ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก

ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

คราวหน้าคราวหลังเวลาผ่านไปมาตรงวงเวียนใหญ่ ลองสังเกตดูสิว่าม้าบนอนุสาวรีย์ที่พระเจ้าตากทรงประทับอยู่นั้นไม่เหมือนม้าของอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือม้าบนอนุสาวรีย์วีรบุรุษที่ฮิตสร้างกันจังในยุโรป ทั้งๆ ที่อนุสาวรีย์ทั้งหลายแหล่ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ก็ล้วนปั้นหล่อขึ้นมาโดยฝรั่งทั้งนั้น

เอ๊ะ! แล้วมันไม่เหมือนกันตรงไหนล่ะ ดูๆ ก็มีหนึ่งหัว สองตา สี่ขา หนึ่งหาง ดูยังไงก็ม๊าม้าเหมือนๆ กันนิ เอาล่ะก่อนจะแถลงไขให้หายมึนตึ้บ ขออารัมภบทเล็กน้อยเกี่ยวกับอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินนี้หน่อยพอเป็นกระษัย แรกเริ่มเดิมทีไอเดียที่จะสร้างอนุสาวรีย์นั้นถูกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฏรจังหวัดธนบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 โน่น และก็เหมือนว่ารัฐบาลจะเห็นดีเห็นงามวางแผนให้เสร็จสรรพว่าอนุสาวรีย์แห่งใหม่นี้เหมาะจะตั้งอยู่ตรงวงเวียนใหญ่ และยังมอบหมายให้กรมศิลปากร ซึ่งในขณะนั้นมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดี ช่วยออกแบบอนุสาวรีย์จำลอง 7 แบบที่แตกต่างกัน แต่ละแบบมีขนาดประมาณ 75 x 50 เซนติเมตร ทาสีสวยเช้ง แล้วนำไปตั้งโชว์เรียงกันไว้ในงานรัฐธรรมนูญ ที่จัดขึ้น ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ เมื่อพ.ศ. 2480

ไหนๆ ก็อยู่ในงานรัฐธรรมนูญแล้ว จะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงหลักประชาธิปไตยไว้ก่อน ครั้งนั้นการเลือกแบบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินเลยใช้กรรมวิธีแบบป๊อปปูลาร์โหวต โดยมีการเชิญชวนให้บริจาคทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้าง และกติกามีอยู่ว่าผู้ร่วมสมทบทุนทุกท่านไม่ว่าจะบริจาคมากหรือน้อยล้วนมีสิทธิ์ 1 เสียงเท่ากันในการหยอดตู้ลงคะแนนให้ 1 ใน 7 แบบที่เล็งๆ แล้วถูกอกถูกใจที่สุด ผลปรากฏว่าแบบที่ครองใจมหาชน ชนะใสๆ ด้วยคะแนนล้นหลามถึง 3,932 คะแนน คือแบบที่ 1 ที่มีลักษณะเป็นเสาสี่เหลี่ยมรี โคนมีกระดานหนีบข้างละ 3 แผ่น ปลายตั้งรูปพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงม้า สองข้างกระดานหนีบตั้งรูปทหารมีฐาน 2 ชั้น ชั้นบนไม่มีพนัก ชั้นล่างมีพนัก 3 ด้าน ด้านหน้าเป็นบันได

แต่ตอนนั้นถึงจะได้แบบสุดปังมาแล้ว ไปๆ มาๆ ก็ยังไม่ได้สร้างซักกะที เพราะเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 พ่วงด้วยกรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส แถมเสถียรภาพของรัฐบาลก็ยังไม่นิ่งเกิดการสลับสับเปลี่ยนกันไปมาอีกหลายชุด ผ่านไปกว่า 10 ปี โครงการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ถึงได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่ โดยได้นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ เจ้าเดิม และนายเพทาย โชตินุชิต สมาชิกเทศบาลธนบุรี ร่วมกันชงโปรเจ็ค และหลังจากเหตุการณ์ ‘กบฏแมนฮัตตัน’ ที่มีเรื่องเล่ากันต่อๆ มาว่าหลังจากเรือรบหลวงศรีอยุธยาเรือที่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลใช้กักตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไว้กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกระเบิดถล่มใส่จนจมลง มีนายทหารเรือ 2 คนพาจอมพล ป. ว่ายน้ำหนีขึ้นฝั่งมาซ่อนตัวอยู่ในพระราชวังเดิม ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และ ณ ท้องพระโรงแห่งนั้น จอมพล ป. ในสภาพเปียกปอนได้ก้มกราบภาวนาให้ดวงวิญญาณพระเจ้าตากทรงช่วยปกป้อง จนเมื่อเหตุการณ์กลับสู่ปกติ จอมพล ป. ปลอดภัยกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้แบบครบ 32 เหมือนเดิม จึงรีบอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินแบบปุ๊บปั๊บฉับไวในปี พ.ศ. 2493 เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท บวกกับที่จะได้จากการบริจาคเพิ่มเติม และระบุอย่างเฉพาะเจาะจงให้ประติมากรเชื้อสายอิตาลี อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้สร้าง

