รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
บ่ายแก่ๆ ของวันอาทิตย์ วันนั้นไม่ติดภารกิจอะไร เลยตัดสินใจไปเดินทอดน่องตากแอร์กินไอติมอยู่ที่เจเจมอลล์ ท่ามกลางร้านรวงมากมายที่เรียงรายอยู่นับร้อย มีร้านขายของเก่าอยู่ร้านหนึ่งซึ่งมีของน่าสนใจหลากหลายทั้งข้าวของเครื่องใช้กระจุกกระจิก ตู้ ตั่ง โต๊ะ ภาพวาด ภาพถ่าย อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด แต่ที่สะดุดตาเรามากที่สุดกลับเป็นของที่ดูแสนจะธรรมดาไม่ได้ใหญ่โตวิบวับวิเศษวิโส แถมยังถูกวางพิงๆ ไว้บนพื้น ถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็ไม่น่าจะมีสิทธิ์เห็น ของที่ว่าเป็นรูปถ่ายเก่าสีขาวดำ แปะอยู่บนกระดาษแข็งขนาดประมาณ A4 ที่ดูเหมือนผ่านกาลเวลามายาวนานจนมีสีออกเหลืองเรื่อๆ เหมือนเปลือกไข่ ในภาพเป็นฝรั่งรุ่นใหญ่วัยกลางคนไว้หนวดเครายาวหยิกหยอย สวมหมวก ใส่เสื้อโค้ต ถือไม้เท้า แอ็กท่าเบนหน้าหนีกล้องหน่อยๆแบบรู้มุม ดูชิลๆ สบายๆ ไม่มีอารมณ์ของความเขินอายอยู่เลยซักกะติ๊ด
พอลองเลียบๆ เคียงๆ ถามดู เจ้าของร้านเองก็ไม่รู้ว่านี่คือรูปถ่ายใคร ทั้งๆ ที่บนรูปมีลายเซ็นเขียนเอาไว้อยู่ทนโท่ ส่วนเราก็คลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับว่าเคยเห็นฝรั่งหน้าตาประมาณนี้กับลายมือแบบนี้ที่ไหนแต่ก็ไม่แน่ใจ ต่างคนต่างงงจนในที่สุดเราเลยได้รูปถ่ายที่ว่าใส่ถุงก๊อบแก๊บถือกลับบ้านหลังจากเสียสตางค์ไปให้เจ้าของร้านในราคาหลักพัน จำได้แม่นว่าวันนั้นก่อนกลับแวะกินอาหารอีสานที่ร้านใกล้บ้าน แต่ด้วยความฉงนสงสัยขั้นสุดเราเลยถือรูปลงจากรถไปพินิจพิจารณาด้วย ขณะที่กำลังโซ้ยส้มตำอย่างเมามัน มือหนึ่งก็ถือปุ้นข้าวเหนียว ส่วนอีกมือก็กดโทรศัพท์มือถือเสิร์ชกูเกิ้ลหาข้อมูลดู ผลที่ได้ทำเอาเราแทบสำลักริ้วมะละกอ เพราะปรากฏว่ารูปถ่ายและลายเซ็นดันไปตรงเผงกับของจิตรกรชื่อดังสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่มีชื่อว่า คาโรลุส-ดูรอง
คาโรลุส-ดูรอง หรือชื่อเต็มๆว่า ชาร์ลส์ เอมีล ออกุสต์ คาโรลุส-ดูรอง (Charles Emile Auguste Carolus-Duran) นั้นเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วถึงฝีไม้ลายมือในการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิคเฉพาะตัวอันแพรวพราว และแล้วในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2450 โชคชะตาก็พาให้คาโรลุส-ดูรองมามีชื่อโชว์หราอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์แห่งกรุงสยาม เมื่อเขาถูกคัดเลือกให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากพระองค์จริงด้วยสีน้ำมัน โดยครั้งนั้น คาโรลุส-ดูรองได้เริ่มวาดภาพพระองค์ท่านขณะที่เสด็จฯ มาประทับอยู่ ณ เมือง ซานเรโม (San Remo) ประเทศอิตาลี ก่อนจะหอบเฟรมกลับไปเติมรายละเอียดอีกเดือนเศษที่สตูดิโอของเขาเองในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในที่สุดพระบรมสาทิสลักษณ์ที่เสร็จสมบูรณ์ก็ถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลกลายเป็นสมบัติอันประเมินค่ามิได้มาประดับพระราชวังในเมืองไทย เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงส่งมาถึงเจ้าฟ้านิภานพดล ซึ่งเป็นทั้งพระราชธิดา และเลขานุการิณี ซึ่งในที่สุดพระราชหัตถเลขาทั้งหมดรวม 43 ฉบับที่เล่าถึงพระราชกรณียกิจ และแนวพระราชวินิจฉัยขณะที่ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลา 225 วัน นั้นได้มีพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ในชื่อ ‘ไกลบ้าน’ เพื่อวางขายแบบเป็นตอนๆ ในงานไหว้พระประจำปีของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2450 และหลังจากนั้นก็มีการจัดพิมพ์ ‘ไกลบ้าน’ ขึ้นมาอีกหลายครั้งจนกลายเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ยอดฮิตเพราะพระองค์ท่านทรงเล่าไว้อย่างละเอียดลออจนคนอ่านรู้สึกเพลิดเพลินราวกับได้ตามเสด็จฯ ไปด้วย
