อันตรธานงานศิลป์ 

อันตรธานงานศิลป์ 

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………….

เรียนท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวเปิดงาน ‘อันตรธานงานศิลป์’ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 ณ แกลเลอรีทิพย์ ในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดงานขึ้นก็เพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลงานศิลปะในตำนานที่ว่ากันว่าสูญหายหรือเสียหาย เผื่อวันหน้าวันหลังมีใครไปพบผลงานเหล่านี้ที่อาจจะเหลือแค่เพียงเศษซาก จะได้เห็นคุณค่ารีบดำเนินการเก็บกู้ให้กลับมาสู่สารบบศิลปะชิ้นสำคัญระดับชาติสืบต่อไป

และเนื่องจากผลงานศิลปะที่ผู้จัดตั้งใจจะนำมาร่วมจัดแสดงได้อันตรธานไปกับกาลเวลาเป็นที่เรียบร้อย งานแสดงในครั้งนี้จึงไม่มีผลงานศิลปะอะไรให้ท่านผู้มีเกียรติได้เพ่งพิจารณา ดื่มด่ำ ลูบคลำ เลยซักกะชิ้น ดีที่สุดที่ผู้เข้าชมงานพึงจะทำได้คือพินิจเอาจากภาพถ่ายโบราณเท่าที่มี แล้วถอดจิตใช้กายทิพย์จินตนาการว่าถ้าได้ไปยืนปะทะอยู่ตรงหน้าผลงานชิ้นจริงจะมีความรู้สึกใดมากระทบจิตใจ แค่นี้ก็สามารถฟินไปด้วยกันในโลกแบบนิวนอร์มอลได้แล้ว

โดยผลงานศิลปะที่กะว่าจะนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ประกอบไปด้วย

“ครุฑอุ้มกากี” พ.ศ.2492 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13 x 11.5 เซนติเมตร

‘ครุฑอุ้มกากี’ เรื่องมีอยู่ว่า ลูกศิษย์ใกล้ชิด อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในยุคแรกสุดแทบทั้งหมดมักเป็นประติมากร เหตุเพราะอาจารย์ศิลป์ถนัดด้านนี้เป็นพิเศษ และต้องการปั้นศิลปินหน้าใหม่ๆ ให้มาช่วยสร้างอนุสาวรีย์ ประติมากรยุคบุกเบิกเหล่านี้จึงติดสไตล์การสร้างอนุสาวรีย์ที่เน้นความสมจริง มีกล้ามเนื้อถูกหลักอนาโตมีไม่มีผิดเพี้ยน คราวนี้พอ สิทธิเดช แสงหิรัญ ต้องการจะสร้างประติมากรรมในรูปแบบสร้างสรรค์จึงนำครุฑและกากี ตัวละครปกรณัมแบบไทยๆ มาปั้นด้วยดินน้ำมันในสไตล์แบบเรียลลิสม์ ผลที่ออกมาคือประติมากรรมขนาดสูง 1 เมตร ที่ดูเผินๆ เหมือนเทพเจ้า และเทพีแบบฝรั่งออกไปทางกรีกๆ แต่พอมาดูรายละเอียดเสื้อผ้าอาภรณ์ รวมถึงการแต่งกายแล้วดูไท้ยไทย เป็นการผสมผสานศิลปะแบบอีสต์มีตเวสต์ได้อย่างลงตัวไม่ขัดเขิน เมื่อแฮปปี้แล้วสิทธิเดชก็หอบไปโชว์ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2492 และยังสามารถสอยรางวัลเหรียญเงินมาได้ เพราะวัสดุที่สร้างเป็นดินน้ำมันจึงไม่คงทน ปัจจุบันว่ากันว่าพังทลายหายต๋อมเรียบร้อยโรงเรียนจีน

“ชาย” พ.ศ.2494 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13.5 x 8.5 เซนติเมตร

‘ชาย’ เหตุที่ อำนาจ พ่วงเสรี ตั้งชื่อประติมากรรมชิ้นนี้ไว้อย่างสั้นๆ ห้วนๆ ง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายเยอะให้เจ็บคอเพราะใครมาเห็นก็ดูออกทันทีว่านี่คือรูปเหมือนขนาดเท่าคนจริงของ เขียน ยิ้มศิริ ปรมาจารย์ด้านการปั้นคนสำคัญของประเทศไทย อำนาจบรรจงปั้นหล่อ ‘ชาย’ ขึ้นมาด้วยปูนปลาสเตอร์ เพื่อส่งเข้าร่วมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2494 ความเจ๋งของประติมากรรมชิ้นนี้คืออำนาจไม่ได้กะจะปั้นให้เหมือนเป๊ะแบบเรียลลิสม์ แต่ปาดเหลี่ยมปั้นมุมแบบคิวบิสม์เข้าไปทำให้ดูแปลกตาไม่ธรรมดา ในขณะเดียวกันก็ยังคงอารมณ์และความสมจริงเอาไว้ได้ ถึงเราจะเกิดไม่ทันเจอเขียน แต่จากรูปเหมือนรูปนี้ทำให้เรารับรู้ได้ถึงชายร่างกำยำ กับแขนเสื้อที่ถลกขึ้นแสดงถึงความขึงขัง เต็มไปด้วยพละกำลัง ส่วนสีหน้าและแววตาเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์หลากหลาย ทั้งอิ่มเอม มั่นใจ เมตตา ล้ำซะขนาดนี้จึงไม่น่าแปลกที่ ‘ชาย’ จะคว้ารางวัลเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติไปครอง น่าเสียดายที่ประติมากรรมชื้นนี้ถูกร่ำลือกันว่าชำรุดเสียหาย เหลือไว้แต่เพียงรูปถ่ายไม่กี่รูป

