เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6 

เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6 

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ในอดีตกาลเคยมีนักวิชาการวิจารณ์ว่า ‘พระบรมรูป ร.6 ที่หน้าสวนลุมพินี ดูจะเป็นรูปสุดท้ายที่สร้างขึ้นเพื่อความเหมือนจริงตามรูปถ่าย ไม่ได้แสดงความพยายามที่จะถอดความเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ หรือความสามารถของในหลวง รัชกาลที่ 6 ในฐานะผู้บุกเบิกทางงานด้านวรรณกรรมแต่อย่างไร อนุสาวรีย์แห่งนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่แสนจะโดดเดี่ยว อ้างว้าง แกมทรมาน พระบรมรูปที่ตั้งอยู่บนฐานรูปชะลูดและแคบๆ นั้น’

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ว่านี้สร้างโดย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็นถึงบิดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยแบบแบเบอร์ เพราะฝีไม้ลายมือในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ผนวกกับคุณูปการที่ท่านสรรค์สร้างไว้ จะหาใครมาเทียบเคียงคงเป็นไปได้ยาก อยู่ดีๆพอมีใครมาคอมเมนต์อะไรทำนองนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยคงต้องช่วยเถียงแทนอาจารย์ศิลป์หน่อย เพราะท่านไปสวรรค์ตั้งนานแล้ว จะมานั่งตั้งวงเสวนาแถลงไขให้ใครฟังคงเป็นไปไม่ได้

เหตุผลที่ไม่คล้อยตามกับคำวิจารณ์เรื่องพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ไม่ใช่เพราะเราหลับหูหลับตาตะบี้ตะบันบูชาอาจารย์ศิลป์ในฐานะปูชนียบุคคลจนเห็นผลงานที่แปะชื่อท่านไว้ที่ไหนก็ต้องอวยว่าสวยว่าเลิศไปทั้งหมด แต่เป็นเพราะเราพอจะรู้ความเป็นมาของพระบรมรูปนี้อยู่บ้าง

ก่อนอื่นต้องขอย้อนเวลากลับไปสมัยที่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี พึ่งจะจากบ้านเกิดเมืองนอนในอิตาลีมารับราชการในประเทศไทย ในสมัยนั้นความสามารถของอาจารย์ศิลป์ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในหมู่ข้าราชการไทยว่าฝรั่งที่มาใหม่นี้จะแน่สมคำร่ำลือหรือเปล่า เพื่อเป็นการทดสอบ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง จึงได้ให้อาจารย์ศิลป์ลองปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ดู พอเสร็จแล้วมาตรวจก็ติว่าไม่เหมือน ลังเลจะไม่ยอมรับอาจารย์ศิลป์เข้าทำงาน อาจารย์ศิลป์เองพอรู้ตัวก็เดือดเนื้อร้อนใจเป็นยิ่งนัก ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครในสถานที่ต่างบ้านต่างแดนอย่างเมืองไทย โชคยังดีที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่ในวงการศิลปะไทย ทรงเข้าใจหัวอกศิลปินด้วยกัน โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ศิลป์เข้าเฝ้าเพื่อให้คำปรึกษาปัญหาคาใจ อาจารย์ศิลป์จึงได้กราบทูลถึงสาเหตุที่ไม่สามารถปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ให้เหมือนได้เพราะต้องพึ่งแต่พระบรมฉายาลักษณ์แบนๆ 2 มิติเป็นตัวอย่าง ไม่มีโอกาสศึกษาสัดส่วนจากพระองค์จริง

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนพระพักต์ที่ปั้นจากพระองค์จริง

ครั้นจะไปกราบบังคมทูลขอในหลวง รัชกาลที่ 6 ให้เสด็จฯ มาทรงทดลองเป็นแบบเลยก็ไม่น่าจะเหมาะเพราะไม่รู้ว่าฝรั่งคนนี้เจ๋งจริงหรือเปล่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ จึงทรงประทับเป็นแบบให้อาจารย์ศิลป์ปั้นพระพักตร์ดูก่อน อาจารย์ก็เลยจัดเต็ม ปั้นออกมาได้เหมือนจริงอย่างวิเศษ ทั้งลักษณะทั้งอารมณ์มาหมด สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงพอพระทัยกับผลงานชิ้นนี้มาก ทรงโชว์ให้เหล่าเสนาบดีกระทรวงต่างๆดู ซึ่งทุกท่านที่ได้เห็นต่างก็ทึ่งในฝีมือ ชื่อเสียงของอาจารย์ศิลป์จึงเริ่มเป็นที่เลื่องลือจนไปถึงพระเนตรพระกรรณของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

