คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
คงไม่ใช่ไอเดียที่ดีแน่ๆ หากจะสะสมงานศิลปะโดยการไปซื้อหาภาพเหมือนของใครก็ไม่รู้ ที่วาดโดยใครก็ไม่รู้มาเก็บไว้ ถึงจะรู้อยู่เต็มอก แต่บางทีพอเจอของถูกใจเหตุผลอะไรก็คงห้ามไม่ได้ ดั่งเช่นเมื่อช่วงเที่ยงวันเสาร์ปลายเดือนมกราที่เพิ่งผ่านมา มีนักสะสมนัดให้เรามาช่วยดูภาพวาดบุคคลเก่าๆ 3 ชิ้นที่พี่เจ้าของเองก็ไม่รู้ว่าเป็นฝีมือใคร ณ มุมหนึ่งในร้านเคเอฟซีสาขาแถวๆ ท่าน้ำนนท์ เราได้เห็นภาพบุคคลขนาดสูงประมาณฟุตกว่าๆ 3 ภาพถูกห่ออยู่ในซองพลาสติกใสไว้อย่างดี ที่ต้องห่อไว้เพราะหากเอามือไปจับโดน สีก็เหมือนจะหลุดติดออกมาง่ายๆ ในบรรดา 3 ภาพที่ว่ามีภาพสุภาพบุรุษฝรั่งวัยคุณลุงสวมแว่น ใส่สูทผูกเนกไทไว้เครา อยู่ 1 ภาพ ส่วนอีก 2 ภาพเป็นภาพสุภาพสตรี โดยท่านหนึ่งที่ดูเป็นคนไทยแนวโบราณมากๆ ไว้ผมสั้นทรงดอกกระทุ่ม สวมเสื้อแขนหมูแฮมแบบที่ฮอตฮิตในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนอีกท่านหนึ่งดูหน้าตาคล้ายจะเป็นลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง ไว้ผมที่ยาวเกือบประบ่า มีดัดลอนตีโป่งดูร่วมสมัยกว่า และเสื้อผ้าแบบที่ยังพอเคยเห็นรุ่นคุณทวดเราใส่กัน
พอได้เห็นของจริงกับตา เลยรู้ว่าภาพทั้ง 3 ชิ้นนี้ถูกสร้างสรรค์ลงบนกระดาษหนาๆ ที่มีขอบด้านบนเป็นรูปครึ่งวงกลม และที่พิเศษคือรูปร่างของแผ่นกระดาษโดยรวมนั้นไม่ได้เรียบๆ หากวางบนโต๊ะจะเห็นว่ามีความโค้งนูนเหมือนหลังเต่า เมื่อส่องดูใกล้ๆ ยังพบอีกว่า ภาพทั้ง 3 ภาพนั้นเป็นเทคนิคผสมไม่ได้วาดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยใช้วิธีพิมพ์ภาพถ่ายขาวดำจางๆ ลงไปบนกระดาษก่อน แล้วใช้พู่กันระบายสีน้ำเฉดต่างๆ ทับลงไปอย่างช่ำชองจนกลายเป็นภาพสี วิธีการแบบนี้ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร เพราะในสมัยก่อน ยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยี การถ่าย ล้าง อัด ภาพสี ใครอยากได้ภาพสีไปแขวนบ้านก็มีเพียง 2 วิธี วิธีแรกคือให้ศิลปินวาดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด กับวิธีที่สองก็คือการถ่ายรูปแล้วเติมสีโดยจิตรกรผู้เชี่ยวชาญนี่แหละ แต่ทั้ง 2 วิธีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ใช่ของถูกๆ เราจึงเคยเห็นภาพเหล่านี้ถูกสั่งผลิตเฉพาะในหมู่เจ้านาย ข้าราชการชั้นสูง และนักธุรกิจรุ่นใหญ่ ไม่ได้มีเกร่อๆ ทั่วไปแน่นอน รู้อย่างงี้แล้วเราจึงขอแบ่งภาพทั้งหมดจากพี่เขามาทั้งๆ ที่ตอนนั้นก็ยังไม่ทันจะคิดอะไร ในใจแค่อยากทานวิงซ์แซ่บซักสองสามชิ้นเพราะกลิ่นไก่ในร้านมันช่างรัญจวนยั่วยวนใจซะเหลือเกิน
การได้พบเจอภาพประวัติศาสตร์อายุอานามร่วมร้อยปีในเคเอฟซีก่อให้เกิดหลายคำถามตามมาอีกเป็นพรวน คำถามแรกคือภาพเหล่านี้คือภาพใคร? ถ้าให้เดาเปล่าๆ แบบไม่มีคำใบ้เลย รับประกันว่าถึงไปถามผู้รู้ระดับเซียนที่ไหนก็คงไม่ได้คำตอบ เพราะฝรั่งไว้เคราหน้าตาประมาณนี้ในยุคนั้นมีเพียบ โชคยังดีที่พี่เจ้าของเก่าเขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเดิมทีได้ภาพเหล่านี้มาพร้อมแบบแปลนพิมพ์เขียววังลดาวัลย์ วังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ แปลนเหล่านี้เป็นต้นฉบับที่เขียนด้วยมือ และบริเวณมุมขวาล่างมีวันที่ และลายเซ็นของสถาปนิกผู้ออกแบบเขียนเอาไว้ว่า Bangkok 30 March 1904 C. Sandreczki