“ธารทอง” พ.ศ.2494 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13.5 x 8.5 เซนติเมตร
“ธารทอง” พ.ศ.2494 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 8.5 x 6.5 เซนติเมตร

‘ธารทอง’ คือประติมากรรมวัสดุปูนปลาสเตอร์อีกชิ้นในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2494 งานเดียวกับ ‘ชาย’ ที่กินกันไม่ลงจนได้รางวัลเหรียญทองมาทั้งคู่ ตรงข้ามกับ ‘ชาย’ ธารทองคือรูปหญิงสาวนอนล่อนจ้อนอวดทรวดทรงองค์เอวอันเปลือยเปล่าด้วยท่วงท่าสยิวกิ้วบนโขดหินที่มีน้ำไหลผ่านเอื่อยๆ ‘ธารทอง’ ขนาดเท่าคนจริงชิ้นนี้มีปัญหาเดียวกับรูปปั้นนู้ดชิ้นอื่นๆ ฝีมือ แสวง สงฆ์มั่งมี ที่เร้าอารมณ์จนทุกครั้งที่มีการจัดแสดง ต้องมีคนมือบอนไปลูบคลำจุดซ่อนเร้นของรูปปั้นหญิงสาวอยู่เป็นนิจ โดนถูๆ ไถๆ หลายครั้งเข้าจากสีปูนปลาสเตอร์ที่ขาวๆ ก็กลายเป็นสีคล้ำๆ ดูสกปรกมอมแมม ครั้นจะให้เอาเชือกมากั้นเอาไว้ แสวงก็กลัวคนดูจะไม่ได้เห็นรายละเอียดทุกซอกทุกหลืบของผลงานชิ้นโบว์แดงอย่างเต็มที่ ปัญหาของสงวนดำเลยถูกแก้ที่ปลายเหตุโดยแสวงจะหมั่นเอากระดาษทรายเบอร์ละเอียดมาถูเอาคราบไคลที่ไม่งามออก แต่ทำแบบนี้ก็มีข้อเสียเพราะถ้าถูกถูอยู่เป็นประจำจิ๊มิก็มีสิทธิ์ผิดรูปไปจากเดิมได้ ส่วนจะสึกหรอไปแค่ไหนคงไม่มีทางจะได้เล็ง เพราะตามตำนาน ‘ธารทอง’ นั้นย่อยยับ และอันตรธานไปจากวงการตั้งนานแล้ว

หญิงสาว ถ่ายภาพคู่กับ “ครอบครัวชาวนา” พ.ศ.2496 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 18 x 13 เซนติเมตร

‘ครอบครัวชาวนา’ ถ้าจะให้เดากันเองคงลำบากว่าประติมากรรมชิ้นนี้เป็นของศิลปินท่านใด เพราะในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ศิลปินไทยต่างก็พากันปั้น พากันวาด คาแรกเตอร์คนไทยสไตล์ลดทอนรายละเอียดแบบนี้กันทั้งนั้น ที่นึกชื่อออกก็มี มานิตย์ ภู่อารีย์, ประหยัด พงษ์ดำ, ชำเรือง วิเชียรเขตต์, อินสนธิ์ วงศ์สาม, สมโภชน์ อุปอินทร์ เอาล่ะ ก่อนจะงงงวยกันไปใหญ่ขอใบ้ให้อีกนิดว่า ถ้าอยากรู้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นฝีมือใครให้ดูตรงทรงผมผู้หญิงแบบบ๊อบเสมอหูสไตล์หนูหิ่น เพราะแม้เวลาจะผ่านมาเป็นเวลาหลายสิบปี หญิงสาวที่ปรากฎในผลงานของศิลปินท่านนี้ก็ยังคงคาแรกเตอร์ทรงผมเด๋อๆ แบบนี้เอาไว้ไม่เสื่อมคลาย อินจัดถึงขั้นตัวท่านเอง และลูกสาวยังไว้ผมสไตล์คล้ายๆ แบบนี้ด้วย บอกมาซะขนาดนี้สายอาร์ตน่าจะร้องอ๋อว่าเรากำลังกล่าวถึง ชลูด นิ่มเสมอ ‘ครอบครัวชาวนา’ ชิ้นนี้ชลูดได้สร้างและหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2496 ก่อนจะใช้ฟอร์มที่คล้ายๆ กัน พัฒนามาสร้างประติมากรรม ‘คิด’ รูปผู้หญิงนั่งเท้าหัวที่โด่งดังและได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในอีก 2 ปีถัดมา ปัจจุบันผลงาน ‘ครอบครัวชาวนา’ ไม่รู้หายไปไหน แม้แต่ที่บ้านชลูดเองซึ่งปัจจุบันก่อตั้งเป็นศูนย์ข้อมูล ‘ชลูด นิ่มเสมอ คอลเลกชันแอนด์อาไคฟ’ ก็ไม่ทราบ

สุดท้ายนี้  กระผมขออวยพรให้การจัดงานในครั้งนี้  บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย  ขอให้ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าที่เคยอันตรธานไป จงถูกพบเจออีกทีในเร็ววัน บัดนี้ ได้เวลาอันสมควร กระผมจึงขอถือวิสาสะตัดริบบิ้นเปิดงาน ณ บัดนาว

 

Don`t copy text!