พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
‘พุทธศิลป์’ ในประเทศไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมามักจะดูงดงาม ศักดิ์สิทธิ์ วิจิตรบรรจง ตัวละครในผลงานก็มักประกอบไปด้วยพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เทวดา นางฟ้า ที่ศิลปินบรรจงสรรค์สร้างออกมาเพอร์เฟ็กต์ที่สุดเท่าที่อุดมคติจะมโนขึ้นมาได้ และแล้วในปี พ.ศ. 2511 เมื่อ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินหนุ่มหัวขบถผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง ผนวกด้วยปริญญาเอกด้านอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ จากราชวิทยาลัยศิลปะ Rijksakademie van Beeldende Kunsten ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็กลับมายังบ้านเกิดเพื่อรังสรรค์ผลงานศิลปะแนวพุทธศิลป์อันแหวกล้ำไปจากกฎเกณฑ์ดั้งเดิมที่ลอกเลียนต่อๆ กันมาอย่างยาวนาน ดราม่าจึงถึงกาลจะบังเกิด
จิตรกรรมแนวพุทธศิลป์ในแบบฉบับของถวัลย์นั้นช่างแตกต่างจากประเภทสวยๆ งามๆ ที่สาธารณชนคุ้นตาดั่งฟ้ากับเหว ภาพของถวัลย์ซึ่งหันมาวาดด้วยสีขาวกับดำหลายชิ้นเต็มไปด้วยตัวละครที่คนมองว่าอัปลักษณ์ ทั้งจิ้งจก คางคก ตุ๊กแก ตัวเงินตัวทอง ตั๊กแตน แมลงสาบ งูเงี้ยวเขี้ยวขอ จัดมากันครบแบบแทบจะยกสวนสัตว์ บางภาพก็มีเศียรพระพุทธรูปที่เหมือนถูกเฉือนมา บางภาพก็มีร่างของหญิงเปลือยอยู่ร่วมเฟรมกับดวงตาอันเบิกโพลงของพระสงฆ์ ในขณะที่บางชิ้นมีภาพอสุรกายหัวเป็นพระบ้าง อัณฑะเป็นระฆังวัดบ้าง เนื้อหาช่างหมิ่นเหม่บาดตาบาดใจพุทธศาสนิกชนผู้ยึดติดอยู่ในกรอบเป็นที่สุด
และอย่างกับสถานการณ์จะเหมาะเจาะให้เกิดดราม่าโดยเฉพาะ เพราะในช่วงเวลาเดียวกับที่ถวัลย์กลับมาจากเมืองนอก ศาสนาจารย์เรย์ ซี ดาวน์ส มิชชันนารี คณะเพรสไบทีเรียน จากประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน บริเวณที่ดินตรงเชิงสะพานหัวช้าง เกิดอยากจะสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ จึงอนุญาตให้ถวัลย์มาอาศัย และใช้บ้านหลังหนึ่งในสำนักกลางเป็นสตูดิโอผลิตงานศิลปะและเพื่อเป็นการตอบแทน ถวัลย์ได้สร้างผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคริสต์ศาสนาเช่นภาพพระเยซู และภาพการสร้างโลกของพระเจ้า มอบให้ไว้กับสำนักกลางและบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายชิ้นอันรวมถึงจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่บนกำแพงโรงอาหารด้วย
ภาพลักษณ์ของถวัลย์เองในยุคนั้นก็ยิ่งช่วยนำพาให้ชาวประชาผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เข้าใจผิดถวัลย์ผู้ไว้จอนยาว ทำเล็บ ชอบใส่เสื้อกีฬาคอย้วยสีเขียวรูป เช เกวารา โชว์ขนหน้าอก พูดได้ 6 ภาษา คบหาสมาคมอยู่แต่กับฝรั่ง ดูยังไงก็แปลกแยกไม่เข้าพวกกับประชาชนคนเดินถนนปกติ
