เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?

เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

งานแสดงศิลปะในเมืองไทยยุคสมัยนี้เวลาจัดกันทีไรไม่รู้ทำไมถึงมักเงียบเหงาเหมือนเป่าสาก ถ้าวันๆ นึงมีคนมาดูซักหลักหน่วยหรือหลักสิบนี่ถือว่าปกติ ถ้ามากันวันละหลักร้อยนี่ถือว่าดีผิดปกติ ส่วนวันละหลักพันนี่อย่าไปหวังเพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้ ต่างกันราวฟ้ากับเหวกับงานอาร์ตในอดีตที่มีประชาชีทั้งไทยทั้งเทศนับกันแทบไม่ทันแห่แหนกันมาจากทั่วสารทิศ มาออรอแย่งกันเข้าตั้งแต่วันแรกไม่ต่างกับแถวรอซื้อบัตรจับมือ อะไรมันจะคึกคักกันขนาดนั้น

ผู้ชมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 ถ่ายภาพคู่กับผลงาน “ลูกม้า” ของไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ โดยมีผลงาน “ผลไม้กับเหล้าไวน์” ของทวี นันทขว้างอยู่ในฉากหลังพ.ศ. 2493 เทคนิคภาพถ่ายขนาด 10.5 × 8 เซนติเมตร

ที่เกริ่นไปน่ะ เรื่องจริงนะไม่ได้โม้ สตอรีมีอยู่ว่าถ้าย้อนกลับไปเมื่อปลายศตวรรษที่แล้วสมัยที่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีชีวิตอยู่ อาจารย์ศิลป์ในฐานะอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร เกิดไอเดียบรรเจิดว่าประเทศไทยน่าจะมีงานประกวด และโชว์ผลงานศิลปกรรมร่วมสมัย เหมือนในหลายๆ ประเทศที่ศิวิไลซ์เขามีกัน เพื่อเป็นเวทีให้ศิลปินได้แสดงความสามารถ กระตุ้นให้เกิดความคึกคักอยากพัฒนาอยากสร้างผลงาน ส่วนคนที่มาดูก็จะได้สัมผัสใกล้ชิดกับผลงานศิลปะที่ถูกเลือกสรรค์มาแล้วว่าเลิศ ขัดเกลารสนิยมให้คนในชาติเข้าใจว่าอะไรคือสวยอะไรคือดี

นับว่าเป็นความคิดที่เวิร์กแต่ที่ยังไม่เวิร์กซักกะทีเพราะยังไม่มีงบ รู้งี้อาจารย์ศิลป์เลยไม่ง้อราชการ ตระเวนหาตังค์เองจากเอกชนทั้งร้านรวง และบริษัทต่างๆ แลกกับการลงโฆษณาโปรโมตให้ในสูจิบัตรที่จะแจก เหล่าเจ้านงเจ้านาย อาจงอาจารย์ เพื่อนพ้องน้องพี่ ลูกศิษย์ลูกหาต่างก็เห็นดีเห็นงาม ถ้าไม่ช่วยเป็นตังค์ก็มาช่วยลงแรง ทั้งแขวนภาพ, เขียนป้าย, ย้ายของ, ออกแบบสูจิบัตร ขนาดภรรยาผู้จัดอย่าง มาลินี พีระศรี ก็ยังต้องมาช่วยเย็บผ้าคลุมฐานผลงานประติมากรรม ด้วยการรวมพลังครั้งใหญ่จากผู้ที่มีใจรักศิลปะการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกจึงคลอดออกมาได้

ผู้ชมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 6 ถ่ายภาพคู่กับผลงาน “คิด” ของ ชลูด นิ่มเสมอ พ.ศ. 2498 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 8 × 6 เซนติเมตร

การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 ถูกจัดขึ้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์-10 มีนาคม พ.ศ. 2492 ณ อาคารเรียนของคณะจิตรกรรมประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และหลังจากนั้นก็ติดลมบนจัดต่อเนื่องกันมาเป็นประจำเกือบจะทุกปี โดยย้ายไปจัดตามที่ต่างๆ อาทิ หอศิลป กรมศิลปากร, อาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ, หอสมุดแห่งชาติ ในยุคแรกๆ งานนี้มีศิลปินทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ร่วมส่งผลงานให้คัดเลือกปีละหลายร้อยชิ้น และไม่ใช่ทุกชิ้นที่จะผ่านเกณฑ์เข้าร่วมแสดงได้ คณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และรุ่นใหญ่ในวงการศิลปะ เช่น หม่อมเจ้าพิลัยเลขา ดิศกุล, หม่อมเจ้าเฉลิมสมัย กฤดากร, หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์, พระสรลักษณ์ลิขิต, จิตต์ บัวบุษย์ ก็แสนจะเข้มงวดมากในเรื่องมาตรฐาน ทำให้มีผลงานถูกคัดออกราวครึ่งหนึ่งจากที่ส่งเข้ามา ใครก็ตามแค่ผ่านด่านหินได้ร่วมแสดงผลงานในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ถึงจะยังไม่ได้รางวัลอะไรก็ดีใจจนเนื้อเต้นแล้ว

