สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี

สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ในช่วงเวลาย่ำค่ำของวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 ณ หลังตึกคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มีนักศึกษาและคณาจารย์นับร้อยมารวมตัวกันล่วงหน้าเพื่อระลึกถึงวันคล้ายวันที่อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรม ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 หรืออีก 1 วันก็จะเวียนมาบรรจบครบ 7 ปีพอดี 

และแล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อจู่ๆ ศิษย์เก่าและเหล่าคนรักอาจารย์ศิลป์เฮละโลกันไปบุกงัดห้อง เขียน ยิ้มศิริ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีของคณะ เมื่อพังประตูเข้าไปได้แล้วกลุ่มผู้บุกรุกก็ช่วยกันแบกประติมากรรมรูป อาจารย์ศิลป์พีระศรี ขนาดเท่าตัวจริงซึ่งเก็บรักษาเอาไว้ในห้องออกมา ท่ามกลางเสียงสะอึกสะอื้นร้องไห้ เพลงซานตาลูเซียอื้ออึง และความชุลมุนวุ่นวาย รูปหล่อโลหะที่หนักอึ้งก็ค่อยๆ ถูกเคลื่อนย้ายในท่านอนอย่างทุลักทุเลไปจนถึงลานกว้างด้านนอกตึก

ในเวลาเดียวกันก็มีแฟนคลับอาจารย์ศิลป์อีกแก๊งหนึ่งช่วยกันขนอิฐเผาไฟที่ใช้แล้วจากโรงหล่อที่อยู่ใกล้ๆ มาที่ลาน กลุ่มหนึ่งก่ออิฐสร้างฐาน กลุ่มหนึ่งยกรูปปั้น กลุ่มหนึ่งจุดเทียน จุดตะเกียงส่องไฟฉาย ในขณะที่อีกกลุ่มคอยส่งเสียงเชียร์ ไม่นานอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ประดิษฐานบนฐานอิฐแบบบ้านๆ ก็ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยโดยไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรทั้งสิ้น นับเป็นอนุสาวรีย์ที่มีจุดกำเนิดสุดฉุกละหุกแสนแปลกประหลาด

สนั่น ศิลากรณ์ ขณะปั้นรูปอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ภาพจากหนังสือ สนั่น ศิลากรณ์ ประติมากรเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

ประติมากรรมรูปอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ที่อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นอนุสาวรีย์นั้นถูกปั้นขึ้นมาโดย สนั่น ศิลากรณ์ ประติมากรมือฉมัง  ลูกศิษย์สายตรงคนสนิทของอาจารย์ศิลป์ ผู้ฝากผลงานการสร้างอนุสาวรีย์ไว้มากมาย เช่น อนุสาวรีย์วีรไทย อนุสาวรีย์พระบรมราชชนก อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อนุสาวรีย์พระนารายณ์มหาราช อนุสาวรีย์ท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร

ตั้งแต่อาจารย์ศิลป์เสียชีวิตจนกระทั่งงานเผา สนั่นซึมเศร้า และหากมีสิ่งเร้าใดมากระตุกต่อมที่ทำให้นึกถึงอาจารย์ศิลป์เข้าก็จะร้องไห้สะอึกสะอื้นเป็นบ้าเป็นหลังอย่างไม่อายฟ้าดิน ซึ่งดูตรงกันข้ามกับบุคลิกของท่านที่ปกติจะดูมาดมั่นแข็งแกร่ง จนวันหนึ่งในปี พ.ศ. 2509 สนั่นก็เริ่มปั้นอาจารย์ศิลป์ขนาดเท่าจริง เป็นรูปอาจารย์ศิลป์ในชุดที่ท่านมักใส่มาสอนหนังสือ คือเสื้อเชิ้ตแขนสั้น กับกางเกงขายาวใส่แบบสูงๆ คาดเข็มขัดไว้เหนือพุง มือซ้ายถือหนังสือไว้ข้างตัว มือขวาแบออก และยื่นไปข้างหน้าแสดงถึงการให้ ซึ่งการให้ในที่นี้หมายถึงการให้วิชาแก่บรรดาศิษย์ เมื่อปั้นเสร็จสนั่นส่งผลงานไปหล่อด้วยทองแดงที่โรงหล่อแถวๆ หลังวัดระฆังของ วิชิต เชาว์สังเกตุ วิชิตก็เป็นศิษย์ที่เคารพรักอาจารย์ศิลป์เหมือนกันเลยหล่อให้ฟรีไม่คิดตังค์ และเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์เลยมีการบรรจุอัฐิของอาจารย์ศิลป์เอาไว้ในรูปหล่อบริเวณเข่าขวาอีกด้วย

อนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บนฐานอิฐ (ภาพจากหนังสือ สนั่น ศิลากรณ์ ประติมากรเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