ด้วยแฟกเตอร์ต่างๆ เหล่านี้จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในปี พ.ศ. 2514 เมื่อมีหนังสือพิมพ์ลงข่าวหน้าหนึ่งว่ามีศิลปินบ้าชื่อ ถวัลย์ ดัชนี กำลังแสดงผลงานลบหลู่พุทธศาสนา และก็เหมารวมไปเลยว่าอีตาถวัลย์นี้ต้องเป็นพวกคริสเตียนคลั่งที่จ้องจะทำลายพุทธเป็นแน่ แล้วทำไมถึงคิดอย่างนั้นล่ะ ก็ดูเนื้อหาผลงานของแกสิ บ้างก็มีพระพุทธรูปหัวขาด บ้างก็มีผู้หญิงโป๊กับพระสงฆ์แถมยังอาศัยและแสดงงานอยู่ในสำนักคริสต์ สนิทกับฝรั่ง แต่งตัวแนวฮิปปี้ตามแบบตะวันตก เคร่งคริสต์จัดจนขนาดเสื้อยังใส่เป็นรูปพระเยซูเลย (แต่เอ๊ะนั่นมันรูปน้า เช เกวารา ไม่ใช่เหรอ) พอปลุกกระแสแบบนี้ขึ้นมา แถวสะพานหัวช้างจึงเกิดสงครามครูเสดย่อมๆ โดยครั้งนั้นมีกลุ่มนักศึกษาช่างกลกรูกันมากรีดทำลายผลงานของถวัลย์ที่กำลังจัดแสดงอยู่ในสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สร้างความวุ่นวายจนเป็นเรื่องใหญ่โต
ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าสังคมไทยมีสติ ศึกษาความเป็นมา และแนวคิดของถวัลย์หน่อย เหตุการณ์ประหลาดที่เกิดจากความเข้าใจผิดแบบนี้คงไม่เกิด แล้วเมื่อสมัย 50 กว่าปีที่แล้วนั้นถวัลย์ในวัยหนุ่มมีคอนเซ็ปต์อย่างไรล่ะ จะเหมือนหรือแตกต่างจากสมัยยุคหลังที่ถวัลย์มีชื่อเสียงแล้วหรือเปล่า คำกล่าวต่างๆ ที่ถวัลย์เคยให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษไว้กับคอลัมนิสต์ฝรั่งนามว่า เดนิส ไมเคิล ไม่นานก่อนจะเกิดเหตุการณ์กรีดภาพวาดนั้นน่าจะบอกอะไรให้เราได้ดีเชียวล่ะ
“I have never seen any art more anguished, showing more torment of the human being, than Christian art.”
“ผมไม่เคยเห็นศิลปะแนวไหนจะดูเจ็บปวดทรมานไปมากกว่าศิลปะในแบบศาสนาคริสต์เลย” คำพูดนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงแรงบันดาลใจที่ถวัลย์นำมาปรับใช้กับผลงานแนวพุทธศิลป์ ในศิลปะแนวคริสต์ศาสนาเป็นเรื่องปกติมากที่เราจะเห็นภาพพระเยซูถูกตรึงกางเขนมีเลือดแดงฉานไหลอาบเป็นทางยาวทั่วร่าง หรือภาพนักบุญเซนต์จอห์นถูกตัดหัวขาดนัยน์ตาถลน ถวัลย์ได้ซึมซาบภาพจำอันสะเทือนใจเหล่านี้จากผลงานชิ้นจริงที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และโบสถ์ในยุโรป และนำธีมดังกล่าวมาบรรจุลงในงานศิลปะของตนเองบ้าง ต่างกันตรงที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับความสวยๆ งามๆ ไม่คุ้นกับภาพสัจธรรมที่ดูเรียลขนาดนี้
“The stupid people would scream at me. But they are ignorant Buddhists. The real Buddhists, the student, the studied, would know better because the Buddha is in everything, beautiful or vile, it is everywhere.”
อย่าลืมว่าถวัลย์จบปริญญาเอกด้านอภิปรัชญามา แถมยังบ้าคลั่งศึกษาแนวความคิดทางศาสนาต่างๆอย่างลึกซึ้ง ถวัลย์เป็นพุทธศาสนิกชนประเภทที่ไม่ใช่แค่ไปวัดไหว้พระทำบุญอาทิตย์ละครั้งแล้วกลับบ้านนอน ด้วยสัจธรรมที่ว่าปรัชญาของพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในทุกสิ่งทั้งที่งดงามและอัปลักษณ์ ถวัลย์จึงบรรจงเลือกตัวละครและองค์ประกอบในภาพโดยไม่สนว่าจะดูจรรโลงตาหรือไม่เพื่อสื่อข้อความที่อยากจะบอกออกไปดังๆ ให้กระทบกระทั่งจิตใจผู้ชมอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่พู่กัน สีและผ้าใบจะทำได้
“I love animals and try to translate my childhood, my jungle life, in my paintings.
The eagle is a symbol of power and watchfulness, the dignity of human being. My eagle comes from Garuda.
