เจน ออสเตน

เจน ออสเตน

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

แม้ตลอดชีวิตของ เจน ออสเตน จะเขียนนวนิยายเอาไว้เพียงเจ็ดเรื่องเท่านั้น หาก เจน ออสเตน ได้รับการยอมรับว่าเธอคือนักเขียนผู้มีอิทธิพลกับโลกใบนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านตัวละครต่างๆของเธอ

เจน ออสเตน นักเขียนสตรีชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงระดับโลก

เจนเป็นบุตรสาวของครอบครัวคหบดีใหญ่ เธอเกิดมาในยุคที่ผู้หญิงจำเป็นต้องหาสามีดีๆ เพื่อจะมีชีวิตที่มีความสุข แนวคิดเช่นนี้เราจะได้เห็นผ่านวรรณกรรม ละครเวที ภาพยนตร์และซีรีส์มากมาย ที่บรรดาหญิงสาวต้องขยันออกงานปาร์ตี้ เพื่อพบปะกับสุภาพบุรุษที่จะสนใจในตัวเธอ และขอแต่งงานด้วย

ภาพเจน ออสเตน วาดโดยคาสซานดราผู้เป็นพี่สาว

เจนอยู่ในสังคมแบบนี้ แต่เธอไม่ได้คิดว่าการแต่งงานเป็นหนทางที่ทำให้ผู้หญิงมีความสุข อาจจะเป็นเพราะเหตุผลดังกล่าว เจนจึงเปิดนวนิยายเรื่อง สาวทรงเสน่ห์ หรือ Pride and Prejudice ด้วยประโยคที่ว่า It is a truth universally acknowledged, that a single man in possession of a good fortune, must be in want of a wife” – “มีข้อเท็จจริงที่สากลยอมรับ ก็คือความจริงที่ว่าหนุ่มโสดฐานะดีจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรีบหาภรรยา”

Sense and Sensibility ฉบับพิมพ์ครั้งแรกปีพ.ศ. 2354 ใช้นามแฝงว่า A Lady

สาวทรงเสน่ห์ เป็นนวนิยายโรแมนติกที่เล่าถึงความวุ่นวายของบรรดาชายหนุ่มและหญิงสาวอังกฤษในยุครีเจนซี ที่ต้องพยายามหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ได้

สังคมอังกฤษในเวลานั้นเต็มไปด้วยความโกลาหลของงานปาร์ตี้ การชิงไหวชิงพริบระหว่างบรรดาสาวๆ ด้วยกัน เจนเก็บเอาสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมาเล่าผ่านสายตาของตัวละครสาวๆ ของเธอด้วยอารมณ์ขันและสำนวนที่คมคาย แต่ลึกลงไปแล้ว ภายใต้เรื่องเล่าของเธอ กลับเป็นภาพสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของเพศชายและเพศหญิง โดยเฉพาะเพศหญิงที่ตกเป็นเบี้ยล่างของสามี ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงอะไร ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาแบบผู้ชาย

Pride and Prejudice นวนิยายเรื่องที่สองของเจน

สิ่งที่พวกเธอได้ร่ำเรียนคือวิชาสำหรับการเป็นแม่บ้านแม่เรือน เช่น เย็บปักถักร้อย วาดภาพ ร้องเพลง แทนที่จะมีโอกาสได้เรียนแพทย์ เรียนวิศวกรรมเหมือนอย่างเพศชาย นอกจากนี้พวกเธอยังไม่มีโอกาสจะทำงานนอกบ้าน ไม่มีรายได้เป็นของตนเอง ไม่มีสิทธิ์ครอบครองมรดกต่างๆ เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหมดของครอบครัวจะถูกส่งต่อให้ทายาทชายเท่านั้น

สาวทรงเสน่ห์ แปลจาก Pride and Prejudice โดย ‘จูเลียต’

แม้จะเกิดมาในยุคที่ชายเป็นใหญ่ แต่นับว่าโชคดีที่พ่อของเจนเห็นความสำคัญของการศึกษา

