บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล

บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

‘บางกะปิแกลเลอรี’ แกลเลอรีซื้อขายผลงานศิลปะสมัยใหม่ในตำนาน ที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะยกให้เป็นแกลเลอรีที่ทำเป็นธุรกิจจริงจังแห่งแรกของเมืองไทย เมื่อไหร่หากมีโอกาสคุยกับคนเก่าคนแก่ในวงการศิลปะ เรามักได้ยินชื่อบางกะปิแกลเลอรีอยู่บ่อยครั้ง และพอสืบไปสืบมาก็ยังพบอีกว่าผลงานระดับโอลด์มาสเตอร์อายุรุ่นยายหลายต่อหลายชิ้นที่เรากอดเก็บไว้อย่างหวงนักหวงหนาก็ล้วนมีที่มาจากสถานที่แห่งนี้ อ๊ะ หรือนั่นหมายความว่าเราเป็นลูกค้าตัวยงของบางกะปิแกลเลอรีอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว แต่เอ๊ะ ไม่ใช่สิในเมื่อแกลเลอรีแห่งนี้ปิดตัวมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และงานศิลปะที่ได้มาต่างก็ผ่านมือนักสะสมรุ่นเก๋าท่านอื่นๆ มาก่อนอีกหลายทอดกว่าจะมาถึงมือเรา ถ้าจะเรียกให้ถูกเราน่าจะเป็น หลานค้า หรือ เหลนค้า ของบางกะปิแกลเลอรีซะมากกว่า

ด้วยความสัมพันธ์อันบังเอิญแบบห่างๆ จากต่างห้วงเวลา ทำให้เรายิ่งอยากรู้เรื่องราวของบางกะปิแกลเลอรีให้ลึกซึ้งทะลุปรุโปร่งกว่าเดิม เลยตัดสินใจไปเที่ยวเจ๊าะแจ๊ะถามผู้อาวุโสในวงการไม่กี่ท่านที่เกิดทัน กับหาอ่านตามหนังสือเก่าๆ เท่าที่เจอ จนปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า

เมื่อ 60 กว่าปีก่อน ณ สามแยกอโศก (สมัยนั้นยังเรียกว่าสามแยกเพราะถนนที่ตัดมาทางศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ยังไม่มี) ตรงปากซอยอโศกฝั่งถนนสุขุมวิทมีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งปลูกเป็นบ้าน และอาคารให้เช่า โดยแลนด์ลอร์ดคือ พลตำรวจตรี หลวงสนิทตุลยารักษ์ (สนิท ตุลยายน) ซึ่งมีลูกชายเป็นร้อยตำรวจเอกนามว่า สุวิทย์ ตุลยายน สุวิทย์เข้าเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย หลังจากนั้นได้มีโอกาสไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจที่ประเทศออสเตรเลียและอเมริกา ถึง 8 ปี สมัยวัยรุ่นเมื่อมีเวลาว่างก็จะลงคลาสเรียนดนตรี วาดภาพ รวมถึงไปเดินแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ จนทำให้สุวิทย์ถูกปลูกฝังความรักศิลปะทีละนิดทีละน้อยไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

เมื่อสุวิทย์สำเร็จการศึกษากลับมาเมืองไทย ได้ดำเนินตามรอยบิดาโดยเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ส่วนไอเดียการเปิดแกลเลอรีนั้นเริ่มจากที่สุวิทย์ได้รู้จักกับศิลปิน 2 ท่านคือ ดำรง วงศ์อุปราชและ ประพันธ์ ศรีสุตา ณ ช่วงเวลานั้นดำรงนักศึกษาหนุ่มจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร เพิ่งได้รับทุนไปเรียนต่อที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และก่อนจะออกเดินทางไกลก็อยากจะโชว์ผลงานทิ้งทวนที่กรุงเทพฯเสียก่อน เลยกำลังมองหาสถานที่จัดแสดง ประจวบเหมาะว่าบริเวณบ้านสุวิทย์นั้นกว้างขวาง อาคารส่วนหนึ่งซึ่งเคยปล่อยเช่าเป็นร้านทำผมก็เพิ่งหมดสัญญาพอดี แถมยังมีพื้นที่เหลือบริเวณโรงครัว และตึกที่พักคนงาน สุวิทย์ซึ่งสนิทกับดำรงจึงไปบอกหลวงสนิทฯ ผู้เป็นพ่อขอนำพื้นที่ส่วนนี้มาดัดแปลงเป็นแกลเลอรี และหลวงสนิทเองนั้นก็เป็นจิตรกรสมัครเล่นชอบวาดภาพอยู่แล้วด้วย เลยเห็นดีเห็นงามตามความคิดลูกแถมยังเป็นโต้โผชวนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาออกแบบตกแต่งภายนอกอาคารในสไตล์กระท่อมไม้ซุงที่เรียกว่า Log cabin และให้ดำรงกับประพันธ์ช่วยกันออกแบบภายใน