เมื่อได้รับมอบหมายอาจารย์ศิลป์เริ่มออกแบบรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงม้าขึ้นมาใหม่โดยใช้แบบที่ชนะการประกวดเป็นเพียงเค้าโครง เริ่มจากเสก็ตช์แรกขนาดสูงประมาณครึ่งเมตร เติมนู่นตัดนี่แล้วสร้างสเก็ตช์ที่ 2 ขนาดสูง 2 เมตร ปรับแบบจนแฮปปี้จึงปั้นรูปขนาดเท่าจริงสูง 4.2 เมตร และเนื่องจากไม่มีตัวอย่างพระพักตร์ของพระเจ้าตาก รู้แต่เพียงว่าพระองค์ทรงมีเชื้อสายครึ่งจีนครึ่งไทย และมีพระชันษาราว 30 เศษๆ ขณะทรงออกศึก อาจารย์ศิลป์เลยแก้ปัญหาโดยการจินตนาการว่าพระพักตร์ของท่านน่าจะคล้ายลูกศิษย์คนสนิท 2 คน ที่อยู่ในวัยประมาณ 30 คือ จำรัส เกียรติก้อง และ ทวี นันทขว้าง มารวมกัน ผู้โชคดีคู่นี้เลยต้องรับหน้าที่มายืนเบ่งอกทำหน้าขึงขังเหมือนกำลังกอบกู้เอกราช เป็นแบบให้อาจารย์ศิลป์ปั้นพระพักตร์พระเจ้าตากอยู่หลายวัน แต่เรื่องนี้เอาเข้าจริงเราก็ยังงงว่าครึ่งจีนครึ่งไทยแล้วไปเหมือนจำรัสที่เป็นลูกครึ่งเยอรมันกับมอญ ผสมกับทวีที่มีเชื้อไทยปนจีนอยู่บ้างได้ยังไง ตอนปั้นอาจารย์ศิลป์ท่านคงต้องมโนต่อเอาเองเยอะเลยแหละ

‘อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ เทคนิค ภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร

แต่ที่เห็นจะเป็นประเด็นมากที่สุดไม่ใช่เรื่องหน้าตา แต่กลับเป็นเรื่องม้าของพระเจ้าตาก เพราะมีคนคอมเมนต์กันหนาหู บ้างก็ว่าเวลาเทียบสัดส่วนกับผู้ขี่ ทำไมม้ามันถึงดูตัวเล็กแคระแกร็น ไม่ใหญ่โตสูงสง่าเหมือนม้าบนอนุสาวรีย์อื่นๆ เรื่องขนาดม้านี้อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ไม่ได้ปั้นผิดสเกล แต่ตั้งใจให้ออกมาเป็นอย่างงี้เอง เริ่มตั้งแต่ตอนที่อาจารย์ศิลป์ต้องเลือกม้ามาเป็นแบบ ท่านได้ไปที่คอกม้าของกรมสัตวแพทย์ทหารบก แถวๆ อนุสาวรีย์ชัยฯ ที่นั่นมีม้าพันธุ์อาหรับตัวเบ้อเริ่มที่สั่งมาจากเมืองนอกเอาไว้ใช้เป็นพ่อพันธุ์ สวยสมบูรณ์ทุกประการ สนนราคาตัวละหลักแสน แต่อาจารย์ศิลป์ไม่ถูกใจ หันไปชอบม้าไทยตัวเล็กๆ ดูบ้านๆ สีน้ำตาลปนเทาจากกรมทหารม้ารักษาพระองค์ตรงบางซื่อแทน อาจารย์ศิลป์ได้กล่าวกับลูกศิษย์ถึงสาเหตุที่ท่านตัดสินใจเช่นนี้ว่า ‘ถ้าให้ปั้นม้าตัวใหญ่ๆ ก็ต้องเป็นม้าเทศ แต่ในสมัยนั้นพระเจ้าตากสินฯ ต้องทรงม้าไทย จะให้ปั้นม้าตัวใหญ่ๆ จึงเป็นไปไม่ได้และทำไม่ได้’

