มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์ 

มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์ 

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………….

ในช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุดในชีวิต แต่ละวันของ บุญส่ง กัลยาณพงศ์ ผ่านพ้นไปได้ด้วยการเก็บอาหารเน่าเสียที่คนอื่นเขาทิ้งแล้วมายาไส้ไม่ให้อดตาย ตกค่ำก็ตระเวนเร่ร่อนไปหาที่ซุกหัวนอนตามวัดวาอาราม ตามป่าช้า ชื่อ ‘บุญส่ง’ จึงฟังดูชักไม่ค่อยจะคล้องจองกับสภาพความเป็นอยู่ที่ ‘บุญไม่ส่ง’ ซักเท่าไหร่ ด้วยความปลงหมดอาลัยตายอยากที่เห็นสารรูปตัวเองไม่ต่างอะไรกับเศษซากของสิ่งมีชีวิตที่บังเอิญยังมีลมหายใจ บุญส่งเลยตัดสินใจละทิ้งชื่อเดิมที่ย่าตั้งให้ เปลี่ยนเป็น ‘อังคาร’ ที่หมายความถึงผงธุลีที่เหลือจากการเผาศพ นี่แหละคือความหมายที่แท้จริงของชื่ออังคาร บุคคลที่ภายหลังกลับมีชีวิตที่ผกผันกลายเป็นจิตรกร และกวีระดับพระกาฬแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“อังคาร กัลยาณพงศ์ ขณะนำคณะนักศึกษาสำรวจโบราณสถาน” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร

เพราะเป็นทั้งจิตรกรเป็นทั้งกวี จะสร้างสรรค์ผลงานอะไรออกมาแต่ละทีต้องมีทั้งความงาม และนัยยะที่ลึกซึ้ง ในเมื่อมนุษย์ทุกหมู่เหล่าเมื่อเกิดมาก็ไม่ต่างอะไรกับเดรัจฉาน อังคารเชื่อว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกที่มนุษย์พึงใฝ่หาคือปัญญา อันจะได้มาจากการเรียนรู้จากอัจฉริยะบุคคลทั้งในปัจจุบันและอดีต อังคารเป็นลูกศิษย์สายตรงของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และยังเป็นลูกมือทำงานใกล้ชิดกับ เฟื้อ หริพิทักษ์ รวมถึงคณาจารย์รุ่นแรกๆ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกนับไม่ถ้วน นอกเหนือจากครูตัวเป็นๆ แล้ว อังคารยังเป็นนักอ่าน นักฟัง ที่ไม่ได้สนใจเฉพาะแต่เรื่องศิลปะ กับวรรณกรรม แต่เปิดรับความรู้ทุกแขนงแบบอินเตอร์เนชันแนลไม่จำกัดเชื้อชาติ และภาษา เปรียบตัวเองดั่งผึ้งที่เพียรพยายามตามหามธุรสทิพย์ หรือสิ่งที่ดีเลิศเป็นแก่นสารของทุกของสรรพสิ่ง สั่งสมไว้ในจิตวิญญาณ รอวันเพื่อจะเนรมิตสู่ชาวโลกในเวอร์ชันที่ตกผลึกและกลั่นกรองออกมาแล้ว

“Angkarn Kalayanapong” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 7 x 5.5 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni

เมื่อแตกฉานในภาคทฤษฎีแล้วก็จำเป็นที่จะต้องช่ำชองในภาคปฏิบัติ เริ่มจากการ ฝึก ฝึก แล้วก็ฝึก ซ้ำแล้วซ้ำอีก เทคนิคทางศิลปะที่อังคารฝึกฝนจนเก่งฉกาจแบบไม่เป็นสองรองใครคือการวาดภาพด้วยแท่งถ่านชาร์โคล ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะง่าย แค่ปาดปรื๊ดเดียวเดี๋ยวก็เสร็จเป็นรูปเป็นร่างได้ แต่ในความเป็นจริงการวาดภาพด้วยเทคนิคที่ว่านี้ให้ออกมาดีเลิศนั้นแสนจะยากบรมยาก เพราะน้ำหนักมือต้องเป๊ะ จังหวะต้องแม่น แถมถ้าปาดพลาดภาพก็พังไปเลย จะมาระบายทับอีกทีก็ไม่เวิร์ก อังคารเคยกล่าวว่าการวาดภาพของท่านก็เหมือนเป็นการบำเพ็ญ ปฐมฌาณ หรือการเข้าฌาณแบบอ่อนๆ ด้วยการกำหนดลมหายใจให้เกิดสมาธิ สวมหัวใจ และดวงตาของเทพเจ้า สร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ยึดติดกับเวลา ต้องก้าวหน้าจนเวลาตามไม่ทัน ไม่ใช่แค่ล้ำสมัยแต่สร้างให้เหนือสมัยเป็นอกาลิโก

“Angkarn Kalayanapong” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 7 x 5.5 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni

