ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ถ้าจะให้ลิสต์รายชื่อศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงขจรไกลไปยังต่างแดน คัดสรรเฉพาะประเภทที่มีพิพิธภัณฑ์ สถาบันการประมูล นักสะสมหลากเชื้อชาติ ตามหาผลงานกันให้ควั่ก เรื่องนี้บอกตามตรงว่าสบายบรื๋อไม่ยากเย็นอะไร เพราะศิลปินไทยที่เฉิดฉายไปไกลถึงเลเวลนี้มีแค่หยิบมือ ซึ่งลิสต์ที่ว่าจะแหว่งโบ๋เบ๋แบบให้อภัยไม่ได้ถ้าขาดชื่อศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง ประเทือง เอมเจริญ

ชักจะสงสัยไหมล่ะ ว่าทำไมผลงานของประเทืองถึงฮิตติดลมบนจนมีคนหลากภาษาหลายสัญชาติทั้งหัวดำหัวทองมะรุมมะตุ้มพากันคลั่งไคล้ เดี๋ยวจะขอแถลงไขเหตุผลที่เราพอจะคิดได้ ไล่เรียงให้เข้าใจซัก 8 ข้อ

‘Pratuang Emjaroen’ พ.ศ. 2527 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 24 x 19 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni

ข้อที่หนึ่ง ‘มีประวัติน่าสนใจ’ ประเทืองผ่านโลกมาอย่างโชกโชน ถ้าจะให้เล่าประวัติทั้งหมดแบบครบครันคงต้องขอเวลาทั้งวันมานั่งฝอยให้ฟัง โดยย่อๆ ก็คือประเทืองไม่เคยได้เข้าเรียนศิลปะในสถาบันการศึกษาที่ไหนเลย ฝีมือทั้งหมดมาจากพรสวรรค์และครูพักลักจำเอาเองล้วนๆ จากที่ลำบากแสนสาหัสในวัยเด็กชีวิตก็เริ่มสุขสบายมีเงินเดือนสูงๆ จากการทำงานเป็นช่างเขียนป้ายโฆษณาในโรงหนัง แต่วันดีคืนดีเกิดไปได้ดูและอินจัดกับภาพยนตร์ชีวประวัติของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ เลยเลิกอาชีพรับจ้างมาเป็นศิลปินอิสระอย่างเต็มตัวแบบฉับพลันทันด่วน ชีวิตจึงกลับมาขัดสนอีกครั้ง ประเทืองแทบจะอดตายไปแล้วเพราะกว่าจะค้นพบแนวทางศิลปะของตนที่สาธารณชนให้ความนิยมก็อีกหลายปีให้หลัง และในเวลาต่อๆ มาก็ค่อยๆ สั่งสมชื่อเสียงจนได้รับรางวัลระดับชาติต่างๆ อีกมากมาย รวมถึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติด้านจิตรกรรม ทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากการดิ้นรนเอาเองล้วนๆ

ข้อที่สอง ‘มีคาแรกเตอร์ชัดเจน’ ลองสังเกตกันดูให้ดี ศิลปินที่ประสบความสำเร็จนั้นมักมีเอกลักษณ์ชัดเจนไม่เฉพาะแต่ผลงาน แต่ยังรวมถึงบุคลิกลักษณะ อีกทั้งวิถีทางในการดำเนินชีวิตของตัวศิลปินเองด้วย ประเทืองเองก็เช่นกัน ด้วยลักษณะการแต่งกายในชุดคอจีนที่ถ้าไม่สีดำก็สีขาวทั้งตัว กับหนวดเครา และผมที่ยาวรวบมัดไว้ด้านหลังนั้นดูแตกต่างกับปุถุชนคนสามัญทั่วไป อีกทั้งวิธีการสร้างแรงบันดาลใจ เช่น ออกไปเพ่งมองแสงของดวงอาทิตย์ หรือจมดิ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและพรรณนาความรู้สึกออกมาเป็นบทกวี อะไรแบบนี้ถ้าไม่ติสท์จริงคงทำต่อเนื่องมาทั้งชีวิตไม่ได้

ข้อที่สาม ‘ผลงานมีเอกลักษณ์’ อันนี้สำคัญ และยากมาก เพราะในโลกนี้มีศิลปินนับล้านที่สร้างผลงานรูปแบบต่างๆ ที่แตกต่างกันแทบจะครบหมดทุกแบบแล้ว ผลงานศิลปะของศิลปินที่จะประสบความสำเร็จจำนวนน้อยนิดเพียงหยิบมือ ต้องไม่ซ้ำ เห็นปุ๊บรู้ปั๊บได้ทันทีว่าฝีมือใครโดยแทบไม่ต้องมองลายเซ็น เช่นเดียวกับภาพวาดของประเทืองถึงจะเป็นแนวนามธรรมที่ถึงแม้ไม่มีตัวละครให้จดจำ ไม่เน้นรูปร่าง แต่ผลงานของประเทืองมีจังหวะจะโคน จริตจะก้าน ของเนื้อหา เส้นสาย และสีสันนั้นไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ยากที่จะลอกเลียนอารมณ์ได้

‘Pratuang Emjaroen’ พ.ศ. 2527 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 24 x 19 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni

