คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ

คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์


หากใครได้ดูสูจิบัตร หนังสือ หรือ รูปถ่ายเก่าๆ จากงานแสดงศิลปกรรมเมื่อสมัย 60-70 ปีก่อน ก็จะเห็นรูปผลงานประติมากรรมยุคบุกเบิกโมเดิร์นอาร์ตของไทยที่ดูสวยงามแปลกตาถูกสร้างสรรค์มาโชว์อยู่มากมาย เลยนึกสงสัยว่าทุกวันนี้รูปปั้นพวกนี้ส่วนใหญ่มันหายไปไหนหมด ทำไมเราถึงเคยเห็นแต่ในรูปถ่าย

สืบเสาะต่อไปถึงได้รู้ว่าสาเหตุที่ไม่มีชิ้นของจริงให้ดูแล้วเพราะผลงานเหล่านี้บ้างก็ถูกทำลาย บ้างก็แตกหักย่อยสลาย บ้างก็ถูกทิ้งไว้จนหายสาบสูญไปก็มี เลยเกิดความฉงนต่อว่าเหตุไฉนผลงานประติมากรรมซึ่งหลายๆ ชิ้นเป็นถึงผลงานสำคัญฝีมือศิลปินไทยเบอร์ต้นๆ ที่ได้รับรางวัลจากงานฉลองรัฐธรรมนูญ, การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ, หรืองานใหญ่ๆ ระดับประเทศอื่นๆ ถึงไม่ได้รับการเก็บรักษาปล่อยให้พังทลาย หรือหายจ้อยไปอย่างงี้ได้

พอค้นไปค้นมา รวมถึงได้ไปไถ่ถามคนที่เกิดทัน ถึงเข้าใจว่าทำไมมันถึงออกมาเป็นอีหรอบนี้ สาเหตุหลักๆ ประการแรกเป็นเพราะในอดีตผลงานประติมากรรมที่นำมาจัดแสดงแทบทั้งหมดเมื่อศิลปินปั้นขึ้นมาจากดินจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็มักจะทำพิมพ์และหล่อขึ้นมาด้วยปูนปลาสเตอร์ เสร็จแล้วก็ขนไปโชว์เลย น้อยครั้งหรือแทบจะไม่เคยที่จะหล่อด้วยโลหะอย่างบรอนซ์ที่มีราคาแพงเพราะศิลปินไม่มีตังค์ รูปปั้นที่เห็นโชว์กันอยู่ในงานสมัยก่อนบางทีก็มีสีเข้มๆ ดูวาวๆ เหมือนบรอนซ์ ใครมาเห็นก็ต้องคิดว่าหล่อขึ้นมาจากโลหะทั้งนั้น แต่แท้ที่จริงแล้วก็ทำจากปูนปลาสเตอร์กันทั้งนั้นแหละ แต่ที่ไม่ขาวจั๊วะเหมือนปูน ก็เพราะศิลปินเอาสีมาทาผิวให้ดูหลอกตาเหมือนว่าเป็นของหรูหราหล่อมาจากบรอนซ์ ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าปูนปลาสเตอร์นั้นถึงจะแข็งแต่ก็เปราะ โดนอะไรกระแทกก็กะเทาะแตกหักเสียหายง่าย เทียบไม่ได้เลยกับโลหะที่แข็งโป๊กและทนทายาดกว่ามาก ด้วยเหตุนี้ผลงานหล่อปูนจากยุคเก่าก่อนจึงค่อยๆ ทยอยพินาศเละตุ้มเป๊ะไปตามกาลเวลา

สาเหตุประการที่ 2 คือความไม่ใส่ใจ เพราะถึงปูนปลาสเตอร์จะพังง่าย แต่ถ้าประคบประหงมดูแลกันดีๆ ก็สามารถอยู่ยงคงกระพัน มีอายุยาวนานได้ไม่แพ้วัสดุอื่นๆ แต่สมัยก่อนผลงานประติมากรรมจำพวกนี้หากเสร็จสิ้นจากงานโชว์แล้วก็มักไม่ได้รับการเหลียวแล ถึงจะรักจะชอบยังไงแต่เหตุด้วยชิ้นอาจจะใหญ่มีน้ำหนักมากศิลปินขนกลับบ้านไม่ไหว ไม่มีที่เก็บ จึงถูกฝากไว้ที่มหาลัย หรือโรงหล่อ พอนานวันไปก็ลืมไม่มีใครมาเอาคืน กลายเป็นวัตถุเกะกะปราศจากเจ้าของ รอวันโดนกำจัดทำลาย