กับของอีกอย่างที่ได้มาด้วยกันคือรูปถ่ายขาวดำผนึกอยู่บนกระดาษขนาดประมาณฝ่ามือเป็นรูปฝรั่งหน้าตาเหมือนกับบุคคลที่อยู่ในภาพถ่ายระบายสีกำลังนั่งเก๊กท่าอยู่บนเก้าอี้ ใต้รูปมีลายมือภาษาเยอรมันเขียนด้วยปากกา พอเราเปิดแอปฯ กูเกิลทรานสเลต แล้วเอากล้องมือถือไปส่องดูเพื่อให้แปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ใจความประมาณว่า
‘To my dear daughter Carola in memory of Christmas 1926 (Bangkok) C. Sandreczki’
ชัดเป๊ะแบบไม่ต้องสืบ สรุปว่าฝรั่งปริศนาในรูปขาวดำ และภาพระบายสีที่แท้คือนาย ซี. ซันเดรสกี หรือชื่อเต็มๆ คาร์ล ซันเดรสกี (Carl Sundreczki) ซึ่งเคยมอบรูปถ่ายตัวเองใบเล็กๆ ใบนี้ให้เป็นที่ระลึกแก่ลูกสาวชื่อ คาโรล่า ในวันคริสต์มาสที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2469
แล้วซันเดรสกีนี่เป็นใครกัน ไปเซ็นแบบวังสำคัญของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อย่างนั้นได้ยังไง แล้วไฉนถึงมีรูปถ่ายนั่งสบายใจเฉิบอยู่ในเมืองไทย ไม่ต้องแปลกใจ เพราะซันเดรสกีคนนี้แหละคือหนึ่งในสถาปนิกชาวยุโรปที่ถูกว่าจ้างมาโดยรัฐบาลสยามให้ออกแบบก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ ในแบบตะวันตกตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่ประเทศเราต้องดิ้นรนอย่างแรงให้ดูศิวิไลซ์ อยู่ในเลเวลเดียวกันกับเมืองฝรั่ง สาเหตุหนึ่งเพื่อจะได้ไม่กลายเป็นเมืองขึ้นของเหล่าประเทศมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมที่คอยแต่จะหาเหตุผลมายึดครองประเทศที่เขาใส่ความว่ายังเป็นเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน บางกอกในสมัยนั้นจึงมีตึกก่ออิฐฉาบปูนเกิดขึ้นมากมาย ไม่น้อยไปกว่ากัลกัตตา ย่างกุ้ง ปัตตาเวีย หรือสิงคโปร์ ที่เจริญรุดหน้าในแบบตะวันตกเพราะเจ้าอาณานิคมเขาขยันมาสร้างเมืองกัน
ตามที่มีบันทึกไว้ คาร์ล ซันเดรสกี ชาวเยอรมันท่านนี้ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2390 ขณะมารับราชการในดินแดนสยามได้รับตำแหน่งหัวหน้าสถาปนิก สังกัดกระทรวงโยธาธิการ และมีส่วนในการออกแบบควบคุมการก่อสร้างสถานที่สำคัญมากมาย เช่น วังลดาวัลย์ วังบางขุนพรหม พระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งอัมพรสถาน ซันเดรสกีลงหลักปักฐานใช้ชีวิตอยู่อย่างยาวนานในเมืองไทยจนวาระสุดท้ายในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 และถูกฝังไว้ในสุสานโปรแตสแตนท์ บนถนนเจริญกรุง
เมื่อชัวร์แล้วว่าภาพถ่ายฝรั่งระบายสีคือ คาร์ล ซันเดรสกี คำถามต่อไปคือสุภาพสตรีชาวไทยอีก 2 ท่านคือใคร เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้อย่าเพิ่งเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะเราก็ได้ฟังต่อๆ กันมาอีกทีเหมือนกัน คือเคยได้ยินว่าซันเดรสกีนั้นมีภรรยาชาวไทย ซึ่งก็อาจจะเป็นบุคคลที่ไว้ผมทรงดอกกระทุ่มแบบโบราณในภาพหรือไม่ ส่วนอีกท่านที่ดูมีเชื้อสายฝรั่งปนไทยอาจจะเป็นลูกสาวของซันเดรสกีที่ชื่อคาโรล่าหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ จะให้นั่งเทียนฟันธงก็ไม่ใช่เรื่อง
