ศุภร บุนนาค

ศุภร บุนนาค

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรมไทย

พูดถึงนักเขียนรุ่นต้น พ.ศ. 2500 ที่ผลงานเป็นที่จับใจคนอ่าน เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนรุ่นต่อมาหลายคน และผลงานของท่านยังอ่านกันมาจนถึงทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ ศุภร บุนนาค

ศุภร บุนนาค เขียนนวนิยายไว้เพียง 10 เรื่อง ได้แก่ ปาริชาติลวง (2497), รสลิน (2502), แม้ความตายมาพราก (2509), รถเมล์สายพระพุทธบาท (2510), ฟ้าใหม่ (2510), แผ่นดินยังกว้าง (2511), เกลียวทอง (2512), ไม้ร่วมกอ (2513), บุญเพรงพระหากสรรค์ (2515) และ ขอบฟ้าฤๅจะกั้น (2516)

คุณศุภรเกิดในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เสียชีวิตด้วยโรคไตเมื่อปี พ.ศ. 2517 อายุแค่ 53 ปีเท่านั้น ถ้าเธอยังอยู่อาจจะมีนวนิยายมากกว่านี้

นวนิยายทั้ง 10 เรื่องของท่านกลายเป็นหนังสือหายาก จนกระทั่งสำนักพิมพ์เพื่อนดีได้นำกลับมาพิมพ์ใหม่จนครบทั้ง 10 เรื่อง แต่ถึงตอนนี้สำนักพิมพ์ปิดตัวลง งานเขียนของคุณศุภรเลยกลายหนังสือหายากไปอีกครั้ง ซื้อขายกันในตลาดหนังสือเก่าด้วยราคาแพงลิบลิ่ว

นักอ่านส่วนมากได้รู้จักคุณศุภรจากเรื่องสั้นมากกว่าเรื่องยาว

เรื่องสั้น ‘ผ้าไหมผืนใหม่’ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในร้อยเรื่องสั้นที่ดีที่สุดของไทย คุณศุภรมีหนังสือรวมเรื่องสั้นออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ลมเย็น (2509), คนซื้อฝัน (2509), สวรรค์ขุมไหน (2510), ที่รัก (2510) และ รอบตะเกียงลาน (2512)

ในด้านนวนิยาย แม้จะเขียนไว้ไม่มาก แต่นวนิยายทุกเรื่องของคุณศุภรเป็นที่จดจำและชื่นชอบของนักอ่านมาทุกยุคสมัย

นวนิยายเรื่อง ฟ้าใหม่ ที่ได้รับการสร้างเป็นละครเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ฟ้าใหม่ เป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องราวช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาไปจนกระทั่งกรุงแตก และสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงกอบกู้อิสรภาพขึ้นมาใหม่ นวนิยายเรื่องนี้แต่แรกลงพิมพ์ในนิตยสารได้ 16 ตอน คุณศุภรก็หยุดไป เป็นการจบภาคแรก มีคนเรียกร้องกันมามากให้เขียนต่อให้จบ หากทว่าคุณศุภรก็ไม่ได้ลงมือเสียที จนกระทั่งคุณศุภรเสียชีวิต และเวลาผ่านไปหลายปีจนผู้คนต่างลืมกันไปหมดแล้ว ปรากฏว่าในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2534 ดร. สุริยา รัตนกุล ธิดาของคุณศุภรได้ไปเก็บของในโรงรถ ก็พบห่อกระดาษขนาดใหญ่วางไว้ห่อหนึ่ง เมื่อเปิดออกดูก็พบว่าเป็นต้นฉบับสมบูรณ์ของนวนิยายเรื่อง ฟ้าใหม่ ต่อจาก 16 ตอนแรก จึงนำมาพิมพ์เผยแพร่ ทำให้เราได้อ่าน ฟ้าใหม่ ฉบับสมบูรณ์กันในที่สุด

หลายคนอาจสงสัยว่าอะไรกัน ทำไมหนังสือถึงหายาก ทำไมถึงแพง ก็เพราะว่านวนิยายของคุณศุภรมีความโดดเด่นในเรื่องของเนื้อหา ภาษาและสารัตถะ

ครั้งหนึ่ง คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ‘ทมยันตี’ เคยให้สัมภาษณ์ว่าชอบนวนิยายเรื่อง รถเมล์สายพระพุทธบาท เป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเขียนหนังสือ รถเมล์สายพระพุทธบาท เล่าเรื่องของลำเพาพักตร์ หญิงสาวผู้มีชีวิตปากกัดตีนถีบ ขายของอยู่ริมถนนแถวสระบุรี จนวันหนึ่งได้จับพลัดจับผลูได้มาเป็นเมียของผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองทำให้ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในเล่มนี้ผู้อ่านจะได้เห็นชีวิตของผู้คนในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่สอง และบ้านเมืองในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

