คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี

คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ทันทีที่รู้ว่าเพื่อนฝรั่งรุ่นอาวุโสเคยใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นเมื่อเกือบ 60 ปีก่อนอยู่ในเมืองไทย โดยอยู่อาศัยกับครอบครัวในบ้านเช่าหลังหนึ่งของสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนตรงเชิงสะพานหัวช้าง นั่นทำเอาเราดีดดิ้นเป็นพิเศษยังกะเจ้าเข้า แล้วจะไม่ให้ตื่นเต้นได้อย่างไรล่ะเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าห้วงเวลาเดียวกันนั้นเป็นเวลาที่ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินคนโปรดของเราก็ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พำนัก และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในยุคบุกเบิกหลังจากที่เพิ่งเรียนจบมาจากยุโรปหมาดๆ

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นหรือจะเรียกว่า ‘เผือก’ ก็ไม่ผิด เราจึงกระหน่ำถามคำถามร้อยแปดเกี่ยวกับสถานที่ ผู้คน และผลงานศิลปะที่เขาเคยพบเห็นระหว่างที่พำนักอยู่ เลยได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย แค่นั้นยังไม่พอ เราไหว้วานขอให้เขาค้นรูปถ่ายเก่าๆมาให้เราดูเพื่อประกอบคำบรรยาย และแล้วก็โป๊ะเชะจ๊ะเอ๋กับรูปถ่ายที่น่าสนใจตามคาด หากแค่ดูเผินๆ ก็เป็นรูปบุคคลปกติทั่วไป แต่ที่เตะตาคนบ้าอาร์ตอย่างเราเป็นพิเศษคือภาพวาดในกรอบสีน้ำตาลที่แขวนอยู่บนกำแพงบ้านด้านหลังซึ่งเขาเล่าว่าเคยเป็นอาคารหลังหนึ่งในสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนนั่นแหละ แต่ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว

ผลงานศิลปะของถวัลย์ ดัชนี นั้นมีหลากหลายเทคนิค ที่ชาวประชาคุ้นตามักจะเป็นผลงานสีน้ำมันขนาดใหญ่ที่วาดด้วยแปรง หรือพู่กันเบอร์โตๆ มีทั้งแบบที่ปาดป้ายฉุบฉับรวดเร็วจนเกิดเป็นภาพ และแบบที่ค่อยๆ กลึงให้มีน้ำหนัก และแสงเงา แต่หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าถวัลย์นั้นมีความสามารถเยี่ยมยอดเข้าขั้นไร้เทียมทานในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยวัสดุง่ายๆ อย่างปากกาลูกลื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งผลงานกลุ่มนี้จะมีขนาดเล็กกว่า ละเอียดกว่า และใช้เวลาสร้างสรรค์นานกว่าผลงานในรูปแบบอื่นๆ เพื่อไม่ให้เมื่อยเวลาถวัลย์จะวาดรูปที่ละเอียดยุบยิบด้วยปากกา ถวัลย์จะเอาหมอน และกระดาษเปล่ามาวางไว้กับพื้น แล้วนอนคว่ำใช้อกหนุนหมอนในขณะที่มือขวาก็ฝนปากกาลงบนกระดาษ ค่อยๆ เล็งค่อยๆ เพ่ง สลับกับเช็ดหมึกที่เยิ้มอยู่บนปลายปากกาอยู่เสมอเพื่อให้มั่นใจว่าเส้นแต่ละเส้นจะบางเบาพลิ้วไหว ไม่มีเส้นไหนที่หนาเกินไปโดยเด็ดขาด

ภาพวาดในรูปที่บังเอิญถ่ายติดเฟรมมาเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อนนั้นจากที่เห็นก็น่าจะสร้างสรรค์ด้วยปากกาลูกลื่นบนกระดาษด้วยเช่นกัน และจากห้วงเวลาที่รูปถูกถ่าย ผลงานชื้นนี้นับว่ามีความพิเศษมาก เพราะเป็นผลงานชิ้นแรกๆ ที่ถวัลย์ริเริ่มวาดด้วยเทคนิคลายเส้นปากกา

โชคดีเหมือนถูกลอตเตอรี่ที่เพื่อนฝรั่งของเราได้มีโอกาสเก็บรักษาผลงานชิ้นนี้เอาไว้ แถมยังใจดีขนมาให้ดูเป็นบุญตา เชื่อว่าหากใครได้เห็นต้องร้องอุทานเหมือนเราว่า โอ้วแม่เจ้า!!! ไอ้ที่ต้องร้องออกมาจนเสียจริตเพราะสภาพของผลงานต้องใช้คำว่า ‘กริบ’ ถึงจะใกล้เคียงความจริงที่สุด รูปวาดอะไรอายุอานามเท่ากับคนวัยใกล้เกษียณ แต่อยู่ในสภาพเพอร์เฟคเหมือนเพิ่งวาดเสร็จเมื่อเช้า กระดาษยังขาวผ่อง ไม่เปลี่ยนสภาพเป็นสีเหลือง หรือแปดเปื้อนด้วยจุดเชื้อราเลยซักกะนิด ทั้งๆ ที่เพื่อนเราเองก็เก็บแบบธรรมดาตามมีตามเกิดทั่วไป ไม่ได้ใช้กระจกกันยูวี ไม่มีแบ็คหลังด้วยแผ่นมิวเซียมบอร์ด ไม่เคยเปิดเครื่องดูดความชื้นอะไรให้ทั้งนั้น แต่ที่สภาพยังคงความสดใหม่ไฉไลอยู่ได้ต้องยกความดีความชอบให้ดินฟ้าอากาศของเมืองโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา สถานที่ที่ผลงานชิ้นนี้ถูกหอบหิ้วข้ามน้ำข้ามทะเลไปเก็บไว้ ก็เพราะที่นั่นทั้งเย็นทั้งแห้ง เฟรนด์ลี่กับงานศิลปะกว่าเมืองไทยเราที่ทั้งร้อนทั้งชื้น

