รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม

รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ปัจจุบันบรรดานักสะสมศิลปะไทยที่นิยมเก็บผลงานเก่าๆ ฝีมือศิลปินชั้นครู หรือหรือที่เราๆ เรียกว่าแนวโอลด์มาสเตอร์ หลายท่านยังยึดติดอยู่กับผลงานประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะศิลปะแนวสื่อผสม จัดวาง วิดีโอ ดิจิทัล หรือคริปโตอาร์ต ที่เราเห็นจนเป็นเรื่องธรรมดาในปัจจุบันนั้น ศิลปินรุ่นโอลด์มาสเตอร์ในยุคสมัยก่อนเขายังไม่เริ่มที่จะสร้างผลงานในแนวนี้กัน

แต่ก็ยังมีผลงานศิลปะอีกประเภทหนึ่งที่ถูกสร้างสรรค์กันมาตั้งเนิ่นตั้งนานแล้ว แต่ดันหลุดไปอยู่นอกเรดาร์ของนักสะสมศิลปะแนวโอลด์มาสเตอร์ซะงั้น ผลงานที่ว่านี้คือผลงานศิลปะประเภทรูปถ่าย

‘ปาล์มจีบ’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 49.5 x 33 เซนติเมตร ศิลปิน หม่อมเจ้า การวิก จักรพันธุ์

เราเองก็มีความสงสัยอยู่เสมอมาว่าศิลปะรูปถ่ายรุ่นเก่าๆ ของบ้านเรา ไหงไม่ฮิตกันจนมีแฟนคลับมากมายพากันตามหามาสะสมจนยอมจ่ายกันในราคาแพงหูฉี่เหมือนผลงานศิลปะประเภทอื่นๆ หรือแม้กระทั่งถ้าเอาไปเทียบกับรูปถ่ายด้วยกันเองที่เป็นรูปเจ้านาย และพระ จะเห็นว่ารูปถ่ายที่เป็นงานศิลปะยังมีผู้สะสมอยู่ในวงจำกัด และยังมีราคาถูกมาก ที่กล้าบอกว่าถูกเพราะเราเห็นมากับตาว่ามีนักสะสมยอมควักเงินเป็นล้านๆ เพื่อแลกกับพระบรมฉายาลักษณ์หรือรูปถ่ายในหลวง รัชกาลที่ 5 สภาพสวยๆ แถมยังเคยได้ยินมาอีกว่า รูปถ่ายพระเกจิอาจารย์ดังๆ อย่างสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่เก่าแท้ถึงยุคเคยมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันในหลักสิบล้าน

‘ฝาแฝด’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 30 x 38 เซนติเมตร ศิลปิน หม่อมเจ้า การวิก จักรพันธุ์

พอสงสัยหนักเข้าเราเลยไปถามนักสะสมรุ่นเก๋าๆ ที่เขาชอบเก็บโอลด์มาสเตอร์ถึงความเห็นเกี่ยวกับผลงานศิลปะประเภทรูปถ่าย จนได้ข้อคิดเห็นที่หลากหลายพอจะจับใจความและเรียบเรียงได้ว่า

ข้อแรก ยังมีนักสะสมที่งงๆ สงสัยอยู่ว่ารูปถ่ายนับเป็นงานศิลปะหรือเปล่า? ก่อนจะตัดสินว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นศิลปะ งั้นเราลองมาดูซิว่าอะไรคือนิยามของคำว่า ‘ศิลปะ’ กันดีกว่า ถ้าจะสืบสาวย้อนหลังกันไป ไอ้ที่เก่ากึ้กที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้น่าจะเป็นคำกล่าวของ อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ชาวกรีก ที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 2,300 ปีก่อน อริสโตเติลบอกว่า ศิลปะคือการเลียนแบบธรรมชาติ ถ้าจะให้ขยายความ ศิลปะในมุมมองของอริสโตเติลก็เหมือนกระจกเงาที่สะท้อนสิ่งที่มนุษย์เห็น ภาพธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้าอาจจะเป็นได้หมดทั้ง คน สัตว์ สิ่งของ หรือวิวทิวทัศน์ ซึ่งภาพเหล่านี้บางทีก็ก่อให้เกิดความรู้สึกต่างๆ มากระทบจิตใจทั้งในทางบวกและทางลบ กระตุ้นให้มนุษย์อยากจะบันทึกภาพที่เห็นเก็บเอาไว้ในรูปแบบต่างๆ ถ้าว่ากันตามอริสโตเติล การถ่ายรูปก็นับเป็นศิลปะเป๊ะๆ

รูป ‘ดงมะพร้าว หาดเจ้าสำราญ’ ฝีมือ พูน เกษจำรัส (ภาพจาก หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตรจารย์พูน เกษจำรัส)

