อิตาเลียนรามเกียรติ์
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
……………………………………..
พอตกค่ำ คำถามประจำวันที่ดูจะคิดยากคิดเย็นที่สุด ยากยิ่งกว่าโจทย์คณิตศาสตร์ตรีโกณมิติ ถอดแคลคูลัสซ้อนกัน 7 สมการ คือคำถามสุดหินที่ว่า ‘เย็นนี้จะกินอะไรดี?’ พอคิดเองก็แล้ว ถามคนรอบข้างก็แล้ว วันไหนถ้าหาคำตอบไม่ได้ก็มักไปจบที่ร้านเดิมๆ กับเมนูเดิมๆ และหนึ่งในบรรดาร้านเดิมๆ ที่แวะเวียนไปนั่งทานอยู่บ่อยๆ คือร้านสุกี้แถวยศเส ที่ชอบเพราะรสชาติจัดจ้านดี แถมยังแนะนำโดยมิชลินไกด์ บิบ กูร์มองด์ ที่เจ๋งอีกข้อคือพอกินเสร็จซู้ดซ้าดปากกำลังแสบๆ ก็สามารถเดินไปกินไอติมเจ้าดังแก้เผ็ดต่อได้เลยตรงร้านข้างๆ
เวลาจะไปกินสุกี้แต่ละทีทั้งขาไปและขากลับ เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขับรถผ่านสะพานกษัตริย์ศึก ที่ทอดข้ามคลองผดุงกรุงเกษม และทุกครั้งเวลารถเราติดไฟแดงอยู่บนสะพานก็เลี่ยงไม่ได้อีกเช่นกันที่จะเหลือบมองข้ามรั้ว ทะลุดงไม้ใหญ่เข้าไปในกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่ตั้งอยู่ขนาบสะพาน เพื่อชื่นชมบ้านโบราณในสไตล์โคโลเนียลหลังสวยดูเด่นเป็นสง่าที่อยู่ภายใน ถึงแม้จะถูกรายล้อมไปด้วยตึกสมัยใหม่ขนาดใหญ่มหึมาแต่ก็ไม่สามารถจะบดบังออร่าที่เปล่งออกมาได้
บ้านโบราณนี้มีอายุอานามไม่น้อยแค่ 100 ปีกว่าๆ โดยเริ่มสร้างเฟสแรกประมาณ พ.ศ. 2440 เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดิน 4 ไร่กว่า และงบประมาณเพื่อสร้างบ้านให้แก่ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) ไว้ใช้เป็นที่พำนัก ต่อมาพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง ในปี พ.ศ. 2456 จึงได้รับพระราชทานเงินอีกครั้งจากในหลวง รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้สร้างบ้านเพิ่มอีกหลังให้เชื่อมต่อกับบ้านหลังเดิมด้วยงบประมาณ 150,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเยอะมากในสมัยนั้น เฟส 2 ของบ้านเลยออกมาอลังการงานสร้าง ประจวบกับที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ดูแลกรมศิลปากรด้วยอยู่พอดี เลยจัดหนักไหว้วานสถาปนิก วิศวกร ศิลปิน และช่าง จากในกรมทั้งที่เป็นชาวต่างชาติ ทั้งที่เป็นคนไทย ให้มาลงมือลงแรงช่วยกันสร้างบ้านหลังนี้ให้ออกมาเด็ดสะระตี่ โดยมีชาวอิตาเลียน อี. มันเฟรดี เป็นผู้ออกแบบ, กาเล็ตตี้ เป็นผู้คุมการก่อสร้าง, ฟอร์โน วางลวดลายประดับอาคาร, คาร์โล ริโกลี วาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง, ดอง ชอง จากเซี่ยงไฮ้ แกะสลักไม้, ผนึกกำลังกับช่างสิบหมู่ชาวไทยจากกรมศิลปากร ผลปรากฏว่าบ้านหลังเบ้อเร่อบ้าร่าในสไตล์ยุโรปที่ยุบยิบไปด้วยลวดลายทั้งปั้น ทั้งวาด ทั้งแกะสลัก ทุกหัวเสา ระเบียง บันได ประตู หน้าต่าง เพดาน ที่ดูเหมือนจะเป็นงานช้าง แต่กลับสร้างเสร็จได้ในปีเดียว