‘คีตาญชลี’ พ.ศ. 2512 เทคนิค ปากกาลูกลื่นบนกระดาษ ขนาด 38 x 26 เซนติเมตร ศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี

ภาพวาดฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี ชิ้นนี้เป็นรูปใบหน้าผู้ชายที่มีผมเผ้าหนวดเครายาวเหมือนซานตาคลอสลอยอยู่เหนือกลุ่มผู้คนทั้งหญิงและชาย บ้างก็กำลังประคับประคองกัน บ้างก็กำลังต่อเรือ ในขณะที่อีกคนกำลังเป่าแคนบรรเลงเพลง ภาพชายหน้าตาประมาณนี้ แขวนหราอยู่บนกำแพงสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนแบบนี้ ถ้าให้ใครก็ตามเดาว่าภาพนี้เป็นภาพใคร และมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร รับรองว่าร้อยทั้งร้อยรวมถึงเราต้องเดาว่าเป็นภาพใบหน้า พระเยซู หรือไม่ก็ โมเสส ประกอบกับเรื่องราวของศาสนาคริสต์แน่นอน แต่ผิดถนัด ผลงานชิ้นนี้ถวัลย์สร้างสรรค์ขึ้นมาจากความเลื่อมใสในความสามารถของปราชญ์เอกท่านหนึ่งซึ่งก็คือ รพินทรนาถ ฐากุร ท่านผู้นี้เป็นทั้งนักปรัชญา จิตรกร และกวี ชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิศวภารตี สถาบันการศึกษาที่ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงเช่น เฟื้อ หริพิทักษ์ และอีกหลายต่อหลายท่านเคยไปเรียน

รพินทรนาถ ฐากุร ภาพจาก
https://www.sarakadeelite.com/faces/rabindranath-tagore/

ในบรรดากวีนิพนธ์ของรพินทรนาถ ฐากุร ประพันธ์ไว้ ผลงานชิ้นที่มีผู้รู้จักมากที่สุดนั้นเป็นบทกวีซึ่งอุทิศให้ภรรยา และบุตรของท่านที่เสียชีวิตไป ผลงานชิ้นนี้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วพิมพ์เป็นเล่มโดยตั้งชื่อว่า ‘คีตาญชลี’ ซึ่งแปลว่าการบูชาด้วยดนตรี เพราะหนังสือเล่มนี้เองในปี พ.ศ. 2456 รพินทรนาถ ฐากุร จึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม นับเป็นชาวเอเซียคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล

ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้ลุ่มลึกในศิลปวิทยาแขนงต่างๆ จากการได้ไปศึกษาต่อปริญญาโท และเอกด้านจิตรกรรมฝาผนัง ผังเมืองและ อภิปรัชญา ณ ราชวิทยาลัยศิลปะในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เสพบทกวีคีตาญชลีอันโด่งดังจนแตกฉาน และนำแรงบันดาลใจจากเรื่องราว ตีความออกมาเป็นภาพหญิงชาย ภายใต้ใบหน้าของ รพินทรนาถ ฐากุร ผลงานชื้นนี้ถวัลย์ผสมผสานความสามารถในการวาดภาพเหมือนบุคคล ไปกับการจัดวางองค์ประกอบแบบเหนือจริง พร้อมทั้งใช้คน และสัตว์อันเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายที่ต้องการจะสื่อ นับเป็นผลงานจากช่วงค้นหาตัวตนของถวัลย์ที่หาชมได้ยากยิ่ง และยังคงอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยมจนน่าตกใจ

‘งานฉลองมงคลสมรสภายในสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 9 x 12 เซนติเมตร

แต่สำหรับเพื่อนชาวอเมริกันของเรา เขาสารภาพตามตรงว่าไม่เคยสังเกตเห็นว่าในฉากหลังของรูปมีภาพวาดชิ้นนี้ถ่ายติดมาด้วยซ้ำ เพราะทุกครั้งที่หยิบรูปนี้ที่ถ่ายในงานแต่งงานของพี่สาวของเขาขึ้นมาดู เขามัวแต่มองรูปพี่สาว พี่เขย และบิดาผู้ล่วงลับด้วยความผูกพัน และอดไม่ได้เลยที่จะหวนคิดถึงวันเวลาอันสุขสันต์เมื่อครั้งที่ยังอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาในเมืองไทย ถึงเหตุการณ์จะผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้วแต่ภาพความทรงจำยังชัดเจนเหมือนทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน วันที่เมื่อเสร็จจากงานพิธีเพื่อนเราคนนี้ก็แอบหนีไปนั่งดูถวัลย์วาดรูปต่อที่บ้านข้างๆ

 

Don`t copy text!