ผู้ชมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 9 ถ่ายภาพคู่กับผลงาน “กวาง” ของเรืองสุข อรุณเวช โดยมีภาพถ่าย “โรงไฟฟ้าวัดเลียบ” ของ ดำรง วงศ์อุปราช อยู่ในฉากหลัง พ.ศ. 2501 เทคนิคภาพถ่ายขนาด 8 × 6.5 เซนติเมตร

สำหรับศิลปินการที่ได้มีผลงานโชว์อยู่ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ นอกจากจะโม้ได้ว่าผ่านด่านยาก และมีสิทธิ์ได้ลุ้นรางวัล ยังเป็นโอกาสในการแจ้งเกิดในอาชีพ ได้พบปะลูกค้า และขายงานศิลปะ เพราะหลายๆ คนที่มาดูเขาไม่ได้มามือเปล่า ต่างคนต่างขนสตางค์กันมาซื้อหาจับจองผลงานศิลปะ โดยเฉพาะฝรั่งที่คุ้นเคยกับการสะสมอาร์ตมากกว่าคนไทยต่างตั้งหน้าตั้งตากวาดไปทียกแผงราวกับได้ฟรี จะห้ามใจไม่ให้เหมาไปได้ยังไงล่ะ ก็ผลงานที่มีรางวัลระดับชาติการันตีในสมัยนั้นศิลปินติดราคาขายกันชิ้นละหลักสิบหลักร้อย อย่างหรูหน่อยก็หลักพันต้นๆ เอาใจนักช้อปกันสุดๆ จนภายหลังถึงต้องมีการตั้งกติกาขึ้นมาใหม่ว่าผลงานที่ชนะเลิศเหรียญทองและเหรียญเงิน จะถูกเก็บเอาไว้เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะถ้าขืนปล่อยให้แย่งซื้อกันได้ตามอำเภอใจแบบนี้รับรองว่าราชการมีแต่จะยึกยักชักช้าไม่ทันเอกชน สุดท้ายคอลเลกชันของรัฐซึ่งแทบจะไม่มีงบมาซื้อของเพิ่มอยู่แล้วก็จะยิ่งแคระแกร็นไปกันใหญ่

ผู้ชมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 9 ถ่ายภาพคู่กับผลงาน “หญิงไทยกับดอกบัว” ของ ชิต เหรียญประชา พ.ศ. 2501 เทคนิคภาพถ่ายขนาด 8 × 6.5 เซนติเมตร

ในปีแรกๆ ของการจัดงานมีการแบ่งประเภทผลงานที่เข้าร่วมแสดงซะถี่ยิบ มีประเภทจิตรกรรม, ประติมากรรม, ศิลปะประยุกต์, มัณฑนศิลป์, ภาพโฆษณา, ภาพเอกรงค์, ศิลปะตกแต่ง, ภาพพิมพ์, วาดเส้น, และ ศิลปะเด็ก ซึ่งแต่ละปีก็มีการสลับประเภทนู้นเข้าประเภทนี้ออกตามความเหมาะสม เดิมทีเงินรางวัลก็ไม่มีให้ ใครชนะจะได้แต่ประกาศนียบัตรเอาไปโชว์เพื่อน จนเมื่อปี พ.ศ. 2500 พองานชักจะตั้งตัวได้มีงบมาสนับสนุนเพิ่มเติม ถึงเริ่มแจกเงินรางวัลพ่วงไปด้วย โดยผู้ชนะรางวัลเหรียญทองจะได้เหนาะๆ 2,000 บาท เหรียญเงินได้ 1,000 ส่วนเหรียญทองแดงรับ 500 พอเป็นกระษัย

บรรยากาศการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติสมัยเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนนั้นก็แสนจะคึกคักเกินคาด ว่ากันว่าบางปีแค่วันเปิดวันเดียวก็มีคนเฮละโลมาดูงานแล้วราว 8,000 คน งานแต่ละปีจัดทีเป็นเดือนคนมาดูต้องมีทะลุหลักหมื่น คนไทยสมัยใหม่อย่างเราจะให้นึกภาพงานแสดงศิลปะในบรรยากาศคนยั้วเยี้ยอย่างกับคอนเสิร์ตแบล็กพิงก์แบบนี้ บอกตามตรงว่าเกินจะจินตนาการได้เลยจริงๆ

Don`t copy text!