แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ

แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………….

‘เตือนใจเมื่อจะรับทำงาน

จงงดทำงานที่ผู้ว่าจ้างเขาไม่ไว้วางใจเรา

แม้แต่จะได้เงินมามากมายก็ไม่คุ้มกับค่า (คับใจ) เราต้องคอยต้อนรับเขาจะมาเช้ามาเย็น

  1. แล้วหรือยัง?
  2. เมื่อไรจะแล้ว?
  3. ทำไปได้แค่ไหน?
  4. ต้องทำของฉันให้ดีๆ
  5. เติมนั่นอีกนิด
  6. เติมนี่อีกหน่อย

เราจะต้องต้อนรับเขา (เจ้าของ) วันละหลายหน งานของเราก็ทำได้ไม่เต็มที่ พอจะใช้ปัญญาความคิดเพื่อประกอบการงานให้ได้ผลเต็มที่ก็กลับต้องใช้ปัญญาน้อยลง…’

ข้อความสั้นๆ ตรงๆ จากสมุดโน๊ตส่วนตัวของ แนบ บังคม หรือที่ศิษย์เพาะช่างรุ่นหลังสงครามโลกเรียกติดปากว่า ‘ครูแนบ’ แสดงให้เห็นว่าสำหรับศิลปินขนานแท้แล้ว เงินทองนั้นเป็นเรื่องรอง ความสบายใจและคุณภาพของผลงานต่างหากล่ะที่ต้องมาก่อน

ข้อความจากสมุดโน๊ตส่วนตัวของแนบ บังคม

ถ้ายังไม่คุ้นว่าครูแนบเป็นใครก็ไม่น่าแปลก เพราะประวัติและข้อมูลผลงานของท่านนั้นถูกบันทึกไว้น้อยมาก เท่าที่ทราบ แนบ บังคม เข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2461 พอเรียนจบก็ได้บรรจุเป็นอาจารย์สอนศิลปะอยู่ที่นั่นจนเกษียณ ว่ากันว่าห้องทำงานเดิมของครูแนบในอาคารโรงเรียนเพาะช่างหลังเก่าที่ในหลวงรัชกาล 6 เสด็จฯ มาเปิดนั้นอยู่ตรงหัวมุมทางเดิน ห้องนี้ถูกเรียกว่า ‘ห้องพิพิธภัณฑ์’ เพราะภายในมี วัตถุโบราณ สัตว์สตัฟฟ์ อุปกรณ์การเรียน และผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ฝีมือครูแนบรวมถึงของศิลปินอื่นๆ ทั้งไทยทั้งเทศ จัดวางเรียงรายไว้อย่างเป็นระเบียบมากมาย พอมีใครมาขอดูครูแนบก็จะเมตตาพาชมพร้อมกับอธิบายให้ความรู้ น่าเสียดายที่ห้องนี้และของที่จัดแสดงอยู่ภายในได้กลายเป็นผุยผงไปพร้อมกับตึกทั้งตึกจากแรงระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  อันที่จริงแล้วฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งใจจะส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่จุดยุทธศาสตร์อย่างสะพานพุทธ และโรงไฟฟ้าวัดเลียบ แต่ดันหย่อนพลาดเป้าระเบิดปลิวมาตกตู้มในโรงเรียนเพาะช่าง พอไม่มีอาคารทั้งครูทั้งนักเรียนจึงต้องย้ายไปสอนกันที่ศาลาวัดนางนอง จังหวัดธนบุรี จนสงครามสงบถึงได้ย้ายกลับมาที่เดิมบนถนนตรีเพชรและริเริ่มสร้างอาคารเรียนขึ้นมาใหม่

แนบ บังคม (ที่ 2 จากซ้าย) ท่ามกลาวซากอาคารโรงเรียนเพาะช่างที่ถูกระเบิดทำลาย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2486 (ภาพจากหนังสือเพาะช่าง 100 ปี)

เหล่าลูกศิษย์ของครูแนบ ซึ่งหลายๆ ท่านเติบโตไปเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับชาติ เช่น สวัสดิ์ ตันติสุข, บัณจบ พลาวงศ์, พูน เกศจำรัส ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าครูแนบใจดี พูดเก่ง สอนเข้าใจ อธิบายรายละเอียดชัดเจน และคอยเอาใจใส่ให้กำลังใจนักเรียนอยู่เสมอ วิธีการสอนของครูแนบคือท่านจะจัดของที่เป็นแบบวาดไว้หน้ากระดานดำ หลังจากนั้นจะใช้ชอล์กเขียนอธิบายเส้นทางของแสง มุมตกกระทบและเงาบนกระดานจนนักเรียนเข้าใจ พอนักเรียนเริ่มวาด ครูแนบจะเดินตรวจงานให้คำแนะนำ และเมื่อจบคลาสใครได้คะแนนโหล่สุดในวันนั้นจะต้องทำหน้าที่แบกของที่ใช้เป็นแบบกลับไปเก็บที่ห้องครู อีกสิ่งที่ลูกศิษย์ของท่านรู้ดีคือครูแนบมีความสามารถทางศิลปะชนิดที่เก่งฉกาจครบเครื่อง ท่านวาดภาพได้ดีด้วยเทคนิคทุกชนิด ถนัดทั้งสไตล์เรียลลิสต์ และอิมเพรสชั่นนิสม์ หรือจะเป็นสไตล์ไทยๆ ท่านก็วาดได้งามหยดย้อยชดช้อยน่าประทับใจ

