เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้

เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

สำหรับใครก็ตามที่อินกับเรื่องอาร์ตๆ อยู่บ้าง คงจะพอคุ้นตากับประติมากรรมรูปชายหนุ่มนั่งขัดตะหมาดเอี้ยวตัวเป่าขลุ่ยที่มีวางโชว์หราในพิพิธภัณฑ์ ตามบ้านนักสะสมศิลปะ หรือบางทีก็เห็นมีตั้งอยู่ตามหิ้งในร้านรวง หรือแบกะดินขายอยู่ตามตลาดนัด รูปปั้นที่ว่าหากเป็นชิ้นออริจินัลนั้นมีชื่อว่า ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ หรือ ‘Musical Rhythm’ ซึ่งน่าจะเป็นผลงานศิลปะสมัยใหม่ที่มีชื่อเสียงเปรี้ยงปร้างที่สุดชิ้นหนึ่งของประเทศไทย ฮิตขนาดที่ว่าเมื่อศิลปินลาโลกไปนานแล้วยังมีการผลิตออกมามากมายหลายเวอร์ชัน ทั้งแบบถูกลิขสิทธิ์ที่ทายาททำขึ้นมาใหม่เอง ทั้งของเก๊ ซึ่งก็มีทั้งแบบที่เน้นเอาง่ายไม่แคร์ฟ้าดินถอดพิมพ์ก๊อบปี้มาเลยตรงๆ หรือแบบที่เอามาเปลี่ยนขนาดปรับหน้าปรับตาแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อไม่ให้โดนฟ้องก็เห็นกันเกร่อ

‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ พ.ศ.2492 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 6×6 เซนติเมตร

แล้วทำไมเสียงขลุ่ยทิพย์ถึงดัง ถึงปัง ที่แน่ๆ รูปปั้นชิ้นนี้แสดงถึงวิวัฒนาการก้าวสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมในประเทศไทย ถ้าลองมาไล่เรียงประวัติศาสตร์การปั้นรูปในดินแดนสุวรรณภูมิ แรกเริ่มเดิมทีผลงานส่วนใหญ่มักทำขึ้นมาเพื่อส่งเสริมศาสนาในรูปแบบของพระพุทธรูป โดยจุดกำเนิดของการสร้างรูปเคารพในศาสนาพุทธนั้นเกิดขึ้นเมื่อราว 600 ปีหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในพื้นที่แถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย สมัยนั้นศิลปินผู้สร้างไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นจากมโนคติ ใส่ลักษณะต่างๆ ที่ว่าดีที่ว่างามตามคัมภีร์มหาบุรุษลงไป เช่น มีใบหูยาน, มีอุณาโลมแปะอยู่กลางหน้าผาก, และมีลายบนฝ่ามือเป็นรูปธรรมจักร ส่วนรูปแบบก็ออกมาดูเป็นฝรั่งจ๋าเพราะศิลปินได้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากกรีกและโรมันแบบเต็มๆ พระพุทธรูปสไตล์นี้ที่เรียกว่า ‘คันธาระ’ จึงมี จมูกโด่ง, ปากเล็ก, ผมหยักศกขมวดเป็นมวย, ห่มผ้าหนาๆ คลุมบ่าทั้ง 2 ข้าง, และเพื่อให้ดูศักดิ์สิทธิ์จึงมีการเติมวงรัศมีรอบศีรษะแบบเดียวกับเทพอพอลโลของกรีกเข้าไปอีก พระพุทธรูปยุคแรกสุดนี้เน้นความสมจริง ศิลปินใส่ใจรายละเอียดทั้งสีหน้า อนาโตมี แม้กระทั่งรอยยับย่นของผ้า จนผลงานออกไปทางแนวเรียลลิสม์ดูเหมือนมนุษย์ที่มีชีวิต ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมการสร้างพระพุทธรูปค่อยๆ ถูกเผยแพร่ไปยังภูมิภาคโดยรอบ ศิลปินที่มีพื้นเพแตกต่างกันไปจึงเริ่มปรับเปลี่ยน ลดทอนพระพุทธรูปแบบเดิมให้ดูเป็นทิพย์ละทิ้งความสมจริง เบนออกไปทางแนวอุดมคติมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบต่างๆ รวมถึงแบบของบ้านเราเองที่เอามาพัฒนาต่อในสมัยทวาราวดี, ลพบุรี, สุโขทัย, อยุธยา, เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์

