เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ

เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

มีหลายคนเคยบอกกับเราว่า ของเก่าน่ะเขาเลือกเจ้าของ ถ้าดูแลทะนุถนอมของที่เรามีให้ดี เดี๋ยวไม่นานของชิ้นอื่นๆ ที่ไม่คิดว่าจะเจอก็จะถูกแรงประหลาดดึงดูดมาให้เราได้เก็บกันอีกจนไม่หวาดไม่ไหว คำกล่าวนี้เห็นทีจะจริงเพราะเหตุการณ์งงๆ อะไรเทือกนี้เคยเกิดขึ้นกับเราน่าจะสักพันหนแล้วเห็นจะได้ อย่างเรื่องที่กำลังจะยกตัวอย่างนี่ก็ใช่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงทอดพระเนตรผลงานประติมากรรม “Development” ของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ พ.ศ. 2507 เทคนิคภาพถ่ายขนาด 29 × 24 เซนติเมตร

คือเมื่อกลางปี 2563 ตอนที่โควิด-19 เริ่มจะซา จากที่ผ่านมาเก็บสะสมแค่งานศิลปะ เราเกิดฟิตคิดแตกไลน์ไปตามเก็บรูปถ่ายเก่าๆ ที่เกี่ยวกับอาร์ตด้วย และก็เป็นที่รู้กันในวงการรูปถ่ายย้อนยุคว่า รูปที่มีคนตามหามากที่สุดคือพระบรมฉายาลักษณ์ หรือรูปในหลวงรูปที่เก่าตรงสมัยจริงๆ ไม่ได้เอามาพรินท์ใหม่ เอาวะ! ไหนๆจะเก็บทั้งทีก็ควรจะเก็บให้ดีไปเลย จนวันนึงตอนกำลังจะไปเดินช้อปปิ้งที่สวนจตุจักรเลยคิดขึ้นมาลอยๆ ตามธีมของเราเองว่าอยากจะได้รูปถ่ายเก่าถึงยุคที่มีทั้งในหลวง มีทั้งงานศิลปะ เอาที่เห็นชัดๆ เห็นจะๆ อยู่ในรูปเดียวกัน แค่นั้นยังไม่พอขอรูปใหญ่ๆ ไม่เอาขนาดโปสต์การ์ดเพราะจะเอามาใส่กรอบแขวนฝาบ้านไม่ได้ จะเอามาเขียนจดหมายหาญาติ รีไควเมนท์เยอะอย่างนี้ยังตะหงิดๆ คิดอยากจะด่าตัวเองอยู่เลยว่า ฝันไปเถอะอีตาบ้า วันนี้ไม่มีทางเจอแน่นอน

เราก็เดินเล่น งับลูกชิ้น ดูดเป๊ปซี่ ดูของจิปาถะของเราไปเรื่อยเปื่อย จนไปเห็นร้านหนึ่งมีรูปปั้นเล็กๆ รูปคนเต้นระบำวางขายอยู่ดูจุ๋มจิ๋มดีเลยแวะเข้าไปในร้านเพื่อถามราคา ทันใดนั้นเราก็เหลือบไปเห็นรูปถ่ายเก่าๆรูปหนึ่งใส่กรอบสีทองไว้อย่างเรียบร้อย แขวนหลบๆ อยู่บนหลังตู้ข้างโซฟาที่พี่เจ้าของร้านเขานั่งอยู่ จังหวะนั้นเราอยากจะเอามือสกปรกๆที่ยังไม่ทันจะได้ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ขึ้นมาขยี้ตาให้มั่นใจซะเหลือเกินว่าไอ้ที่เห็นอยู่ข้างหน้าน่ะมันเรื่องจริงไม่ใช่ตาฝาด ก็จะไม่ให้อึ้งได้ยังไงเพราะรูปที่ว่าดันเป็นรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 ครั้งยังทรงพระเยาว์กำลังทอดพระเนตรผลงานประติมากรรมชิ้นเบ้อเริ่มเทิ่ม พร้อมผู้นำชม และผู้ติดตามหน้าตาคุ้นๆอีกโขยงใหญ่ ทั้งอายุ ทั้งเนื้อหา ทั้งขนาด อะไรมันจะตรงตามที่ตั้งคุณสมบัติไว้ทุกกระเบียด แต่ยังไงก็ยังออกอาการมากไม่ได้เดี๋ยวจะเสียจริต เลยชวนเจ้าของร้านคุยเรื่องรูปปั้นคนเต้นระบำอยู่พักใหญ่ก่อนจะมีจังหวะเหมาะๆ เลี้ยวไปเลียบๆ เคียงๆ ถามถึงรูปถ่ายที่พี่เขาแขวนซ่อนไว้เหมือนไม่ได้กะจะขาย