ผลงานรูปธรรมที่ถ่ายทอดออกมาจากมโนคติ ต้องมีคุณสมบัติแบบอุดมคติ แม้สิ่งนั้นจะถูกผลิตมาจากวัสดุอะไร ไร้ชีวิตชีวาแค่ไหน ย่อมสามารถที่จะถูกดลบันดาลให้เกิดจิตวิญญาณ และความงามอย่างเป็นอมตะได้ อังคารยกย่องบุคคลอย่าง ไมเคิลแอนเจโล ผู้แกะสลักหินอ่อนเป็นรูป ‘เดวิด’ และช่างนิรนามผู้ปั้นดินเป็นองค์พระพุทธชินราช ว่ามีคุณสมบัติเยี่ยงพระพรหม ถึงขั้นควอลิไฟที่จะตรวจแก้งาน หรือให้คะแนนผลงานของเทพเจ้า

“Angkarn Kalayanapong” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 7 x 5.5 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni

ไม่พอ แค่นี้ยังไม่พอ เมื่อเข้าใจรูปธรรมอย่างลึกซึ้งถึงแก่นจนบรรลุแล้ว อังคารยังไปต่อด้วยความมุ่งหมายที่จะตระหนักรู้ และถ่ายทอดคุณสมบัติทางนามธรรมของสิ่งนั้นๆ ออกมา ยกตัวอย่างถ้าจะวาดมหาสมุทร เป็นเราก็คงแต่วาดผืนน้ำเรียบๆ สีฟ้าๆ กับเรือใบ และเมฆอีกซักสองสามก้อน แต่สำหรับอังคารแค่วาดในสิ่งที่เห็นมันตื้นเขินจนเกินไป เพื่อจะรู้สึกถึงอารมณ์สะเทือนใจในแก่นแท้ของมหาสมุทร อังคารจะเพ่งอารมณ์ไปในความลึกอันไม่มีที่สิ้นสุดไปจนถึงส่วนก้นบึ้งอันมืดมิด คิดถึงความกว้างใหญ่ไพศาลอันนำมาซึ่งความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวแบบไม่มีขอบเขต หวนคิดถึงแม้กระทั่งเมื่อหลายพันล้านปีก่อนเมื่อมหาสมุทรยังเป็นดั่งซุปร้อนๆ ของแร่ธาตุ ผสมผสานสร้างสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ให้จุติขึ้นมาบนโลกในรูปแบบของจุลชีพ และแล้วสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวตัวจ้อยที่ล่องลอยอยู่ในความผันผวนของเกลียวคลื่นก็มีวิวัฒนาการจนกลายเป็นพืชและสรรพสัตว์น้อยใหญ่ มหาสมุทรจึงยังเปรียบเสมือนมารดาของทุกชีวิตในปฐพี

“Angkarn Kalayanapong” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 7 x 5.5 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni

สังเกตดีๆ จะเห็นว่าอังคารมักเป็นผู้มองไกล มองกว้าง และรอบด้าน ไม่ยึดติดอยู่กับเรื่องคับแคบอย่างกิเลสประจำวันของมนุษย์ การเมือง หรือเรื่องสังคม แต่จะพยายามเข้าใจเรื่องราวที่ใหญ่กว่า มองข้ามเส้นขอบฟ้า ข้ามภพข้ามชาติ ทะยานถึงเอกภพอื่นไปเลย

“Angkarn Kalayanapong” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 7 x 5.5 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni

เอาล่ะ เมื่อเข้าใจทุกสิ่งรอบตัวจนทะลุปุโปร่ง สิ่งสำคัญอันดับสุดท้ายที่จะขาดเสียมิได้คือการเข้าใจตนเอง อัตตาของตนเป็นสิ่งที่อังคารแนะให้ตรวจตราอยู่เสมอ จงใช้ชีวิตอย่างมีสัจจะตรงไปตรงมาไม่เสแสร้ง ถ้าเก่งมาก รู้มาก ก็อย่าหยิ่งผยอง ให้อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้ อังคารย้ำอยู่เสมอมาว่ามนุษย์ที่สำรวจตัวเองอย่างถี่ถ้วนแล้วต้องตั้งหลักชัยในชีวิตให้ชัดเจน และมุ่งมั่นบากบั่นไปถึงจุดหมายปลายทางให้จงได้ อย่างเช่นอังคารตั้งปณิธานว่าจะขอเป็นกวีในทุกๆ ชาติไป ชาตินี้ท่านก็มุมานะจนประสบความสำเร็จได้เป็นสุดยอดกวีที่ยิ่งใหญ่สมใจ ส่วนชาติอื่นๆ อังคารจะเป็นกวีได้ด้วยหรือไม่อันนี้เราไม่รู้ และยังไม่มีแพลนจะตามไปดู

“Angkarn Kalayanapong” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 7 x 5.5 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni

นี่เราตั้งใจจะเล่าขั้นตอน และหลักคิดในการสร้างผลงานศิลปะของอังคาร กัลยาณพงศ์ แต่พอลองย้อนกลับไปอ่านที่เขียนๆ ไว้ตั้งใจจะตรวจคำผิด ไหงรู้สึกเหมือนอ่านตำราปรัชญาแห่งจักรวาลอย่างไงอย่างงั้น

สำหรับตัวท่าน ‘อังคาร’ อาจจะหมายถึงซากธุลี แต่สำหรับเราเพราะท่านล้ำโลก เหนือสมัย เกินมนุษย์มนาบนโลกไปไกลซะขนาดนี้ ถ้ากล่าวถึง ‘อังคาร’ เราจะนึกถึงชื่อดาวเคราะห์ที่ท่านอาจจะจุติมาจากซะมากกว่า

Don`t copy text!