“ดอกชบา” พ.ศ.2463 เทคนิค ลายเส้นปากกาบนกระดาษ ขนาด 23×29 เซนติเมตร ศิลปิน แนบ บังคม

ผลงานอีกประเภทที่ครูแนบยืนหนึ่งไม่เป็นสองรองใครคือการแกะสลัก เมื่อว่างเว้นจากการสอนครูแนบรับแกะไม้เป็นรายได้พิเศษ โดยงานที่ท่านมักได้รับการว่าจ้างอยู่เสมอๆ คือการแกะ ‘ครุฑ’ ประดับหน้าอาคารบริษัทห้างร้าน ครุฑหน้าตึกหรือที่เรียกว่า ‘ตราตั้งห้าง’ เป็นของสูงไม่ใช่ใครๆ ก็มีได้ เพราะเป็นตราพระราชทานเพื่อแสดงว่าบริษัทที่ได้รับมีความน่าเชื่อถือ มั่นคง ประกอบกิจการด้วยธรรมาภิบาลอันดีงาม แต่หากภายหลังทำตัวเกกมะเหรกเกเรทางวังก็มีสิทธิ์ริบครุฑคืนได้เหมือนกัน การพระราชทานตรารับรองแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยในสมัยแรกๆ ใช้เป็นตราแผ่นดินแบบอาร์มเหมือนที่ใช้กันในประเทศตะวันตก ภายหลังเมื่อสยามเปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นรูปครุฑกางปีกหรือ ‘ครุฑพ่าห์’ ที่มีความหมายว่า ‘ผู้มีครุฑเป็นพาหนะ’ ซึ่งเทพที่ขี่ครุฑผู้นั้นคือพระนารายณ์ เป็นการอุปมาอุปไมยถึงพระมหากษัตริย์ผู้เป็นสมมติเทพ ตราที่พระราชทานให้บริษัทห้างร้านก็เลยเปลี่ยนรูปแบบตาม กลายเป็นตราครุฑแบบที่เราคุ้นตาเรื่อยมา

“แจกันดอกไม้” พ.ศ.2463 เทคนิค ลายเส้นปากกาบนกระดาษ ขนาด 26×35 เซนติเมตร ศิลปิน แนบ บังคม

ความพิเศษของครุฑที่ครูแนบรับผลิตเมื่อศตวรรษก่อนล้วนถูกแกะสลักขึ้นมาชิ้นต่อชิ้นด้วยมือจากไม้สัก โดยต้องมีขนาด และดีไซน์ที่เหมาะสมกับสถานที่ที่จะนำไปติดตั้ง เพราะฉะนั้นเมื่อผลงานเสร็จสิ้นออกมาแล้วครุฑไม้ทุกชิ้นถึงดูเผินๆ คล้ายกัน แต่เมื่อพิจารณาดีๆ จะเห็นว่ามีรายละเอียดไม่ซ้ำกันเลย ซึ่งครุฑแฮนด์เมดแบบครูแนบ ปัจจุบันเขาไม่ทำกันแล้วเพราะใช้เวลานานและแพงมาก สมัยนี้เห็นครุฑหน้าตึกไหนก็หล่อมาจากไฟเบอร์กันทั้งนั้น

“แนบ บังคม” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13.5×8.5 เซนติเมตร

นอกจากงานแกะครุฑแล้วงานสำคัญอื่นๆของครูแนบที่พอมีหลักฐานแต่ไม่ค่อยมีใครรู้กันเช่น ท่านได้รับเลือกให้ช่วยออกแบบเหรียญรางวัลรวมถึงประกาศนียบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ร่วมกับอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี อีกทั้งครูแนบน่าจะเป็นผู้แกะสลักตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบให้เป็นรูป 3 มิติ เพื่อนำไปใช้ในงานจริง เช่นทำเหรียญตรา และสัญลักษณ์ประดับอาคาร

กาลเวลาผ่านมาจะร้อยปีแล้ว แน่ใจได้เลยว่ายังมีผลงานอันทรงคุณค่าของครูแนบอีกมากมายที่ถูกลืมเลือนไป เพราะงานส่วนใหญ่ท่านไม่ลงชื่อ ไม่ได้มีบันทึกไว้ ไม่เคยตระเวนโชว์ที่ไหน ไม่ป่าวประกาศอะไรให้โลกรู้ เป็นดั่งศิลปินนิรนามที่สร้างผลงานศิลปะอันงดงามเพื่อประดับประดาบ้านเมืองช่วยยกระดับจิตใจผู้คน  คอนเซ็ปประมาณว่าจะดังไม่ดังไม่สำคัญ ฉันทำเต็มที่ คนจ้างอย่ามาจู้จี้ก็แล้วกัน

Don`t copy text!