ผลงานประติมากรรม “Development” ของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ พ.ศ. 2507 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13.5 × 9 เซนติเมตร

เย็นวันนั้นที่โซฟาหน้าทีวี ทั้งๆ ที่ยังงงๆ อยู่ว่าพอคิดปุ๊บแล้วเจอปั๊บได้ยังไง เราค่อยๆ บรรจงแกะบับเบิ้ลกันกระแทกที่ห่อพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 กับประติมากรรมชิ้นใหญ่ยักษ์ในกรอบทองออก เพื่อจะได้พินิจพิจารณาส่องรายละเอียดกันชัดๆ และทำการถอดรหัส ว่าในรูปมีใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ยังไงบ้าง

ที่แน่ๆ ในรูปนี้มีในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันนี้ซิมเปิ้ลใครๆ ก็บอกได้ ส่วนท่านอื่นๆ ในรูป เราพอจะระบุได้ว่าเป็นใครเพราะเคยเห็นผ่านตาในหนังสือศิลปะเก่าๆ ที่เราก็มีสะสมอยู่เหมือนกัน นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าแปลกที่เราจำหน้าแต่ละท่านได้ เพราะขนาดเพื่อนสนิทถ้าไม่ได้เจอกันนานๆ พอมาเจอกันอีกบางทียังทักผิด เอ้า! เดี๋ยวจะไล่เรียงให้ว่าใครเป็นใครบ้าง เริ่มด้วยชายหนุ่มใส่สูทสวมแว่นดำหุ่นล่ำบึ้กที่เดินตามในหลวงอยู่ ไม่ใช่ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ แต่ท่านคือ ชลูด นิ่มเสมอ หนึ่งในศิษย์เอกของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ที่มีความสามารถทางศิลปะรอบด้าน เป็นบัณฑิตคนแรกของคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับการยกย่องให้เป็นทั้งศิลปินชั้นเยี่ยม และศิลปินแห่งชาติ

ท่านที่ 2 จากทางขวาในชุดข้าราชการสีขาวที่กำลังเดินตามพระพันปีหลวง คลับคล้ายคลับคลาว่าคือ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกมือฉมังประจำกรมศิลปากร ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยาม และยังเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลงาน “Development” ของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ พ.ศ. 2507 เทคนิคภาพถ่ายขนาด 13.5 × 9 เซนติเมตร

ชายที่ยืนสงบเสงี่ยมอยู่ทางขวาสุดของรูปคือ ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร พ่วงด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมของชาติ ผ่านทางโครงการต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วนตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ดำรงตำแหน่งอธิบดี

ส่วนรูปปั้นปูนปลาสเตอร์สีขาวขนาดมหึมาหน้าตาเหมือนคน 2 คนยืนซ้อนกันที่ตั้งอยู่กลางงาน เราเคยเห็นแว้บๆ อยู่ในสูจิบัตรเก่า แต่เป็นชิ้นเล็กสูงราวฟุตกว่าๆ คงจะย่อส่วนมาจากชิ้นใหญ่ในรูปนี้ ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘Development’ ฝีมือ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ประติมากรในรูปแบบนามธรรมคนแรกๆ ของเมืองไทย ที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมาย และภายหลังได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

รู้ละว่าใครเป็นใคร กำลังดูอะไร คำถามต่อไปคือแล้วท่านๆ มารวมตัวกันทำไม คำถามนี้ไม่ยาก ก็เห็นๆ กันอยู่ว่ามารับเสด็จฯ ในงานแสดงศิลปะ แล้วสมัยก่อนงานแนวนี้ที่ทางราชการจัดเป็นประจำทุกปี และยิ่งใหญ่พอที่ทั้งในหลวงและพระราชินีจะเสด็จฯ ร่วมพิธีก็เห็นจะมีแต่การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเท่านั้นแหละ แถมทั้งชลูด, หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม, และธนิต ล้วนเป็นกรรมการของงานนี้ด้วยทั้งนั้น เลยฟันธงได้อย่างไม่ลังเลเลยว่ารูปนี้เกี่ยวข้องกับการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติแน่นอน