รูปปั้นอาจารย์ศิลป์ฝีมือ สนั่น ศิลากรณ์ ชิ้นนี้ ดูมีชีวิตชีวาได้อารมณ์สมจริงมาก เพราะสนั่นคุ้นเคยใกล้ชิดกับอาจารย์ศิลป์เป็นอย่างดี เมื่อผลงานหล่อเป็นโลหะแล้วเสร็จก็ถูกยัายมาเก็บไว้ที่โรงหล่อของกรมศิลปากรไม่ได้เอาไปติดตั้งให้สาธารณชนเห็นที่ไหน ซึ่งตั้งแต่เริ่มปั้นนั้นสนั่นก็ปั้นเอง ส่งหล่อเองแบบส่วนตั๊วส่วนตัว ไม่ได้ให้เหตุผลว่าจู่ๆ ก็ทำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อะไร

หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นอนุสาวรีย์ที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้ขออนุญาตใครก็ยังอยู่ที่เดิมเด๊ะไม่มีใครกล้าไปย้าย หรือรื้อออก แถมอีกไม่นานต่อมา นักศึกษาและคณาจารย์ยังเห็นพ้องต้องกันว่าฐานอนุสาวรีย์ที่สร้างจากอิฐเก่าๆ มาก่อเรียงกันนั้นดูซอมซ่อไม่เข้ากับรูปอาจารย์ศิลป์อันสง่างาม สน สีมาตรัง หัวหน้าคณะนักศึกษาและ พิจารณ์ ตังคไพศาล จึงไปขอความอนุเคราะห์จาก มีเซียม ยิบอินซอย สตรีผู้คอยอุปถัมภ์ค้ำชูวงการศิลปะไทยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยที่อาจารย์ศิลป์ยังมีชีวิตอยู่

เมื่อทราบถึงจุดประสงค์มีเซียมจึงมอบทุนให้ถึง 30,000 บาทในการอัพเกรดฐานใหม่ โดยให้ไปขอคำปรึกษาและรับสตางค์ผ่านทาง ชลูด นิ่มเสมอ ชลูดแนะนำให้ใช้หินทรายจากร้านที่หินกอง จังหวัดสระบุรี และมอบหมายให้ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน เป็นผู้ออกแบบ เมื่อปรับปรุงฐานเสร็จ ก็มีพิธีเปิดในวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ศิลป์ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2512 งานวันนั้นจัดแบบเล็กๆ ไม่เอิกเกริกมี มีเซียม สปอนเซอร์รายใหญ่ผู้สนับสนุนค่าฐานมาเป็นประธาน

‘อนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถ่ายโดย เฟื้อ หริพิทักษ์’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 12.5 x 9 เซนติเมตร

นี่แหละคือที่มาอันไม่ธรรมดาของอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่กลางมหาวิทยาลัยศิลปากรตราบจนปัจจุบัน อยู่ยั้งยืนยงมายาวนานพร้อมๆ กับหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ เช่นปริศนาที่ว่า อยู่ดีๆ สนั่นปั้นหล่อรูปอาจารย์ศิลป์ขึ้นมาเพื่ออะไร เรื่องนี้เราว่าก็เห็นชัดๆ กันอยู่ สนั่นนั้นเป็นผู้ชำนาญในการสร้างอนุสาวรีย์อยู่แล้ว ถ้าอยากจะสร้างอนุสาวรีย์ให้อาจารย์ผู้ล่วงลับที่สนั่นรักเยี่ยงบุพการีก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร จะบอกว่าปั้นไว้ดูเองก็ไม่น่าจะใช่ เพราะถ้าต้องการอย่างนั้นก็ปั้นขนาดย่อส่วน หรือปั้นแค่ศีรษะ แค่ครึ่งตัวก็พอ ไม่เห็นจะต้องสร้างแบบเต็มตัวจนมีขนาดและบริบทไม่เหมาะที่จะวางโชว์ไว้ในห้องได้แบบนี้ มิหนำซ้ำยังมีการบรรจุอัฐิอาจารย์ศิลป์เอาไว้ข้างใน คอนเซ็ปท์แบบเดียวกันกับการสร้างพระประธานองค์ใหญ่ที่ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จัดเต็มกันขนาดนี้สนั่นต้องมีจุดประสงค์เพื่อนำไปไว้ในที่สาธารณะอันรโหฐานเพื่อให้ผู้คนมาแสดงความเคารพแน่ๆ

