ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย

ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ตั้งแต่เด็กๆ หนึ่งในพระบรมสาทิสลักษณ์ หรือรูปวาดในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพดังที่เรา และอีกหลายๆ คนคุ้นตากันมากที่สุดนั้นเป็นภาพในหลวงทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดคล้ายๆ ครุยสีทองๆ ทรงถือพระขรรค์ และฉลองพระบาทปลายงอนๆ ฉากหลังเป็นเหล่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และวิวท้องฟ้าเหมือนประทับอยู่บนสรวงสวรรค์ ถ้ายังนึกไม่ออกลองดูรูปประกอบแล้วจะร้องอ๋อ

และก็เพิ่งจะมารู้เอาตอนโตว่าภาพนี้ไม่ได้วาดโดยจิตรกรไทย แต่เป็นฝีมือของศิลปินแดนอิเหนาที่ในอดีตโด่งดังเปรี้ยงปร้างถึงขนาดประเทศเรายังต้องเชิญเขาให้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นศิลปินในราชสำนักไทยอยู่พักใหญ่ ถ้าสายอาร์ตท่านไหนเกิดทันน่าจะเคยได้ยินชื่อของเขาผู้นี้ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2503 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พ. ศ. 2503 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร

ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ เกิดที่เกาะชวาตั้งแต่ พ.ศ. 2458 โน่น เชื้อท่านแรงไม่ทิ้งแถวเพราะพ่อของ ระเด่น บาซูกิ ก็เป็นจิตรกรชั้นเซียน ส่วนครอบครัวก็สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเจ้าเมือง ระเด่น บาซูกิ เลยเกิดมามีศักดิ์ระดับหม่อมๆ ในบ้านเรา เพราะอยู่ในครอบครัวศิลปินระเด่นจึงมีโอกาสได้ฝึกฝีมือการวาดภาพตั้งแต่อ้อนแต่ออก สมัยนั้นประเทศอินโดนีเซียยังไม่เป็นเอกราชถูกปกครองโดยชาวดัตช์ ระเด่น บาซูกิ จึงไปเรียนต่อด้านศิลปะที่ประเทศเจ้าอาณานิคม โดยเข้าเรียนที่สำนักศิลปะวิจิตรศิลป์ ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่นั่น ระเด่น บาซูกิ ฝึกฝนสไตล์การวาดภาพแบบเหมือนจริงตามหลักวิชาของยุโรปที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีจนช่ำชอง ด้วยจิตวิญญาณที่เป็นชาวเอเชีย ถึงเทคนิคที่ใช้จะเป็นแบบตะวันตก แต่ผลงานของ ระเด่น บาซูกิ กลับถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้เป็นแบบตะวันออกอย่างมีเอกลักษณ์จนน่าพิศวง

พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

เมื่อเรียนจบ ระเด่น บาซูกิ กลับมาทำงานเป็นจิตรกรอยู่ที่บ้านเกิด ด้วยความสามารถบวกกับพื้นเพเดิมที่เกิดมาในตระกูลสูงศักดิ์อยู่แล้ว เลยมีคอนเนกชันกว้างขวาง รู้จักมักจี่ไปหมดทั้งกับศิลปินชั้นนำของอินโด นักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง เจ้าขุนมูลนาย ครบสูตร แถมยังเป็นสมาชิกสมาคมองค์กรที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและการเมืองอีกร้อยแปด เหตุนี้ ระเด่น บาซูกิ จึงมีงานชุก ถูกว่าจ้างให้วาดบุคคลสำคัญมากมายเช่นประธานาธิบดีทั้งหลายของอินโดนีเซีย, ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์, สุลต่านโบลเกียห์ แห่งบรูไน, สมเด็จพระราชินีจูลิอานา แห่งเนเธอร์แลนด์, ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โรนัลด์ เรแกน และอีกนับไม่ถ้วน

นอกจากภาพเหมือนบุคคลผลงานอีกรูปแบบที่ ระเด่น บาซูกิ เด่นไม่แพ้กัน คือภาพวาดเทพยดา และวิวทิวทัศน์ ความพิเศษของภาพวาดแนวนี้ฝีมือ ระเด่น บาซูกิ คือจะดูเหนือจริง มองไปตรงไหนก็งดงามไปหมดเหมือนอยู่ในความฝัน ว่ากันว่าเวลา ระเด่น บาซูกิ จะวาดเทวดาแต่ละองค์ต้องมีการสวดบริกรรมคาถาขออนุญาตจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนจนบางทีก็เกิดมีอภินิหาร เช่น พอสวดขอพระแม่มหาสมุทรเทวี ขวดเปล่าๆ ที่ตั้งเอาไว้ก็เกิดมีน้ำทะเล และเศษปะการัง เข้ามาอยู่ได้ไงก็ไม่รู้

พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)
พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

ระเด่น บาซูกิ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ได้ตระเวนแสดงผลงานไปทั่วโลก ประจวบเหมาะพอดิบพอดีกับที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 กำลังทรงสนพระทัยในศิลปะสมัยใหม่ และมีพระราชประสงค์จะให้จัดหาศิลปินมาวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8, พระองค์เอง และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อนำไปประดิษฐานร่วมกับพระบรมสาทิสลักษณ์บูรพกษัตริย์รัชกาลที่ 1-7 ที่มีอยู่ก่อนแล้วในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ระเด่น บาซูกิ ซึ่งมีคุณสมบัติเพียบพร้อมจึงถูกเชิญให้มาเป็นจิตรกรในราชสำนักไทยเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยทำงานอยู่ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และในพระบรมมหาราชวัง

ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ ขณะวาดพระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ภาพจาก news.detik.com)