คำถามสำคัญอันดับถัดไปคือใครเป็นศิลปินผู้สร้างภาพถ่ายระบายสีเหล่านี้ขึ้นมา เบาะแสที่มีคือบริเวณมุมขวาล่างของทั้ง 3 ภาพมีลายเซ็นชองศิลปินท่านเดียวกันโชว์หราอยู่ แต่ติดปัญหาที่พยายามอย่างไรก็อ่านไม่ออก ปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะเราเพราะพี่เจ้าของเก่าเขาเล่าว่าเคยค้นคว้าเรื่องลายเซ็นนี้อยู่หลายปีดีดักแต่ก็ยังไม่รู้ซักกะทีว่าเป็นฝีมือของใคร พี่เขาสืบเสาะไปจนกระทั่งพบว่ามีผลงานชิ้นสำคัญอันมีขนาด รูปทรง และลายเซ็นเหมือนกันเป๊ะกับภาพกลุ่มนี้อีก 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่วังเทวะเวสม์ ซึ่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนอีกชิ้นเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งทุกวันนี้ยังแขวนโชว์อยู่ในวังจักรพงษ์ แต่ทั้ง 2 ที่ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันเพราะต่างก็ไม่มีข้อมูลศิลปินบันทึกไว้อยู่ดี
ขนาดเจ้านายชั้นสูงเบอร์นี้ยังเป็นลูกค้า แสดงว่าศิลปินนิรนามท่านนี้คงไม่ใช่ไก่กา รู้แค่นี้ก็พอใจไม่คิดว่าจะได้ข้อมูลอะไรเพิ่ม แต่จู่ๆ แค่ไม่กี่วันหลังจากที่ได้ภาพมา เราก็ได้พบกับเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่พอจะมีความรู้ด้านศิลปะโดยบังเอิญ ไม่รู้ผีผลักหรืออะไรดลใจเราดันเอาภาพระบายสี คาร์ล ซันเดรสกี ที่ถ่ายไว้ในโทรศัพท์มือถือให้เขาดูเล่นๆ แต่ที่ไหนได้ไอ้ที่เล่นๆ ดันเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาเพราะพอตกบ่ายหลังจากร่ำลากันไม่นาน เขาก็ไลน์มาหาพร้อมลิงก์ให้ลองกดเข้าไปดู พอกดปุ๊บมันก็พาเราเด้งเข้าไปในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ เล่าถึงสมบัติชาติรายการหนึ่งซึ่งถูกขึ้นทะเบียนและจัดแสดงไว้ เป็นภาพถ่ายระบายสีของสามีภรรยาชาวเปอรานากัน หรือชาวมลายู-จีน ซึ่งระบุว่าถูกผลิตขึ้นในราวปี พ.ศ. 2453 โดย เซดริค เวิร์ท (Cedric Wirth) เห็นปุ๊บทำเอาเราขนลุกซู่ปั๊บ ทำไมน่ะเหรอคงพอจะเดาออกแหละ เพราะภาพของพิพิธภัณฑ์สิงคโปร์นั้นมีขนาด รูปร่าง และลายเซ็นเหมือนกับภาพทั้ง 3 ของเราไม่มีผิดเพี้ยน
พอสืบต่อก็เลยได้รู้ว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนายเวิร์ทเป็นศิลปินฝรั่งที่เดินทางไปในภูมิภาคต่างๆ แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย เพื่อสร้างสรรค์ภาพเหมือนบุคคลในรูปทรงกึ่งๆ ครึ่งวงกลม นูนเป็นหลังเต่าดูแปลกตา แถมยังลงสีสวยงาม อันถือว่าเป็นผลงานซิกเนเจอร์ของเขาให้แก่บรรดาลูกค้ารุ่นใหญ่ไม่ธรรมดา เป็นการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไว้ให้รุ่นหลังได้เห็นในแบบคัลเลอร์ฟูล ส่วนเราก็ยังคงงงๆ ได้แต่เกาหัวต่อไปเพราะไม่นึกไม่ฝันว่าจู่ๆ จะไปเจอสมบัติล้ำค่าในร้านเคเอฟซี
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