อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
……………………………………..
ทุกวันนี้มหกรรมเจ๋งๆ ที่ว่าใหญ่โตแค่ไหน อย่าได้ริเอาไปเปรียบกับอภิมหาโคตรพ่อโคตรแม่มหกรรมเวิลด์แฟร์ในอดีตเชียวล่ะ เดี๋ยวของปัจจุบันจะกลับกลายเป็นเล็กกระจิ๋วหลิวในทันที มหกรรมเวิลด์แฟร์ที่ว่านี้จัดขึ้น ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2482 ใช้ตังค์ไปหลายร้อยล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากมายมหาศาลเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน เนรมิตที่เปล่าๆ ให้กลายเป็นเมืองขนาดมหึมาที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่หน้าตาดูทันสมัยมาก เพื่อให้เข้ากับธีม ‘Building the World of Tomorrow’ หรือ ‘สร้างโลกแห่งอนาคต’
ภายในงานมีโชว์แทบทุกสิ่งอย่างที่น่าสนใจเท่าที่โลกใบนี้พึงจะมี เช่น นวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เช่นการถ่ายทอดสดทางทีวี, หนังสามมิติ, หุ่นยนต์แสนฉลาดที่สามารถพูดจาโต้ตอบ จำแนกสี และสูบบุหรี่ได้, ไทม์แคปซูลที่บรรจุของที่เป็นตัวแทนแห่งยุค และไมโครฟิล์มที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ทุกแขนงอีกหลายล้านหน้า เพื่อจะฝังเอาไว้ 500 ปี ให้โหลนของโหลนในอนาคตขุดขึ้นมาดู, มีโมเดลรถยนต์ รถไฟ เรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า รุ่นที่ล่าสุดกว่ารุ่นล่าสุด, กับของสุดล้ำอื่นๆ อีกเป็นหมื่นเป็นแสนอย่างที่ถ้าจะเดินดูให้ครบคงต้องเป็นลมตายกันไปข้าง
นอกเหนือจากนวัตกรรมแห่งอนาคตในงานเวิลด์แฟร์ยังมีสนามแข่งกีฬา, ลานสเกตน้ำแข็ง, เนินเล่นสกี, สวนสนุก, สวนสัตว์, ฟาร์ม, ห้าง, ศูนย์อาหาร, สวนพฤกษศาสตร์, ทะเลสาบ, ภูเขาจำลอง, อุโมงค์น้ำตก, ศาสนสถาน, แถมมีโชว์ดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตรา, คาบาเร่, คอนเสิร์ตจากศิลปินดัง, กายกรรม, ละครสัตว์, น้ำพุเต้นระบำ, พลุ อะไรที่สนุกอะไรที่ดีรับรองว่ามีสรรหามาให้ดูอย่างครบครัน
สำหรับสายอาร์ต งานนี้ยิ่งห้ามพลาดเพราะมีโซนจัดแสดงผลงานโอลด์มาสเตอร์ที่ผู้จัดใจถึง ไปยืมมาจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วยุโรปกว่า 300 ชิ้น มีทั้งผลงานของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี, ไมเคิลแองเจโล, แรมบรันต์, คาราวัจโจ, และศิลปินรุ่นใหญ่ชื่อดังคับโลกอีกเพียบ ถ้าชอบแนวสมัยใหม่หน่อยก็สามารถเดินทอดน่องดูประติมากรรมฝีมือประติมากรร่วมสมัยที่มีติดตั้งอยู่รอบๆ งาน หรือไม่ก็หลบแดดเข้าไปชมผลงานศิลปะในอาคารคอนเทมโพรารีอาร์ต ต่อด้วยผลงานแนวเหนือจริงที่จัดแสดงอยู่ในอาคารหน้าตาเหมือนปะการังดูพิลึกกึกกือ ฝีมือการออกแบบของซัลวาดอร์ ดาลี ศาสดาแห่งศิลปะแนวๆ นี้ เห็นลิสต์ผลงานที่หอบมาโชว์แล้วมูลค่าน่าจะพอๆ กับจีดีพีของประเทศ จินตนาการไม่ถูกเลยว่าค่าประกันจะมากโขแค่ไหน