เจนเป็นลูกคนที่ 7 ในจำนวน 8 คน

ครอบครัวออสเตนมีลูกสาวสองคนและลูกชายหกคน

นวนิยายเรื่อง Emma

บิดาของส่งเจนและพี่สาวที่ชื่อคาสซานดราไปเรียนหนังสือถึงออกซฟอร์ด ก่อนจะรับตัวกลับมาเรียนต่อที่บ้านตามแบบกุลสตรีในสมัยนั้น แน่นอน เจนเป็นนักอ่าน ในห้องสมุดของพ่อเต็มไปด้วยวรรณกรรมดีๆมากมาย และเจนเริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุ 12 ปี เป็นนวนิยายสั้นๆให้คนในครอบครัวอ่านกันเอง ส่วนคาสซานดราก็หลงใหลในงานจิตรกรรมและกลายมาเป็นนักวาดภาพที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา

นวนิยายเรื่อง Mansfield Park
นวนิยายเรื่อง Northanger Abbey พบต้นฉบับและตีพิมพ์หลังเจนเสียชีวิตไปแล้ว
นวนิยายเรื่อง Persuasion พบต้นฉบับและตีพิมพ์หลังจากเจนเสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน

เจนครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิตของเธอ ไม่ใช่เพราะเธอไม่อยากแต่งงาน แต่เพราะหาชายที่เหมาะสมกับเธอไม่ได้ ผู้ชายที่เธอรักก็ไม่ได้แต่งงานด้วยเพราะเหตุผลทางสังคมหลายอย่าง เช่น ผู้ชายคนนั้นอายุน้อยกว่าเจน แถมยังมีฐานะด้อยกว่า เป็นต้น ส่วนผู้ชายที่มาหลงรักเธอ เจนก็เลือกที่จะปฏิเสธไม่แต่งงานด้วย เพราะเธอไม่ได้รักเขา นับเป็นสตรีที่มีความชัดเจนมั่นคงในอุดมการณ์ของตัวเองเป็นอย่างมาก

ภาพวาดของเจน ออสเตนในอิริยาบถสบายๆ วาดโดย คาสซานดรา ออสเตน พี่สาวของเธอ

นวนิยายเรื่องแรกของเจนคือ Sense and Sensibility ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2354 โดยใช้ชื่อผู้เขียนว่า ‘A Lady’ เนื่องจากในสมัยนั้นนักเขียนสตรีจะไม่ได้รับการยอมรับเหมือนในปัจจุบัน นักเขียนผู้หญิงส่วนใหญ่จะใช้นามแฝงที่ไม่บอกตัวตนของพวกเธอ Sense and Sensibility ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้อ่านที่เป็นรุ่นหนุ่มสาว รายได้จากการจำหน่าย Sense and Sensibility แม้จะไม่มากนัก แต่ก็เป็นกำลังใจให้เจนเขียนงานเรื่องใหม่ๆ ออกมาอีกหลายเรื่อง

บ้านของน้องชายที่เจน ออสเตนพำนักจนวาระสุดท้าย
วิหาร Winchester ที่ประกอบพิธีศพของเจน ออสเตน

ถึงปัจจุบันนี้ นวนิยายทั้งหมดของเจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยหลายแห่งนำเอาไปสอนเป็นวิชาออสเตนอย่างจริงจัง รวมถึงหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ไปมากมายหลายภาษา ได้รับการสร้างเป็นทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ออกมาอย่างต่อเนื่อง และชีวิตส่วนตัวของ เจน ออสเตน เองก็ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Becoming Jane และ Miss Austen Regrets

หลุมฝังศพของเจน ออสเตน ที่วิหาร Winchester ประเทศอังกฤษ

เจน ออสเตน เริ่มเจ็บออดแอดด้วยอาการต่างๆ เมื่ออายุย่างเข้าสามสิบปลายๆ เธอเริ่มช้าลง และมีความคิดสับสนจนไม่สามารถเขียนนวนิยายสองเรื่องสุดท้ายได้จนจบ เจนเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 41 ปีเท่านั้น นักประวัติศาสตร์ได้ศึกษาข้อมูลความเจ็บป่วยของเธอ และสรุปว่าอาการป่วยที่พรากเธอไปจากนักอ่านก็คือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นโลกยังไม่ค่อยรู้จักกับโรคประหลาดนี้มากนัก แต่หากเธอเป็นหญิงสาวในยุคปัจจุบันละก็ มะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาเคมีบำบัดที่ทันสมัย และเจนคงจะมีโอกาสได้เขียนนวนิยายสองเรื่องสุดท้าย… จนจบสมดังปรารถนาของเธอ

Don`t copy text!