เมื่อเสร็จสมบูรณ์บ้านหลังนี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘บ้านนนที’ ตามชื่อ ‘พระนนทิการ’ วัวที่เป็นพาหนะของพระอิศวร และเป็นโลโก้ของกระทรวงวังที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีเป็นเสนาบดีอยู่ ชื่อนนทีนี้ก็เลยเหมาะเหม็งเข้าธีมกับเจ้าของบ้านที่สุด บ้านนนทีถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีจวบจนท่านถึงแก่อสัญกรรม และบ้านก็ตกทอดมาสู่ทายาทรุ่นต่อรุ่น
พอนานเข้าบ้านนนทีก็เริ่มจะเสื่อมสภาพตามกาลเวลา อะไรๆ ก็เริ่มจะทยอยพังไปทีละอย่างสองอย่าง และที่หนักสุดคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรที่กะจะถล่มญี่ปุ่นกับพวกให้ราบคาบได้ทิ้งระเบิดพลาดเป้าจากหัวลำโพงซึ่งอยู่ไม่ไกล มาตกในรั้วบ้านนนทีอยู่เนืองๆ จนทำให้บ้านเละตุ้มเป๊ะเสียหายไปหลายส่วน
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2485 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีมติให้ใช้งบประมาณ 6 ล้านบาทจากโรงงานยาสูบ มาซื้อบ้านนนทีกับที่ดินแปลงนี้เพื่อนำไปบูรณะซ่อมแซมไว้ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองระดับวีไอพี งานนี้รัฐบาลเสียค่าซ่อมไปอีก 800,000 บาท ในการปรับปรุงบ้านที่ยับเยินให้สวยปังปุริเย่ดังเดิม แล้วภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้คล้องจองกับชื่อผู้อนุมัติซื้อเป็นชื่อ ‘บ้านพิบูลธรรม’ ซึ่งยังคงใช้เรียกต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
และตั้งแต่ พ.ศ. 2501 บ้านแห่งนี้ก็ได้กลายที่ทำการของการพลังงานแห่งชาติ ซึ่งต่อมากลายเป็น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พอองค์กรใหญ่ขึ้น พื้นที่ออฟฟิศเริ่มมีไม่พอก็มีการสร้างตึกใหม่ๆขึ้นมารายล้อมบ้านพิบูลธรรมจนเกือบจะเต็มพื้นที่
ในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่ประดับประดาบ้านพิบูลธรรม สิ่งที่เรามีประเด็นสงสัยซึ่งเดี๋ยวจะเฉลยว่าทำไม คือผลงานจิตรกรรมที่วาดด้วยเทคนิคเฟรสโก หรือการวาดลงบนพื้นผิวปูนที่ยังหมาดๆ ไม่แห้งดี เนื้อสีจะผสมผสานลงไปในเนื้อปูนทำให้ภาพที่วาดคงทนถาวรไม่หลุดล่อน งานนี้ คาร์โล ริโกลี ศิลปินชาวอิตาเลียน เป็นผู้รับผิดชอบ ริโกลีนี่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นคนเดียวกับที่วาดภาพประดับใต้โดมพระที่นั่งอนันตสมาคม, วาดภาพเพดานพระที่นั่งบรมพิมาน, วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดราชาธิวาช, วาดภาพประดับวังบางขุนพรหม, และงานสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย
ในบ้านพิบูลธรรมมีเฟรสโกภาพกามเทพเหาะอยู่บนท้องฟ้าท่ามกลางหมู่นกปักษาสวรรค์ ตนหนึ่งสีไวโอลิน ตนหนึ่งถือพวงดอกไม้ อีกตนตีฉาบ ดูร่าเริงบันเทิงใจ จริงๆ แล้วภาพหมู่กามเทพแบบนี้ก็มีให้เห็นได้ทั่วไปในโบสถ์ หรือวังของฝรั่ง แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าริโกลีเริ่มใส่ความเป็นบ้านเราเข้าไปแบบเนียนๆ โดยแทนที่จะวาดทารกฝรั่งตัวขาววอกติดปีกเหมือนกามเทพปกติ เขากลับวาดทารกตัวคล้ำๆ เหมือนเด็กสยามเข้าไปแทน
ภาพกามเทพนี่ดูเป็นไทยแค่นิดหน่อย แต่ที่ดูโคตรจะไทยเลยคือภาพเฟรสโกเรื่องราวจากวรรณคดี 3 ภาพที่ริโกลีวาดประดับอยู่บนเพดาน และกำแพงบ้านพิบูลธรรม ภาพเฟรสโกที่ว่านี้ประกอบไปด้วยภาพแรกเป็นภาพรามสูรไล่จับนางเมขลา โดยเรื่องราวก็เป็นอย่างที่รู้ๆ กันว่าเมขลาเป็นนางฟ้าที่มีดวงแก้ววิเศษ จะเหาะไปไหนก็จะถือไปด้วยตลอดเวลา ยักษ์เกเรชื่อรามสูรเห็นแสงแวววาวของดวงแก้วเข้ารู้สึกอยากแย่งมาเป็นของตัวเอง จึงเหาะตาม ไล่ขว้างขวานเพชรซึ่งเป็นอาวุธคู่กายใส่เมขลา ส่วนเมขลาก็ไม่กลัวหลอกล่อหลบหลีกไปมา เกิดแสงวิบวับ และเสียงครืนครานอยู่บนฟ้า จนทำให้คนโบราณเชื่อว่านี่แหละคือสาเหตุให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง
ภาพที่ 2 เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนพระรามตามกวาง โดยเรื่องมีอยู่ว่า ทศกัณฐ์คิดจะจิ๊กนางสีดาจากพระรามเลยบังคับยักษ์ชื่อมารีศให้แปลงร่างเป็นกวางทองไปล่อพระรามที่อาศรม พอนางสีดาเห็นกวางทองดูสวยดีเลยอ้อนพระรามให้ช่วยไปตามจับเอามาเลี้ยง พระรามจึงออกจากอาศรมเพื่อตามกวางทิ้งนางสีดาไว้คนเดียว เปิดโอกาสให้ทศกัณฐ์ซึ่งแอบซุ่มดูอยู่โผล่มาอุ้มนางสีดาไป
ภาพที่ 3 เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนทศกัณฐ์ลักนางสีดาต่อสู้กับนกสดายุ สตอรี่นี้ก็สุดพิสดารพันลึก ประมาณว่านกสดายุซึ่งเป็นเพื่อนของ ท้าวทศรถ พ่อของพระราม รู้ว่าทศกัณฐ์กำลังขโมยนางสีดาไปจากพระรามเลยบินเข้าไปขวางจนเกิดการต่อสู้กันโช้งเช้ง