ไม่นานหลังจากนั้น อาจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงได้มีโอกาสปั้นพระบรมรูปในหลวง รัชกาลที่ 6 ส่วนพระพักตร์ให้เหมือนจริงได้ดั่งใจหวัง เพราะพระองค์ท่านทรงมั่นใจในความสามารถ ถึงกับเสด็จฯ มาประทับให้เป็นแบบให้ด้วยพระองค์เอง ผลงานที่ออกมาจึงเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเยี่ยมของอาจารย์ศิลป์ที่เก็บรายละเอียดได้ครบครัน ทั้งพระเนตรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ พระนลาฎ (หน้าผาก) ที่กว้างแสดงถึงสติปัญญาอันเฉลียวฉลาด พระพักตร์ที่เอี้ยวนิดๆ อมยิ้มหน่อยๆ ซ่อนอารมณ์สุนทรีย์ที่อยู่ภายใต้สีหน้าอันสุขุมนุ่มลึก

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ ปราสาทพระเทพบิดร (กลาง) อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ซ้าย) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ (ขวา) (ภาพจากหนังสือนิทรรศการเชิดชูเกียรติ 100 ปี ศิลป์ พีระศรี)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต อาจารย์ศิลป์ก็ได้รับความไว้วางใจจากราชการให้ปั้นพระบรมรูปของพระองค์ท่านอีกครั้งเพื่อนำไปประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดรร่วมกับบูรพกษัตริย์ พระบรมรูปต้องเป็นแบบเต็มพระองค์ ขนาดเท่าคนจริง ครั้งนั้นอาจารย์ศิลป์ก็เลยใช้พระบรมรูปเฉพาะพระพักตร์ที่เคยปั้นขึ้นมาก่อนหน้านั้นแหละเป็นต้นแบบ

ส่วนพระบรมรูปที่สวนลุมพินีนั้นถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 และแล้วเสร็จในปีถัดไป พระบรมรูปนี้ถูกสร้างให้เป็นเป็นอนุสาวรีย์แรกของรัชกาลที่ 6 และยังเป็นอนุสาวรีย์แรกที่ปั้นหล่อบรอนซ์เสร็จสรรพในประเทศไทยไม่เหมือนกับอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นมาก่อนหน้าที่ต้องส่งต้นแบบไปหล่อในยุโรป สาเหตุที่ทางราชการเลือกประดิษฐานพระบรมรูปอยู่ ณ บริเวณสวนลุมพินีก็เป็นเพราะในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงเคยมีพระราชดำริที่จะจัดงานอีเวนต์อภิมหาสุดยิ่งใหญ่ มีการตั้งชื่อไว้เสร็จสรรพเรียบร้อยว่างาน ‘สยามรัฐพิพิธภัณฑ์’ จุดมุ่งหมายคือเพื่อแสดงสินค้าไทยให้ไปสู่สายตาชาวโลกเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก โดยจะจัดขึ้นในสวนลุมพินีซึ่งเป็นที่ดินส่วนพระองค์ และพระองค์ท่านยังได้ตั้งพระราชหฤทัยอีกว่าเมื่อเสร็จงานนี้แล้วจะพระราชทานสวนแห่งนี้ให้เป็นสวนสาธารณะแก่ประชาชน แต่แล้วรัชกาลที่ 6 ก็เสด็จสวรรคตไปเสียก่อนในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ทำให้งานแสดงสินค้าที่วางแผนจะเปิดในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2469 มีอันต้องม้วนเสื่อยกเลิกไป

การสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ขนาด 2 เท่าครึ่งขององค์จริงเพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานเป็นอนุสาวรีย์ที่สวนลุมพินีนี้ ไม่เห็นมีประติมากรท่านใดเหมาะสมเกินไปกว่า อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เพราะยุคนั้นในเมืองไทยถ้าเป็นเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ท่านเป็นมือวางอันดับ 1 แถมดีไม่ดีน่าจะเป็นศิลปินในประเทศเพียงคนเดียวที่มีประสบการณ์ในการปั้นในหลวง รัชกาลที่ 6 จากพระองค์จริง ทำให้รู้ซึ้งถึงสัดส่วนและอารมณ์ของพระองค์ท่านมากกว่าใคร มิหนำซ้ำงานครั้งนี้ยังเป็นงานปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ครั้งที่ 3 ของอาจารย์ศิลป์ ทำให้ยิ่งคุ้นเคยเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นที่วิจารณ์ว่าประติมากรปั้นเพื่อให้เหมือนจริงได้แค่ตามรูปถ่ายจึงไม่น่าจะใช่

ที่บอกว่าผู้สร้างพระบรมรูปไม่ได้แสดงความพยายามที่จะถอดความเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ หรือความสามารถของรัชกาลที่ 6 ในฐานะผู้บุกเบิกทางงานด้านวรรณกรรมแต่อย่างไร เรื่องนี้เอาเข้าจริงก็ลำบากหน่อยเพราะพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านนั้นแสนจะหลากหลาย มีทั้งเรื่องการทหาร ก่อตั้งเสือป่า การทูต การละคร การดนตรี ถ้าจะสร้างอนุสาวรีย์ที่ถือปากกา ถือหนังสือ เน้นแต่เรื่องพระราชกรณียกิจด้านการประพันธ์เพียงด้านเดียวคงจะเหมาะจะไปประดิษฐานแถวๆ หอสมุดแห่งชาติมากกว่าสวนลุมพินี อนุสาวรีย์แรกของรัชกาลที่ 6 นี้จึงเหมาะที่จะสร้างออกมาให้ดูเป็นกลางๆ