The fish means life, for when a fish is dead it does not swim and while it is alive it is always swimming against the stream, searching.
And the frog is ignorance. He lives in the mud and does not see anything beautiful. He sits on the lotus leaf and does not smell the flower.
I am very fond of the buffalo. Here people do not use machines; the machine uses the people. But buffalo is part of our culture. He is patient and dull-witted, docile and faithful, the symbol of the land and the people, the symbol of farmer. He is our friend.
But beyond the symbols are the aesthetic and the artistic, similar to Egypt where the cobra meant the king and it also meant poison. Where the beetle meant soul which can fly away.”
จากความรักในธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร และสิงห์สาราสัตว์ที่ถวัลย์คุ้นเคยตั้งแต่เยาว์วัยสมัยที่เติบโตมาในหมู่บ้านชนบทห่างไกลของเชียงราย ถวัลย์นำภาพจำต่างๆ เหล่านี้โดยเฉพาะภาพสัตว์มาใช้ในการสื่อความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่าสิ่งที่ตาเห็น ไอเดียนี้ได้มาจากการศึกษาแนวทางศิลปะของต่างประเทศอย่างอารยธรรมอียิปต์ที่บูชาเทพเจ้าซึ่งเป็นสัตว์ หรือครึ่งคนครึ่งสัตว์ และเปรียบเปรยสัตว์แทนสิ่งอื่นๆ อยู่เสมอ เช่น งูเห่าเปรียบเสมือนพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ แต่ในอีกบริบทก็เปรียบดั่งพิษร้าย หรือตัวด้วงนั้นหมายถึงดวงวิญญาณซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จะบินหายลอยออกไปจากร่างที่พวกมันเกาะยึดไว้ชั่วครั้งชั่วคราว
สัตว์ในภาพผลงานของถวัลย์นั้นถูกให้ความหมายตามความนึกคิดของถวัลย์เอง เช่น นกอินทรีที่ถวัลย์ได้อิทธิพลมาจากครุฑ สื่อถึงพลัง ความระแวดระวัง หรือศักดิ์ศรีของมนุษย์ ปลาเปรียบเสมือนชีวิต ที่หากยังไม่สิ้นใจก็จะหมั่นว่ายทวนน้ำอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเสาะหาสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ หรือกบนั้นหมายถึงความเขลา อาศัยอยู่แต่ในโคลนตมที่บดบังสิ่งสวยงาม หรือไม่ก็นั่งนิ่งอยู่แต่บนใบบัวโดยก็ไม่ได้กลิ่นหอมของดอกบัวอันละเอียดอ่อนที่ผลิบานอยู่ตรงหน้า
ในบรรดาสัตว์ทั้งหมด ถวัลย์ชอบควายเป็นพิเศษ ถวัลย์มองว่าเครื่องจักรที่เข้ามาทดแทนสิ่งต่างๆรวมถึงการเกษตรนั้นทำให้คนเป็นทาสของเทคโนโลยี แตกต่างจากควายที่รับใช้ชาวนาด้วยความอ่อนน้อม อดทน และซื่อสัตย์ ไม่มีพิษมีภัย ควายในผลงานของถวัลย์จึงเปรียบดั่งแผ่นดิน ผู้คนชาวนา ซึ่งเป็นเพื่อนแท้ที่พึ่งพาได้
“Many want to become monks because the temple is their stomach. Nobody starves in the wats, and the Buddha is the mask they use to hide behind even as they poison their victims, the poor people.
The real monk, the monk who enters the temple for enlightenment, I adore but they are very rare now.”
ในขณะที่ถวัลย์นับถือศาสนาพุทธ และพระสงฆ์ที่อยู่ในพระธรรมวินัย แต่ก็ไม่ลังเลที่จะวิจารณ์มารศาสนาออกมาโพล่งๆ ทั้งทางวาจา และผ่านผลงานจิตรกรรม มีภาพที่ถวัลย์วาดอสุรกายหัวเป็นพระพุทธรูป และมีท้องเป็นวัด เปรียบเสมือนพระนอกรีตที่เอาพระพุทธเจ้าเป็นหน้ากากบังหน้า และใช้วัดหากินให้ตนเองร่ำรวยอิ่มท้องโดยอาศัยความงมงายของชาวบ้านซึ่งยังคงหิวโหย และคอยมองหาสิ่งยึดเหนี่ยว
“I am among the dead and unborn people here in Thailand in term of my creativity. The only people who afford me recognition are foreigners; my own people do not understand me.