ประเด็นถัดมาที่มีคนท้วงติงคือไฉนม้าบนอนุสาวรีย์ถึงได้ยืนทื่อเอาขาทั้งสี่วางไว้บนพื้นเป็นระนาบเดียวกันอย่างนั้น ไม่มีการยกแข้งยกขา สลับสับหว่างวางขาซ้ายขาขวาให้เกิดช่องไฟดูพลื้วไหวแบบที่อื่นๆ ประเด็นนี้อาจารย์ศิลป์ท่านให้เหตุผลไว้ว่า ม้าที่กำลังควบโหย่งๆ ชูขาสูงๆ ที่เห็นบ่อยๆ บนอนุสาวรีย์นั้นไม่ใช่ท่าทางของม้าที่กำลังออกศึก แต่เป็นท่าทางของม้าที่กำลังเดินสวนสนามท่ามกลางเสียงโห่ร้องสรรเสริญของประชาชน อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินนี้ต้องการจะสื่อถึงช่วงขณะที่พระองค์ทรงบัญชาการในสนามรบ ไม่ใช่ช่วงที่ได้ชัยชนะกลับบ้านกลับเมืองมาแล้ว เพราะฉะนั้นในโมเมนต์ที่ม้ากำลังร่วมเผชิญความเป็นความตาย ท่าทางจึงต้องสื่อถึงการอยู่ใต้อาณัติอย่างเคร่งครัด กล้ามเนื้อทุกมัดบีบเกร็ง ในขณะเดียวกับที่กีบเท้าทั้งสี่จิกพื้นไว้อย่างเหนียวแน่นเตรียมพร้อมจะโจนทะยานไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในเสี้ยววินาทีที่ได้รับสัญญาณ ถ้ามามัวชูแข้งชูขาโชว์ท่าสวยๆ แบบในละครสัตว์ขณะเผชิญหน้ากับกองทัพพม่าคงไม่น่าจะรอด

‘ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี’ เทคนิค ภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร

ใช้เวลาอยู่หลายปีในที่สุดอนุสาวรีย์ก็สร้างเสร็จ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 ตามด้วยมหรสพสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องกันแบบเมดเลย์อีก 2 วัน 2 คืน ทั้งๆ ที่เปิดอนุสาวรีย์เสร็จสรรพไปแล้วประเด็นดราม่าก็ยังไม่จบสิ้น เพราะดันมีคนไปตั้งข้อสังเกตต่ออีกว่า ม้านะไม่ใช่หมาจะไปยกหางแบบที่เห็นบนอนุสาวรีย์พระเจ้าตากได้อย่างไร บ้างก็คิดไปกันใหญ่หาว่าม้าที่กำลังยกหางคือม้าเบ่งอึ น่าจะสร้างให้หางตกๆ ลงมาแบบม้าในท่าปกติซะมากกว่า ว่ากันไปจนราชการบ้าจี้ตาม เกิดไอเดียจะให้แก้หางม้าโดยการปั้นหล่อแค่ส่วนหางขึ้นมาใหม่เอามาสลับกับหางเดิม พอได้ยินอาจารย์ศิลป์ถึงกับปวดขมับต้องรีบกุลีกุจอออกมาชี้แจงให้ทุกฝ่ายหายสงสัยถึงเหตุผลที่ตัดสินใจปั้นหางม้าออกมาแบบนี้ หากว่ากันตามหลักอนาโตมี่ของม้าแล้วส่วนตรงโคนหางนั้นมีกระดูกซึ่งสามารถยกขึ้นได้หน่อยๆ ในขณะที่ขนหางที่เป็นพู่ยาวๆ นั้นถึงม้าจะยกไม่ได้ก็จริง แต่ด้วยแรงแกว่ง หรือแรงลมหางม้าก็สามารถปลิวไสวยกขึ้นได้อย่างที่เห็น และอาจารย์ศิลป์ตั้งใจจะปั้นม้าที่มีลักษณะตื่นตัวพร้อมรบอย่างเต็มพิกัดอันดูได้จาก ปากที่อ้า ดวงตาเบิกโพลง หูชี้ หางชี้ ซึ่งม้าไม่จำเป็นต้องปวดขี้ หางก็ชี้ได้

อีกเหตุผลหนึ่งทีหางชี้ไว้น่ะดีแล้ว คือมุมมองในทางศิลปะ เพราะเมื่อมองอนุสาวรีย์จากด้านข้างจะเห็นว่าหางที่ชี้ออกไปด้านหลังนั้นช่วยบาลานซ์กับพระแสงดาบที่สมเด็จพระเจ้าตากสินที่ทรงยกชูเอาไว้เป็นอย่างดี เส้นสายของประติมากรรมโดยรวมจึงดูสมดุลย์สอดรับกันอย่างสวยงามลงตัว โอเคปะ จบมะ

 

Don`t copy text!