ข้อที่สี่ ‘มีพัฒนาการ มียุคต่างๆ ชัดเจน’ ในฐานะแฟนคลับผู้นิยมศิลปะไม่ว่าจะฝรั่งหรือไทย เวลาจะติดตามศึกษา และสะสมผลงานของศิลปินท่านไหน ก็อยากจะเห็นวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงในผลงานแต่ละชุด ไม่นิยมศิลปินประเภทที่ยึดติดอยู่กับความสำเร็จ พอเห็นชุดไหนขายได้ขายดีก็ก้มหน้าก้มตาปั๊มแต่ผลงานหน้าตาเหมือนเดิมแค่กลับซ้ายกลับขวา เติมนู่นนิดนี่หน่อยออกมาเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่างกับประเทืองซึ่งหมั่นตามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ มาสร้างสรรค์ผลงาน ภาพวาดของประเทืองจึงสามารถแบ่งได้เป็นยุคๆ เป็นชุดๆ ชัดเจน เช่น ยุคดำมืดเมื่อครั้งที่เริ่มเป็นจิตรกรเต็มตัว ยุคจักรวาลที่นำแสงอาทิตย์มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ยุคการเมืองสมัย 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ที่ประเทืองแสดงจุดยืนผ่านผลงานจิตรกรรม หลังจากนั้นก็ยังมียุคทะเล ยุคเมล็ดข้าว ยุคใบบัว รวมถึงยุคที่เดินสายหาแรงบันดาลใจ ไปถึงเมืองนอก เพื่อตามหาแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานที่สดใหม่และไม่ยึดติดอยู่กับอาณาเขตประเทศไทย ก่อเกิดเป็นผลงานชุดดังที่ไปวาดในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งผลออกมาก็ถูกจริตแฟนคลับหลากหลายเชื้อชาติ

ข้อที่ห้า ‘มีจำนวนเพียงพอให้เลือกเก็บ’ ของสะสมอะไรก็ตามที่มีจำนวนน้อยและหายากเกินไป ก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะเมื่อฐานแฟนคลับที่เป็นเจ้าของสิ่งนั้นมีจำกัด ทุกคนต่างหวงพากันกอดไว้อย่างเหนียวแน่น ก็จะไม่เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือไปๆ มาๆ ให้มีเทรนด์ราคาให้ติดตาม ในทางตรงกันข้ามของอะไรถ้ามีมากเกินไปจนหาง่ายขายกันเกร่อล้นตลาดก็ไม่ดี ผลงานประเทืองมีจำนวนไม่มากไม่น้อยมีพอให้นักสะสมที่มีความพยายามสามารถตามหาได้

ข้อที่หก ‘ดูอินเตอร์ ทันสมัย’ ผลงานแนวนามธรรมของประเทือง ไม่มีรายละเอียดใดที่ระบุสัญชาติ ไม่ไทยจัด ไม่ฝรั่งจ๋า จึงดูกลางๆ สามารถแขวนประดับอยู่ในห้องหับที่ไหนในโลกก็ได้อย่างเพอร์เฟ็กต์ไม่เคอะเขิน แถมภาพสไตล์นี้ยังดูไม่เชยแม้ผ่านกาลเวลามาแล้วอย่างยาวนาน ยังคงเข้ากันได้ดีอย่างน่าแปลกใจกับการตกแต่งบ้านสมัยใหม่

‘Pratuang Emjaroen’ พ.ศ. 2527 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 24 x 19 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni

ข้อที่เจ็ด ‘ราคาดี มีอนาคต’ มีผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะ และนักสะสมมากมายมองว่าผลงานของประเทืองนั้นยังถูกเกินไปด้วยซ้ำ อย่างเช่น ผลงานลายเส้นบนกระดาษยังเห็นขายกันในราคาหลักหมื่น หรือผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบบางชิ้นยังอยู่ในหลักแสนต้นๆ ทั้งๆ ที่คุณภาพของผลงานรวมถึงคุณลักษณะอื่นๆ นั้นไม่ได้ด้อยกว่าสุดยอดศิลปินแนวนามธรรมท่านอื่นๆ ของเอเชียซึ่งมีราคาแพงกว่านี้มาก แต่สถานการณ์นี้น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในเร็ววัน เพราะขณะนี้ราคาของผลงานประเทืองกำลังปรับขึ้นไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่นภาพวาดขนาดใหญ่ที่เคยมีราคาไม่กี่ล้านบาทเมื่อไม่กี่ปีก่อน ได้ถูกขายไปในงานประมูลที่ฮ่องกงสนนราคาราวยี่สิบล้านบาทเมื่อปีที่แล้วนี่เอง

ข้อที่แปด ‘ก็ของมันใช่’ เหตุผลข้อนี้เหมือนจะไม่มีเหตุผล แต่จริงๆ คือเหตุผลที่สำคัญที่สุด อาการจะคล้ายๆ เหมือนตกอยู่ในภวังค์ หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ มือไม้เย็น รู้สึกเปลี้ยๆ เมื่อได้เห็นผลงานศิลปะคุณภาพคับฟ้าชิ้นจริงแขวนอยู่ตรงหน้า และถ้าอยากลองรู้สึกแบบนี้บ้างไม่ต้องไปมองหาที่ไหนให้ไกล เพราะภาพวาดชิ้นเด็ดๆ ของประเทืองนั้นก็สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ประมาณนี้ให้กับผู้พบเห็นได้อย่างเหลือเชื่อ

เป็นไงล่ะวันนี้ ท่านมีผลงานของ ประเทือง เอมเจริญ แขวนฝาบ้านไว้บ้างหรือยัง อ๊ะ ถ้ายังไม่มี ต้องรีบๆ เลย

 

Don`t copy text!