ความที่เติบโตมากับยายซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เวียงจันทน์ คุณยายของเธอเกิดสมัยรัชกาลที่ 2 มีอายุยืนถึงห้าแผ่นดิน คุณศุภรจึงมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์จากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ และเก็บเอามาเขียน บุญเพรงพระหากสรรค์ นวนิยายที่ใช้ฉากหลังเป็นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใน บุญเพรงพระหากสรรค์ เราจะได้เห็นภาพบรรยากาศของการก่อร่างสร้างกรุงขึ้นมาใหม่ ภาพการก่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมหาราชวัง อย่างที่ไม่เคยเห็นในนวนิยายเรื่องอื่น และที่แหวกขนบนิยายไทยมาก คือแม่บัวไข-นางเอกเรื่องนี้เป็นสาวสวยชาวลาวและพระเอกคือหนุ่มมอญที่ต่อมาเจริญในหน้าที่ราชการจนได้ครองตำแหน่งใหญ่โต

นอกจาก บุญเพรงฯ แล้ว ข้อมูลความรู้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่คุณศุภรได้ฟังมาจากคุณยาย ได้นำมาเล่าไว้ใน รสลิน อีกหนึ่งเรื่อง รสลิน นางเอกของเรื่องนี้เกิดในครอบครัวทำทอง อยู่กับยาย ยายเลี้ยง เหมือนคนเขียน บางคนเลยถามคุณศุภรว่าใช่นวนิยายประวัติชีวิตตัวเองหรือเปล่า คุณศุภรเคยตอบคนอ่านว่าไม่ใช่ แต่เขียนขึ้นโดยเก็บเอารายละเอียดที่ได้ฟังจากยายมาเล่าเอาไว้เป็นประหนึ่งบันทึกความทรงจำ รสลินต้องผ่านช่วงขาขึ้นและลง ชีวิตมีความผันผวนมากตลอดเวลา มีเพียงคุณธรรมคำสอนของยายเท่านั้นที่ทำให้เธอยึดเหนี่ยวและผ่านพ้นช่วงเวลาร้ายๆ ไปได้

นวนิยายส่วนใหญ่ของคุณศุภรมักจะอิงประวัติศาสตร์ มีสองเรื่องที่เป็นยุคปัจจุบันคือเรื่อง ไม้ร่วมกอ ที่พูดถึงการเลี้ยงดูบุตรและสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป ชีวิตวัยรุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัย นับว่าทันสมัยมากในเวลานั้น อีกเรื่องที่เป็นยุคปัจจุบันคือ แผ่นดินยังกว้าง พูดถึงตัวเอกที่ละทิ้งเมืองกรุงไปบุกเบิกผืนแผ่นดินอันแห้งแล้งที่เพชรบูรณ์ ซึ่งตามโครงการของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เตรียมการจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่นั่น อ่านสองเรื่องนี้ในปัจจุบันอาจรู้สึกธรรมดากับพล็อตและแนวเรื่อง แต่ลองคิดดูว่าสองเรื่องนี้เขียนเอาไว้เกือบห้าสิบปีแล้ว ในเวลานั้นจะทันสมัยแค่ไหน

ว่ากันว่า นวนิยายของคุณศุภรไม่เหมาะกับการอ่านรวดเดียวจบ แต่เป็นนวนิยายที่ต้องละเลียดอ่าน เพราะมีความละมุนละไมสูง

นวนิยายทั้งสิบเรื่อง ค่อยๆ เดินเรื่องๆ ค่อยเล่าและแทรกประวัตินั่นนี่ไปด้วย แถมยังไม่มีตัวร้ายที่ออกมาวี้ดๆ ตบตีแย่งผู้ชายหรือกลั่นแกล้งนางเอกอย่างชัดเจน แต่มักจะเป็นเรื่องของสถานการณ์ยากลำบากที่ตัวเอกต้องเผชิญมากกว่าประกอบกับสำนวนที่เขียนเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน รุ่นใหม่มาอ่านอาจจะรู้เกิดสึกว่า… อิหยังวะ อ่านแล้วงงๆ

แต่อยากจะเชิญชวนว่า ถ้ามีโอกาสลองเปิดอ่านดูสักครั้ง แล้วคุณอาจจะได้เห็นความล้ำค่าที่ซ่อนอยู่ และได้คำตอบว่าเหตุใด งานเขียนขอ งศุภร บุนนาค จึงยืนยงเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้

Don`t copy text!