันก็คนกันเองทั้งนั้น ถ้าไม่ใช่บุคคลใกล้ชิดกับอาจารย์ศิลป์ก็เป็นลูกศิษย์ของท่าน งานนี้ส่งผลให้เกิดผลงานที่กลับกลายเป็นตำนานมากมาย เช่นผลงาน 3 ชิ้น ที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทองอันประกอบไปด้วย ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ ฝีมือ เขียน ยิ้มศิริ ประติมากรรมรูปชายหนุ่มเอี้ยวตัวเป่าขลุ่ยอย่างครื้นเครง ซึ่งนำเอาเส้นสายแบบพระพุทธรูปสุโขทัยมาผสมผสานกับหลักคิดการสร้างผลงานประติมากรรมแบบสมัยใหม่ ภายหลังเมื่อนำเสียงขลุ่ยทิพย์ที่เดิมเป็นปูนปลาสเตอร์มาหล่อเป็นบรอนซ์ให้ทนทาน มีเซียม ยิบอินซอย ก็ได้ไป 1 ก๊อบปี้ และปัจจุบันถูกยืมมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

‘La Re’ve d’un Promeneur Solitaire’ หรือที่ภายหลังถูกตั้งชื่อเป็นภาษาไทยให้เรียกง่ายๆสบายลิ้นว่า ‘วิถีแห่งความฝัน’ ฝีมือ มีเซียม ยิบอินซอย ผลงานจิตรกรรมเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบรูปทางเดินอันทอดยาวเข้าไปในร่มไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านบิดงอชวนให้รู้สึกลึกลับพิศวง ภาพนี้มีเซียมใช้วิวแถวๆ ซอยสมคิดซึ่งอยู่ในละแวกบ้านมาเป็นต้นแบบ ปัจจุบันภาพนี้อยู่ในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

‘เพชรบุรี’ ฝีมือ เฟื้อ หริพิทักษ์ ผลงานจิตรกรรมเทคนิคสีน้ำบนกระดาษ อันเกิดจากความประทับใจขณะที่เฟื้อมองลงมาจากเขาวังและได้เห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองเพชรบุรีที่อยู่เบื้องล่าง จึงลงมือวาดอย่างรวดเร็วฉับพลันด้วยสีแบบโมโนโทนเน้นเพียงน้ำหนักอ่อนแก่ แต่กลับออกมาดูดีได้ด้วยความช่ำชอง เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานจึงขาดแคลนสุดๆ เฟื้อจึงต้องวาดรูปนี้ลงบนกระดาษที่ทำเองจากหนังสือพิมพ์ที่เอามาแช่น้ำแล้วนำมาซ้อนกันให้หนาด้วยแป้งเปียกก่อนจะระบายสีขาวจนทั่วเพื่อรองพื้น ผลงานชิ้นนี้ถูก เทพ จุลดุลย์ ซื้อต่อไปในปี พ.ศ. 2510 และนำติดตัวไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนไม่นานมานี้เมื่อเทพถึงแก่กรรม กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้รับบริจาคเพื่อนำกลับมาเก็บรักษาไว้ในเมืองไทย

‘แรกแย้ม’ พ.ศ. 2492 เทคนิค ภาพถ่าย ขนาด 18 x 12 เซนติเมตร

นอกจากชิ้นดีกรีเหรียญทองที่กล่าวถึง ผลงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ที่มาร่วมแสดงก็แสนจะพิเศษไม่ธรรมดา จนน่าเห็นใจกรรมการผู้ตัดสินที่เห็นทีจะต้องเกิดอาการปวดขมับลังเลกันพอสมควร ชิ้นที่โดดเด่นเป็นที่จดจำ เช่น ประติมากรรมรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ดูมีชีวิตชีวาเหมือนพระองค์จริงเป๊ะฝีมือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี, ประติมากรรม ‘แรกแย้ม’ รูปเด็กสาวเปลือยยืนถือดอกบัว ฝีมือ แสวง สงฆ์มั่งมี, ประติมากรรมรูปครุฑอุ้มกากี ฝีมือ สิทธิเดช แสงหิรัญ, ผลงานภาพวาดเซอร์เรียลแบบเหนือจริงภาพแรกๆ ในเมืองไทยฝีมือ มูเน ซาโตมิ, และผลงานภาพวาดนู้ด รูปหญิงสาวนอนตะแคงข้างเปลื้องผ้าอล่างฉ่าง ฝีมือ จำรัส เกียรติก้อง

เพราะการแสดงงานศิลปะเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างจะแปลกใหม่ในบ้านเราในสมัยนั้น ส่งผลให้มีประชาชนมาชมงานกันแบบอุ่นหนาฝาคั่ง ส่วนหนึ่งก็มาเพราะความชื่นชอบศิลปะ แต่ก็มีไม่น้อยที่มาดูด้วยความงงๆ ฉงนสงสัยว่าคนแปลกๆ พวกนี้เขาทำอะไรกัน บ้างก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เห็นอะไรวางโชว์อยู่ก็จับก็ลูบดูไปเสียหมด ผู้ที่ชื่นชมก็มีมาก ในขณะที่ผู้วิจารณ์ก็มีเยอะ ประเด็นที่เป็นดราม่ามากที่สุด คือทำไมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติไทย ถึงมีแต่งานรูปวิว รูปโป๊สไตล์ตะวันตกที่ดูไม่ไทย ไม่เห็นมีภาพวาดแบบตามผนังวัดที่ใครเห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็นไทยมาจัดแสดงประกวดประขันกันเลย

สำหรับเรื่องนี้ ใครที่เข้าใจแนวความคิดของอาจารย์ศิลป์ดีจะรู้ว่าท่านประทับใจในศิลปะไทยตั้งแต่วันแรกที่ได้มีโอกาสเหยียบย่างลงบนผืนแผ่นดินสยามนี้ด้วยซ้ำ เหตุนี้ท่านจึงพร่ำสอนเหล่าบรรดาลูกศิษย์ให้อนุรักษ์และหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เป็นที่น่าภูมิใจของชาติไว้อย่างสุดความสามารถ แต่ในยุคสมัยใหม่ที่การติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกิดขึ้นเร็วกว่าในอดีต หากเราจะปิดหูปิดตาตีกรอบดองเค็มศิลปะไทยเอาไว้ให้เหมือนเดิมอยู่นิ่งๆ กับที่นั้นยิ่งจะเป็นการทำร้ายศิลปะของชาติให้ขาดการพัฒนา

อาจารย์ศิลป์มีความเชื่อว่าการสอนให้ศิษย์มีความรู้กว้างรู้ลึก รู้ว่าใครในโลกเขาสร้างสรรค์ศิลปะแบบไหนกันด้วยวิธีการอย่างไร รวมถึงวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องศิลปะที่สำคัญกับการดำรงชีวิตให้เป็นผู้เป็นคนที่สมบูรณ์ นั้นจะทำให้ศิษย์สามารถหลุดพ้นจากพันธนาการของรูปแบบศิลปะแบบใดแบบหนึ่ง จนค้นพบสิ่งใหม่ๆ กลายเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานได้ นี่แหละคือการต่อลมหายใจศิลปะไทยอย่างแท้จริง เพราะศิลปะไทยไม่จำเป็นต้องแสดงออกแบบโจ้งๆ ด้วยรามเกียรติ์ยกรบ กินรีร่ายรำ หรือลายกระหนกชูช่อไสวเสมอไป

หากรากเหง้าและจิตวิญญาณของศิลปินเป็นไทย ได้เรียนรู้ที่จะรักและเข้าใจความเป็นไทย ถึงเขาผู้นั้นจะต่อยอดพลิกแพลงไปแค่ไหนอย่างไรผลงานก็ยังจะมีรสชาติและอารมณ์แบบไทยอยู่ดี

 

Don`t copy text!