แบบร่าง พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เก็บไว้ในกรมศิลปากร (ภาพจากหนังสือนิทรรศการเชิดชูเกียรติ 100 ปี ศิลป์ พีระศรี)

แต่รู้กันหรือไม่ว่าผลงานที่แล้วเสร็จออกมาจนกลายเป็นอนุสาวรีย์ที่เราเห็นกันในปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกใจอาจารย์ศิลป์ซึ่งเป็นคนปั้นขึ้นมาเองกับมือนักหรอก เรื่องมีอยู่ว่าพออาจารย์ศิลป์ได้รับมอบหมายงานใหญ่นี้มาก็เกิดไอเดียบรรเจิด ตกผลึกปั้นแบบร่างออกมาเป็นพระบรมรูปที่ดูมีชีวิตชีวาในชุดจอมทัพเสือป่า ประทับยืนพักพระบาทข้างหนึ่งดูสบายๆ แต่สง่างาม มีพระมาลาทรงสูงประดับด้วยขนนกหนีบไว้ที่พระหัตถ์ ไม่มีอะไรมาบดบังพระพักตร์เผยให้เห็นพระนลาฎที่กว้าง อันเป็นคาแรกเตอร์สำคัญของพระองค์ท่าน แบบร่างแบบแรกที่ดูเป็นคนละเรื่องกับแบบที่ถูกใช้จริงนี้ถูกเก็บไว้ในกรมศิลปากร จนวันหนึ่ง ประยูร อุลุชาฎะ หรือที่รู้จักกันในวงการนักเขียนว่า น. ณ ปากน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ก้นกุฏิของอาจารย์ศิลป์บังเอิญไปเห็นเข้าเลยเอ่ยปากถามอาจารย์ศิลป์ว่า ‘ท่านอาจารย์ครับ ทำไมถึงไม่ปั้นตามนี้ ผมว่าจะสง่ากว่ารูปจริงซึ่งสวมหมวกดูแล้วเฉยๆชอบกล’ อาจารย์ศิลป์เลยขยับไหล่ สั่นหัวแบบเซ็งๆ แล้วตอบว่า ‘เขาไม่เอาจะให้ฉันทำอย่างไร เขาบอกว่าท่านยืนตากแดดร้อน ถ้าไม่สวมหมวก’ นี่เป็นเพียงหนึ่งในปัญหาเดิมๆ ที่อาจารย์ศิลป์ประสบพบเจออยู่เป็นประจำ อะไรที่ศิลปินเห็นว่าสวยว่าดี มักจะถูกขัดโดยผู้มีอำนาจสั่งการที่ไม่มีความชำนาญในด้านศิลปะ อย่างเคสนี้ถ้าให้เหตุผลเรื่องกลัวท่านจะร้อน ต่อไปนี้อนุสาวรีย์ที่ไหนก็แล้วแต่คงต้องสร้างให้สวมหมวก ถือพัด หรือไม่ก็ต้องเอาสแลนคลุมทุกครั้งไป

“พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่ ณ สวนลุมพินี” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13.5 x 9 เซนติเมตร

ส่วนที่ถูกติติงว่า ‘อนุสาวรีย์แห่งนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่แสนจะโดดเดี่ยว อ้างว้าง แกมทรมาน พระบรมรูปที่ตั้งอยู่บนฐานรูปชะลูดและแคบๆ นั้น’ เรื่องนี้เป็นเรื่องนานาจิตตัง ศิลปะเป็นเรื่องโอเพ่น ใครมาเห็นแล้วจะเกิดความรู้สึกแบบไหนเป็นอะไรที่ห้ามกันไม่ได้ เชิญปะทุฟีลลิ่งกันตามสบาย แต่ติดอยู่นิดเดียวตรงเรื่องฐานรูปชะลูดและแคบนั้นไม่รู้จะคอมเมนต์กันไปทำไม เพราะอนุสาวรีย์ที่ไหนในโลกก็ตั้งอยู่บนฐานสูงๆ ขนาดกว้างยาวลงตัวกันทั้งนั้น คนที่สัญจรผ่านไปมาจะได้เห็นกันชัดๆ

“พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่ ณ สวนลุมพินี” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13.5 x 8.5 เซนติเมตร

มีใครเคยเห็นอนุสาวรีย์เตี้ยๆประเภทที่ต้องนั่งยองๆ ก้มดู หรือแบบที่มีฐานกว้างเท่าสนามฟุตบอลเพื่อรูปปั้นที่ตั้งอยู่มีบริเวณให้ยืดเส้นยืดสายคลายทรมานบ้าง วานช่วยบอกที

Don`t copy text!