เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล

เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

รู้ปะว่า ‘พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ พระพุทธรูปองค์สูงเท่าตึกที่ประดิษฐานตั้งตระหง่านอยู่กลางพุทธมณฑลนั้นกว่าจะสร้างเสร็จได้ก็ผ่านเรื่องราวอันยาวเหยียดไม่แพ้ชื่อ จะยาวแค่ไหนใช้เวลาไปกี่เดือนกี่ปี เดี๋ยวเรามาลองช่วยกันคำนวณนะ

“พระประธาน ณ พุทธมณฑลจำลองท้องสนามหลวง” พ.ศ.2500 เทคนิค ภาพถ่าย ขนาด 50×40 เซนติเมตร

ปฐมบทของมหากาพย์เรื่องยาวนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 รัฐบาลที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดปิ๊งไอเดียบรรเจิดอยากจะสร้างพุทธสถานขนาดใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มที่เรียกว่าพุทธบุรีมณฑลไว้แถวๆ สระบุรี ถ้าถามรัฐบาลว่าจะสร้างทำไม ก็จะได้เหตุผลว่าจะสร้างเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็เชื่อว่ารัฐบาลตั้งใจจะสร้างสถานที่แห่งนี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อเป็นเขตเซฟโซน ประกาศให้โลกรู้ว่าเป็นศาสนสถาน จะได้ไม่โดนถล่มด้วยระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็ขยันส่งเครื่องบินมากระหน่ำทิ้งบอมบ์ใส่บ้านเราซึ่งฝักไฝ่ฝ่ายตรงข้ามกับเขาซะเหลือเกิน

“พระประธาน ณ พุทธมณฑลจำลองท้องสนามหลวง” พ.ศ.2500 เทคนิค ภาพถ่าย ขนาด 7×9.5 เซนติเมตร

และแล้วแนวคิดการสร้างพุทธมณฑลบุรีก็ถูกลืมๆ ไป เมื่อจอมพล ป. พ้นจากอำนาจ จนวันเวลาล่วงเลยไปอีกหลายปี จอมพล ป. เกิดดวงเฮงได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกที โครงการสุดอลังการที่ว่านี้จึงถูกเอามาปัดฝุ่นใหม่ในปี พ.ศ. 2495 เหตุผลหลักคราวนี้คือเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบ 2,500 ปี ในวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2500 หรือที่เรียกกันว่า ‘กึ่งพุทธกาล’ คำว่า ‘กึ่ง’ มีความหมายเดียวกับ ‘ครึ่ง’ เรื่องนี้มาจากความเชื่อโบราณที่ทำนายว่าพระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ 5,000 ปี ก่อนจะเสื่อมสลาย เพราะฉะนั้น 2,500 ก็คือครึ่งหนึ่งของ 5,000 เก็ตเนาะ

งานนี้ดูเหมือนจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างซะที เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ณ พื้นที่ส่วนหนึ่งของอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งภายหลังได้ถูกแยกออกมาเป็นอำเภอพุทธมณฑล

“ขั้นตอนการสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พ.ศ. 2521-2525 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9.5 เซนติเมตร

พอจะสร้างพุทธสถาน ก็ต้องมีพระประธานที่เป็นแลนด์มาร์ก แล้วพระพุทธรูปองค์นี้ควรจะมีพุทธลักษณะยังไงดีล่ะเพื่อให้เข้ากับนโยบายก้าวล้ำนำสมัยพาไทยสู่สากลที่จอมพล ป. พยายามจะผลักดันประเทศให้พัฒนาไป ถ้าจะให้ถอดแบบก๊อบปี้พุทธศิลป์โบราณมาเลยเดี๋ยวจะไม่เข้าคอนเซ็ปต์ คณะกรรมการเลยต้องหันซ้ายหันขวาหาประติมากรที่ครบเครื่องทั้งฝีมือการปั้น เข้าใจศิลปะร่วมสมัยอย่างทะลุปรุโปร่ง มีความเป็นอินเตอร์ และไม่คร่ำครึยึดติดอยู่กับความโบราณ คุณสมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้ก็ตรงเป๊ะพอดิบพอดีกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรมือวางอันดับหนึ่งในขณะนั้น ผู้ซึ่งผ่านงานปั้นอนุสาวรีย์มามากกว่าใครหน้าไหนในประเทศ แถมยังมีทีมลูกศิษย์ลูกหาฝีไม้ลายมือระดับพระกาฬมาคอยช่วยให้งานที่ถึงแม้จะใหญ่ยักษ์แค่ไหนก็สามารถสำเร็จเสร็จลุล่วงไปได้

