เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงเลนส์’ บทความแสดงมุมมองผ่านภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกเรื่องราวของงานศิลปะทั้งไทยและเทศ โดย ตัวแน่น อีกหนึ่งคอลัมน์ที่ อ่านเอา อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
ในสมุดบันทึกปกสีเขียวเข้มเล่มเขื่องของ เขียน ยิ้มศิริ เขียนได้เก็บรวบรวมรูปถ่ายของผลงานประติมากรรมที่สร้างสรรค์ด้วยฝีมือท่านเองเอาไว้มากมาย แต่ละหน้าของสมุดมีรูปถ่ายถูกบรรจงติดกาวเรียงรายไว้จนครบทุกแผ่นแบบเต็มคาราเบล ไม่เว้นแม้กระทั่งด้านหลังของปกหน้า และหลัง
รูปไหนถ้าไม่มีพื้นที่ติดจริงๆ ก็จะถูกแทรกไว้ระหว่างแผ่นกระดาษอย่างตั้งใจเหมือนที่คั่นหนังสือ บางหน้ามีรูปสเก็ตช์ชิ้นจริงที่วาดด้วยดินสอและปากกาติดอยู่แสดงให้เห็นถึงไอเดียตั้งต้น ซึ่งเป็นเชื้อไฟจุดประกายให้เขียนพัฒนาผลงานต่อในรูปแบบสามมิติจนกลายเป็นประติมากรรมชิ้นดังอันเป็นที่เชิดหน้าชูตา ในขณะที่บางหน้ามีคลิปปิ้งบทความข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ที่ยกย่องฝีมือของเขียนให้คนทั้งประเทศได้รู้จักตัดแปะเอาไว้
สมุดเล่มนี้จึงดูคล้ายกับ ‘พอร์ตฟอลิโอ’ (Portfolio) หรือแฟ้มสะสมผลงานที่แสดงตัวตน ทักษะความสามารถและรางวัล แบบที่คนอื่นๆ เขาใช้ประกอบเอกสารในการสมัครคัดเลือกเข้าเรียนในสถานศึกษาหรือสมัครเข้าทำงาน ต่างกันตรงที่พอร์ตโฟลิโอของหนึ่งในประติมากรอันดับต้นๆ ของประเทศในยุคนั้นอย่าง เขียน ยิ้มศิริ คงไม่ต้องเอาไปใช้ยื่นสมัครอะไรที่ไหน ในทางกลับกันน่าจะมีแต่คนจะมากราบกรานสมัครเป็นศิษย์หรือขอร่วมงานด้วยซะมากกว่า
จากรูปถ่ายในสมุดบันทึกหากไล่เรียงดูสไตล์ศิลปะของ เขียน ยิ้มศิริ ในยุคแรกๆ สมัยที่พึ่งเรียนจบมาใหม่ๆ ส่วนใหญ่ผลงานของท่านมักเป็นประติมากรรมแบบเน้นให้เหมือนจริง เขียนปั้นเจ้านายในวัง พระสงฆ์องค์เจ้า และบุคคลสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย เขียนได้รับคำชมอยู่เนืองๆ เพราะผลงานที่ออกมานั้นดูมีชีวิตชีวาอย่างกับจะขยับได้
หลังจากนั้นเขียนค่อยๆ พัฒนารูปแบบประติมากรรมให้ก้าวล้ำขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากงานศิลปะไทยสมัยบรรพบุรุษ เขียนหลงใหลในรูปแบบที่สวยงามดั่งสวรรค์บันดาลของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และชอบความอิสระและจริงใจในการแสดงอารมณ์ของตุ๊กตาเสียกบาล ตุ๊กตารูปคนฝีมือชาวบ้านที่ปั้นด้วยดินแบบง่ายๆ ในอิริยาบทต่างๆ เพื่อใช้ในพิธีทางไสยศาสตร์ เขียนได้คิดค้นวิธีนำเอาลักษณะไทยๆ อันมีเสน่ห์เหล่านี้มาสร้างสรรค์ให้กลมกลืนไปกับอิทธิพลศิลปะสมัยใหม่จากตะวันตกโดยลดทอนรายละเอียดยุบยิบและเน้นให้ความสำคัญกับรูปทรงและเส้นสาย เกิดเป็นผลงานรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครแถมยังล้ำหน้าเกินยุคเกินสมัยกว่าประติมากรไทยผู้ใดในยุคเดียวกัน
ผลงานสำคัญในรูปแบบสมัยใหม่ที่เขียนสร้างสรรค์ขึ้นมาและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมีอยู่หลายชิ้น เช่นผลงานที่มีชื่อว่า เสียงขลุ่ยทิพย์, ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม, แม่กับลูก ซึ่งต่างก็ได้รับรางวัลจากงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติทั้งสิ้นจน เขียน ยิ้มศิริ ถูกยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติ นับเป็นเกียรติยศสูงสุดในวงการศิลปะไทย
นอกจากผลงานที่กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีประติมากรรมฝีมือเขียนอีกชิ้นหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ ผลงานชิ้นนี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘เริงระบำ’ เป็นประติมากรรมรูปหญิงชายเต้นระบำเกี้ยวพาราสีกัน นักระบำทั้งสองกวาดแขนกรีดนิ้วในท่วงท่าของการฟ้อนรำแบบไทย ในขณะเดียวกันก็เขย่งขา จิกปลายเท้าอย่างกับนักบัลเล่ต์ตะวันตก เขียน ยิ้มศิริ ผสมผสานลีลาการเต้นของสองวัฒนธรรมให้เข้ากันอย่างไม่ขัดหูขัดตาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ที่ว่าน่าสนใจเพราะตามที่มีการบันทึกไว้ประติมากรรม ‘เริงระบำ’ นั้นมีอยู่ 2 เวอร์ชั่นซึ่งมีหน้าตาและท่าทางแตกต่างกัน เวอร์ชั่นแรกคือ ‘เริงระบำ’ ไซส์ปกติซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Fantastic Trees’ ขนาดสูงประมาณ 3 ฟุตที่ส่งเข้าร่วมชิงรางวัลในงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2496 และคว้ารางวัลเหรียญเงินไปได้ในครั้งนั้น กับ ‘เริงระบำ’ อีกเวอร์ชั่นที่เขียนบรรจงทำขึ้นมาให้มโหฬารเป็นพิเศษมีขนาดพอๆ กับคนจริงๆ และตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Two Dancers’ นับเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ที่สุดที่ เขียน ยิ้มศิริ เคยสร้างสรรค์ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และไม่เพียงแต่ขนาดที่พิเศษ เริงระบำไซส์ยักษ์นี้เขียนปั้นและหล่อทองสำริดขึ้นมาเพียงชิ้นเดียว แถมยังบรรจงเซ็นชื่อ ‘ข. ยิ้มศิริ’ ไว้ที่ฐาน แตกต่างจากเริงระบำขนาดปกติที่มีการหล่อซ้ำขึ้นมามากกว่า 1 ชิ้น และไม่มีการเซ็นชื่อลงไปบนผลงาน
สาเหตุที่เขียนปั้นหล่อผลงานชิ้นเอ็กซ์คลูซีฟชิ้นนี้ขึ้นมา ก็เพราะท่านได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโรงแรมรามาย่านสุขุมวิทให้สร้างประติมากรรมที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดปกติหลายเท่า เพื่อเอาไปตั้งประดับไว้บริเวณหน้าอาคารให้แขกเหรื่อที่มาพักได้ยลผลงานประติมากรชั้นครู แต่ภายหลังพอโรงแรมเลิกกิจการไป นักระบำคู่นี้ก็ได้อันตรธานไปจากสารบบวงการศิลปะไทย ที่รู้ว่าเคยมี ‘เริงระบำ’ ชิ้นยักษ์นี้อยู่ก็เพราะมีหลักฐานจากสมุดบันทึกของเขียนเล่มเดียวกับที่เกริ่นถึงก่อนหน้านี่แหละ
เมื่อสร้างและติดตั้งผลงานชิ้นนี้เสร็จเขียนคงภูมิใจมากจนถึงกับถ่ายรูปประติมากรรมจากทุกซอกทุกมุมก่อนจะนำรูปที่ล้างเสร็จมาแปะไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวถึง 7 รูป กินพื้นที่ไป 5 หน้า ในขณะที่ผลงานชิ้นอื่นๆ เขียนเลือกแปะไว้แค่ผลงานละรูปสองรูป ไม่มีชิ้นไหนใช้พื้นที่เกิน 2 หน้าในสมุดบันทึกที่จำนวนหน้ามีจำกัดจนต้องใช้สอยอย่างประหยัดเลย
ตั้งแต่เขียน ยิ้มศิริ ถึงแก่กรรมไปในปี พ.ศ. 2514 สาธารณชนรวมถึงครอบครัวของเขียนเอง ก็ไม่ทราบว่าผลงาน ‘เริงระบำ’ ชิ้นพลัสไซส์ที่เขียนเคยสร้างระหว่างมีชีวิตอยู่ชิ้นนี้หายไปไหน จะยังอยู่หรือไม่ ผุพังไป หรือถูกหลอมทิ้งไปแล้วไม่มีใครรู้ ต่างคนต่างก็เลยตีความว่าเป็นผลงานที่สาบสูญ เหลือไว้แค่เพียงเรื่องราว และรูปถ่ายเก่าๆ ทั้งจากที่เขียนถ่ายเอง และจากผู้ที่เคยไปที่โรงแรมแล้วได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก
จนเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวคราวว่าบ้านเก่าบนที่แปลงงามผืนหนึ่งในซอยสุขุมวิท 38 กำลังจะถูกเปลี่ยนมือเพื่อสร้างเป็นคอนโดระฟ้า เจ้าของที่คงเห็นว่าหากย้ายออกไปสมบัติต่างๆ ภายในบ้านอาจจะพาให้ปวดขมับไม่มีที่เก็บจึงตัดใจแบ่งขายให้กับญาติสนิท และคนใกล้ชิดไปบางส่วน และหนึ่งในสมบัติล้ำค่าที่อยู่ในกลุ่มนั้นกลับกลายประติมากรรม ‘เริงระบำ’ ขนาดใหญ่ในตำนาน ซึ่งเจ้าของที่นั้นเป็นบุคคลคนเดียวกับเจ้าของโรงแรมที่ปิดไป จนมารู้กันทีหลังว่าท่านได้ย้ายประติมากรรมชิ้นนี้มาประดับไว้บริเวณริมสระว่ายน้ำในพื้นที่บ้านส่วนตัวที่ปิดมิดชิด ยกมาตั้งแบบไม่มีคนนอกรู้อยู่ตรงนี้มานานแล้วเป็นเวลาราวครึ่งศตวรรษ
เป็นอันว่าในที่สุดผลงานชิ้นโบว์แดงที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งที่เขียนเคยสร้างไว้ก็ได้ถูกเปลี่ยนมือเป็นครั้งแรกจากเจ้าของเดิมผู้สั่งผลิตจากเขียนเองโดยตรง และกลับออกมาโลดแล่นร่ายรำเริงระบำในแสงสปอตไลต์อีกครั้ง
- READ เมื่อดาราทองมาเมียงมองรูปปั้น
- READ อินสนธิ์ วงศ์สาม ในคำนิยามของฉัน
- READ เริงระบำที่กลับมาร่ายรำ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ คีตาญชลี ในมโนภาพของ ถวัลย์ ดัชนี
- READ พุทธศิลป์หมิ่นเหม่ สไตล์ ถวัลย์ ดัชนี
- READ อินทรีหน้าเหมือนอีกา เขาบอกว่าฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
- READ สถานการณ์เลยเถิด จุดกำเนิดอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี
- READ งานแบบนี้ถวัลย์ ดัชนี ก็มีเหรอ?
- READ ระลึกถึงรุ่นหนึ่งศิลปากร
- READ นอกจากระเบิดปรมาณู รูปปั้นยังใช้สู้กันได้ด้วยแฮะ
- READ งานของเขียนในอิตาลีที่ไม่มีใครเคยเขียน
- READ บางกะปิแกลเลอรี ศูนย์ศิลปะที่มาก่อนกาล
- READ คงเหลือไว้แต่ในรูปถ่าย ยังดีกว่ามีวางขายกันเกร่อ
- READ คาร์ล ซันเดรสกี ระบายสี จากร้านเคเอฟซี
- READ ประเด็นดราม่าเรื่องม้าพระเจ้าตาก
- READ ทำไมทั้งไทยทั้งฝรั่งจึงคลั่งไคล้ ประเทือง เอมเจริญ
- READ ไก่ตีกัน ของขวัญจาก ถวัลย์ ดัชนี
- READ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จากบ้านๆ จนกลายเป็นงานช้าง
- READ โรแมนติกในความเรียบง่ายสไตล์หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
- READ รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ
- READ เสียงขลุ่ยทิพย์ ถึงไม่ได้ยินก็ฟินได้
- READ ก่อนย่าโมจะมายืนท้าวสะเอว
- READ นิโร โยโกตา ศาสดาแห่งภาพตลาดน้ำ
- READ จิตร ญี่ปุ่น ประกิต อเมริกา
- READ แนบ บังคม ครูช่างผู้ปิดทองหลังพระ
- READ ล่องไพรในหอศิลป์ไปกับ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
- READ มนุษย์ดาว อังคาร กัลยาณพงศ์
- READ อันตรธานงานศิลป์
- READ นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์
- READ ทวี นันทขว้าง กับโอเปร่าสุดอาถรรพ์
- READ เรื่องราวอันยาวนานกว่าจะมีพระประธานพุทธมณฑล
- READ 'เฟื้อ หริพิทักษ์' ครูใหญ่ผู้ไม่มีปริญญา
- READ รูปถ่ายศิลปะ สมบัติล้ำค่าที่อยู่นอกเรดาร์นักสะสม
- READ อิตาเลียนรามเกียรติ์
- READ โคแบรนด์สุดว้าว สุเชาว์ X พีระ
- READ เกิดอาการเธอดึงดูดฉัน ฉันดึงดูดเธอ
- READ เฮ้ย! นี่มันคอนเสิร์ตเกาหลี? หรืองานศิลปกรรมประจำปี?
- READ สาวเสร็จสรงสุดเซ็กซี่
- READ อลังการงานไทยในมหกรรมเวิร์ลแฟร์
- READ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชวาในราชสำนักไทย
- READ โหลดปุ๊บรู้ปั๊บรูปปั้น ร. 8
- READ ปั้นด้วยรัก จากใจ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เถียงแทน ศิลป์ พีระศรี เรื่องอนุสาวรีย์ ร. 6
- READ ยันต์กันเก๊
- READ แช่ม เขามีชื่อ
- READ เจอจ่าง ที่ข้างทาง
- READ ร.5 กับ คาโรลุส-ดูรอง แค่สองเหลือแหล่
- READ หม่อมเจ้ายาใจ ใครปั้นยังคาใจ