ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
เพราะเป็นคนชอบศิลปะเวลาเห็นรูปถ่ายใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าหากมีผลงานศิลปะถูกถ่ายติดมาร่วมเฟรมถึงจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะเป็นโฟร์กราวด์หรือแบ็กกราวด์ก็ทำให้เราสนใจกระตุ้นให้เกิดไฟในการสืบหาที่มาต่อไปได้ไม่มากก็น้อย เพราะไม่แน่รูปถ่ายเหล่านี้อาจจะเป็นเบาะแสนำพาเราไปพบผลงานชิ้นจริง หรือข้อมูลอะไรใหม่ๆ ก็เป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้อยู่บ่อยๆ
ครั้งนี้ก็เช่นกัน จู่ๆ รุ่นพี่ที่คุ้นเคยกันก็ส่งรูปถ่ายมาทางไลน์ ถามว่า ‘เคยเห็นภาพวาดนี้ไหม?’ โดยให้รายละเอียดว่ารูปนี้มาจากอัลบั้มรูปถ่ายของ ดร. วินิจ วินิจนัยภาค อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและสมุหราชมณเฑียรในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พอเห็นรูปปุ๊บเราก็โทร.กลับไปหาพี่เขาปั๊บเพื่อบอกว่า ‘รู้สิ’ ก่อนจะพล่ามสตอรีให้พี่เขาฟังซะยกใหญ่ ถือวิสาสะเล่าไปเรื่อยๆ เป็นมหากาพย์ ทั้งที่ยังไม่ได้ถามพี่เขาเลยว่าอยากจะฟังเรื่องราวอะไรยาวๆ แบบนี้หรือเปล่า
เนื้อหาที่แทงลูกตาเราในทันทีคือผลงานจิตรกรรมที่แขวนอยู่ด้านหลัง ดร. วินิจ (ท่านที่ 3 จากทางขวาถ้าจำไม่ผิด) เป็นรูปไก่ชน 2 ตัวพองขนจิกตีต่อสู้กันอย่างดุเดือด ผลงานชิ้นนี้นับว่ามีที่มาที่น่าสนใจอยู่พอตัว เพราะวาดโดยศิลปินที่โด่งดัง บวกกับเคยเป็นสมบัติของบุคคลที่มีชื่อเสียง เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2507 ถวัลย์ ดัชนี หนุ่มหล่อมาดระห่ำผู้ซึ่งพึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาหมาดๆ กำลังเริ่มเดินความฝันของตนเองที่จะเป็นศิลปินอาชีพผู้ยิ่งใหญ่ให้ได้ ในยุคแรกๆ ถวัลย์สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันด้วยสีฉูดฉาดระยิบระยับ ปาดด้วยเกรียงเป็นปื้นหนาๆ ละเลงอย่างฉับไวกราดเกรี้ยวด้วยพละกำลังอันเหลือแหล่ ก่อให้เกิดเป็นผลงานชุดที่ใครได้เห็นเป็นต้องปังด้วยอานุภาพอันทรงพลัง
และหนึ่งในผู้ที่ถูกป้ายยา จนกลายมาเป็นแฟนคลับรุ่นอาวุโสตัวยงของถวัลย์ คือ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ พลเอกชาติชายได้อุปถัมภ์ถวัลย์ศิลปินหน้าใหม่ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการอุดหนุนผลงานไปเก็บไว้หลายชิ้น นานวันทั้งคู่ก็เกิดความสนิทชิดเชื้อกัน จนอยู่มาวันหนึ่งถวัลย์ได้มอบภาพไก่ชนตีกันภาพนี้ให้เป็นของขวัญแด่พลเอกชาติชายเนื่องในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ พลเอกชาติชายถูกอกถูกใจภาพวาดชิ้นนี้มาก แทนที่พอได้มาจะใช้แขวนบ้านที่เมืองไทยเอาไว้เฉยๆ กลับหอบหิ้วตุเลงๆ ติดตัวไปด้วยทุกหนแห่งหากจะต้องไปประจำการเป็นเอกอัครราชทูตที่ประเทศไหน ภาพไก่ชนเลยเคยไปแขวนต่องแต่งอยู่บนกำแพงของสถานกงสุลไทยในต่างประเทศเช่นที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นการประกาศศักดาให้ชาวต่างชาติได้เห็นว่าฝีมือศิลปินไทยไม่ใช่ธรรมดาๆ