อีกสาเหตุที่ผลงานประติมากรรมในอดีตของไทยมีแต่พระพุทธรูปเป็นหลัก เพราะบ้านเมืองเรามีความเชื่อแต่โบร่ำโบราณว่าการสร้างรูปเหมือนใครก็แล้วแต่ขึ้นมาจะทำให้ชีวิตคนผู้เป็นแบบนั้นสั้น หรือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเอาไปทำคุณไสย เสกอะไรต่อมิอะไรมาเข้าตัวเจ้าของแบบได้ ยิ่งผลงานประเภทที่ต้องเทหล่อสุมไฟให้ร้อนยิ่งห้ามใหญ่เพราะเป็นการอุปมาอุปมัยว่าเป็นการนำผู้นั้นไปเผา เราเลยไม่นิยมสร้างประติมากรรมรูปบุคคลโดยเฉพาะผู้ที่ยังมีชีวิตกัน ความเชื่อทำนองนี้ฝังรากลึกมาเป็นเวลาหลายร้อยปีจนเพิ่งเริ่มจะเสื่อมคลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยุคที่อารยธรรมจากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามายังสยามประเทศอย่างเชี่ยวกราก หลังจากนั้นเป็นต้นมาประติมากรรมรูปเหมือนบุคคลจึงเริ่มเห็นกันมากขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีก็นิยมกันในแบบเรียลลิสม์ก่อน ประมาณว่าผลงานประติมากรรมที่ดีที่สุดก็คือผลงานประติมากรรมที่ดูเหมือนจริงที่สุด นับว่ายังอยู่ในช่วงตั้งไข่ในขณะที่ประติมากรรมแนวพระพุทธรูปของไทยได้หลุดพ้นจากจุดนี้ไปไกลแล้ว

ที่ว่าเสียงขลุ่ยทิพย์นั้นคือก้าวสำคัญอันยิ่งใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้ผลงานประติมากรรมที่ศิลปินไทยสร้างขึ้นมานั้นถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทอย่างชัดเจนอย่างที่เล่าไว้ คือถ้าเป็นพระพุทธรูปก็จะเป็นแนวเหนือโลกไปเลย ไม่ลอกเลียนธรรมชาติ ส่วนประเภทรูปบุคคลก็ต้องดูสมจริง โดยช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-7 ก็จะเน้นสร้างรูปพระมหากษัตริย์ และเจ้านายให้เหมือนเป๊ะๆ เพื่อใช้ประดับประดาปราสาทราชวัง หรือนำไปสร้างเป็นอนุสาวรีย์ไว้กราบกราน แม้แต่หลังสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ประติมากรรมที่ถูกสร้างขึ้นถึงจะเปลี่ยนเป็นรูปประชาชนคนธรรมดา ทั้งชาย ทั้งหญิงนิรนาม ก็ยังยึดโยงอยู่กับสไตล์เรียลลิสม์ ที่แสดงอารมณ์ มัดกล้ามทรวดทรงองค์เอว เหมือนจับมนุษย์มนามายืนโพสท่าอยู่ตรงนั้นจริงๆ นิยมแค่ไหนดูได้จากบูธกรมศิลปากรที่นำประติมากรรมในรูปแบบนี้มาจัดแสดงเป็นประจำในงานฉลองรัฐธรรมนูญแทบทุกครั้ง

ผ่านมาเป็นเวลานานยังไม่มีใครเอาคอนเซ็ปต์ทั้ง 2 ประเภทนี้มาหล่อหลอมรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวอย่างจริงๆ จังๆ ซักกะที จนกระทั่ง เขียน ยิ้มศิริ ลูกศิษย์มือฉมังของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เกิดไอเดียบรรเจิดตัดสินใจนำเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยซึ่งขึ้นชื่อว่างามลงตัวที่สุดไม่มากไม่น้อยเกินไป มาผสมผสานกับแนวคิดการสร้างสรรค์ประติมากรรมรูปบุคคลธรรมดาในอิริยาบถต่างๆ เกิดเป็นผลงานศิลปะรูปแบบใหม่ที่เหมาะเจาะทันยุคทันสมัย

แบบสเกตช์เสียงขลุ่ยทิพย์ (ภาพจากหนังสือศิลปานุสรณ์ เขียน ยิ้มศิริ)

เริ่มจากไอเดียคร่าวๆ ที่สเกตช์ไว้ในกระดาษ ซึ่งดูแล้วค่อนข้างจะห่างไกลกับรูปปั้นเสียงขลุ่ยทิพย์ที่เราคุ้นตา หลังจากนั้นเขียนก็ปั้นขึ้นรูปด้วยดินโดยละทิ้งรายละเอียดกล้ามเนื้อที่สมจริง แต่เน้นความลื่นไหลประสานสัมพันธ์กันของเส้นสาย และความเรียบเนียนของผิวสัมผัส จนบังเกิดกำเนิดเป็นประติมากรรมรูปชายไทยหุ่นเพรียวลมนั่งขัดสมาธิประคองขลุ่ยไว้อย่างละเมียด ทั้งนิ้วมือและนิ้วเท้าพลิ้วไหวเหมือนแทบจะกระดิกได้ ลำตัวท่อนบนจะบิดไปอีกทาง ด้านล่างบิดไปอีกทางเกิดเป็นเส้นไขว้  ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาเส้นรอบนอกโดยรวมให้ดูกลมกลึงได้ไม่ขัดตา ถึงจะสร้างจากวัสดุที่มีน้ำหนักแต่รูปปั้นนี้ก็ดูลอยดูเบา สวยหมดจดไปหมดไม่ว่าจะพินิจพิจารณาจากมุมไหน

