‘เฟื้อ หริพิทักษ์’ ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
……………………………………..
อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี เคยกล่าวถึงลูกศิษย์หัวขบถคนหนึ่
‘เป็นผู้ที่ไม่ชอบอยู่ในกรอบข้
อบังคับของสถานศึกษานัก แม้เขาจะเป็นคนเคารพต่อกฎและไม่ เคยร่ำร้องอะไร ก็ยังเห็นได้ว่าเขาไม่ สบายใจเลยที่จะต้องปฏิบัติตนให้ อยู่ในวินัยของสถานศึกษาศิลป’
เป็นเรื่องแปลกดีที่ เฟื้อ หริพิทักษ์ ผู้ซึ่งไม่อินสักเท่าไหร่กับระบบการเรียนการสอนในสถาบัน เกิดจับพลัดจับผลูอีท่าไหนไม่รู้จนภายหลังถูกยกย่องให้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งวงการศิลปะไทย กลายเป็นปูชนียบุคคลในสถานศึกษาศิลปะชั้นนำของประเทศ ทำหน้าที่เคี่ยวเข็ญ พร่ำสอนลูกศิษย์นับหน้าไม่ถ้วนจนจบเป็นบัณฑิต
วุฒิระดับมัธยมเหมือนจะเป็นวุฒิสูงสุดที่เฟื้อได้มาจากที่เข้าเรียนในสถาบันการศึกษา พอเรียนจบปุ๊บเฟื้อก็ไปสมัครทำงานเป็นเสมียนรถไฟอยู่ที่พิษณุโลก งานที่นั่นคงสนุกจัด เฟื้อเลยทำไปได้แค่ 2 วันก่อนจะชิ่งหนีกลับมากรุงเทพฯ ซะดื้อๆ เฟื้อคิดจะเรียนต่อในสายอาชีพโดยเดิมทีวางแผนจะไปแนวเกษตรปลูกพืชปลูกผัก หรือไม่ก็ค้าขาย แต่คิดไปคิดมาเพราะรู้ว่าตัวเองชอบวาดรูปมากกว่าก็เลยตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2472
เฟื้อเรียนเพาะช่างอยู่ 5 ปี วันดีคืนดีก็เกิดไม่พอใจกับแนวทางการสอนวาดภาพตามหลักสูตรซะอย่างนั้น ประมาณว่าที่โรงเรียนเพาะช่างเขาสอนให้ค่อยๆ วาดภาพแบบเก็บรายละเอียดเอาให้เหมือนเป๊ะแบบรูปถ่าย ค่อยๆ ระบายสีทับๆ กันอย่างช่างฝีมือ แต่เฟื้อกลับแหกกฎวาดภาพด้วยการปาดสีฉุบฉับเป็นปื้นๆ ตามสไตล์ที่ชอบแล้วเอาไปส่งอาจารย์ทั้งๆ ที่รู้ว่าทำแบบนี้ยังไงก็สอบตกแน่ๆ ร้อนถึงคุณหลวงวิบูลย์ศิลปาการ อาจารย์ผู้ปกครองต้องเรียกตัวเฟื้อมาตักเตือนว่า ‘เธอมันโดดข้ามชั้นอย่างนี้ จะไปเอาสุดยอดได้ที่ไหนกัน ต้องค่อยทำงานอย่างละเอียดไปก่อนซี แล้วค่อยหยาบทีหลัง’ พอฟังแล้วแทนที่เฟื้อจะเปลี่ยนแนวการวาดภาพกลับตอบไปว่า ‘ผมว่าต้องหยาบก่อนแล้วถึงค่อยละเอียดซีครับ’ และหลังจากนั้นเฟื้อก็ตัดสินใจลาออกทั้งๆ ที่เหลืออีกปีเดียวก็จะจบอยู่รอมร่อ
ในปี พ.ศ. 2476 เพราะถูกชักชวนจากเพื่อนที่รู้จักกันจากโรงเรียนเพาะช่าง 2 คนคือ แช่ม แดงชมภู และ จงกล กำจัดโรค เฟื้อแอนด์เดอะแก๊งเลยไปสมัครเรียนกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่กำลังก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมอยู่พอดิบพอดี โรงเรียนแห่งใหม่นี้เปิดสอนหลักสูตร 4 ปีที่มีรากฐานมาจากการสอนศิลปะแบบอะคาเดมีในยุโรป ปีนั้นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนมีกันอยู่แค่ 10 คน โดยมีนักเรียน 2 คนคือ เฟื้อ และ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร เรียนวิชาจิตรกรรมกับอาจารย์ผู้สอนคือพระสรลักษณ์ลิขิต จิตรกรชั้นครูของประเทศ ในขณะที่นักเรียนคนอื่นๆ อีก 8 คนเรียนวิชาประติมากรรมกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ฝรั่งจากอิตาลีผู้ซึ่งเป็นประติมากรจึงถนัดปั้นมากกว่าวาด