และสาเหตุที่ 3 ที่ผลงานศิลปินระดับท็อปคลาสของชาติถูกทิ้งถูกขว้าง ก็เพราะของเหล่านี้เดิมทีไม่ได้มีราคาอะไร ยิ่งเป็นปูนปลาสเตอร์ยิ่งถูกด้อยค่าเข้าไปใหญ่ ในเมืองไทยนั้นผลงานศิลปะทั้งรูปปั้น ภาพวาด ภาพพิมพ์ และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย เดิมทีไม่ได้มีค่างวดอะไรมากมาย โดยเฉพาะในสมัย 60-70 ปีก่อน คนไทยจำนวนน้อยนักที่จะสนใจเก็บสะสมของอะไรพรรค์นี้ ศิลปินหากอยากจะขายงานก็ต้องหวังพึ่งลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งลูกค้าผมทองตาฟ้าเหล่านี้ก็มักจะเลือกซื้อภาพวาดที่มีน้ำหนักเบาขนกลับประเทศบ้านเกิดง่ายๆ ก่อน ประติมากรรมชนะการประกวดประเภทที่ตัวใหญ่พอๆ กับคนนั้นไอไม่บายฟอร์ชัวร์

‘ธารทอง โดย แสวง สงฆ์มั่งมี’ พ.ศ. 2494
เทคนิค ภาพถ่าย
ขนาด 6 x 6 เซนติเมตร

พอของไม่ได้มีมูลค่าศิลปินเองก็ไม่ได้หวง ยกตัวอย่างเช่นผลงานประติมากรรมชื่อ ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ ฝีมือ เขียน ยิ้มศิริ ที่เป็นรูปชายหนุ่มเอี้ยวตัวเป่าขลุ่ย ผลงานชิ้นนี้น่าจะเป็นผลงานประติมากรรมรูปแบบสมัยใหม่ที่โด่งดังที่สุดของไทย การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 ซึ่งของแบบนี้ถ้าเป็นปัจจุบันที่มีนักสะสมศิลปะยินดีต่อคิวควักเงินจ่ายมากมาย ศิลปินต้องคิดแล้วล่ะว่าจะต้องหล่อขึ้นมาเพิ่มกี่ชิ้น ด้วยวัสดุกี่แบบ มีสีอะไรบ้าง จะทำขนาดใหญ่พิเศษสำหรับลูกค้ากระเป๋าหนัก หรือขนาดย่อที่ขายในราคาย่อมเยาด้วยหรือไม่ ตระเวนโชว์ที่ไหน เลือกลิสต์วีไอพียังไง จัดลอนช์ปาร์ตี้หรือเปล่า โซลด์เอาต์แล้วทำการตลาดต่อแบบไหน วางแผนอะไรต่อมิอะไรต่ออีกร้อยแปด คนละเรื่องเลยกับสมัยเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อนที่พอมีคนรู้จักไม่กี่คนสนใจอยากจะมีรูปปั้นเสียงขลุ่ยทิพย์เก็บไว้ เขียน ยิ้มศิริ ก็หล่อขึ้นมาโดยไม่ได้ระบุจำนวนเอดิชั่น ไม่เซ็นชื่อบนผลงาน ไม่เคยออกใบเซอร์รับรอง พอวันเวลาเนิ่นนานผ่านไป เมื่อศิลปินไม่อยู่ให้ถามแล้ว เลยยากมากที่จะสืบรู้ให้ได้ว่าตอนที่ศิลปินมีชีวิตเคยผลิตขึ้นมาเป๊ะๆ กี่ชิ้น แล้วตกไปอยู่กับใครที่ไหนบ้าง

ที่ผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป อะไรที่กลับไปแก้ไขไม่ได้ก็คงต้องปล่อยๆ ไว้ แล้ววันนี้เราจะทำอะไรกับผลงานประตืมากรรมระดับโอลด์มาสเตอร์ของไทยที่พอจะหลงเหลืออยู่ได้บ้าง จะถือวิสาสะถอดพิมพ์หล่อใหม่มาเก็บสะสมชื่นชมได้ไหม เพื่อตอบคำถาม จะขอเล่าว่าเมืองนอกเขามีการจัดการกับผลงานของประติมากรชื่อดังระดับโลกที่ลาโลกไปแล้วอย่างไร เผื่อจะเอามาประยุกต์ใช้ในบ้านเรา

