งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน

งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

เป็นที่รู้กันโดยถ้วนทั่วปฐพีว่า เขียน ยิ้มศิริ ประติมากรมือหนึ่งของประเทศไทยจากยุคบุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ นั้นคือผู้สร้างสรรค์ผลงานรูปปั้น ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ ที่ชนะเลิศเหรียญทอง จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2492 ต่อมารูปปั้น ‘ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม’ ก็ชนะเลิศเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 ตามด้วยรูปปั้น ‘แม่กับลูก’ ได้รับเหรียญเงินจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 และรูปปั้น ‘เริงระบำ’ ได้รับเหรียญเงินในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 ทำให้เขียนเป็นศิลปินสาขาประติมากรรมคนแรกที่ผ่านด่านหิน เข้าเกณฑ์ได้เป็น ‘ศิลปินชั้นเยี่ยม’ ซึ่งนับเป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติที่มอบให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ

‘แม่กับลูก โดย เขียน ยิ้มศิริ’ พ.ศ. 2497 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 8.5 เซนติเมตร

ในปี พ.ศ. 2496 หลังจากที่ เขียน ยิ้มศิริ ถูกยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมแล้ว เขียนยังได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อที่ Academy of Fine Arts of Rome ณ ประเทศอิตาลี และกลับมาสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมชิ้นอื่นๆ ต่ออีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียง มีภาพจำที่คุ้นตา และถูกบันทึกไว้ในตำรับตำราประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทย ลูกหลานเหลนโหลนอีกกี่รุ่นต่อจากนี้ไปหากใคร่รู้ว่าบูรพศิลปินอย่างเขียนเคยสร้างสรรค์อะไรเจ๋งๆ มาแล้วบ้างก็สามารถค้นคว้าหาดูได้อย่างง่ายดาย

แต่ที่หาไม่ง่าย เพราะไม่เคยมีใครโชว์รูปให้เห็น หรือแม้กระทั่งเขียนถึง คือห้วงเวลาที่แหว่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เวลาระหว่างปี พ.ศ. 2496-2497 ช่วงที่เขียนใช้ชีวิตอยู่ ณ อีกซีกโลกหนึ่งในกรุงโรม เรื่องราวถูกบันทึกไว้แต่เพียงว่าเขียนไปเรียนที่อิตาลี สำเร็จหลักสูตร แล้วก็กลับมาไม่รู้เลยว่าขณะพำนักอยู่ที่นั่นเขียนผลิตผลงานประติมากรรมอะไรขึ้นมาบ้าง ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักเหตุและผลแล้วศิลปินที่ขยันขั้นเทพ และเป็นถึงศิลปินชั้นเยี่ยมแห่งชาติอย่างเขียนคงต้องคันไม้คันมือปั้นนู่นปั้นนี่ ไม่มีทางเลยที่จะนั่งเฉยๆเอาแต่เหม่อมองฟ้ามองดินกินพิซซ่าฆ่าเวลาที่มีค่ายิ่งกว่าทองไปแน่ๆ

และแล้วความสงสัยก็เหมือนกำลังจะถูกไขให้กระจ่างเมื่อเราได้พบรูปถ่ายผลงานประติมากรรมหลากหลายชิ้นซึ่งน่าจะถูกล้างอัดในประเทศอิตาลี ที่คิดอย่างงี้เพราะด้านหลังรูปทั้งหมดมีตัวหนังสือเขียนว่า ferrania ประทับไว้ ซึ่งตามข้อมูลจากวิกิพีเดียเพื่อนยาก ferrania เป็นบริษัทเก่าแก่ที่เริ่มผลิตฟิล์ม และกระดาษอัดรูปในอิตาลีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 แต่ถ้าเห็นแค่รูปกับโลโก้ บ่องตรงว่าคงจะต่อยอดอะไรไม่ได้มาก จะให้มานั่งเทียนมโนต่อไปเองว่ารูปถ่ายที่ว่าเป็นรูปผลงานของศิลปินคนนู้นคนโน้นด้วยข้อมูลแค่หางอึ่งนี้คงไม่ใช่เรื่อง

‘ชายชาวสวิส โดย เขียน ยิ้มศิริ’ พ.ศ. 2497 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 8.5 เซนติเมตร

ก่อนทุกอย่างจะสงบจบลงแค่นั้น เราก็ดันไปเห็นรูปถ่ายรูปหนึ่งในกอง เป็นรูปประติมากรรมศีรษะหนุ่มฝรั่ง เมื่อพลิกดูด้านหลังมีข้อความเขียนด้วยปากกาเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า

‘This portrait of a Swiss is the one of my works expected to be exhibiting in May. As you know the exhibition will be taken place at the gallery of art of Piazza Venezia by the Italian government. I am going to have it made in terracotta. It costs about 500 Lira. K. Yimsiri’

‘ข้อความด้านหลังรูปชายชาวสวิส โดย เขียน ยิ้มศิริ’ พ.ศ. 2497 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 8.5 เซนติเมตร