เรื่องราวอะไรเทือกนี้ดูจะห่างไกลความเข้าใจของศิลปินจากอีกซีกโลกอย่าง คาร์โล ริโกลี มาก แต่หลังจากที่มาตะลุยงานในบ้านเราอยู่หลายปี ริโกลีเลยได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวเทพปกรณัมแบบไทยๆ แถมยังได้ถวายงานใกล้ชิดกับบรมครูด้านวัฒนธรรมอย่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงไม่น่าแปลกที่ชาวอิตาเลียนคนนี้จะสามารถวาดภาพที่มีเนื้อหาผิดแผกแหวกแนวจากศิลปินฝรั่งคนอื่นๆได้ เมื่อเรื่องราวเปลี่ยนไปกลายเป็นวรรณคดีไทย แต่สไตล์การวาดยังเหมือนเดิมตามที่ริโกลีได้เล่าเรียนมาจากสถาบันศิลปะในยุโรป คือมีท่วงท่ากล้ามเนื้อตามหลักกายวิภาค มีแสงเงา มีมิติตื้นลึก จึงเกิดเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ผสมผสานความเป็นตะวันออก และตะวันตกได้อย่างโดดเด่นมีเอกลักษณ์
ที่แง้มไว้ก่อนหน้าว่าเรายังคันตะหงิดๆ มีประเด็นค้างคาใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับภาพผลงานเฟรสโกของ คาร์โล ริโกลี ในบ้านพิบูลธรรม เพราะวันดีคืนดีเราเผอิญไปได้รูปถ่ายสมัยรัชกาลที่ 6 มาชุดหนึ่งเป็นรูปถ่ายจิตรกรรมฝาผนังฝีมือริโกลีในบ้านนนที รูปถ่ายชุดนี้ถ้าใครได้ดูเผินๆ ก็คงคิดเหมือนกันหมดว่าภาพเฟรสโกในรูปไม่ต่างอะไรกับที่เห็นอยู่ในบ้านพิบูลธรรมทุกวันนี้ ถ้าอยากถ่ายรูปให้ออกมาเหมือนกับรูปถ่ายโบราณที่ว่านี้อีกทีก็คงไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงสะพายกล้องเข้าไปถ่ายภาพวาดที่ยังอยู่ครบครันในบ้านแค่นี้ก็สิ้นเรื่อง
ถ้ามันง่ายอย่างที่คิดก็ดีน่ะสิ เราจะได้เอารูปถ่ายชุดนี้เก็บเข้ากรุไปไม่ต้องมานั่งเกาหัวสงสัยคิดอะไรต่อมิอะไรให้ฟุ้งซ่าน ปัญหามันดันอยู่ที่ว่าพอมาดูดีๆ ภาพวาดฝีมือริโกลีในรูปถ่ายโบราณมันแค่เกือบเหมือนแต่ไม่เหมือนกับภาพวาดในบ้านพิบูลธรรมปัจจุบัน!?! เพื่อพาให้งงงวยไปด้วยกัน เราเลยเอาภาพทั้งคู่มาเปรียบเทียบให้ท่านทั้งหลายช่วยพิจารณาดู แล้วว่าจะชวนมาเล่นเกมจับผิดภาพกัน เอ๊า! นึง ส่อง ซั่ม ใครเจอจุดที่แตกต่างกันเยอะที่สุดคือผู้ชนะ
เห็นไหมเจอจุดแตกต่างเพียบเลยล่ะสิ แล้วมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ยังไง? บอกตามตรงว่าเราก็ไม่รู้แน่ๆ หรอกเพราะเกิดไม่ทัน แต่ถ้าจะให้เดาอย่างมีหลักการ เราว่ารูปถ่ายโบราณชุดนี้เป็นรูปที่ถ่ายจากผลงานที่เสร็จแล้วในบ้านนนทีแน่ๆ ไม่ใช่รูปถ่ายภาพสเกตช์ที่พอศิลปินลงมือวาดงานจริงอาจจะมีปรับเปลี่ยนตรงนู้นตรงนี้บ้างแล้วแต่อารมณ์จะพาไป ที่เราคิดอย่างงี้เพราะรายละเอียดของภาพวาดในรูปถ่ายนั้นครบสมบูรณ์ไม่ต้องแต่งเติมอะไรเพิ่มอีกแล้ว