อีกโซนที่น่าสนใจจนเป็นเหตุให้ต้องมาอารัมภบทเกี่ยวกับมหกรรมเวิลด์แฟร์ในนิวยอร์กซะยืดยาวคือ โซนนานาชาติ ที่มีอาคารพาวิลเลียนของชาติต่างๆ ราว 60 ชาติมาเข้าร่วมจัดแสดง เช่น ประเทศอังกฤษ, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา, โปแลนด์, อาร์เจนตินา, นอร์เวย์, ไอร์แลนด์, โรมาเนีย, เช็กโกสโลวาเกีย, สหภาพโซเวียต บางประเทศเขามีอาคารของเขาเองแบบสแตนด์อโลน ส่วนบางประเทศรวมถึงประเทศของเราที่ตอนนั้นยังใช้ชื่อเก่าว่าประเทศสยาม ได้พื้นที่จัดแสดงในตึกที่อยู่ติดๆ กันเรียกว่า ‘Hall of Nations’
ประเทศอื่นๆ เขาก็เอาของดีของเขามาโชว์ ส่วนสยามก็ไม่น้อยหน้าเนรมิตห้องจัดแสดงซะหรูหราราวกับวัง ทั้งซุ้มประตู กำแพง เพดาน นั้นถูกจัดเต็มแบบไม่แคร์งบ ประดับประดาด้วยลวดลายแกะสลัก และปูนปั้นแบบไทยไม่มีผิดเพี้ยน มีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 มีวีดิทัศน์เชิญชวนให้ต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยว พื้นที่แทบทั้งห้องถูกเรียงรายไปด้วยตู้จัดแสดงโบราณวัตถุล้ำค่าของบ้านเรา เช่น พระพุทธรูป, กูบช้าง, เรือพระราชพิธีจำลอง, หัวโขน, ตู้พระธรรม, ภาพวาด, เครื่องดนตรี, เครื่องประดับ, อาวุธ, งา มีตู้จัดแสดงสินค้าส่งออกที่สำคัญของสยามในยุคนั้นทั้งที่เป็นงานฝีมือ เช่น เครื่องถม, เครื่องเคลือบ, เครื่องทอง, เครื่องเงิน, เครื่องมุก, ตุ๊กตา และที่เป็นผลิตผลจากธรรมชาติ เช่น ไม้สัก, ยางพารา, ครั่ง, ยาสูบ, อัญมณี
ผลงานศิลปะร่วมสมัย (นู้น) ของสยาม ก็มีขนไปจัดแสดงอยู่หลายชิ้น มีรูปปั้นพระแม่โพสพถือรวงข้าว ฝีมือ แช่ม ขาวมีชื่อ, รูปปั้นนางละครกำลังฟ้อนรำ ฝีมือ สิทธิเดช แสงหิรัญ, และรูปปั้นบูรพกษัตริย์ประทับยืนจังก้า กับรูปปั้นทหารถือดาบเตรียมประจัญบาน ที่ยังค้นไม่เจอว่าเป็นฝีมือใคร ดูๆ ไปแล้วประติมากรรมร่วมสมัยทุกชิ้นที่เอาไปโชว์ มีสไตล์ไม่ผิดเพี้ยนไปจากรูปแบบศิลปะที่สยามนิยมกันในยุคนู้นเลย
ยุคนู้นที่ว่าคือช่วงเวลาประมาณปี พ.ศ. 2475-2490 ผลงานศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรา โดยเฉพาะประเภทประติมากรรมส่วนใหญ่มักสร้างขึ้นโดยเน้นความสมจริงตามหลักกายวิภาคของมนุษย์ ประมาณว่ายิ่งเหมือนเท่าไหร่ก็ยิ่งเก่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่คิดจะปั้นใครก็ได้ให้เหมือนแล้วจะมีคนมายกยอปอปั้น จะให้ดีถ้าปั้นผู้หญิงก็ต้องปั้นสาวสวยที่มีอกผายไหล่ผึ่ง นมเป็นนม ก้นเป็นก้น ดูบึ๊บบั๊บมีเรี่ยวมีแรง ไม่ใช่ประเภทเอวบางร่างน้อย อ่อนช้อยเหมือนนางในวรรณคดี หรือถ้าปั้นผู้ชายก็ต้องปั้นหนุ่มแน่นหน้าตาแมนๆ สีหน้ามุ่งมั่นดุดัน รูปร่างสูงใหญ่ มีกล้ามเนื้อล่ำๆ เน้นๆ เป็นมัดๆ ดูแข็งแกร่งพึ่งพาได้ดั่งซูเปอร์ฮีโร่ในหนังฝรั่ง