และถึงนักดนตรีผู้นี้จะไม่สามารถขับกล่อมเมโลดี้เสียงขลุ่ยจริงๆ ออกมากระทบแก้วหูผู้ใด แต่ภายในจิตใจของผู้ชมที่ได้ยลผลงานชิ้นเอกนี้ด้วยอารมณ์ที่ปลดปล่อยสบายๆ กลับรับรู้ได้ถึงจังหวะจะโทนของเสียงขลุ่ยทิพย์อันไพเราะเสนาะใจอย่างมหัศจรรย์ นี่แเหละคือความวิเศษของผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมจากฝีมือศิลปินชั้นยอดที่ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้

Musical Rhythm Collection of Fukuoka Asian Art Museum (ภาพจากหนังสือ between declarations and dreams)

เมื่อเสียงขลุ่ยทิพย์เสร็จสมบูรณ์แล้ว เขียนก็นำไปหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ก่อนจะส่งเข้าร่วมประกวดในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติซึ่งเพิ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 เมื่อ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และคณะกรรมการจัดงานได้เห็นผลงานชิ้นนี้ต่างก็ตะลึงพรึงเพริดในความงามอันไม่มีที่ติ เลยมีฉันทามติมอบรางวัลชนะเลิศให้เป็นเครื่องการันตี เสียงขลุ่ยทิพย์จึงนับเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเซตสแตนดาร์ดอันสูงส่งสำหรับงานประจำปีอันยิ่งใหญ่นี้ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและยังคงจัดต่อเนื่องยาวนานมาจนปัจจุบัน

หลังจากที่ได้รับรางวัลระดับชาติ ประติมากรรมเสียงขลุ่ยทิพย์ก็เริ่มเป็นที่หมายปองของผู้รักศิลปะ เขียนจึงสร้างผลงานชิ้นนี้ออกมาเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งโดยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ น่าเสียดายที่เขียนไม่ได้เซ็นชื่อหรือระบุจำนวนเอดิชันเอาไว้ เราเลยไม่รู้ว่าผลงานเวอร์ชันนี้ที่ผลิตในยุคของท่านมีอยู่กี่ชิ้น แต่ถ้าให้เดาก็คงไม่น่าจะเยอะเพราะค่าหล่อไม่ใช่ถูกๆ และเขียนก็ไม่ใช่ศิลปินคอมเมอร์เชียลหัวการค้าอะไรขนาดนั้น แต่ที่รู้ที่มาชัวร์ๆ มีอยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งตกเป็นสมบัติของ มีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินหญิงผู้ชนะเลิศเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกเช่นเดียวกับเขียน แต่ต่างกันที่ผลงานของมีเซียมได้รับรางวัลประเภทจิตรกรรมจากภาพวาดสีน้ำมัน เสียงขลุ่ยทิพย์ของมีเซียมชิ้นนี้ปัจจุบันถูกโชว์ไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนเจ้าฟ้าเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนครนี้เอง

‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ พ.ศ.2492 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13×11 เซนติเมตร

นอกจากเวอร์ชันที่กล่าวถึงแล้ว เสียงขลุ่ยทิพย์ที่ปั้นหล่อในยุคที่ เขียน ยิ้มศิริ ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีอีกเวอร์ชันหนึ่งซึ่งดูคล้ายกันมากๆ อย่างกับแกะ แต่ต่างกันตรงที่มีขนาดใหญ่และอวบอ้วนกว่านิดหน่อย เสียงขลุ่ยทิพย์เวอร์ชันกินจุนี้ สละ ทรรภดิษ เพื่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรสมัยเดียวกับเขียนได้แบ่งไปเก็บไว้ สละหลงใหลในงานศิลปะและสะสมผลงานของศิลปินไทยที่ร่วมยุคกับท่านไว้มากมาย และภายหลังเมื่อสละถึงแก่กรรม ผลงานศิลปะต่างๆ ก็กลายเป็นมรดกตกสู่ทายาท จนในที่สุดเสียงขลุ่ยทิพย์พิมพ์ใหญ่นี้ก็ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือไปเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ณ เมืองฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และถูกจัดแสดงไว้ที่นั่นร่วมกับศิลปินชื่อก้องโลกชาวเอเชียท่านอื่นๆ แบบกินกันไม่ลง เป็นการประกาศศักดาว่าศิลปินไทยเราก็ไม่ใช่จิ๊บๆ นะจ๊ะ

ทุกวันนี้ถ้าใครอยากเอนจอยเสียงขลุ่ยทิพย์ชิ้นเดิมๆ จากมือ เขียน ยิ้มศิริ ก็ตามไปสัมผัสได้ชอบแบบเอวบางร่างน้อย ค่อยๆ เป่า ก็ไปที่ถนนเจ้าฟ้า หรือถ้าชอบแบบตัวแน่นๆ แรงดีๆ เป่าปู้ดๆ ก็คงต้องบินลัดฟ้าไปไกลถึงแดนปลาดิบ

 

Don`t copy text!