When I was studying in Paris I met many Thais 600 or so on vacation and passing through not one of these asked me where the Louvre or any of the architectural wonders were. They always asked to see the Folies Bergere or the perfume shops. I do not blame my own people, they are blinded. The social capacity is to blame.
Two or three hundred people came to my first exhibition when I returned from Holland and of them, only three were Thai.
My people don’t collect, talk, or think about art.
I’m playing piano for a donkey or guitar for a buffalo.”
มีช่วงหนึ่งที่ถวัลย์ไปเรียนอยู่ที่ปารีส ได้พบเจอคนไทยราว 600 คนที่เดินทางผ่านมา แล้วก็ผ่านไปถวัลย์เล่าว่าไม่มีใครสักคนถามถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ หรือสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมในปารีสที่น่าชม แต่กลับตามหาแต่คลับคาบาเรต์ หรือร้านน้ำหอม
และเมื่อถวัลย์เรียนจบกลับมาเมืองไทยก็ไม่ได้ป๊อปปูลาร์ในหมู่นักสะสมชาวไทยเหมือนสมัยที่โด่งดังแล้ว ถวัลย์บ่นอุบเสมอว่ามีแต่ฝรั่งที่ดูผลงานแล้วเก็ต ในขณะที่เพื่อนร่วมชาติไม่ยักกะเข้าใจ แถมไม่ใส่ใจที่จะเข้าใจด้วยซ้ำ เพราะมองว่าศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว ไม่นึกถึง ไม่พูดถึง ไม่สะสม ในงานแสดงครั้งแรกสมัยที่ถวัลย์กลับมาใหม่ๆ มีคนมาชมงาน 200 ถึง 300 คน แต่แทบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ น่าประหลาดมีคนไทยมาดูแค่ 3 คน ถวัลย์เปรียบเปรยการจะบิลด์คนไทยให้รู้สึกถึงความสุนทรีย์ในงานศิลปะนั้นยากเย็นแสนเข็ญเหมือนกับการเล่นเปียโนให้ลา หรือเล่นกีตาร์ให้ควายฟัง
มิหนำซ้ำยังมีคนไทยด้วยกันที่ไม่เข้าใจไอเดียมาทำลายผลงานของถวัลย์อีก แต่แทนที่จะท้อแท้ถวัลย์กลับขยันทำงานขึ้นยิบตา เริ่มจากสร้างฐานแฟนคลับชาวต่างชาติให้กว้างขวาง จัดแสดงผลงานในสถานที่ที่ฝรั่งเขาไปกัน เช่น สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน บริติชเคาน์ซิล สถาบันเกอเธ่ รวมถึงเดินสายออกไปรับงาน และโชว์ในเมืองนอก จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยกลยุทธ์โลกล้อมเรา โกอินเตอร์ก่อนแล้วค่อยวกกลับบ้าน ประมาณว่าถ้าฝรั่งเห็นว่าดีเดี๋ยวคนไทยก็น่าจะคล้อยตามเอง จนในที่สุดก็เป็นไปตามคาด ถวัลย์ประสบความสำเร็จผงาดเป็นจักรพรรดิแห่งผืนผ้าใบที่ทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยเข้าใจ
จริงๆ แล้วในวันนั้นการที่ถวัลย์ได้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ และถูกกรีดผลงานจนเป็นที่โจษจันกันทั่ว ต้องนับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ชั้นดีแบบฟรีๆ ชื่อถวัลย์ซึ่งก่อนหน้ามีแต่ฝรั่งที่รู้จักเลยดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน ก็อย่างที่รู้ อะไรที่เป็นดราม่าคนเราชอบนักที่จะเสพ และช่วยกันกระจายออกไปเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ถวัลย์ฉลาดที่ใช้เหตุการณ์ซึ่งคนอื่นอาจมองเป็นเรื่องร้ายนี้เป็นบันไดเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในขั้นต่อๆ ไปเพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และหลังจากนั้นก็ยังคอยหมั่นเล่าเรื่องรูปถูกกรีดนี้อย่างมีรสมีชาติตามสไตล์ถวัลย์ ใส่ไข่นิด เติมซีอิ๊วหน่อย ทำให้ประวัติของศิลปินที่น่าสนใจอยู่แล้วยิ่งมีสีสันมากขึ้นไปอีก คิดเองทำเองได้ยอดเยี่ยมโดยไม่ต้องไปจ้างพีอาร์เอเจนซีที่ไหนเลย
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