เรียนไปเรียนมาเฟื้อรู้สึกว่าวิชาวาดภาพที่ตัวเองกำลังเรียนอยู่มีวิธีการสอนไม่ต่างจากที่เพาะช่างซักเท่าไหร่ กัดฟันทนอยู่ได้แค่ปีเดียวเฟื้อก็ตัดสินใจซ้ำรอยลาออกจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรมอีก แล้วไปขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนพิเศษกับอาจารย์ศิลป์นอกชั้นเรียนแบบไม่เอาปริญญา
เฟื้อเลื่อมใส อาจารย์ศิลป์ พีระศรี มากและอยากจะไปเรียนศิลปะในยุโรปตามอย่างอาจารย์ศิลป์ แต่ในช่วงเวลานั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังก่อตัว ประเทศในแถบยุโรปกำลังฮึ่มๆ กันเอง สถานการณ์ดูไม่ค่อยจะสุนทรีย์ที่จะไปเรียนอาร์ตเท่าไหร่ อีกตัวเลือกที่น่าสนใจคือไปเรียนที่อินเดีย เพราะอาจารย์ศิลป์ก็ชื่นชมศิลปะและหลักสูตรการศึกษาที่นั่น ในปี พ.ศ. 2484 ด้วยทุนสปอนเซอร์จาก ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ เพื่อนในชั้นเรียนที่กลับกลายเป็นภรรยา เฟื้อจึงมุ่งหน้าไปยังแดนภารตะเพื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน สถาบันศิลปะที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย โดยมีจดหมายรับรองที่อาจารย์ศิลป์เขียนให้ถือไปด้วยเพื่อใช้สมัคร เฟื้อไปถึงที่นั่นไม่กี่เดือนก็ได้ข่าวร้ายจากเมืองไทยว่าคุณยายทับทิมซึ่งเป็นบุพการีที่เหลืออยู่คนเดียวของเฟื้อเสียชีวิต แถมภรรยายังเกิดล้มป่วยมีอาการสติวิปลาสไป
แค่นี้ยังไม่พอ ยังเกิดความซวยซ้ำซวยซ้อนขึ้นเมื่อสงครามโลกแผ่ขยายมายังทวีปเอเชีย รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษ คนไทยที่อยู่ในอินเดียซึ่งสมัยนั้นยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจึงถูกจับไปเป็นเชลยศึกโดยปริยาย เวลาเกือบทั้งหมด 5 ปีที่เฟื้ออยู่ในอินเดียจึงไม่ได้เรียนศิลปะอยู่ในมหาวิทยาลัยอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่กลับต้องถูกใช้แรงงานทำงานหนัก แถมยังล้มป่วยด้วยโรคนานาชนิดภายในค่ายกักกันกลางทะเลทราย คราวนี้ถึงจะไม่ได้ลาออกแต่เฟื้อก็ยังไม่ได้ปริญญาอยู่ดีเพราะถูกจับไปก่อน
เมื่อสงครามสงบ เฟื้อถูกปล่อยตัวและระหกระเหินกลับมาถึงเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2489 ค้นพบว่าญาติก็ตายไปหมดแล้ว บ้านช่องก็โดนระเบิดไม่หลงเหลืออะไร เฟื้อต้องไปอาศัยซุกหัวนอนอยู่กับเพื่อนแถวฝั่งธน โชคยังดีที่เฟื้อมีอาจารย์ศิลป์คอยเมตตารับมาช่วยงานวาดภาพในช่องคูหาพระอุโบสถด้วยเงินเดือน 30 บาท เฟื้อเลยยังไม่อดตายสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อได้