หนึ่งในศิลปินนักสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมที่โด่งดังที่สุดในปฐพี นั้นมีนามว่า โอกุสต์ รอแด็ง (Auguste Rodin) ผลงานของโรแด็งที่คุ้นตาสาธารณชนที่สุดเห็นจะเป็นรูปปั้นที่ชื่อว่า ‘The Thinker’ รูปชายหนุ่มหุ่นล่ำนั่งเท้าคางทำหน้าครุ่นคิด ก่อนรอแด็งจะถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2460 เขาได้ทำพินัยกรรมมอบผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ รวมถึงแม่พิมพ์ราว 7,000 ชิ้นให้กับพิพิธภัณฑ์รอแด็ง (Musée Rodin) ในกรุงปารีส ไม่เพียงแค่นั้นรอแด็งยังมองการณ์ไกลกลัวว่าพิพิธภัณฑ์จะหาเงินจากค่าตั๋วเอามาบริหารได้ไม่พอ เลยมอบลิขสิทธิ์การผลิตผลงานให้อีกแบบละ 12 เอดิชั่น เพื่อพิพิธภัณฑ์จะได้หล่อขายสร้างรายได้อีกทาง คณะผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ก็เลยจัดให้ตามประสงค์ ชิ้นที่ดังๆ อย่าง ‘The Thinker’ จึงถูกขายเกลี้ยงทั้ง 12 ชิ้นไปตั้งนานแล้ว ทำเพิ่มขึ้นมาใหม่ไม่ได้ ถ้าสนใจอยากชวนมานั่งเท้าคางกลางสนามหญ้าหน้าบ้านก็ต้องไปจีบเจ้าของทั้ง 12 เอาเอง ซึ่งรับประกันว่าราคาก็คงต้องแพงทะลุจักรวาล เพราะอุปสงค์เป็นล้านแต่อุปทานมีแค่โหลเดียว ยิ่งช่วงไวรัสโควิดระบาดรัฐบาลฝรั่งเศสปิดประเทศ พิพิธภัณฑ์น้อยใหญ่ต่างขาดรายได้จากผู้เข้าชม แต่พิพิธภัณฑ์รอแด็งยังมีตัวช่วย เพราะสามารถผลิตประติมากรรมแบบที่ยังเหลือโควตาออกมาขายสร้างรายได้เพิ่มเติมได้ปีละเป็นหลักร้อยล้านบาท

‘พระแม่ธรณี โดย แสวง สงฆ์มั่งมี’ พ.ศ. 2496
เทคนิค ภาพถ่าย
ขนาด 6 x 6 เซนติเมตร

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจของการจัดการผลงาน แต่ต่างกันตรงที่เคสนี้ตัวศิลปินเองไม่ได้รู้เห็นด้วย คือเรื่องผลงานประติมากรรมฝีมือ แอดการ์ เดอกา (Edgar Degas) จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงก้องโลกจากภาพวาดแนวสัจนิยม สมจริงไม่เสแสร้ง เดอกาชอบวาดภาพบรรยากาศเรียลๆ ดิบๆ ของสนามม้า และโรงละครบัลเลต์ ที่ตนเองมักไปสิงสถิต นอกจากจะวาดเก่งขั้นเทพเดอกายังมีความสามารถด้านการปั้น แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่ทั้งชีวิตเคยเอาผลงานประติมากรรมไปโชว์แค่ชิ้นเดียวครั้งเดียวในงานแสดง ณ กรุงปารีส ในปี พ.ศ. 2424 ผลงานชิ้นนี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘Little Fourteen-Year-Old Dancer’ เป็นรูปสาวน้อยนักเต้นบัลเลต์ขนาดเท่ามนุษย์ ที่ผลิตจากขี้ผึ้งและสวมใส่เสื้อผ้าจริงๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเดอกาเขินอะไรทำไมไม่เอามาโชว์บ่อยๆ เหมือนผลงานภาพวาดที่เดอกาจัดแสดงเป็นประจำ คราวนี้พอเดอกาเสียชีวิตลงไนปี พ.ศ. 2460 ปีเดียวกันเป๊ะกับการจากไปของรอแด็ง ทายาทเดอกาก็พบว่าในสตูดิโอที่ทำงานมีรูปปั้นทำจากขี้ผึ้งที่เดอกาสร้างไว้แล้วไม่ได้โชว์อีกถึง 72 แบบ ผลงานเหล่านี้มีทั้งรูปคน รูปสัตว์ ในอิริยาบถต่างๆ บ้างก็สมบูรณ์ดีบ้างก็แตกหักเสียหายเพราะวัสดุที่ใช้ไม่คงทนแข็งแรง จะปล่อยไว้ก็เสียดาย ทายาทก็เลยดำเนินการสั่งการถอดพิมพ์และหล่อขึ้นมาใหม่เป็นบรอนซ์แบบละ 20 เอดิชั่น บวก 1 ชิ้นสำหรับทายาทเอง และอีก 1 ชิ้นสำหรับโรงหล่อ แต่ละชิ้นที่หล่อใหม่ขึ้นมามีประทับตราสัญลักษณ์การันตีจากทายาท และรหัสเอดิชั่นที่แตกต่างกันระบุไว้อย่างชัดเจน ปรากฏว่าขายดี มีพิพิธภัณฑ์และนักสะสมทยอยซื้อไปจนหมด ถึงขนาดตอนหลังยังเอาต้นฉบับที่เป็นขี้ผึ้งซึ่งปั้นด้วยมือเดอกาเองออกมาขายด้วยให้รูแล้วรู้รอด และราคาที่ซื้อๆ ขายๆ เปลี่ยนมือกันก็ไม่ใช่ถูกๆ อย่างล่าสุดในปี พ.ศ. 2565 หนึ่งในประติมากรรม ‘Little Fourteen-Year-Old Dancer’ ที่หล่อด้วยบรอนซ์หลังจากที่เดอกาลาโลกไปแล้วมีผู้ประมูลซื้อไปในราคา 41.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แปลเป็นเงินไทยก็แค่พันกว่าล้านบาทเองจิ๊บๆ