เหตุที่ศิลปินพากันสร้างผลงานออกมาคล้ายๆ กันในรูปแบบที่ว่านี้ เนื่องจากในสมัยนู้นประเทศสยามพึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยหมาดๆ รัฐบาลซึ่งบริหารโดยคณะราษฎรกำลังมุ่งเน้นนโยบายสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ เป็นที่เชิดหน้าชูตาในระดับนานาชาติ ในมโนทัศน์ของผู้นำประเทศภาพลักษณ์ของประชาชนในอุดมคติคือ ชาย หญิง ที่แข็งแรงดูดี มีความขยัน เฉลียวฉลาด และทันยุคทันสมัยในแบบสากล รัฐบาลจึงมีข้อกำหนดและคำแนะนำต่างๆ ในการดำเนินชีวิตออกมาร้อยแปด เช่น ห้ามเคี้ยวหมาก ห้ามถอดเสื้อ ห้ามเดินเท้าเปล่าในที่สาธารณะ, ส่งเสริมให้ กินอาหารที่มีประโยชน์ กินข้าวน้อยๆ กินกับเยอะๆ นอนเป็นเวลาแต่หัวค่ำ ตัวจะได้โตๆ ไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวตะวันตกได้ไม่เคอะเขิน เอาใจใส่จ้ำจี้จ้ำไชแม้แต่เรื่องเล็กเรื่องน้อยไม่ต่างกับแม่กับเมีย
แค่ห้ามแค่แนะอย่างเดียวเดี๋ยวประชาชนจะนึกไม่ออกว่าภาพลักษณ์ในฝันนั้นดูดีแค่ไหน ศิลปะร่วมสมัยเลยถูกจับพลัดจับผลูมามีส่วนร่วมในการส่งเสริมนโยบายของรัฐแบบเนียนๆ เช่น ริเริ่มการประกวดผลงานศิลปะตามคอนเซ็ปต์ของคณะราษฎรในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้เอามาโชว์ จนถึงผลงานที่ได้รับรางวัลก็เลยมักเป็นรูปคนในสไตล์ที่ทางราชการอยากจะให้ประชาชนเป็น
ในยุคนั้นรัฐบาลยังปลุกกระแสรักชาติโดยการสร้างอนุสาวรีย์วีรบุรุษ เช่น อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยรูปปั้นบนอนุสาวรีย์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากมโนภาพของศิลปินผนวกกับแนวคิดของรัฐ ไม่ได้อิงจากต้นแบบจริง พระเจ้าตาก, ย่าโม, และทหาร ตำรวจ ที่อยู่บนอนุสาวรีย์จึงดูกำยำล่ำสันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แสดงสเตอริโอไทป์ของมนุษย์ในอุดมคติเพื่อให้ประชาชนได้เห็นและเอาไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาตนเอง
ก่อนจะเลยเถิดไปไกลกว่านี้ ขอวกกลับไปที่นิวยอร์กกันอีกที มหกรรมเวิลด์แฟร์ในปี พ.ศ. 2482 ที่จัดต่อเนื่องไปจนถึงปีถัดไปนั้น ดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศให้มาชมงานได้มากถึง 45 ล้านคน ทั้งที่ในช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กำลังเริ่มจะฮึ่มๆ กันอยู่ ไม่รู้สยามลงทุนตกแต่งพาวิลเลียนไปเท่าไหร่แต่ก็ดูจะเป็นการพีอาร์ที่คุ้มค่า โชว์นู่นนิดโชว์นี่หน่อยให้ต่างชาติเห็นเป็นออร์เดิร์ฟ กระตุ้นให้เขาอยากข้ามน้ำข้ามทะเลตามมาดูของสวยของงามอีกมากมายในบ้านเราทั้งปราสาทราชวัง วัดวาอาราม รวมถึงสมบัติพัสถานในพิพิธภัณฑ์ รับรองว่าตระการตากว่าที่เอาไปจัดแสดงเยอะ
เราว่าไปๆ มาๆ ในบรรดาสิ่งสวยงามที่นำไปโปรโมทไอ้ที่หาดูยากที่สุดในบ้านเรา ไม่ว่าจะในยุคนู้นหรือยุคนี้ กลับไม่ใช่โบราณวัตถุ หรือผลงานศิลปะชิ้นไหน แต่เป็นคนไทยไซส์ฝรั่งทรงเหมือนรูปปั้นในพาวิลเลียนสยาม อย่างตัวเราเองไม่ใช่ไม่อยากมีหุ่นแบบอุดมคตินะ พยายามกินแต่กับ นอนเยอะๆ ตามที่คณะราษฎรแนะนำทุกอย่าง ผลปรากฏว่าก็โตไวอยู่หรอก แต่ขยายออกทางข้างๆ ไม่ขึ้นบน
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