“ขั้นตอนการสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พ.ศ. 2521-2525 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9.5 เซนติเมตร
“ขั้นตอนการสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พ.ศ. 2521-2525 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9.5 เซนติเมตร

ดีที่อาจารย์ศิลป์ไม่ได้เป็นแนวโมเดิร์นจ๋า หรือคอนเซ็ปชวลจนดูไม่รู้เรื่อง แถมส่วนตัวท่านก็ยกย่องพุทธศิลป์ไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอีก โดยเฉพาะพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่ไม่เน้นความสมจริงแต่เน้นความสวยงามตามอุดมคตินั้นอาจารย์ศิลป์ดูเหมือนจะชื่นชอบมากที่สุด ผลงานที่ออกมาจึงเป็นพระพุทธรูปในท่าย่างพระบาทที่เรียกว่าปางลีลา ปางซิกเนเจอร์ของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย โดยปางลีลานี้มีต้นกำเนิดมาจากพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

“ขั้นตอนการสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พ.ศ. 2521-2525 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9.5 เซนติเมตร

รายละเอียดในส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูปที่ออกแบบใหม่นั้นก็มีรายละเอียดที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัยมาแบบเต็มๆ เอามาผสมผสานกับประติมากรรมร่วมสมัยของไทยในยุคนั้นที่เน้นให้เห็นสรีระ กล้ามเนื้อ สีหน้า แววตา ท่าทาง ให้ดูสมจริงเหมือนมีชีวิต อีกทั้งอาจารย์ศิลป์ยังเข้าใจดีว่าการจะปั้นพระพุทธรูปจะเน้นเอาเหมือนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพระพุทธเจ้ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร สิ่งที่ทำได้คือรูปแทนพระองค์ที่สามารถทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นรู้สึกสงบ เลื่อมใส และระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์

สรุปว่างานนี้อาจารย์ศิลป์ได้ออกแบบพระพุทธรูปเอาไว้ด้วยกัน 4 แบบ ก่อนที่คณะกรรมการจะลงมติคัดเลือกเอาไว้ 1 แบบ โดยพระพุทธรูปองค์แรกที่ผ่านการคัดเลือกแล้วปั้นหล่อขึ้นมามีขนาดเพียง 2.14 เมตร ใช้เพื่อประดิษฐานที่โรงพิธีในการปลุกเสก ต่อมาจึงมีสร้างพระพุทธรูปแบบเดียวกันออกมาเป็นองค์ที่ 2 แต่คราวนี้ขยายเป็นขนาดสูง 3 เมตรครึ่ง นำไปประดิษฐานที่พุทธมณฑลจำลอง ณ ท้องสนามหลวง ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 12-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านร้านตลาดจากทั่วสารทิศได้แห่แหนกันมากราบไหว้บูชา งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษนี้จริงๆ ก็เป็นประเด็นอยู่เนื่องจากในช่วงเวลานั้นรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์มีปัญหาระหองระแหง ในวันเปิดงานรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญให้ในหลวง รัชกาลที่ 9 มาทรงเป็นประธานในพิธี แต่พอถึงวันจริงพระองค์ท่านไม่ได้เสด็จฯ มาด้วยเหตุผลว่าทรงประชวร จอมพล ป. เลยตัดสินใจโซโล่เป็นประธานเปิดพิธีซะเอง สร้างความคลางแคลงใจให้ประชาชนและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ

“ขั้นตอนการสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พ.ศ. 2521-2525 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9.5 เซนติเมตร