บางกะปิแกลเลอรี (ภาพจากหนังสือ ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย มองผ่านความเคลื่อนไหวของหอศิลป์เอกชนและการซื้อขายงานศิลปะในกรุงเทพมหานคร ทศวรรษ 2500 ถึง ทศวรรษ 2530)

ส่วนชื่อ ‘บางกะปิแกลเลอรี’ นั้นมีที่มาง่ายๆ คือเอามาจากชื่ออำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร ที่ตั้งของสถานที่แห่งนี้ในสมัยนั้น เมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดทำการในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 สุวิทย์รับอาสาเป็นผู้บริหารแกลเลอรีเอง โดยได้ ‘กลุ่มมักกะสัน’ ที่ก่อตั้งโดย ดำรง วงศ์อุปราช และเพื่อนๆ จากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาช่วยเรื่องคอนเนกชันเชื้อเชิญศิลปินมาแสดงงานโชว์แรกของบางกะปิแกลเลอรีก็หนีไม่พ้นงานแสดงผลงานจิตรกรรมของ ดำรง วงศ์อุปราช ต่อด้วยงานแสดงผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ของ ประพันธ์ ศรีสุตา หลังจากนั้นก็มีศิลปินมากหน้าหลายตาสลับสับเปลี่ยนกันมาแบบถี่ๆ ผลัดกันโชว์ฝีมือจนหัวบันไดไม่แห้ง งานแสดงเด่นๆ เช่น วันแมนโชว์ ของ ถวัลย์ ดัชนี ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นประธาน, งานแสดงเดี่ยวของ ประหยัด พงษ์ดำ, สวัสดิ์ ตันติสุข แถมยังโกอินเตอร์มีศิลปินจากอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย เลบานอน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม อังกฤษ สกอตแลนด์ เยอรมนี แห่กันมาร่วมแจมด้วย

บางกะปิแกลเลอรีเปิดกว้างมากๆ สำหรับศิลปินที่มาแสดงงาน ขนาดนักศึกษาที่ยังไม่มีใครรู้จักเลยก็สามารถจองช่วงเวลามาแสดงงานที่นี่ได้ จนหลายครั้งถูกวิจารณ์ว่าไม่คัดเลือกศิลปินให้ดี สำหรับเรื่องนี้สุวิทย์มีแนวความคิดว่า บางกะปิแกลเลอรีไม่ควรจัดแสดงเฉพาะแต่ผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่างเดียว แต่ควรเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานมีพื้นที่จัดแสดงด้วย ไม่เช่นนั้นบุคคลเหล่านี้ก็จะไม่มีหนทางได้แจ้งเกิดในวงการศิลปะ และอุดมการณของสุวิทย์ในการเปิดแกลเลอรีก็ไม่ใช่ทำเพื่อผลกำไร จะเอาแต่งานขายดีมาโชว์เป็นหลัก แต่อยากจะให้คนมาแสดงงานและมาดูเยอะๆ เป็นการขับเคลื่อนวงการศิลปะให้เติบใหญ่ไปในภายภาคหน้า

‘ผลงานของ ดำรง วงศ์อุปราช’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 9 เซนติเมตร

ช่วงเปิดใหม่ๆ บางกะปิแกลเลอรีสลับสับเปลี่ยนนิทรรศการทุกๆ 1 เดือน แต่พอมาภายหลังคิวชักยาว เลยกลายเป็นมีโชว์ใหม่ทุกๆ 15 วัน และพอฮิตจัดขึ้นไปอีกก็กลายเป็นทุกๆ 10 วันในที่สุด พูดง่ายๆ คือภายในเวลาไม่กี่ปีบางกะปิแกลเลอรีจัดงานอาร์ตโชว์ไปแล้วเป็นร้อยๆ งาน ในสมัยนั้นบางกะปิแกลเลอรีจึงมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานในแวดวงศิลปะ และตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอๆ แต่ถึงดังเป็นพลุแตกแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้สุวิทย์ร่ำรวยจากยอด 20% ที่ได้เป็นค่านายหน้าจากการขายงานศิลปะ เพราะบางกะปิแกลเลอรีไม่ได้โชว์แต่งานศิลปินมีชื่อที่ขายง่าย อีกทั้งสมัยนั้นผลงานศิลปะต่างก็ไม่ได้มีราคาเท่าไหร่ แถมคนซื้อก็มีไม่มาก แทบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยกันในละแวกนั้น คนไทยเรายังไม่ค่อยจะสนใจซื้อหาสะสมงานศิลปะกัน ที่หลงมาดูก็มักเป็นคนที่เดินเตร็ดเตร่หาอะไรทำฆ่าเวลาระหว่างที่รอดูภาพยนตร์ที่โรงหนังศรีกรุงซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ซะส่วนใหญ่