ขายดีราคาโดน มีผู้หมายปองยอมควักตังค์จ่ายมากมายขนาดนี้ นั่นหมายความว่าวงการศิลปะ พิพิธภัณฑ์ และนักสะสม ให้การยอมรับว่าผลงานประติมากรรมถึงแม้จะสร้างขึ้นมาใหม่จากต้นฉบับเดิมนั้นถือเป็นผลงานศิลปะของแท้ไม่ต่างจากชิ้นที่ศิลปินสร้างขึ้นมาเองกับมือ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วตัวศิลปินเองไม่ได้รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยเลยเพราะกลายเป็นวิญญาณไปนอนชิลอยู่บนสวรรค์วิมานตั้งนานแล้ว

เอาล่ะเข้าใจตรงกันละนะ ว่าผลงานประติมากรรมโอลด์มาสเตอร์ของศิลปินผู้ล่วงลับนั้นสามารถทำซ้ำขึ้นมาใหม่ได้ แต่ผู้ที่จะทำแบบนี้ได้โดยไม่มีใครมาครหาก็มีเพียงทายาท หรือผู้ครอบครองลิขสิทธิ์เท่านั้น คนอื่นๆ ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ต่อให้ถอดแบบออกมาเหมือนเป๊ะแค่ไหน จะแอบอ้างสตอรีที่ลึกล้ำยังไง ก็เป็นได้แค่ของเก๊เลียนแบบอยู่ดี

แต่พอรู้อย่างนี้แล้ว ทายาทหรือผู้มีสิทธิ์ก็อย่าเพิ่งกระหยิ่มยิ้มย่องจนชะล่าใจ เกิดอยากจะผลิตก็ผลิตขึ้นมาโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ลองดูตัวอย่างของเมืองนอกก็ได้ ผลงานที่มีราคานั้นจำเป็นต้องมีเอดิชั่นชัดเจน บอกให้ชัดว่าจะทำจำนวนกี่ชิ้น ทำไม่ต้องมาก และหากขายหมดแล้วต้องหมดเลย ห้ามผลิตขึ้นมาใหม่อีก ใครอุตริมาก๊อบปี้ก็ต้องจัดการให้สิ้นซากอย่าปล่อยให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะการเห็นผลงานประติมากรรมอันล้ำค่าจากยุคบุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ของไทย คงเหลือไว้แต่เพียงในรูปถ่ายนั้นเราว่าน่าเศร้าอยู่แล้ว แต่ถ้าเห็นผลงานเหล่านี้ถูกปู้ยี่ปู้ยำถอดแบบปั๊มออกมาโดยขาดการควบคุม เพิ่มเอดิชั่นกันแบบไม่จบไม่สิ้น แถมยังมีของจริงบ้าง เก๊บ้าง จนในที่สุดของล้ำค่าดันกลับกลายเป็นของแสลงไม่มีราคา อย่างนี้เราว่าน่าเศร้ากว่าเป็นไหนๆ

 

Don`t copy text!