“Development” พ.ศ. 2507 เทคนิคหล่อปูนปาสเตอร์ขนาด 270 × 107 และ 226 × 63 เซนติเมตร

เหลือเพียงเรื่องเดียวที่ยังต้องหาคำตอบอยู่คือรูปนี้ถ่ายเมื่อไหร่? ถ้าดูจากคนก็พอจะตอบได้เพียงคร่าวๆว่ารูปนี้ไม่มีทางถ่ายก่อน พ.ศ. 2505 ปีที่ในหลวงเสด็จฯ มาทรงเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเป็นครั้งแรก ส่วนจะไปไล่ดูจากรายชื่อกรรมการว่าปีไหนมีใครบ้างก็ไม่น่าจะได้คำตอบแบบตรงเผงอีกนั่นแหละ เพราะทั้ง 3 ท่านที่กล่าวถึงเป็นกรรมการร่วมกันเป็นเวลาเวลาหลายปีดีดัก ชักจะยากละทีนี้ ก่อนจะหมดอาลัยตายอยากจำใจเข้านอนแบบอารมณ์ค้างๆ ก็เกิดไอเดียบรรเจิดว่าทำไมไม่ไปดูปีที่ ชำเรือง สร้างประติมากรรม Development ขึ้นมาล่ะ ในที่สุดก็ค้นจนเจอว่าสร้างขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2507 เราว่าศิลปินหนุ่มที่กำลังสร้างชื่อเสียงอุตส่าห์ลงทุนลงแรงสร้างผลงานซะใหญ่เบิ้มขนาดนี้ เมื่อเสร็จแล้วก็คงอยากโชว์เลย ไม่น่าจะเก็บซ่อนไว้ให้กินที่สตูดิโอเป็นเวลานานจนข้ามปี

เพื่อเป็นการคอนเฟิร์มว่าเราเดาไม่น่าผิด เลยลองไปเช็ครายชื่อกรรมการทั้ง 13 ท่านในงานปี พ.ศ. 2507 ปีนั้นมีชื่อธนิตเป็นประธานกรรมการ ตำแหน่งใหญ่สุดในงานเลยน่าจะเป็นคนนำเสด็จฯ อย่างที่เห็นในรูปถ่าย แถมพอมาไล่ดูชื่อกรรมการในปี พ.ศ. 2508 กลับไม่มีชื่อธนิตอยู่ตรงไหนเลยซักกะที่ หลักฐานแวดล้อมทั้งหมดจึงบ่งชี้ว่ารูปนี้ถ่ายในวันเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ชักจะจริงจังกันไปใหญ่ เลยเริ่มสงสัยว่านี่เราจะเป็นนักสะสมหรือ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ กันแน่

หมือนทุกอย่างจะแฮปปี้เอ็นดิ้งไปแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องราวของแรงดึงดูดสุดพิลึกยังไม่ได้จบลงเพียงแค่นี้ เพราะหลังจากวันนั้นผ่านไปไม่ถึงเดือน ยังไม่ทันจะมีใครรู้ว่าเราได้รูปถ่ายนี้มา จู่ๆ ก็มีไลน์จากรุ่นพี่ที่รู้จักทักมาถามว่าสนใจไหม รูปปั้นปูนปลาสเตอร์ไซส์ใหญ่เบิ้ม รูปคน 2 คนยืนซ้อนกัน อายุอานามราว 60 ปี พร้อมเอกสารยืนยันนอนยันจากทั้งศิลปิน และทายาทว่าเป็นของแท้ไม่ได้หล่อใหม่ขึ้นมาเมื่อวาน เดี๋ยวพี่เขาจะแบ่งให้ เอ๊ะ! คุณสมบัติทำไมมันคุ้นๆ พอเราเห็นรูปที่ส่งมาในไลน์แล้วแทบจะหงายหลัง คงไม่ต้องบอกนะว่ารูปปั้นที่เสนอมาเป็นรูปอะไร ใช่… เป็นชิ้นเดียวกับในรูปถ่ายที่ได้มาก่อนหน้าเป๊ะ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ และสองดาวยังเปล่งแสงอันงดงามให้แก่กัน ปาดับปา ปาดับปา……

Don`t copy text!