เหมือนอะไรๆ กำลังจะจูนเข้าหาจุดที่ลงตัว แต่จู่ๆ อยู่ดีๆ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 ขณะที่สุวิทย์เดินทางไปทอดกฐินที่วัดหลวง จังหวัดราชบุรี ก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนถึงแก่กรรม ในปีถัดมาหลังจากที่สูญเสียกำลังหลักในการบริหาร บางกะปิแกลเลอรีจึงต้องยกเลิกกิจการไปโดยปริยาย ภาพวาดที่ค้างสต็อกขายไม่ได้ ถูกขนเอาไปใช้ประดับอพาร์ตเมนต์ให้เช่าของครอบครัวสุวิทย์ที่ตั้งอยู่ด้านหลังแกลเลอรี ส่วนชิ้นที่เกินๆ อีกมากมายไม่มีที่แขวนก็ถูกพิงๆ หมกไว้ในห้องเก็บของจนฝุ่นกลบ เวลาผ่านไปหลายปีข้าวของก็กระจัดกระจาย ขายไปบ้าง หายไปบ้าง ผุพังไปบ้างตามกาลเวลา ปิดตำนานแกลเลอรีแห่งแรกของประเทศไทยที่มีปณิธานอันดีงามไปอย่างน่าเสียดาย

จู่ๆ อยู่มาวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้มีโอกาสพบกับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทยท่านหนึ่ง เพราะเหตุใดทำไมไม่รู้บทสนทนาในวันนั้นดันไปเกี่ยวกับบางกะปิแกลเลอรีแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย หลังจากแลกเปลี่ยนข้อมูลอันหาได้น้อยนิดเกี่ยวกับแกลเลอรีแห่งนี้ และเรื่องราวของเจ้าของที่ว่ากันว่ามีบุคลิกอารมณ์ดี สนุกสนาน แฟร์ ไม่เอาเปรียบใคร เป็นที่รักใคร่ของคนในวงการศิลปะในยุคนั้น คอนเวอร์เซชันเลยจับพลัดจับผลูไปจบลงที่ว่าแล้ว สุวิทย์ ตุลยายน เจ้าของบางกะปิแกลเลอรีที่ว่านี้ท่านมีหน้าตาท่าทางเป็นอย่างไร? เพราะทั้งเราและอาจารย์ต่างก็เคยได้ยินแต่เรื่องเล่า แต่ไม่เคยมีโอกาสได้เห็นรูปซักกะหน

และเหมือนหน้าต่างจะมีหู ประตูจะมีตา เลยไปกระซิบบอกสุวิทย์ที่อยู่บนฟากฟ้า ว่ามีคนบ้าศิลปะรุ่นเหลน 2 คนอยากจะพบพานเห็นหน้าค่าตาท่าน เพียง 1 สัปดาห์ต่อมาเพื่อนรุ่นพี่ก็ไลน์มาหาว่ามีหนังสือศิลปะที่น่าสนใจอยู่กองหนึ่ง จะส่งมาให้เลือกเผื่อเล่มไหนยังไม่มี พอหนังสือมาถึงเราก็เลือกๆดู แต่ที่สะดุดตาที่สุดจนต้องขยี้ตาซ้ายตาขวาสลับไปมาสองสามหน คือ ในกองนั้นเราดันเห็นหนังสือปกสีขาวเล่มบางๆในสภาพเก่ากึ๊กอยู่เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือเรื่องเกี่ยวกับจิตรกรรมไทย แต่ที่พีกคือหนังสือเล่มนี้บนปกระบุว่าถูกพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจตรีสุวิทย์ ตุลยายน ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง พระนคร วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2510

‘พันตำรวจตรีสุวิทย์ ตุลยายน’ (ภาพจากหนังสือ เรื่องเกี่ยวกับจิตรกรรมไทย พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจตรี สุวิทย์ ตุลยายน)

โป๊ะเชะ พลิกเปิดหนังสือปุ๊บ ก็เจอรูปถ่ายท่านปั๊บ และก็เป็นดังคาด แม้จะเป็นแค่รูปขาวดำซีดๆ บนกระดาษเหลืองๆ แต่เรากลับรู้สึกถึงออร่า และโหงวเฮ้งของบุคคลผู้มีมิตรสัมพันธ์ดี น่าคบหาผู้กระโดดข้ามสายมาทำงานในวงการศิลปะด้วยใจรักล้วนๆ ไม่ได้มองเอาผลประโยชน์เป็นหลัก และยังเมตตาเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้ลืมตาอ้าปาก จนหลายต่อหลายท่านเติบใหญ่กลายเป็นศิลปินระดับชาติ

สวัสดีครับคุณสุวิทย์ วันก่อนยังคุยถึงอยู่เลย ไม่นึกว่าจะเจอกันเร็วขนาดนี้

 

Don`t copy text!