ระเด่น บาซูกิ พำนักในเมืองไทยในฐานะจิตรกรในราชสำนักอยู่นานนับทศวรรษ ผลงานสำคัญที่สุดที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นคือพระบรมสาทิสลักษณ์ 3 ภาพสำหรับพระที่นั่งจักรี และที่พิเศษสุดๆ คือในการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระพันปีหลวงนั้นทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จฯ มาประทับให้เป็นแบบเอง เมื่อเสร็จสิ้นผลงานชุดนี้นอกจากจะออกมามีชีวิตชีวาสมจริงแล้ว ระเด่น บาซูกิ ยังสร้างบรรยากาศรายรอบในภาพให้ดูศักดิ์สิทธิ์เหนือจริงอย่างที่เขาถนัด เพราะสวยสง่างดงามเกินบรรยายภายหลังพระบรมสาทิสลักษณ์ชุดเด็ดชุดนี้จึงมักถูกนำภาพเอาไปตีพิมพ์เผยแพร่ให้เห็นอยู่บ่อยๆ จนใครๆ ก็คุ้นตา

ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ ขณะวาดพระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

ผลงานอื่นๆที่ ระเด่น บาซูกิ วาดไว้ในขณะที่อยู่ในกรุงเทพฯ นั้นยังมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ในพระอิริยาบถอื่นๆ อีกมากมายเพื่อใช้ประดับประดาตามพระตำหนัก และวังต่างๆ ในเวลาเดียวกันพอเหล่าบรรดาไฮโซไฮซ้อคนใหญ่คนโตทั่วฟ้าเมืองไทยทราบว่า ระเด่น บาซูกิ เป็นถึงจิตรกรในราชสำนัก ประมาณว่าในหลวงทรงว่าดีเราก็ว่าเด็ด ก็พากันหาช่องทางติดต่อว่าจ้างให้ช่วยวาดภาพเหมือนให้ตัวเองบ้าง ถึงราคาแรงก็สู้ตาย เกิดกระแสความนิยมผลงานศิลปะแนวนี้ในกลุ่มชนชั้นนำของประเทศหลังจากที่ซบเซากันมานาน ในสมัยนั้นศิลปินนักวาดภาพเหมือนชาวไทยฝีมือขั้นเทพอย่าง จำรัส เกียรติก้อง หรือรุ่นต่อมาอย่าง จักรพันธุ์ โปษยกฤต เลยได้อานิสงส์ พลอยขายดิบขายดีมีลูกค้าต่อคิวยาวเหยียดไปด้วย

ระเด่น บาซูกิ เป็นจิตรกรในราชสำนักไทยจนปี พ.ศ. 2513 ก่อนจะย้ายกลับไปยังอินโดนีเซีย แต่ถึงตัวจะไกลแต่ใจก็ยังมีความผูกพันกับประเทศไทยอย่างแน่นแฟ้น และหาโอกาสกลับมาเยี่ยมเยียนอยู่ตลอด เช่นในปี พ.ศ. 2517 ระเด่น บาซูกิ ขนผลงานมาจัดแสดงเดี่ยวที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยงานในครั้งนั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาเปิดงานด้วยพระองค์เอง, ในพ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์เฉลิมฉลอง 200 ปี ระเด่น บาซูกิ ได้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระพันปีหลวงขึ้นอีกครั้งเพื่อนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย, และในปี พ.ศ. 2528 ระเด่นบาซูกิ ก็จัดงานโชว์ขึ้นในบ้านเราอีก คราวนี้จัดที่ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ การมาเมืองไทยในครั้งนั้น ระเด่น บาซูกิ ก็ได้วาดพระสาทิสลักษณ์กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทูลเกล้าฯ ถวายอีก

“Young Dreamer” พ.ศ. 2503 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 29 x 22 เซนติเมตร

ในบั้นปลายชีวิต ระเด่น บาซูกิ เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เขาวาดภาพขายจนกลายเป็นเศรษฐีมีบ้านหลังใหญ่หะรูหะราในกรุงจาการ์ตา กำลังจะแฮปปี้เอ็นดิ้งอยู่แล้วเชียว แต่ปรากฏว่าในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ระเด่น บาซูกิ ได้ยินเสียงกุกๆ กักๆ กลางดึก เลยตื่นขึ้นมาดู เห็นคนสวนที่บ้านตัวเองกำลังพยายามจะขโมยนาฬิกา พอจับได้คาหนังคาเขาแทนที่จะหนี คนสวนขาโหดกลับจัดแจงทุบตี ระเด่น บาซูกิ ในวัย 78 จนเสียชีวิต ลาโลกไปกะทันหันด้วยสาเหตุที่ไม่คาดฝัน

สมัยที่ยังมีชีวิต ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ มักกล่าวอยู่เสมอว่าไม่มีสิ่งใดบนโลกสวยเกินไปกว่าความงดงามของอิสตรี ตลอดเวลาที่ผ่านมา ระเด่น บาซูกิ จึงได้ถ่ายทอดความประทับใจออกมาเป็นภาพวาดสุภาพสตรี เทพี นางฟ้า ในอิริยาบถต่างๆ ไว้มากมาย

ชื่นชมอิสตรีซะขนาดนี้สงสัยจังว่าสเปกของ ระเด่น บาซูกิ นั้นเป็นอย่างไร เราเลยลองกูเกิลหาข้อมูลภรรยาของ ระเด่น บาซูกิ ดูให้รู้แล้วรู้รอด ผลลัพธ์ดันออกมาพรืดเดียว 4 ชื่อ มีทั้งฝรั่งทั้งไทย จะสรุปยังไงดีล่ะ เอาเป็นว่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จะวาดสิ่งใดให้สวย คนวาดย่อมต้องอินกับสิ่งนั้นก่อนใช่มะ

Don`t copy text!