การก่อสร้างพุทธมณฑลภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยเหมือนกำลังจะดำเนินการมาดีๆก็ต้องหยุดกึกไปอีกทีด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณ บวกกับเรื่องการเมืองที่สั่งสมมาจนถึงจุดแตกหัก เมื่อจอมพล ป. โดน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และในขณะที่โครงการยังค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ตัวยืนในการออกแบบก่อสร้างพระประธานก็ยังมาด่วนจากไประหว่างการผ่าตัดรักษามะเร็งกระเพาะอาหารที่โรงพยาบาลศิริราชอีก โครงการพุทธมณฑลจึงเป็นอันต้องเป็นหมันม้วนเสื่อรอกันไปอีกยาวๆ

“ขั้นตอนการสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พ.ศ. 2521-2525 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9.5 เซนติเมตร

ผ่านไปอีกราว 2 ทศวรรษ เหมือนทุกอย่างจะถูกลืมเลือนกันไปหมดแล้ว จู่ๆ ในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาลที่นำโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก็มีไอเดียที่จะสานต่อโครงการก่อสร้างพุทธมณฑลด้วยงบประมาณของรัฐ และตังค์ที่ประชาชนร่วมบริจาคขึ้นมาอีก ครั้งนี้โอนงานให้ไปอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ โดยตั้งใจจะสร้างให้เสร็จทันการเฉลิมฉลองโอกาสที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ใน พ.ศ. 2525 พอมีเดตไลน์แบบด่วนๆ อย่างนี้ แถมในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังทรงรับงานนี้มาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ การก่อสร้างก็เลยยิ่งรวดเร็วราวกับติดจรวด

“ขั้นตอนการสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พ.ศ. 2521-2525 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9.5 เซนติเมตร
“ขั้นตอนการสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พ.ศ. 2521-2525 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14×9.5 เซนติเมตร

ตามแผนเดิม พระประธานสำหรับพุทธมณฑลจะจัดสร้างโดยการขยายจากต้นแบบที่อาจารย์ศิลป์ปั้นไว้ให้มีความสูง 2,500 นิ้วเพื่อให้สอดคล้องกับธีมกึ่งพุทธกาล แต่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่กังวลว่าพระพุทธรูปที่ใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้อาจจะไม่มั่นคงแข็งแรง ขืนถล่มลงมาเดี๋ยวจะดูไม่จืด แถมการสร้างยังต้องใช้งบประมาณและเวลานานมากกลัวจะเสร็จไม่ทัน ในที่ประชุมเลยเห็นพ้องต้องกันให้ลดขนาดพระพุทธรูปลงมาเป็น 2,500 กระเบียด หรือเท่ากับ 15.785 เมตร เนื่องจากอาจารย์ศิลป์ไม่อยู่แล้ว การปั้นหล่อพระพุทธรูปในครั้งนี้เหล่าลูกศิษย์ของอาจารย์จึงเป็นผู้ร่วมดำเนินงาน เช่น สาโรช จารักษ์ รับเป็นหัวหน้าคณะประติมากร และ ชลูด นิ่มเสมอ เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับพุทธลักษณะและวิธีการปั้นพระพุทธรูป ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 เมื่อใกล้จะแล้วเสร็จ พระประธานองค์นี้ก็ได้รับพระราชทานนามอย่างเพราะพริ้งว่า ‘พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’

ในที่สุด พุทธมณฑล และพระประธาน ก็แล้วเสร็จอย่างฉิวเฉียด สามารถจัดงานสมโภชได้ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 เสร็จทันปีที่มีการเฉลิมฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ตามแพลน

ถ้าเอา 2525 ลบด้วย 2487 ซึ่งเป็นปีที่เกิดความคิดริเริ่ม ก็เป็นเวลาถึง 38 ปี กว่าที่โครงการนี้จะสำเร็จลุล่วง และถ้ามีใครมาถามว่าพุทธมณฑลและพระประธานสร้างเสร็จเมื่อไหร่ ต้องบอกว่าเสร็จเมื่อกึ่งพุทธกาล กับอีกกึ่งหนึ่งของกึ่งศตวรรษ ถึงจะเป๊ะ

 

Don`t copy text!