หากแปลเป็นไทยจะมีใจความประมาณว่า ‘รูปเหมือนชาวสวิสชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานของฉันที่คาดว่าจะจัดแสดงในเดือนพฤษภาคม อย่างที่คุณรู้งานแสดงจะมีขึ้น ณ แกลเลอรีศิลปะในพีแอซซะ เวเนเซีย จัดโดยรัฐบาลอิตาลี ฉันจะสร้างมันด้วยดินเผา โดยมีต้นทุนประมาณ 500 ลีรา ข. ยิ้มศิริ‘

เคลียร์ทันทีไม่มีอะไรให้ค้างคา รูปนี้ถ่ายและเขียนสลักหลังที่อิตาลีโดย เขียน ยิ้มศิริ แน่นอน 1000% เพราะถ้างานชิ้นนี้อยู่เมืองไทยคงไม่ต้องอธิบายให้เวิ่นเว้อเป็นภาษาอังกฤษ คงไม่ถูกโชว์ในพีแอซซะ รัฐบาลอิตาลีคงไม่มาสปอนเซอร์ และคงไม่ต้องลีลาคิดค่าวัสดุเป็นลีรา

คราวนี้พอมาพิจารณาดูรูปถ่ายแผ่นอื่นๆ ในกอง จากสภาพที่เห็นแล้วน่าจะมีอายุอานามพอๆ กันหมด แถมยังล้างอัดด้วยกระดาษยี่ห้อเดียวกันขนาดเดียวกัน ก็น่าจะมั่นใจได้ประมาณหนึ่งว่ารูปถ่ายชุดนี้เป็นรูปผลงานของ เขียน ยิ้มศิริ ที่สร้างสรรค์ขึ้นในแดนมักกะโรนีในช่วงปี พ.ศ. 2496-2497 ในขณะที่ได้ทุนไปเรียนที่  Academy of Fine Arts of Rome ซึ่งในขณะนั้นมี มิเคลเล เกอร์ริซี (Michele Guerrisi) เป็นผู้อำนวยการของสถาบัน

‘มิเคลเล เกอร์ริซี (ขวา) ขณะปั้นรูปเหมือน เขียน ยิ้มศิริ’ พ.ศ. 2497 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 9 x 6 เซนติเมตร

สำหรับวงการศิลปะในอิตาลีแล้ว เป็นที่รู้กันดีว่าเกอร์ริซีผู้นี้เป็นประติมากรที่มีความสามารถพร้อมสรรพรอบตัวทั้งในด้านวิชาการ และฝีไม้ลายมือในด้านศิลปะ โดยเฉพาะการปั้นหล่อประติมากรรมรูปเหมือนบุคคลที่ดูสมจริงมีชีวิตชีวาทั้งรูปร่างหน้าตาและสัดส่วนอะนาโตมี ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอิตาลีจึงไว้วางใจให้เกอร์ริซีเป็นผู้ปั้นแบบอนุสาวรีย์ในเมืองต่างๆ หลายแห่งทั่วประเทศ และที่โชคดีสุดๆ คือเกอร์ริซีถึงกับเคยลงมือปั้นรูปเหมือนของ เขียน ยิ้มศิริ ลูกศิษย์จากแดนไกลแล้วหล่อเป็นบรอนซ์มอบให้เขียนเป็นที่ระลึกอีกด้วย

‘หญิงเปลือย โดย เขียน ยิ้มศิริ’ พ.ศ. 2497 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 14 x 8.5 เซนติเมตร

ที่ต้องเล่าถึงเกอร์ริซี เพราะดูจากรูปถ่ายแล้ว ผลงานที่เขียนสร้างสรรค์ในยุคนั้นเหมือนจะเน้นฝึกปั้นรูปเหมือนบุคคลตามความถนัดของเกอร์ริซีผู้สอนมากกว่า ดังเช่นรูปเหมือนศีรษะชาวสวิสพร้อมข้อความด้านหลังที่เล่าถึงไปแล้ว และรูปหญิงเปลือยเต็มตัวเป็นต้น แต่ถึงกระนั้นก็ตามเราก็ยังได้เห็นรูปประติมากรรมสไตล์ลดทอนรายละเอียด ดูพลิ้วไหวแบบที่เขียนถนัดถูกสร้างสรรค์ไว้ที่ต่างแดนด้วย รูปที่ว่าเป็นรูป ‘แม่กับลูก’ เวอร์ชันอันซีนที่ดูท่าทางผิดแผกแตกต่างไปจากชิ้นที่ชนะเหรียญเงินจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2494 ก่อนเขียนจะได้ทุนมาเรียนที่โรม

ก็เลยได้ความรู้ใหม่พร้อมๆ ไปกับคุณๆ ผู้อ่านว่าผลงาน ‘แม่กับลูก’ นั้นมีรุ่นเมดอินอิตาลีด้วยแฮะ ซึ่งแม่แหม่มนั้นเธอสวยไม่แพ้แม่ไทยเลย ต่างกันนิดหน่อยตรงที่แม่แหม่มนั้นมีผมแบบฝรั่งที่เป็นลอนหยักศกกว่า จมูกโด่งกว่า และคลับคล้ายคลับคลาว่านมจะใหญ่กว่าแค่นั้นเอง

 

Don`t copy text!