ฟาสต์ฟอร์เวิร์ดมาอีก 30 กว่าปีให้หลัง เมื่อ พ.ศ. 2541 พลเอกชาติชายในวัย 78 ปี ได้ถึงแก่กรรม ทายาทจึงตัดสินใจนำสมบัติบางส่วนมาแบ่งขาย ซึ่งในบรรดาของเหล่านี้มีผลงานจิตรกรรมยุคแรกๆ ของถวัลย์ ดัชนี รวมอยู่ด้วยหลายชิ้น เช่น ภาพหอยมือเสือ ภาพบ้านเรือน และภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้าน โดยผลงานกลุ่มนี้ถูกเปลี่ยนมือไปแบบเงียบๆ ชนิดที่ว่าไม่บอกก็ไม่รู้สู่มือนักสะสมวงในสายฮาร์ดคอร์หลายท่าน ส่วนชิ้นที่ซื้อขายผ่านการประมูลก็เห็นจะมีเพียงภาพเรือใบ ซึ่งผ่านการประมูลที่ฮ่องกง และภาพไก่ชนนี่แหละที่ประมูลกันโจ้งๆ ในเมืองไทยจนกลายเป็นตำนานโจษขานมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องมีอยู่ว่า ในวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2542 คริสตีส์ (Christie’s) หนึ่งในบริษัทจัดการประมูลที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ตัดสินใจมาจัดงานประมูลผลงานศิลปะไทยในกรุงเทพฯ โดยจัดกันที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ มีผลงานเข้าร่วมประมูลจำนวน 146 ชิ้น การประมูลในครั้งนั้น ผลงานที่มีผู้ซื้อไปในราคาสูงที่สุดเกือบ 3 ล้านบาทคือภาพหญิงเปลือยกับดอกบัว ฝีมือ ทวี นันทขว้าง ส่วนผลงานของถวัลย์ ดัชนี ก็มีมาร่วมประมูลอยู่ถึง 3 ชิ้น ประกอบไปด้วยผลงานเทคนิคปากกาลูกลื่นบนกระดาษ 2 ชิ้น เป็นรูปมนุษย์หัวเป็นวัด รูปมนุษย์หัวเป็นจระเข้ และผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ 1 ชิ้นเป็นรูปไก่ชนตีกัน เหตุที่ผลงานชิ้นนี้เป็นที่จดจำเพราะพอเริ่มเปิดประมูลมีผู้แข่งขันกันดุเดือดจากราคาประเมินเพียง 6 แสนถึง 7 แสนบาท แต่ราคาสุดท้ายกลับพุ่งพรวดพราดไปจบที่ 2,070,000 บาทอย่างรวดเร็ว มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 3 เท่า ถือว่าราคาสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับผลงานของ ถวัลย์ ดัชนี ไซส์เดียวกันซึ่งยังซื้อขายกันในราคาแค่หลักแสนในยุคนั้น
และแล้วภาพไก่ชนก็ได้ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่กรุใหม่ ค่อยๆ เงียบหายไปเหลือไว้แต่เพียงตำนาน จนเวลาล่วงเลยไปอีก 20 ปี จู่ๆ อยู่ดีๆ ก็มีคนร่อนรูปถ่าย ส่งไลน์เสนอขายภาพนี้อีกครั้ง พอเราได้เห็นรูปในมือถือ ก็รู้สึกทะแม่งๆ เพราะสีสัน และเส้นสายมันดูแปร่งๆ เมื่อเอามาเล่นเกมส์จับผิดภาพ โดยเทียบกับรูปถ่ายเก่าๆ ทั้งที่ถ่ายกับถวัลย์ และที่ตีพิมพ์ในสูจิบัตร ก็จับโป๊ะได้ว่าภาพที่ถูกเอามาเสนอขายนั้นมันไม่เหมือนชื้นออริจินัล นั่นหมายความว่าภาพไก่ชนในไลน์นั้นเก๊ล้านเปอร์เซ็นต์ มีคนพยายามวาดขึ้นมาใหม่โดยก๊อบปี้จากรูปถ่าย ทำให้รายละเอียดมันเพี้ยนๆ รู้งี้เลยไม่ต้องนัดดูของให้เปลืองเวลาเสียลูกกะตา นับว่านักปลอมมีพัฒนาการที่ล้ำมาก เพราะก่อนหน้านี้เคยเห็นก๊อปแต่ผลงาน ถวัลย์ ดัชนี รุ่นพิมพ์นิยมแบบโมโนโทนดำๆ ขาวๆ พึ่งมาเห็นภาพเลียนแบบงานยุคแรกรุ่นที่มีสีแพรวพราวก็คราวนี้นี่แหละ
เอาล่ะ ก่อนจะออกทะเลไปมากกว่านี้ ไหนๆ ก็รู้แล้วว่าภาพไก่ตีกันของจริงไม่ได้ออกมาสู่ตลาด งั้นเราขอแค่มีรูปถ่ายเก่าเอาไว้หยิบดูให้ระลึกถึงก็ยังดี หลังจากพล่ามผ่านโทรศัพท์เล่าเรื่องราวมาซะยาวนาน เลยปิดท้ายก่อนวางสายด้วยการจีบไปโพล่งๆ เลยว่า ‘ถ้าพี่ไม่หวง รูปนี้ผมขอแบ่งนะ’ อ้อมไปซะไกลเลยเรา
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