ไม่ใช่แนวภาพสเกตช์ที่มักจะวาดไว้คร่าวๆ อีกทั้งสัดส่วนและตำแหน่งของตัวละครสำคัญส่วนใหญ่ในภาพก็มีขนาดเท่ากันและวางอยู่ในจุดเดียวกันกับภาพปัจจุบันในบ้านพิบูลธรรมเป๊ะ เพื่อความชัวร์ขึ้นไปอีกขั้นเรายังลองเทียบลายกรอบไม้แกะสลักที่ติดมาในภาพ กับกรอบไม้ที่ยังใช้อยู่ในบ้านพิบูลธรรม เล็งไปเล็งมาพบว่าเป็นลายเดียวกันไม่มีผิดเพี้ยน ซึ่งถ้าเป็นภาพสเกตช์ริโกลีคงไม่อุตส่าห์หากรอบไม้แกะสลักสุดวิจิตรที่มีลายและขนาดเหมือนบ้านพิบูลธรรมมาใส่ให้เมื่อยตุ้มและเปลืองตังค์
หรือเป็นไปได้ว่า คาร์โล ริโกลี วาดเสร็จแล้วเกิดไม่พอใจ วันดีคืนดีหวนกลับมาวาดแก้ใหม่? ตามความคิดเห็นของเรา เราว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าศิลปินจะแก้ก็คงแก้ให้มันเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่านี้ ไม่ใช่แก้แค่รายละเอียดหยุมหยิม ที่พอแก้ไปก็เหมือนไม่แก้ ไม่รู้จะเสียเวลาแก้ไปทำไม แถมการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบเฟรสโกที่ต้องวาดตอนปูนยังเปียกๆ ไม่ใช่อะไรที่จะตามมาวาดทับกันวันหลังได้ง่ายๆ ถ้าปูนแห้งสนิทดีแล้ว
ส่วนข้อสันนิษฐานที่เราว่าน่าจะเป็นไปได้ คือกาลเวลาและลูกระเบิดคงจะสร้างความเสียหายให้กับจิตรกรรมฝาผนังในบ้านนนทีเป็นอันมาก ในปี พ.ศ. 2485 เมื่อมีการบูรณะครั้งใหญ่ ผู้ที่ถูกว่าจ้างให้มาซ่อมแซมอาจจะไม่มีตัวอย่างภาพเหล่านี้สมัยที่ยังไม่เสียหาย ส่วน คาร์โล ริโกลี ก็บ๊ายบายกลับอิตาลีไปตั้งแต่ก่อนสงครามโลกเลยไม่เหลือใครให้ไถ่ถาม พอเป็นซะอย่างนี้เลยต้องซ่อมกันไปแบบตามมีตามเกิด ส่วนไหนที่เสียหายน้อยก็ซ่อมง่ายหน่อย ส่วนไหนที่เข้าขั้นโคม่าภาพแหว่งหายไปก็ต้องใช้จินตนาการปะติดปะต่อภาพกันเอาเอง เรายังเคยเห็นหลักฐานระบุไว้อีกว่าภาพเฟรสโกที่เสียหายยับเยินมากที่สุดก่อนจะถูกซ่อมคือภาพรามเกียรติ์ตอนทศกัณฐ์ลักนางสีดาต่อสู้กับนกสดายุ ซึ่งภาพนี้ในปัจจุบันก็ดันดูผิดเพี้ยนไปไกลที่สุดจากรูปถ่ายเก่า พูดง่ายๆ คือพังมากต้องซ่อมเยอะ ผู้ซ่อมเลยต้องมโนเยอะตามไปด้วย
เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน คราวหน้าถ้าจะซ่อมจิตรกรรมในบ้านพิบูลธรรมอีกที ฝากนึกถึงรูปถ่ายชุดนี้ด้วยเผื่อจะมีประโยชน์ไว้ใช้เป็นตัวอย่าง เพราะถ้าขืนปล่อยให้คนซ่อมใช้จินตนาการบ่อยๆ อีกหน่อยภาพเฟรสโกเหล่านี้อาจจะกลายเป็นภาพเมขลาขว้างขวานใส่นางสีดา ภาพพระรามตามรามสูร และ ภาพนกสดายุต่อสู้กับกวาง คงจะมันส์กันพิลึก
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