ทั้งจากตำรับตำรา และข้อมูลที่มีการเล่าต่อๆ กันมา ว่ากันว่าสาเหตุที่อาจารย์ศิลป์ไม่มีอนุสาวรีย์เหมือนกับวีรบุรุษผู้วายชนม์ท่านอื่นๆ ซักกะที จนกระทั่งเกิดเหตุแฟนคลับถือวิสาสะตั้งกันเองนั้น เป็นเพราะประเทศไทยเราในยุคนั้น หรือรวมถึงยุคนี้ด้วยก็ไม่แน่ใจ มีกฎหมายห้ามสร้างอนุสาวรีย์เชิดชูชาวต่างชาติไว้ในราชอาณาจักร ก็เลยไม่สามารถขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์ให้อาจารย์ศิลป์ ผู้ซึ่งเป็นฝรั่งจากอิตาลีได้ และไม่มีใครกล้าพอจะสร้างขึ้นมาเองโดยพลการ เพราะต่างก็กลัวติดคุก เหตุผลนี้ก็เหมือนกัน เราว่ามันฟังดูทะแม่งๆ ชอบกล เรื่องกฎหมงกฎหมายอะไรเราไม่รู้หรอก แต่ที่เรารู้คือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คอร์ราโด เฟโรชี เปลี่ยนสัญชาติจากอิตาลีเป็นไทย พร้อมๆ กับเปลี่ยนชื่อเป็น ศิลป พีระศรี ไปแล้วนิ (ศิลป์ แบบที่เราคุ้นนั้นคนอื่นมาเติมไม้การันต์ให้ทีหลัง) ก็แสดงว่าท่านเป็นคนไทยตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์แล้ว ถ้าจะสร้างอนุสาวรีย์ให้ท่านมันจะผิดตรงไหน ยังไง งง

‘เขียน ยิ้มศิริ และต้นแบบประติมากรรมรูปอาจารย์ศิลป์ พีระศรี’ เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 20.5 x 23.5 เซนติเมตร

ส่วนสาเหตุที่รูปปั้นถูกย้ายจากโรงหล่อเอาไปเก็บล็อคไว้ในห้องทำงานของ เขียน ยิ้มศิริ คณบดีมหาวิทยาลัย จนแก๊งแฟนคลับพากันบุกไปพังเอาออกมานั้น เรื่องนี้ก็ไม่รู้สินะ เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ คงได้แต่สันนิษฐานจากหลักฐานเท่าที่มี ลองมาค่อยๆ นึกตามกันดู เริ่มจากเราว่า เขียนไม่ได้เห็นด้วยกับการสร้างอนุสาวรีย์ด้วยวิธีนี้ เพราะห้องถูกล็อค และถูกบุกรุก ถ้าเห็นดีเห็นงาม เขียนคงมาเปิดประตูให้ดีๆ ไม่มีใครอยากเห็นห้องทำงานตัวเองถูกพังหรอก

ถ้าจะบอกว่า เขียน ยิ้มศิริ มีไอเดียขัดขวางการสร้างอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเขียนเปรียบเสมือนลูกศิษย์มือขวาของอาจารย์ศิลป์ ผู้ซึ่งเคารพรักอาจารย์ไม่น้อยไปกว่าใครเลย แถมยังมีรูปถ่ายเป็นหลักฐานว่าเขียนเองก็เคยออกแบบประติมากรรมอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี เวอร์ชั่นเต็มตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่ากำลังจะนำไปใช้เป็นแบบสร้างอนุสาวรีย์ เราว่าเหตุผลหลักๆ ที่เขียนเหมือนจะไม่โอเคกับงานนี้ เพราะท่านสวมหัวโขนในสถานะคณบดีอยู่ จะเที่ยวไปทำอะไรตามใจไม่ได้ การจะสร้างอนุสาวรีย์ซักแห่งขึ้นมาในสถานที่ราชการก็ต้องมีการขออนุญาตประกวดแบบ เสนอราคา ตั้งงบ และพิธีรีตรองอะไรต่อมิอะไรอีกจิปาถะ ไม่น่าจะปุ๊บปั๊บทันใจเหล่าลูกศิษย์และอาจารย์สุดติสท์ ส่วนที่ต้องขนประติมากรรมฝีมือสนั่นเอามาเก็บล็อคไว้ในห้อง เป็นไปได้ไหมว่าเขียนอาจจะได้ข่าวแว่วๆ ลอยตามลมมาว่ามีคนอยากตั้งอนุสาวรีย์แบบไม่สนใจกฎเกณฑ์ ซึ่งคณบดีที่ดีจะปล่อยให้เกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้นไม่ได้ ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วอาจจะเห็นด้วยใจจะขาด

แต่เอาเหอะ จะยังไงก็ช่าง ในที่สุดอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็มีอนุสาวรีย์ที่งดงามสมฐานะ ‘บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่’ เพราะท่านไม่ใช่ธรรมดา แล้วอนุสาวรีย์ของท่านจะมีที่มาแบบธรรมดาได้อย่างไรล่ะ

 

Don`t copy text!