พอมาเปิดดูดิกชันนารี ที่แปลอังกฤษเป็นอังกฤษ เขาอธิบายคำว่า ‘Art’ หรือ ‘ศิลปะ’ ว่าเป็นการแสดงออกถึงจินตนาการ และความสามารถในทางความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 นิยาม ‘ ศิลปะ’ ว่าคือ ฝีมือทางการช่าง การแสดงซึ่งอารมณ์ สะเทือนใจ ให้ประจักษ์เห็น หรือถ้าใครไปถาม อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย อาจารย์จะบอกว่า ศิลปะคืองานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้ความพยายาม ด้วยมือและความคิด

ทุกนิยามที่ยกมาไม่มีอันไหนจะขัดกับวิธีการ และผลผลิตที่เกิดจากการถ่ายรูปเลยซักกะอย่าง สรุปได้ว่ารูปถ่ายก็เป็นงานศิลปะได้ สาระสำคัญอยู่ที่ว่ารูปถ่ายรูปหนึ่ง จะเป็นงานศิลปะที่ดีหรือแย่ น่านำมาเก็บสะสม หรือน่านำไปปาทิ้งให้ไกลหูไกลตา อันนี้ก็อยู่ที่ไอเดีย ฝีไม้ลายมือของผู้สร้าง และการยอมรับของผู้เสพ

รูป ‘เมื่อพายุโหม’ ฝีมือ จิตต์ จงมั่นคง (ภาพจาก หนังสือ ภาพถ่ายของ จิตต์ จงมั่นคง)

ข้อถัดไป นักสะสมมักจะตื่นเต้นมากกว่ากับสิ่งที่ตัวเองทำเองไม่ได้ หรือคิดไม่ถึง งานประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม จึงได้เปรียบ เพราะการจะสร้างผลงานให้ออกมาดีได้ ศิลปินต้องมีทั้งพรสวรรค์ และผ่านการฝึกฝนมาอย่างเคี่ยวกรำ แตกต่างจากการถ่ายรูปที่ทุกวันนี้การจะถ่ายแต่ละทีนั้นสุดแสนจะง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก ถ้ากล้องถ่ายรูปไม่มีก็แค่คว้ามือถือขึ้นมากดแชะเป็นอันเสร็จเรื่อง สะดวกสบายจนมนุษย์หน้าไหนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่หรือแม้แต่ลิงถ้าฝึกดีๆ ก็ทำได้

ก็จริงอยู่ที่ใครจะถ่ายรูปก็ถ่ายได้ แต่ถ้าจะถ่ายให้ดีจนมีคนแห่แหนมาชื่นชมอันนี้ไม่ง่าย นักถ่ายรูปที่เก่งๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับจิตรกรและประติมากร ที่ต้องสั่งสมประสบการณ์มามากมาย อุปกรณ์ และเทคนิคที่ใช้ก็ไม่ใช่ย่อยๆ มีรายละเอียดยุบยิบซับซ้อนตั้งแต่ตอนเตรียมงาน ตอนถ่าย ยันกระบวนการล้างอัดรูป เพราะฉะนั้น ศิลปะรูปถ่ายชิ้นดีๆ นั้นคุ้มค่าน่าสะสมไม่แพ้ผลงานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ เลย

‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการแสดง ภาพถ่ายทั่วประเทศ พ.ศ.2511’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 9 x 13.5 เซนติเมตร

อีกข้อที่นักสะสมศิลปะมักเป็นห่วงคือรูปถ่ายเมื่อถ่ายเสร็จแล้วสามารถล้างอัดออกมาเป็นจำนวนมากมายแค่ไหนก็ได้ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับผลงานประติมากรรม และภาพพิมพ์ ที่ถ้ามีแม่พิมพ์อยู่จะปั๊มออกมากี่ชิ้นก็ได้เหมือนกันนั่นแหละ ประเด็นนี้ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ตราบใดที่ศิลปินมีการควบคุมจำนวนและเอดิชั่นให้ดีไม่ผลิตออกมามั่วซั่ว ยิ่งถ้าเป็นศิลปะรูปถ่ายยุคเก่าๆ รุ่นโอลด์มาสเตอร์ ศิลปินมักจะล้างอัดออกมาไม่มาก แค่เอาไว้โชว์ในงานแสดงกับเก็บไว้ดูเอง แถมยังมีบ่อยครั้งที่ศิลปินผลิตออกมาแค่รูปเดียวแล้วเซ็นชื่อกำกับตรงมุมเหมือนกับภาพวาด เก็บรูปยุคครูบาอาจารย์นี้นักสะสมเลยสบายใจได้ไม่ต้องกลัวโหล

