งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
ใครๆ ในวงการศิลปะไทยก็รู้จัก ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินเบอร์ต้นของประเทศผู้รังสรรค์ผลงานคุณภาพตลอดช่วงชีวิตของท่านเป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่คุ้นตาชาวประชาที่สุดก็เห็นจะเป็นผลงานภาพวาดอันดุดันทรงพลังในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมักจะเป็นภาพมนุษย์ที่เต็มไปด้วยมัดกล้าม หรือภาพสิงห์สาราสัตว์อันดุร้าย อีกทั้งยังมี ‘บ้านดำ’ ผลงานสุดยิ่งใหญ่อลังการที่รวบรวมศาสตร์หลากแขนงทั้งจิตรกรรม สถาปัตยกรรม การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงภูมิทัศน์ เกิดเป็นอัครมหาอาณาจักรใจกลางเมืองเชียงราย ดึงดูดนักท่องเที่ยวนับล้านจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือน
และนอกเหนือจากนี้แล้ว ก็ยังมีผลงานบางประเภทที่แม้แต่แฟนคลับถวัลย์เองเมื่อได้เห็นก็อาจจะงงๆ หรือกระทั่งอุทานในใจว่า งานแบบนี้ก็มีด้วยเหรอ? มีอะไรบ้าง เดี๋ยวจะขอยกตัวอย่างให้รู้กัน
เป็นประจำที่เราจะได้รับรูปถ่ายงานศิลปะเก่าๆ จากผู้หวังดีที่คอยช่วยหา และทยอยส่งมาให้ครั้งนี้ก็เหมือนทุกทีมีรูปถ่ายปึ๊งใหญ่ถูกส่งมาในซองพลาสติกใส ทุกๆ รูปต่างดูน่าสนใจมีประเด็นให้เราได้สืบเสาะเรื่องราวต่อๆ ไป ด้วยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปินโอลด์มาสเตอร์รุ่นใหญ่ของไทยจึงทำให้เราพอจะบอกได้ว่ารูปแต่ละรูปเป็นผลงานศิลปะฝีมือศิลปินท่านไหน ในบรรดารูปถ่ายเหล่านี้มีอยู่สองรูปที่ดูแปลกตาเป็นพิเศษ เป็นผลงานของ ถวัลย์ ดัชนี รูปโล่ห์สัญลักษณ์รายล้อมไปด้วยสิ่งมีชีวิตตัวเป็นคนหัวเป็นสัตว์ ที่มีทั้งสิงโต ทั้งนกอินทรี ด้านบนมีเทพีที่แขนทั้งสองกลับกลายเป็นปีก รูปหนึ่งถูกวาดขึ้นด้วยเทคนิคปากกาลูกลื่นบนกระดาษ ด้วยเส้นคมๆ ฝนย้ำๆ จนเกิดเป็นภาพที่มีน้ำหนักอ่อนแก่ มีมิติตื้นลึก เวลาถวัลย์วาดภาพแนวนี้ท่านจะใช้ปากกาลูกลื้นยี่ห้อ BIC ราคาไม่แพงที่หาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป วางกระดาษเปล่าไว้บนพื้นเรียบๆ แล้วนอนคว่ำเอาหมอนหนุนอกไว้ ก่อนจะบรรจงวาดรูปด้วยปากกาในท่านั้น ถ้ารูปเล็กๆ ก็ใช้เวลาไม่เท่าไหร่ แต่ถ้ารูปใหญ่ๆ ที่มีรายละเอียดเยอะๆ นี่บางทีนอนฝนปากกากันทีเป็นเดือน
ส่วนรูปถ่ายอีกรูปดูเหมือนเป็นรูปขยายจากชิ้นที่วาดจากปากกา เพราะรายละเอียดโดยรวมคล้ายกันแต่มีการปรับเปลียนองศาและหน้าตาของตัวละครในภาพไปบ้าง ชิ้นขยายนี้ถวัลย์สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีน้ำมันโดยใช้พู่กันกลึงๆ สีให้เกิดเป็นแสงเงา ด้านหลังของรูปถ่ายนี้มีลายมือเขียนระบุไว้ว่า “งานชิ้นสมบูรณ์ของตราประจำตระกูลที่ขุนนางอังกฤษมาจ้างวาด”