เฟื้อช่วยงานอาจารย์ศิลป์อยู่ยาวนานจนได้รับการช่วยเหลือให้บรรจุเป็นข้าราชการเมื่อ พ.ศ. 2490 ในตำแหน่งครูช่างเขียนในมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยเงินเดือน 80 บาท จนต่อมาในปี พ.ศ. 2497 เฟื้อได้รับทุนรัฐบาลอิตาลีให้ไปเรียนศิลปะ ณ ราชบัณฑิตยสถานในกรุงโรม การไปเรียนในครั้งนั้นเอกสารการศึกษาอย่างเดียวที่เฟื้อมีก็คือจดหมายรับรองที่เขียนขึ้นโดยอาจารย์ศิลป์ ซึ่งทางนู้นเขาก็โอเค ที่อิตาลีเฟื้อได้เปิดโลกทัศน์และสามารถพัฒนาฝีมือจนเป็นที่โจษขานมายาวนานจนปัจจุบัน การไปเรียนอิตาลีในครั้งนั้นเฟื้อได้ประกาศนียบัตรหรือที่เรียกว่าดิโพลมา (Diploma) กลับมา แต่ในแง่วุฒิการศึกษานั่นก็ยังไม่เทียบเท่ากับการได้รับปริญญาหรือดีกรี (Degree) อยู่ดี
สรุปว่าเฟื้อไปเรียนศิลปะมา 4 แห่ง 3 ประเทศ แต่ยังไม่มีปริญญา ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะท่านไม่เก่ง อย่าลืมนะว่า เฟื้อ หริพิทักษ์ คนนี้เป็นถึงศิลปินชั้นเยี่ยม, ศิลปินแห่งชาติ, ได้รับรางวัลแมกไซไซ และอะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปด สมัยเป็นนักเรียนถ้ายอมๆ ทำตามที่อาจารย์สอนตั้งแต่แรกก็คงจะผ่านฉลุยได้ไม่ยาก แต่ที่เป็นอย่างนี้เพราะเฟื้อคงมองว่าปริญญาไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรกับชีวิตท่านซะมากกว่า และแล้ววันเวลาก็ล่วงเลยไปจนพ้นวัยเกษียณ เฟื้อถึงมีปริญญาแบบเป็นชิ้นเป็นอันกับเขาเป็นครั้งแรกซะที โดยในปี พ.ศ. 2523 เฟื้อได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอันว่าในที่สุดก็ได้ปริญญามาด้วยคุณสมบัติส่วนตัวล้วนๆ ไม่ต้องไปเข้าเรียน หรือท่องหนังสือสอบให้ปวดขมับ
พอมานึกย้อนถึงสิ่งที่เฟื้อกล่าวก่อนจะลาออกจากโรงเรียนเพาะช่างว่า ‘ผมว่าต้องหยาบก่อนแล้วถึงค่อยละเอียดซีครับ’ ถ้าใครได้ยินคงคิดว่านี่เป็นแค่ประโยคที่ออกมาจากปากเด็กหนุ่มหัวดื้อคนหนึ่งที่พูดแดกดันไปด้วยอารมณ์ วันนั้นคงไม่มีใครคิดใครฝันว่าเด็กหนุ่มคนนั้นจะกลายมาเป็นจิตรกรแนวอิมเพรสชั่นนิสม์มือหนึ่งของประเทศ ที่มีสไตล์การปาดป้ายสีที่หยาบแต่แม่นยำ เกิดเป็นผลงานที่สวยงามลงตัวเป็นเอกลักษณ์ ส่งประกวดครั้งใดก็สามารถกวาดรางวัลเหรียญทองระดับประเทศมาครองได้แบบไม่ต้องลุ้น และในขณะที่กำลังประสบความสำเร็จสูงสุดกับผลงานแนวอิมเพรสชั่นนิสม์แบบตะวันตก จู่ๆ ก็เลิกไปเลยซะอย่างนั้นแล้วหันมาเอาดีในเรื่องการอนุรักษ์ และคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังโบราณของไทย งานที่ต้องใช้ความละเอียดประณีตแบบสุดๆ เพื่อผลงานทั้งหมดจะได้คงอยู่เป็นความภูมิใจของชาติยันลูกหลานเหลนโหลนสืบต่อไป
‘จากหยาบเป็นละเอียด’ เด็กหนุ่มนามว่าเฟื้อผู้มีปณิธานอันแรงกล้าคนนั้นได้ใช้ชีวิตอย่างที่เขากล่าวเอาไว้ไม่ผิดเพี้ยน และยังเป็นชีวิตที่มีคุณค่ามากมายจริงๆ
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