ข้อคิดข้อสุดท้ายที่ได้ฟังคอมเมนต์มาคือนักสะสมยังไม่ค่อยรู้จักชื่อศิลปินนักถ่ายรูประดับโอลด์มาสเตอร์ของไทยว่ามีใครบ้าง เพราะข้อมูลนั้นหายากมากและมีอยู่น้อยนิด มิหนำซ้ำต่อให้รู้จักชื่อแล้วถ้าอยากจะเห็นผลงานของท่านๆ เหล่านั้นจริงๆ ก็ไม่รู้จะไปดูที่ไหน เพราะไม่มีจัดแสดงอยู่ตามหอศิลป์ที่ไหนซักกะแห่ง เราก็ไม่รู้จะช่วยยังไงดีเพราะเดิมทีก็มีปัญหาอีหรอบนี้เหมือนกัน จนต้องไปดั้นด้นถามผู้รู้ และพลิกแผ่นดินตามหาดูหาอ่านจากหนังสือเก่าๆ ดูไปดูมาจนรู้ตัวว่าเราชอบรูปถ่ายศิลปะของศิลปินไทยหลายๆ ท่าน เช่น หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ศิลปินสีน้ำระดับประเทศ ผู้ซึ่งเก่งเรื่องการถ่ายรูปไม่แพ้กัน หม่อมเจ้าการวิกได้รับพระราชทานกล้องถ่ายรูปมาจากในหลวง รัชกาลที่ 7 ตั้งแต่อายุแค่ 15 ท่านมีฝีมือและสร้างคุณูปการเป็นที่ยอมรับจนได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยหลายสมัย หม่อมเจ้าการวิกมีสไตล์การถ่ายรูปที่เน้นการซูมใกล้ๆ ไม่เน้นบรรยากาศโดยรอบแต่เน้นอารมณ์ และรายละเอียดของผู้คน หรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ออกมาชัดเจนมีชีวิตชีวาที่สุด

‘พูน เกษจำรัส ทูลเกล้าถวายคำบรรยายและนำชมแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการแสดง ภาพถ่ายทั่วประเทศ พ.ศ.2511’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 9 x 13.5 เซนติเมตร

พูน เกษจำรัส ท่านนี้เราชอบมากๆ พูนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรคนแรก เพราะเข้าเรียนรุ่น 1 เลขประจำตัว 1 ท่านได้เรียนศิลปะโดยตรงกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี จนมีความสามารถด้านการวาดและปั้นอย่างยอดเยี่ยม แต่หลังจากเรียนจบท่านหันมาเอาดีทางถ่ายรูปจนได้เป็นศิลปินแห่งชาติในด้านนี้ ผลงานของพูนที่ประทับใจเรามากคือภาพที่ท่านถ่ายกระท่อมและต้นไม้ในชนบทด้วยกล้องอินฟราเรดที่ทำให้ดูเหนือจริง แถมคนดูอย่างเรายังรับรู้ได้ถึงไอร้อนของเปลวแดด ทั้งๆ ที่รูปก็เป็นแค่ขาวดำไม่ได้มีสีที่แสดงถึงความร้อนใดๆ

จิตต์ จงมั่นคง ท่านนี้ก็เจ๋ง ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ด้านการถ่ายรูปเหมือนพูน จิตต์เปิดสตูดิโอรับถ่าย และล้างอัดรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงไว้วางพระราชหฤทัยส่งฟิล์มรูปที่พระองค์ทรงถ่ายมาล้างอัดกับสตูดิโอของจิตต์อยู่ตลอด นอกเหนือจากการทำธุรกิจด้านการถ่าย รูปจิตต์ยังถ่ายรูปศิลปะได้ดีจนได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย เอกลักษณ์ของท่านคือรูปที่มีคอมโพซิชันและแสงที่งดงาม บรรยากาศรวมๆ ดูนัวๆ ดึงคนดูให้เคลิ้มไปกับภาพเหมือนล่องลอยอยู่ในความฝัน

‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการแสดง ภาพถ่ายทั่วประเทศ พ.ศ.2511’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 9 x 13.5 เซนติเมตร

อีกท่านที่เราชอบไม่แพ้ใครคือ อวบ สาณะเสน ท่านนี้เป็นจิตรกรที่โด่งดังอยู่แล้ว เหล่านักสะสมศิลปะแนวโอลด์มาสเตอร์ต่างคุ้นเคยกับผลงานภาพวาดของท่านดี แต่มักไม่รู้ว่าอวบก็เป็นนักถ่ายรูปมือฉมังเช่นกัน ผลงานชุดดังที่หลายท่านคงเคยเห็นแต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนถ่ายคือชุดที่อวบถ่าย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในอิริยาบถต่างๆ รูปเหล่านี้ยังคงถูกเอามาใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะสามารถแสดงถึงตัวตนและอารมณ์ของอาจารย์ศิลป์ได้อย่างดีเยี่ยมจนไม่มีรูปถ่ายชุดไหนจะมาเปรียบเทียบได้

บอกใบ้ให้ลายแทงกันไปแล้ว แนะว่าตอนนี้ราคายังไม่แรง ถ้าเจอรูปดีๆ ที่ไหนก็รีบๆ คว้ามาเก็บกันไว้ก่อนล่ะ อย่าประมาทนักสะสมศิลปะนะเพราะวงการนี้ไม่มีเพดาน วันข้างหน้าถ้ารูปถ่ายศิลปะเกิดฮิตขึ้นมา เจอนักสะสมบ้าเลือดสู้ราคา รูปพระรูปเจ้าจะกลายเป็นถูกไปเลย แล้วอย่าหาว่าไม่เตือน

Don`t copy text!