ทั้งภาพวาดด้วยปากกา และสีน้ำมันฝีมือถวัลย์นั้นใครๆ หลายๆ คนก็คงเคยเห็น แต่ความแปลกแบบอันซีนของผลงานทั้งสองชิ้นนี้คือทั้งคู่เป็นการออกแบบสัญลักษณ์ประจำตระกูลแบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Coat of arms สัญลักษณ์รูปแบบนี้เป็นที่นิยมโดยตระกูลเก่าแก่ในยุโรปมาตั้งแต่โบราณกาล เพื่อใช้ประดับประดาตามปราสาท ชุดเกราะของทหาร ทำตราประทับ และหัวจดหมายทำนองเดียวกับโลโก้ของบริษัทห้างร้าน งานออกแบบตราอะไรเทือกนี้เท่าที่รู้ถวัลย์ไม่ได้ทำให้ใครที่ไหนง่ายๆ ถ้าไม่สนิทกันจริงๆ เราว่าเราก็เห็นผลงานของถวัลย์มาเยอะแล้วนะ แต่ก็เพิ่งจะเคยเห็นงานออกแบบโลโก้เป็นครั้งแรกจากรูปถ่ายสองรูปนี่แหละ
ผลงานอีกชิ้นที่อยากจะเล่าถึงนั้นยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจเข้าไปใหญ่เพราะไม่ใช่งานวาดๆ เขียนๆ อย่างที่เราคุ้นกัน ผลงานชิ้นนี้แสดงถึงอัจฉริยภาพของถวัลย์ในวัยหนุ่มที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะงานจิตรกรรม แต่สามารถสร้างผลงานประติมากรรมให้ดูดุดันตามแบบฉบับของถวัลย์ แถมยังปั้นหล่อออกมาได้สมบูรณ์ในขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดว่าถวัลย์มีผลงานรูปปั้น จนได้มีโอกาสไปจิบกาแฟคุยเจ๊าะแจ๊ะขอความรู้จากเพื่อนเก่าของถวัลย์ที่เป็นชาวดัตช์ในคาเฟ่เก๋ๆ กลางกรุงอัมสเตอร์ดัม เธอผู้นี้เป็นภรรยาของผู้จัดการสายการบิน KLM ที่เคยมาประจำการอยู่ที่สำนักงานสาขาประเทศไทยในราวปี พ.ศ. 2510 ขณะที่อยู่ในกรุงเทพฯ ครอบครัวของเธอรู้จักมักจี่กับถวัลย์เป็นอย่างดี ที่รู้เพราะเราได้ดูรูปถ่ายจากทริปที่ไปเที่ยวนู่นเที่ยวนี่ด้วยกัน รวมถึงรูปถ่ายร่วมเฟรมในวันที่ถวัลย์จัดพิธีแต่งงานอย่างอบอุ่นกับแฟนสาวนามว่ามาร์กาเร็ต แอร์โฮสเตสสายการบิน KLM
รูปถ่ายเหล่านี้ได้บันทึกห้วงเวลาอันน่าประทับใจในอดีตเอาไว้ แค่ดูก็เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนวันวานไปมีส่วนร่วมอยู่ในบรรยากาศอันมีชีวิตชีวาของหนุ่มสาวฮิปปี้จากยุค 60’s ก่อนจะลาจากกันในวันนั้นสุภาพสตรีเพื่อนถวัลย์ก็โชว์รูปถ่ายอีกรูปหนึ่งให้เราดู เป็นรูปโรงแรม KLM สำหรับพนักงาน และลูกเรือ ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สมัยเมื่อ 50 ปีก่อน ที่เจ๋งคือสถานที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นอาคารสี่เหลี่ยมทื่อๆ แต่ตัวตึกถูกออกแบบมาอย่างล้ำยุคมีชั้นเชิง และที่ยิ่งเด็ดสะระตี่ขึ้นไปอีกโดยเฉพาะสำหรับแฟนคลับถวัลย์ตัวยงอย่างเราคือบริเวณสนามด้านหน้ามีประติมากรรมขนาดเบ้อเริ่มเทิ่มตั้งตระหง่านอยู่บนฐานราวกับอนุสาวรีย์ เพื่อนถวัลย์เล่าว่าผลงานชิ้นนี้เป็นประติมากรรมที่ถวัลย์ลงแรงปั้นขึ้นมาเองและหล่อด้วยโลหะเป็นรูปมนุษย์ที่มีหัวเป็นนก มีแขนเป็นปีก เธอเรียกสิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งสัตว์ตนนี้ว่า อิคารัส (Icarus) ตามชื่อตัวละครในเทพปกรณัมของกรีก อิคารัสคือชายหนุ่มผู้ถูกจองจำพร้อมบิดาที่เป็นนักประดิษฐ์อัจฉริยะ เพื่อจะหลบหนีจากหอคอยที่คุมขัง บิดาของอิคารัสจึงสร้างปีกจากขนนก แล้วนำมาสวมแขนของตนเองและบุตรชายเพื่อให้ทั้งคู่สามารถบินได้ แต่อิคารัสที่คึกคะนองตามภาษาวัยรุ่นกลับบินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่ฟังคำเตือนของบิดา ทำให้ปีกที่ยึดกันไว้ด้วยขี้ผึ้งถูกแผดเผาจนละลายด้วยเปลวเพลิงจากดวงอาทิตย์ของเทพอพอลโล และในที่สุดอิคารัสก็ตกลงมาจมน้ำตาย ซึ่งเอาจริงๆ เราก็ไม่แน่ใจว่าถวัลย์เรียกคนหัวเป็นนกนี้ว่าอิคารัสด้วยหรือเปล่า หรือเพื่อนถวัลย์ถือวิสาสะตั้งชื่อขึ้นมาเอง เพราะในผลงานอื่นๆ ของถวัลย์ก็มีตัวละครหน้าตาแบบนี้ซึ่งถวัลย์มักจะสื่อถึงเทพแห่งปักษา หรือไม่ก็ธาตุลม แถมบริษัท KLM ที่ทำธุรกิจการบินก็ไม่น่าจะอุตริสั่งทำหุ่นอิคารัสที่บินตกลงมาตายมาวางไว้ด้านหน้าตึก เนื่องจากสตอรี่ดูไม่ค่อยจะเป็นมงคลเท่าไหร่
เอาเหอะ จะอิคารัสหรือไม่อิคารัสไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือเพื่อนถวัลย์เคยพยายามจะสืบเสาะว่ารูปปั้นชิ้นนี้ถูกย้ายไปอยู่ที่ไหนแต่ยังหาไม่เจอ เพราะปัจจุบันที่ดินแปลงนี้ซึ่งหมดสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปีกับ KLM ได้ถูกพัฒนากลายเป็นโครงการอย่างอื่นไปแล้ว ส่วนผลงานประติมากรรมฝีมือถวัลย์สุดพิเศษอันหนึ่งอันเดียวนี้ก็ได้หายสาบสูญไปจากสารบบ
และด้วยเหตุที่ว่าผลงานชิ้นนี้ไม่ได้ถูกเซ็นชื่อหรือเขียนกำกับไว้ว่าใครสร้าง กลัวจะมีผู้รู้ไม่ถึงการณ์เอาไปทิ้งขว้างไว้ที่ไหนจนผุพังไปไม่มีใครแยแส หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคืออาจจะถูกเอาไปชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็ก และถูกหลอมทิ้งไปแล้ว ไอ้เราเองก็มักเจอสมบัติชาติถูกทิ้งขว้างตามซาเล้งจนต้องเข้าไปขวางไม่ให้ส่งเข้าโรงงานรีไซเคิลอยู่บ่อยๆ แค่นึกก็เสียวสันหลังวาบ
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