กลับมาที่รูปถ่ายฝรั่งปริศนาที่ตอนนี้รู้แล้วว่าเป็นรูปคาโรลุส-ดูรอง จิตรกรใหญ่ แต่ที่ยังสงสัยคือรูปถ่ายฝรั่งซึ่งถึงจะดังเปรี้ยงปร้างในยุโรปยุคนั้น แต่คนบ้านเราคงไม่รู้จัก นั้นจับพลัดจับผลูตกมาอยู่ในเมืองไทยได้ยังไง เบาะแสเพิ่มเติมที่มีคือบริเวณใต้ลายเซ็นที่ตวัดสดด้วยปากกา คาโรลุส-ดูรอง ได้เขียนวันเดือนปีเอาไว้ด้วยว่า 20 June 1907 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2450 เอาล่ะสิ คุ้นๆ ไหม ถ้าจำกันได้ 2450 นี้คือปีเดียวกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปพอดี ซึ่งพระราชหัตถเลขาชุด ไกลบ้าน ก็เกิดขึ้นในช่วงนั้นด้วย คืนนั้นกลับมาบ้านเลยไม่พูดพร่ำทำเพลง รีบควานเอาหนังสือพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน เล่มหนาเตอะน้องๆ สมุดโทรศัพท์มาพลิกหาหน้าของวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงบันทึกไว้ว่า
“ฉบับที่ 24 คืนที่ 86 วันพฤหัสบดี ที่ 20 มิถุนายน……ไปที่สตูเดียวมองสิเออคาโรลัสดูรัง แกช่างอยู่ไกลเสียลิบลับ ไปถนนใหญ่แล้วถึงถนนเล็กๆ เข้า ยังต้องไปเข้าในถนนที่มีรั้วกั้นอีกจึงถึงที่อยู่ ที่จริงมันก็เปนการจำเปน เพราะจะอยู่ในเมืองที่เสียงรถม้าลั่นก้องอยู่ แกไม่มีสมาธิ จึงได้ออกไปอยู่เสียห่าง ตามแถบที่อยู่นั้น มีขายเครื่องเขียนน้ำยาแลพู่กันต่างๆ เปนที่ช่างเขียนเขาอยู่กัน แต่กระไดขึ้นอยู่ข้างลำบาก สตูเดียวมีสองห้อง ที่จริงดูออกจะร้างๆ สู้ของตาเยลลีไม่ได้ นั่นของแกสนุกแลสอาดอยู่ข้างจะทิ้งรกๆ ห้องนอกที่ตั้งรูปไว้ค่อยยังชั่ว แต่ห้องในยิ่งรกหนักขึ้น แต่ขาดอ้ายนาฬิกาซึ่งหน้าตาเหมือนทำด้วยตกั่วที่เคยมีในวังนั้นไม่ได้ ต้องมีอันหนึ่งเหมือนกัน รูปครึ่งตัวหน้าดีกว่าเต็มตัวถ้าเวลาแลดูใกล้ดูไม่เหมือน ออกมาไกลดีขึ้น ถ้ายิ่งดูในกระจกเงาอีกด้านหนึ่งยิ่งเหมือนมาก เปรสิเดนต์ได้สรรเสริญมองสิเออดุรังมาก ว่าเปนช่างอย่างสูงวิเศษ ที่ได้เลือกให้เขียนนั้นถูก ความจริงเขาเขียนด้วยความกล้าเปนอันมาก ตั้งใจจะอวดฝีมือ ว่าช่างเขียนผู้อื่นจะทำได้โดยยาก ฤๅทำไม่ได้ทีเดียว เพราะเลือกเอาสีเหลืองหมดทั้งแผ่น ดาดหลังก็ใช้กำมหยี่เหลืองพื้นก็ใช้เหลือง เครื่องแต่งตัวเสื้อครุยก็เปนสีเหลือง สายตพายแลตราทั้งปวงก็เปนสีเหลือง ผิวหน้าก็เหลือง เสื้อขาวก็เปนลักษณเหลือง คงที่ตัดสีอยู่แต่กางเกงดำกับสีแดงที่หัวไหล่เท่านั้น แกอยากจะอวดเขามาก จึงขออนุญาตที่จะเอาไปตั้งในสะลองสัก 7 วัน พ่อก็ยอม รูปที่เขาเขียนๆ ไว้ มีแผ่นโตๆ เท่ารูปหมู่ที่ห้องไปรเวตพระที่นั่งจักรีหลายแผ่น มีเทวดาน้ำองุ่นแผ่นหนึ่ง เขียนดีมาก มีคนกว่าสิบคน ตั้งราคาสองพันปอนด์แฟมะลีของแกเองมากคนด้วยกัน รวมทั้งตัวเองด้วยก็มี มีรูปการิเกชั่วแผ่นหนึ่ง ซึ่งเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสเขียนเมื่อเวลาเขาเขียนรูปพระมเหษี เขาให้รูปของเขาเองสองรูป ออกจากบ้านมองสิเออดุรัง……”
‘เขาให้รูปของเขาเองสองรูป’ ประโยคนี้ทำให้อึ้งไปพักใหญ่ ก่อนจะหลุดจากภวังค์ตั้งสติได้ ก็พลันพนมมือไหว้รูปถ่ายฝรั่งที่วางอยู่ตรงหน้า ไม่ได้จะไหว้ดูรองนะ แต่เพราะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของบุคคลที่เคยสัมผัสรูปนี้เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วต่างหากล่ะ
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